ประวัติหลวงพ่อกัสสปมุนี เถราจาริย์ วัดปิบผลิวนาราม อ.บ้านค่าย ระยอง

Friday, May 21, 2010

หลวงพ่อกัสสปมุนี เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๒ ที่กรุงเทพมหานคร ท่านมีนามก่อนบวชว่า ประจงวาศ ต่อมาเปลี่ยนเป็นประยุทธิ วรวุธิ นามสกุลอาภรณ์สิริ โยมบิดาชื่อ พระพาหิรรัชฏ์พิบูลย์ (ประวัติ อาภรณ์สิริ) โยมมารดาชื่อนางพาหิรรัชฏพิบูลย์ (เผื่อน อาภรณ์สิริ) พี่น้องหลวงพ่อทั้งหมดรวมหลวงพ่อด้วยมี ๓ คน พี่ชายหลวงพ่อชื่อ ประไพวงศ์ คล้องจองกับชื่อประจงวาศ น้องชายคนกลางคือหลวงพ่อ และประสาทศิลป์ เป็นคนสุดท้าย ทั้งสิ้นเป็นชายล้วน (ทุกท่านสิ้นชีวิตไปแล้ว น้องชายคนเล็กสิ้นชีวิตไปหลังจากหลวงพ่อถึงแก่มรณภาพเพียง ๑ ปี) สมัยเป็นฆราวาส ท่านได้สมรสกับนางประชุมศรี อาภรณ์สิริ มีบุตรชาย 2 คน บุตรหญิง 2 คน




หลวงพ่อท่านเล่าให้ฟังว่า คุณปู่ของท่าน คือพระยาภูษามาลา (ผู้พี่) และเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ดำรง (ผู้น้อง) มีถิ่นกำเนิดที่ จ. กำแพงเพชร ได้เข้ามารับใช้ฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ในกองพระภูษามาลาและกองมูรธาภิเษก ในพระบรมมหาราชวัง เป็นต้นสกุล “อาภรณ์สิริ” และ “เพ็ญกุล” ตามลำดับ เนื่องจากสายสกุลของหลวงพ่อ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์อย่างมาก หลวงพ่อจึงมีความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ได้ประดิษฐานไม้แกะสลักเป็นรูปพระองค์ท่านที่หน้ากุฏิหลวงพ่อ เห็นได้จนปัจจุบัน หลวงพ่อท่านมีความสัมพันธ์ทางจิตใจ มีความภักดีในพระองค์ท่านอย่างลึกซึ้ง) องค์รัชทายาทและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ หลวงพ่อก็ให้ความจงรักภักดี เทอดทูนเสมอมา



การศึกษาของหลวงพ่อเริ่มต้นที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน กรุงเทพฯ แต่เล่าเรียนอยู่ไม่นานนัก ก็ได้ย้ายไปที่โรงเรียนอัสสัมชัญ อำเภอบางรัก กรุงเทพฯ หลวงพ่อเรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาเลือก จนจบชั้นสูงสุดในสมัยก่อน คือ ชั้นมัธยมปีที่ ๖ หรือชั้นสแตนดาร์ด ๗ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ขณะมีอายุ ๑๙ ปีบริบูรณ์



เมื่อจบชั้นมัธยมบริบูรณ์แล้ว เนื่องจากภาษาอังกฤษของหลวงพ่อดีมาก (ตอนเป็นพระภิกษุ ได้แนะนำ สนทนา วิพากษ์วิจารณ์หลักธรรมทางพุทธศาสนากับชาวต่างชาติได้อย่างคล่องแคล่วและลึกซึ้ง) สามารถพูดและเขียนภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว จึงได้ไปสมัครทำงานที่บริษัทวินเซอร์ของชาวอังกฤษ ได้ทำงานอยู่ไม่นานเพียง ๑-๒ สัปดาห์ บิดาท่านทราบในภายหลัง จึงไม่ยินยอมและให้ออกจากงาน แล้วให้ไปสมัครทำงานที่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง แทน (ผู้เขียนเรียนถามท่านว่าเหตุใดบิดาท่านจึงไม่ยอม ท่านตอบโดยยิ้มๆว่า บิดาท่านชาตินิยม อยากให้ช่วยประเทศชาติชาวไทยมากกว่า) หลวงพ่อจึงเข้ารับราชการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยนั้น คือ พระยาไชยยศสมบัติ เป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมในภายหลังถัดมา



