จะดีแค่ไหนหากมนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ให้กลายเป็นทองคำได้ตามใจปราถนา ความคิดในการเปลี่ยนสิ่งต่างๆให้กลายเป็นทองนี้มีมาช้านานแล้วในเกือบทุกภูมิภาคของโลก ผู้ที่สนใจศาสตร์แขนงนี้ถูกเรียกว่า นักรสายนเวท หรือ รสายนศาสตร์(Alchemy)จะดีแค่ไหนหากมนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ให้กลายเป็นทองคำได้ตามใจปราถนา ยิ่งในสถาวะปัจจุบันที่ราคาทองคำมีแต่จะถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ทองคำจัดเป็นวัตถุมีค่ายิ่งกว่าธนบัตรที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินใดๆ ก็ตามเพราะกว่าที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะสามารถพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้จ่ายได้นั้นต้องขึ้นอยู่กับจำนวนทองคำที่ตนมีไว้ในครอบครองด้วย แถมซ้ำทองคำยังเป็นสิ่งที่ขายได้คล่องมีกำหนดราคาตายตัวไม่ต้องกลัวโดนกดราคา
ความคิดในการเปลี่ยนสิ่งต่างๆให้กลายเป็นทองนี้มีมาช้านานแล้วในเกือบทุกภูมิภาคของโลก ผู้ที่สนใจศาสตร์แขนงนี้ถูกเรียกว่า นักรสายนเวท หรือ รสายนศาสตร์(Alchemy)
รสายนเวท [ระสายะนะเวด] น. วิชาประสมแร่แปรธาตุ, วิชาเคมียุคเล่นแร่แปรธาตุ. (ส.).
ความสนใจของนักรสายนเวท มีอยู่อย่างแพร่หลายในสมัยอดีต ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป อาหรับ จีน อินเดีย แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าแนวคิดนี้เริ่มต้นขึ้นที่ไหนเป็นแห่งแรกของโลก
ยุโรป
การเล่นแร่แปรธาตุในยุโรปถูกพัฒนาจากแนวความคิดที่ว่าสสารทุกอย่างบนโลกนี้มีต้นกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกัน แนวความคิดนี้มีอยู่ในอียิปต์โบราณ จนกระทั่งกรีกรุ่งเรืองขึ้นมีการติดต่อซื้อขายกันระหว่างสองอาณาจักรทำให้แนวความคิดเหล่านี้แผ่เข้าสู่กรีก อริสโตเติ้ลปราชญ์ผู้เปรื่องปัญญาของกรีก จึงเกิดความสนใจและนำแนวคิดนั้นมาพัฒนา อริสโตเติ้ลเชื่อสสารประกอบไปด้วยธาตุ 4 ชนิด คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ถึงแม้การเล่นแร่แปรธาตุในสมัยอริสโตเติ้ลจะไม่ประสบความสำเร็จแต่แนวคิดของเขายังได้รับการถ่ายทอดไปสู่ปราชญ์รุ่นใหม่ในมหานครแห่งกรีกต่อไป
การพยายามเปลี่ยนสสารจากสิ่งหนึ่งมาสู่อีกสิ่งหนึ่งในยุโรปเป็นที่แพร่หลายกันมากพร้อมกับความเชื่อที่ว่าการแปรสสารเป็นทองคำนั้นต้องอาศัยศิลาอาถรรพ์ ซึ่งมีคุณวิเศษในการทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนสภาพเป็นทองคำ ทำให้นักเล่นแร่แปรธาตุในยุคนั้นต่างพากันค้นหาศิลาศักดิ์สิทธ์ดังกล่าวจนกระทั่งถึงช่วงที่อาณาจักรโรมันรุ่งเรืองขึ้นและสามารถยึดอียิปต์ได้ก็มีคำสั่งห้ามในมีการแปรธาตุอื่นเป็นทองคำทำให้การเล่นแร่แปรธาตุของยุโรปอยู่ในสภาวะซบเซาลงตามลำดับ