หลวงพ่อรับราชการเริ่มต้นอัตราตำแหน่งเสมียนโท เงินเดือน ๓๐ บาท (สมัยนั้นก๋วยเตี๋ยว ๑ ชามใหญ่ ราคา ๑๐ สตางค์) เกี่ยวกับงานติดตามรายวันของกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ในปีพ.ศ. ๒๔๗๑ ในปีพ.ศ. ๒๔๗๗ ได้ถูกโอนไปรับงานด้านเลขานุการ สำนักงาน ร.ม.ต.กระทรวงการคลัง จนถึงพ.ศ. ๒๔๘๓ ได้เลื่อนตำแหน่งจากเสมียนโท เป็นเสมียน ๓, เสมียนจัตวา สุดท้ายเป็นข้าราชการพลเรือนชั้นตรี โอนไปอยู่กรมสรรพสามิต แผนกกองรายได้ฝิ่น อัตราเงินเดือน ๘๐ บาท ในปีพ.ศ. ๒๔๘๓ ตอนปลายปีจึงถูกโอนไปแผนกสถิติและโต้ตอบจดหมาย กองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และตอนต้นปีพ.ศ. ๒๔๘๗ ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นข้าราชการพลเรือนชั้นโท และเป็นหัวหน้าแผนกสถิติ กองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อัตราเงินเดือน ๑๔๐ บาท



จนกระทั่งถึงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๐๔ ตอนอายุ ๕๒ ปี ท่านมีความเบื่อหน่ายต่อชีวิตฆราวาส และประสบกับความสงบ ความสุข เห็นแจ้งในสภาวสัจจธรรม อันเนื่องจากการปฏิบัติสมาธิ-วิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งท่านได้ประพฤติปฏิบัติอย่างขั้นอุกฤษฏ์ ในช่วง ๕ ปีหลังในชีวิตรับราชการ แม้ทางการอนุมัติตำแหน่งรองอธิบดีกระทรวงอุตสาหกรรมให้แล้วก็ตาม ท่านขอลาออกจากราชการก่อนกำหนดการปลดเกษียณอายุถึง 3 ปี (เกษียณอายุราชการสมัยนั้นใช้เกณฑ์อายุ ๕๕ ปี) อัตราเงินเดือนของท่านขั้นสุดท้าย ๒,๕๐๐ บาท มีอายุราชการ ๓๖ ปีเต็ม เพื่อไม่ให้มีความกังวล และให้การปฏิบัติธรรมต่อเป็นไปอย่างเด็ดขาด จริงจัง และต่อเนื่อง จึงขอรับบำเหน็จเป็นเงิน ๙๐,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งโอนที่ดินและทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ครอบครัวท่านต่อไป



หลังจากได้รับอนุมัติการลาออกจากราชการ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๔ แล้ว จึงขออุปสมบทที่วัดโพธิ์ ท่าเตียน โดยมีสมเด็จพระวันรัต (ต่อมาด้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช) เจ้าอาวาสวัดเป็นพระอุปัชฌาย์ และมีหลวงปู่โต๊ะ (พระราชสังวราภิมนฑ์) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่ออยู่ในสมณเพศตลอด โดยสมาทานธุดงควัตร ๔ ข้อ คือ ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ครองจีวรชุดเดียว (จะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อเก่าหรือชำรุด) เป็นวัตร รับบิณฑบาตเป็นวัตร และอยู่ป่าเป็นวัตร จนกระทั่งถึงแก่มรณภาพด้วยโรคปอดอักเสบ (หลวงพ่ออายุมาก ใกล้จะ ๘๐ ปี เผอิญปีที่หลวงพ่อถึงมรณภาพ ก่อนเข้าพรรษาเพียง ๑ สัปดาห์ ฝนตกอย่างมากขณะรับบิณฑบาต จีวรเปียกโชก มีอาการหนาวสั่น เป็นสาเหตุ) อย่างกระทันหัน เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๑



ขอย้อนกล่าวไปถึงในระยะเวลาที่หลวงพ่อรับราชการยาวนานถึง ๓๖ ปีเต็ม ใน ๒ กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประสบการณ์มากมาย เป็นที่รักไว้วางใจของผู้บังคับบัญชาและเป็นที่เคารพรักของผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นอย่างมาก เพราะท่านให้ความเอ็นดู มีเมตตาธรรมและความยุติธรรมแก่เขาอย่างจริงใจ เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่ชอบอ่านหนังสืออย่างมาก โดยเฉพาะหนังสือพระไตรปิฎก (เน้นหนักไปที่พระวินัยและพระสูตร) หลวงพ่อบอกว่าได้อ่านทบทวนไปมาถึง ๓ เที่ยว เนื่องจากสมัยที่หลวงพ่อบวช หนังสือพระไตรปิฎกยังมีการพิมพ์ไม่แพร่หลายนัก พระสูตรที่สำคัญๆ หลวงพ่อต้องคัดออกมาด้วยลายมือเอง โดยความเป็นระเบียบและงดงาม นอกจากพระไตรปิฎกแล้ว หลวงพ่อสนใจอ่านหนังสือเกี่ยวกับพงศาวดารจีน อาทิ สามก๊ก เลียดก๊ก โฮ้วป่า ฯลฯ ส่วนตำราอื่นๆที่สนใจก็มี เช่น พรหมศาสตร์ ทำนายฝัน ลางสังหรณ์ต่างๆ ทำนายไฝ-ฝ้า ตำราโหงวเฮ้ง ฯลฯ



นอกจากการอ่านหนังสือดังกล่าวแล้ว หลวงพ่อยังมีความชำนาญในการประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ตั้งแต่สมัยเป็นฆราวาส สมัยที่ยังรับราชการในกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้รับตำแหน่งให้เป็นคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่หนังสือนิตยสาร “อุตสาหกร” ประจำกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย ข้อเขียนของหลวงพ่อมีทั้งเรื่องสั้น เรื่องยาว ลงพิมพ์ในหนังสือนิตยสารประจำกระทรวงและที่อื่นๆ โดยใช้นามปากกาต่างๆกัน เช่น “เมรุมาส” เกี่ยวกับเรื่องการเมือง “ศรีธรรมาโศก” เกี่ยวกับเรื่องศาสนา และ “เวทางค์” เกี่ยวกับเรื่องความรักโรแมนติก เป็นต้น บทประพันธ์ร้อยกรองของหลวงพ่อ ประกอบด้วยร่าย (สั้นและยาว) โคลงสอง โคลงสาม โคลงสี่ กลอนหก กลอนแปด เป็นต้น โดยเฉพาะโคลงสี่ ซึ่งจะแต่งให้ไพเราะได้ยากกว่าโคลงสี่สุภาพ หลวงพ่อมีความเชี่ยวชาญมาก



หนังสือที่หลวงพ่อเขียนขณะเป็นบรรพชิตมีหลายเล่ม แต่ละเล่มได้บรรยายถึงความเป็นมา ความตั้งใจจริงจังในการปฏิบัติธรรมในสถานที่และสถานการณ์ต่างๆกัน ตลอดจนการได้รับผลจากการปฏิบัติอันแน่วแน่อย่างอุกฤษฏ์ หลายเล่มได้ใช้เป็นปัจจัยให้มีการก่อสร้างอาคารสถานที่ในระยะเริ่มต้นก่อสร้างวัดปิปผลิวนาราม อาทิ ห้องสมุดเพื่อการศึกษาค้นคว้าขนาดใหญ่ อุโบสถชั่วคราวที่เชิงเขา และหอฉัน เป็นต้น หนังสือที่หลวงพ่อเขียนเรียงตามลำดับก่อนหลังมีดังนี้

- ๖ เดือนบนภูกระดึง

- ปัญจมาสในชมพูทวีป

- โป๊ยเซียน (ข้อมูลต่างๆ เตรียมไว้ตั้งแต่เป็นฆราวาสแล้ว หากยังไม่มีโอกาสเขียน)