จีน
แหล่งอารยธรรมที่สำคัญของเอเชียก็มีความเชื่อเกี่ยวกับการเปลี่ยนสสารต่างๆให้กลายเป็นทองคำเหมือนกัน แต่เรื่องการเล่นแร่แปรธาตุในจีนมักจะเน้นหนักไปในทางการพยายามศึกษาค้นหาคำตอบของเรื่องการทำยาอายุวัฒนะ กินแล้วเป็นอมตะไม่แก่ไม่เฒ่า หรือหรือยาที่มีคุณวิเศษกินแล้วจากวัยชราจะกลายเป็นหนุ่มเป็นสาวอีกครั้ง หลักฐานที่เป็นรูปเป็นร่างของชาวจีนคือคัมภีร์อี้จิงซึ่งเป็นคัมภีร์เก่าแก่ที่เนื้อหาภายในประกอบไปด้วยสูตรยาอายุวัฒนะ
อินเดีย
เป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียความเชื่อเกี่ยวกับการเล่นแร่แปรธาตุของภุมิภาคนี้ถูกสะท้อนอยู่ในคัมภีร์พระเวท อรรถศาสตร์ ที่มีการกล่าวถึงปรอทไว้ด้วย ความเชื่อในเรื่องการรวมกันของสสาร ของชาวอินเดียวนั้น จะคล้ายกับทัศนคติความเชื่อของชาวยุโปรแต่จะมีอากาศเพิ่มเข้ามาด้วย ชาวอินเดียเชื่อว่าสสารทุกอย่างประกอบได้ด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ และ อากาศ
ในพระไตรปิฎกของทางพุทธศาสนาเองก็ปรากฏข้อความของการเปลี่ยนสิ่งต่างๆให้กลายเป็นทองคำตามที่ปรากฏอยู่ใน พระไตรปิฎกเล่ม 02 โดยมีการกล่าวถึงการเปลี่ยนวัตถุอย่างอื่นให้เป็นทองไว้ของผู้ทรงอภิญญา
ในพระไตรปิฎกปรากฏเรื่องราวของพระอรหันต์รูปหนึ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่องให้เป็นสาวกผู้มีความเป็นเลิศในการเป็นที่รักใคร่ของเหล่าเทวดา ภิกษุรูปนั้นมีนามว่า ปิลินทวัจฉะ พระปิลินทวัจฉะเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านที่กำลังมีมโหรสพ เด็กหญิงคนหนึ่งกำลังร้องไห้อยากได้ของสวยงามจำพวกดอกไม้มาประดับประดาดังเช่นบุตรสาวคนอื่นๆของเพื่อนบ้าน ฝ่ายแม่ก็ได้แต่ปลอบโยนบอกให้บุตรสาวรู้ถึงความยากจน
พระปิลินทวัจฉะได้ยินเข้าจึงหยิบหมวกฟางใบหนึ่งขึ้นมาส่งให้หญิงผู้นั้นพร้อมบอกให้เอาสวมลงบนศรีษะของบุตรสาว เมื่อหญิงคนนั้นทำตามพลันหญ้าแห้งก็กลายเป็นระเบียบดอกไม้ทองคำ ซึ่งมีความงดงามมากแม้แต่ในพระราชวังสมัยนั้นก็ไม่มีของประดับที่มีความงามเทียบเท่าได้
วันต่อมาปิลินทวัจฉะ เข้าไปบิณฑบาตอีกแต่ไม่เห็นสองแม่ลูกเมื่อถามชาวบ้านจนได้ความว่าถูกจับไปจองจำเพราะระเบียบดอกไม้นั้น พระปิลินทวัจฉะจึงเข้าไปในพระราชวังและสอบถามพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นกษัตริย์ว่าแม่ลูกทั้งสองถูกจองจำเพราะเหตุใด พระเจ้าพิพิสารตรัสตอบกลับมาว่า
“ข้าแต่พระคุณเจ้า เพราะที่เรือนของเขามีระเบียบดอกไม้ทองคำอย่างงดงาม น่าดู น่าชม, แม้ที่ในวังก็ยังไม่มี, เขาเป็นคนจนจะได้มาแต่ไหน, เป็นต้องได้มา ด้วยโจรกรรมเป็นแน่นอน.”