- กฏและระเบียบของวัด และการปฏิบัติพระกรรมฐาน

- สภาวะสังขารธรรม

- สัปกปุริสธรรมและสมาธิภาวนาเบื้องต้น

- เมื่อข้าพเจ้ามาพบที่ใหม่ เป็นเล่มสุดท้ายที่หลวงพ่อเขียนก่อนถึงมรณภาพเพียง ๔ ปี

ขอแนะนำให้ศิษย์ของหลวงพ่อและผู้ที่สนใจในธรรมะของท่าน โปรดได้อ่านโดยทั่วกัน โดยเฉพาะเรื่อง สภาวะสังขารธรรม หลวงพ่อต้องใช้พลังสมาธิและปัญญาอย่างมากในการเขียนเรียบเรียงจนสมบูรณ์เป็นรูปเล่ม อาจจะต้องใช้สมาธิในการอ่านถึง ๒-๓ เที่ยว จึงจะได้สัมผัสประสบกับความละเอียดลึกซึ้งในธรรมะแห่งพระพุทธองค์ และรู้สึกถึงความไพเราะนุ่มนวลในเชิงวรรณศิลป์ที่หลวงพ่อได้บรรจงเขียนและประกอบด้วยภาพเปรียบเทียบให้เห็นและเข้าใจได้
ประสบการณ์ปฏิบัติธรรมบนภูกระดึง


หลังจากอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ แม้บวชได้เพียงพรรษาเดียว หลวงพ่อกัสสปมุนี ได้ขออนุญาตอุปัชฌาย์อาจารย์ของท่านออกธุดงค์ ไปบำเพ็ญเพียรภาวนา อยู่บนยอดเขาภูกระดึง อันแสนจะหนาวเหน็บ (เดือน พ.ย. ๒๕๐๖) ในช่วงเวลานั้น ท่านได้เขียนหนังสือหนึ่งเล่มบรรยายถึงสิ่งอัศจรรย์ต่างๆที่ท่านได้ประสบ ชื่อว่า หกเดือนบนภูกระดึง



หนึ่งในสิ่งอัศจรรย์ที่หลวงพ่อกัสสปมุนีได้ประสบบนภูกระดึง คือการได้พบกับเจ้าแม่วิสาขาแห่งภูกระดึง ซึ่งหลวงพ่อเรียกเจ้าแม่ว่าเป็นทิพย์อุปัฏฐาก ท่านพบเจ้าแม่ในเช้าวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๐๖ ขณะท่านกำลังเดินจงกรมบนพลาญหินกลางแจ้งหลังกุฎิ และคำนึงถึงปัญหาเกี่ยวกับเครื่องนอนป้องกันความหนาวที่เตรียมไปไม่เพียงพอ ท่านเขียนไว้ว่า



“วันนี้อาตมาภาพขึ้นเดินเริ่มแต่หัวจงกรม (หัวจงกรมเป็นหินนูนสูงราว ๑ ฟุต) ไปจนสุดทางจงกรม เดินไปก็คิดนึกไปว่า จะทนสู้ความหนาวบนนี้ต่อไปอีกไหวหรือ เพราะความหนาวเพิ่มรุนแรงขึ้นทุกวัน วันนี้ถามที่ทหารอากาศก็บอกว่า ลบ ๐ ลงมา ๕ แล้ว ถ้ามันลบลงมาถึง ๑๐ หรือ ๑๕ เรามิแข็งตายหรือ สงสารแต่สามเณร เพราะยังเด็กนัก จะทนได้สักกี่วัน เดินจงกรมแล้วก็ครุ่นคิดวิตกไป จนถึงหัวจงกรมรอบที่สอง พอหันตัวกลับจะลงเดินเป็นรอบที่สาม ก็ต้องชะงักงันอยู่กับที่ เพราะสิ่งที่มิได้นึกฝัน ไม่ได้คิดว่าจะเป็นไปได้ในชีวิต ก็ได้ปรากฏขึ้น อย่างที่ตัวเอง ก็บอกไม่ได้ อธิบายไม่ถูก คือ พออาตมาภาพหันตัวกลับ จะก้าวลงเดินรอบที่สาม ก็เห็นสตรีคนหนึ่งเดินผ่านหน้าในอาการก้าวเดินเนิบๆ แต่ลอยตัว สูงพ้นจากพื้นพลาญหินประมาณสันมือลอดได้ มือพนมอยู่หว่างอกที่ตึงอิ่ม หันหน้ามองมายังอาตมาภาพด้วยดวงตาอันดำขลับสุกใสเป็นประกาย อาตมาภาพยืนตะลึง มองตาม สองมือจับหัวไม้เท้ายันไว้ข้างหน้า จนเธอเดินมาหยุดยืนเยื้องมาทางขวามืออาตมาภาพเล็กน้อย (เธอเดินผ่านหน้าอาตมาภาพจากซ้ายมาขวา) ห่างกันราว ๒ วา ต่ำกว่าหัวจงกรมที่อาตมาภาพยืน เราคงยืนจ้องกันอย่างนั้นอยู่สัก ๒-๓ อึดใจ



ใบหน้า แววตา ริมฝีปาก ที่งามน่าพิศ แม้จะไม่มีอาการยิ้มอย่างคนธรรมดา แต่ก็แสดงให้เห็นว่ายิ้มอย่างละมุนละไม ทรวดทรงองค์เอว นิ้วเท้า นิ้วมือ ลำแขนดูเพรียวเต็มอิ่มไปด้วยผิวที่ผุดผ่องนวลกระจ่าง ขณะนั้นดวงอาทิตย์กำลังส่องแสงกล้า เพราะเป็นเวลา ๑๐.๐๐ น. เศษ แต่ถึงกระนั้นก็ดูเหมือนทั่วร่างของเธอมีประกายระยิบออกมากระทบกับแสงอาทิตย์ อาภรณ์เครื่องแต่งตัว อาตมาภาพพอจะจดจำได้ คือ ผ้าที่นุ่งเป็นเหมือนฝ้ายลายทอง เป็นตารางคล้ายร่างแห ระหว่างช่องตารางดูคล้ายกับมีเพชรเม็ดสีต่างๆผนึกติดไว้เต็ม เชิงปลายผ้าคลุมสูงจากข้อเท้าในราว ๑ คืบ ข้อเท้าสวมกำไลเป็นเม็ดรอบ แวววาว สังเกตไม่ได้ว่าเป็นอะไร เชิงผ้าเป็นลวดลายกนกหนากว้างขึ้นมาราวคืบเศษ ดูระยิบระยับ ผ้าด้านหน้าพับซ้อน รัดด้วยเข็มขัดอ่อน ดูคล้ายแก้วปนทองเป็นประกายเลื่อมวาววับ หัวเข็มขัดนูนโต ตรงกลางหัวเข็มขัดฝังคล้ายบุษราคัม เม็ดขนาดหมากสง ท่อนตัวห่มสไบเฉียงสีเดียวกับผ้านุ่ง คือสีเขียวตองอ่อนปนทอง เป็นการห่มเฉียงอย่างแนบเนื้อ ไม่มีรอยย่นรอยจีบอะไร พราวระยับไปทั่วร่าง ข้อมือมีกำไลเช่นเดียวกับข้อเท้า ทั้งที่สวมที่ต้นแขน ตอนขลิบริมขอบบนและล่างของกำไลเป็นกนก คล้ายๆกนกเปลว คือเป็นหยักๆ ปลายแหลมงอนขึ้น เวลาถูกแสงแดดดูเป็นเงาวับๆ นิ้วที่เรียวงามสวมแหวนทั้งสี่นิ้วทั้งสองข้าง ปลายนิ้วเรียวจนถึงเล็บ งามมาก นิ้วเท้าก็เช่นเดียวกัน บนศีรษะประดับด้วยกรอบหน้าคล้ายละคร แต่เป็นชั้นซ้อนขึ้นไปตามลำดับ๓ ชั้น แต่ละชั้นเป็นกิ่งไหวแพรวพราว คล้ายเส้นลวดดอกไม้ไหว เวลาไหวกระเพื่อมดูพร่างพราวคล้ายฝนพรม ตัวกรอบหน้าคล้ายทองปนแก้ว ช้องหูที่ครอบรอบใบหู คล้ายเอาเส้นไหมทองคำที่เป็นเงางาม มาทำเป็นร่างแหอย่างหนาครอบติดเอาไว้ ดูงามประหลาดอย่างยิ่ง แต่ไม่เห็นเบื้องหลังของเธอว่าเส้นผมจะงามเพียงไร ได้จัดเกล้าไว้หรือปล่อยยาวประหลังก็ไม่ทราบ คงเห็นแต่ข้างหน้าเพราะยืนประจันหน้ากันอยู่ท่ามกลางแสงแดด เรือนร่างเพรียวระหงอวบอิ่ม ช่วงไหล่ผาย ต้นแขนอวบเต็ม เอวคอดกลม สะโพกผายกลม แล้วเรียวเรื่อยลงไปจนถึงข้อเท้า หลังเท้านูนงาม นิ้วเท้ากลมเรียงเป็นลำดับ ไม่มีปุ่มโปนหรือข้อต่อข้อกระดูกอย่างเราสามัญมนุษย์เลย