พระปิลินทวัจฉะจึงอธิษฐานปราสาทของพระเจ้าพิมพิสารให้กลายเป็นทองทั้งหมดแล้วถามจอมกษัตริย์ว่า
“ขอถวายพระพร ก็นี่ทองมากมายเท่านั้น มหาบพิตรได้มาแต่ไหน?.”
พระเจ้าพิมพิสารเห็นดังนั้นจึงโปรดให้ปล่อยสองแม่ลูกจากพระราชอาญา
หรือแม้แต่เกจิอาจารย์ชื่อดังในยุคกึ่งพุทธกาล(พ.ศ.2500)อย่างหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ จังหวัดนครสวรรค์ ก็มีคนเชื่อว่าท่านคือสงฆ์ผู้สำเร็จอภิญญาชั้นสูงสามารถแปลงตะกั่วเป็นทองคำได้ แต่ความเชื่อนี้ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดเป็นแต่เพียงเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาในบรรดาลูกศิษย์ลูกหาเท่านั้น
เหล่านี้คือทัศนะคติความเชื่อของนักรสายนเวทในอดีตในแถบถิ่นต่างๆ แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่งเช่น เปลี่ยนจากคนชราไปสู่หนุ่มสาว เปลี่ยนจากวัตถุไม่มีค่าให้เป็นทองคำแต่ดูเหมือนการศึกษาของนักรสายนเวท ไม่มีผลงานที่จับต้องได้สักเท่าไหร่
การเล่นแร่แปรธาตุและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
การเล่นแร่แปรธาตุอาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องงมงายที่หาข้อพิสูจน์ยืนยันไม่ได้ ยิ่งวิธีการในการเปลี่ยนธาตุต่างๆของในสมัยอดีตนั้นมักจะผูกยึดอยู่กับพลังลี้ลับบางอย่าง เช่นความเชื่อในยุโรปมีความเชื่อเกี่ยวกับศิลาอาถรรพ์ซึ่งมีพลังลี้ลับที่สามารถทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นทอง หรือความเชื่อทางตะวันออกที่มุ่งเน้นเรื่องของพลังจิต อภิญญา ทำให้สิ่งเหล่านี้ถูกมองว่าโน้มเอียงไปในทาง ไสยศาสตร์ พลังจิต และอำนาจลี้ลับ
สิ่งหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือในการวัดความเป็นวิทยาศาสตร์คือวิธีคิด ในทางวิทยาศาสตร์แล้วการจะเสนอแนวคิดหรือทฤษฎีใหม่ๆต้องผ่านการตั้งคำถาม ทดสอบสมมติฐาน และ หาข้อสรุป ถือได้ว่าเป็นหลักสำคัญในการตรวจสอบและศึกษาหาความรู้ในแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งเรียกรวมๆกันว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์
กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แบ่งได้ดังนี้
1. ขั้นตอนการกำหนดปัญหา
2. ขั้นตอนการตั้งสมมติฐาน
3. ขั้นตอนตรวจสอบสมมติฐาน
4. ขั้นวิเคราะห์สมมติฐาน
5. ขั้นสรุปข้อมูล
เมื่อเรานำวิธีการคิดแบบวิทยาศาสตร์มาเปรียบเทียบดูกับการศึกษาของนักรสายนเวทโดยตัดประเด็นของเรื่องราวลี้ลับ อำนาจพลังจิตออกไปเราก็เห็นถึงการตั้งสมมติฐาน การลองผิดลองถูกในการปรับเปลี่ยนธาตุบางอย่างให้กลายเป็นทองคำ ยิ่งในทัศนะของ เซอร์ไอแซกนิวตัน นักวิทยาศาสตร์นามกระเดื่องแล้วเขามีความเห็นว่าแท้ที่จริงแล้วศิลาอาถรรพ์นั้นอาจจะคือปรอทนั้นเอง ซึ่งประเด็นความคิดนี้ไม่ใช่เรื่องพลังลี้ลับที่โน้มเอียงไปในทางไสยศาสตร์ อำนาจพลังจิต แต่เป็นเพียงการใช้ปรอทเพื่อให้ธาตุอีกตัวเปลี่ยนสถานะเท่านั้นเอง