อาตมาภาพอธิบายไม่ถูกว่าเธองามเพียงไร สง่าอย่างมีอำนาจอย่างไร งามจริงๆ งามอย่างไม่มีอะไรในโลกมนุษย์จะเปรียบ งามอย่างสตรีอายุวัย ๒๕ กลิ่นหอมกระจายโชยมาถูกจมูก คล้ายกลิ่นกุหลาบอ่อนๆปนแป้งร่ำ ทำให้สดชื่นใจ อาตมาภาพใจเต้นระทึกตะลึงงันอยู่อย่างนั้น สายตาคงจับประสานกัน ดูเหมือนเธอจะยิ้มละไม ที่เห็นอาการกิริยาของอาตมาภาพเช่นนั้น ครั้นแล้วอาตมาภาพก็ต้องประหลาดอัศจรรย์ใจอีก ที่เห็นร่างเธอค่อยๆยอบต่ำลงๆ แต่มือคงพนม และสายตาคงจ้องมองอยู่เช่นนั้น การยอบต่ำลงนั้นไม่มีการเอนเอียงแต่อย่างใด ต่ำลงๆจนเป็นอาการในท่าคุกเข่า คือ เข่าซ้ายจรดพื้น (แต่ไม่ถึงพื้นหิน คงลอยอยู่เหนือพื้นพลาญหินขนาดสันมือลอด) เข่าขวายกชัน ผ้าที่นุ่งคงเป็นระเบียบ ไม่ย่น ไม่ถลก อย่างที่สามัญชนกระทำกัน อาตมาภาพคงจ้องมองนิ่งอยู่อย่างนั้น สองมือจับหัวไม้เท้าแน่น ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไป ครั้นแล้วเสียงแว่ว แต่กังวานแจ่มใสน่าฟังจากเธอพูดขึ้นก่อนว่า





“มีอะไรบอกโยมเถอะ ดูมาหลายวันแล้ว รักเหมือนลูกของโยมจริงๆ”

เสียงที่ออกมานั้น แม้จะรู้ว่าผ่านออกมาจากริมฝีปาก แต่ก็เห็นริมฝีปากเผยอนิดๆเท่านั้น อาตมาภาพได้สติเมื่อได้ฟังคำพูดที่ได้พูดนำขึ้นก่อน ด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะแสดงออกถึงความเมตตา แต่ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะพูดอะไร เธอก็พูดอีกว่า

“มีอะไรบอกโยมเถอะ จะจัดการให้”

อาตมาภาพระงับความระทึกใจเป็นปกติแล้ว ก็ตอบเธอว่า “อากาศหนาวทนไม่ไหวจริงๆ คุณโยม อาตมาทนไม่ไหว”

คราวนี้ใบหน้าและริมฝีปากยิ้มละไมอิ่มเอิบ ดวงตาที่มองจ้องจับเป็นประกายสดใสกระจ่าง เสียงเธอพูดย้ำอีกว่า “มีอะไรบอกโยมก็แล้วกัน”



อาตมาภาพรู้สึกตัว ได้คิด จึงอนุโมทนาที่เธอให้ความเมตตา แล้วถามว่า “อาตมาจะเรียกคุณโยมว่าอย่างไร”