ยิ่งมองย้อนกลับไปถึงพัฒนาการของกระบวนความคิดแบบวิทยาศาสตร์แล้วเราต้องแปลกใจยิ่งกว่าเดิม เมื่อโรเจอร์ เบคอนนักวิทยาศาสตร์ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 13 ยอมรับวิธีการทดลองของเขาซึ่งเต็มไปด้วยขั้นตอนที่ต้องกระทำซ้ำๆกันของ การสังเกต การตั้งสมมติฐาน การทดลอง ว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากนักเล่นแร่แปรธาตุ ชาวอาหรับ ซึ่งได้นำแนวคิดของอริสโตเติ้ลมาใช้อีกต่อหนึ่ง
แม้ยุคของการเล่นแร่แปรธาตุสมัยเก่าไม่ค่อยจะประสบผลสำเร็จเท่าไหร่แต่ต่อมาในปี ค.ศ.1919 เฮอเนส รัทเทอร์ฟอร์ด ก็แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนธาตุจากสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งนั้นสามารถกระทำได้จริง เขาใช้อนุภาคแอลฟายิงนิวเคลียสของไนโตรเจน จนทำให้กลายเป็นออกซิเจนขึ้นมา การศึกษาของการเปลี่ยนธาตุหนึ่งไปสู่อีกธาตุหนึ่งดำเนินต่อไปอย่างเช่นในกรณีของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาเคมีสองท่านคือ เฟรเดริก โชลีโย และอีแรน โชลีโย-กูรี (Frederic Joliot and Irene Joliot-Curie) ใช้ระดมยิงธาตุอะลูมิเนียมที่ไม่มีกัมมันภาพรังสีแปรธาตุไปเป็นธาตุฟอสฟอรัสที่มีกัมมันตรังสี เป็นต้น
แม้การเล่นแร่แปรธาตุในยุคเก่าจะเป็นการผสมผสานกันระหว่างการลองผิดลองถูกและไสยเวทย์อำนาจลี้ลับแต่เราก็ไม่อาจจะปฎิเสธไปได้เสียทีเดียวว่าสิ่งเหล่านี้คือพัฒนาการที่สำคัญของวิทยาศาสตร์ แม้บางครั้งอาจจะดูเหมือนการเล่นแร่แปรธาตุเป็นเรื่องงมงายมากกว่าความเป็นวิทยาศาสตร์ จนถึงขั้นทึกทักเอาว่าการเล่นแร่แปรธาตุในยุคเก่าคือเรื่องเหลวไหลไร้สาระก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะเมื่อเราเพ่งผ่านม่านหมอกควันแห่งความงมงายของ นักรสายนเวท เรากลับเห็นจินตนาการของพวกเขาอย่างเด่นชัด และจากจินตนาการเล็กๆแตกแขนงเป็น ความรู้ทางด้านเคมี วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางด้านเภสัชศาสตร์ จากความพยายามในการเปลี่ยนสสารให้เป็นทองคำของนักรสายนเวท นั้นเองที่ทำให้วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันก้าวหน้า เพราะรู้จักเรียนรู้และปรับเปลี่ยนจากสิ่งที่ผิดพลาด เหมือนกับอมตะวาจาของไอสไตน์ นักวิทยศาสตร์ผู้เรืองนามที่มาพร้อมสมการ
จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ (imagination is more important than knowledge) เพราะฉะนั้นควรตระหนักว่าจินตนาการของนักรสายนเวท มีความสำคัญมากมายขนาดไหน บทความนี้คัดลอกมาจาก
โดยวิชาการ.คอม (www.vcharkarn.com)
0 comments:
Post a Comment