“เรียกโยมว่า วิสาขา โยมอยู่ปกครองที่นี่มาหมื่นปีเข้านี่แล้ว ขอให้ท่านจงปฏิบัติต่อไปตามเวลาที่กำหนด โยมขอนมัสการลาท่าน”

พูดแล้วเธอก็ลุกขึ้น แต่เป็นการลุกขึ้นอย่างลอยตัว คือ ค่อยๆเคลื่อนตัวขึ้นจนยืนตรง มือยังคงพนมอย่อย่างนั้น งามมาก งามจริงๆ ใบหน้ายิ้มย่องผ่องใสกระจ่างทั้งเรือนร่าง อาตมาภาพได้แต่กล่าวพึมพำ อนุโมทนาให้พรเธอเบาๆ ขอให้เธอมีความอิ่มเอิบสุขสำราญในทิพยสมบัติและทิพยอำนาจตราบเท่าพระนิพพาน ที่ได้มีเมตตากุศลจิตอนุเคราะห์อาตมาภาพครั้งนี้ อาตมาภาพเพ่งพินิจมองดูเห็นเรือนร่างอันงามล้ำเฉิดฉาย ค่อยๆจางหายไปในท่ามกลางแสงแดด เป็นการเลือนหายจางลงๆ แต่ยังคงอยู่ในอาการเดิม สายตาอันดำขลับเป็นประกายเงางาม คงจ้องจับจนหายลับไป ...





เวลาล่วงไปในราว ๑๐ นาที อาตมาภาพถือว่าเป็นเวลาอันมีคุณค่า อย่างไม่มีอะไรมาแลกเปลี่ยนกันได้ในชีวิตนี้ นับแต่เกิดจากครรภ์มารดา จนกระทั่งมาบวชเป็นภิกษุจนถึงวันนี้ ความสุขใจ ความอิ่มใจ ความผ่องใส มันเต็มเพียบพร้อมอย่างบริบูรณ์ในขณะนั้น คงยืนพินิจอยู่กลางแสงแดด โดยไม่รู้สึกร้อนหรือหนาว อย่างที่เป็นอยู่เมื่อแรก คงมองไปเบื้องหน้า ที่ร่างของคุณโยมวิสาขาได้เลือนหายไปอยู่อย่างนั้น ไม่ทราบว่านานเท่าไร...”

ภายในบ่ายวันเดียวกันนั้นเอง คนงานป่าไม้ได้นำเสื่อ ที่นอน และผ้า

ห่มมาให้หลวงพ่อกัสสปมุนีอย่างพอเพียง



เจ้าแม่วิสาขายังเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการช่วยเหลือหลวงพ่อกัสสปมุนีในการสร้างวัดปิปผลิวนาราม อ.บ้านค่าย จ.ระยอง โดยได้มอบหมายให้เจ้าแม่จำปากะสุนทรี ซึ่งเป็นน้องสาวของท่าน ได้ช่วยให้หลวงพ่อกัสสปมุนีสร้างวัดจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ประสบการณ์ปฏิบัติธรรมบนภูกระดึง (ตอน2)


สิ่งอัศจรรย์อย่างที่สองที่หลวงพ่อกัสสปมุนีได้ประสบบนภูกระดึง คือ เรื่องราวต่อไปนี้



“การบำเพ็ญของอาตมาภาพมาถึงปีใหม่ เดือนมกราคม ๒๕๐๗ พวกที่รักษาป่าไม้ได้ทำความตกลงกับหมออารมณ์คือ ขอให้อาตมาภาพไปรับบิณฑบาตสลับกัน คือไปบิณฑบาตที่ริงค์ ทอ. วันหนึ่ง แล้วไปบิณฑบาตที่บ้านป่าไม้วันหนึ่ง จนกว่าอาตมาภาพจะลงจากภู ซึ่งอาตมาภาพก็ได้ปฏิบัติตามที่นิมนต์นั้นตลอดมา คือ วันนี้ฉันข้าวสุก พรุ่งนี้ฉันข้าวนึ่ง (ข้าวเหนียว) การบำเพ็ญได้ปฏิบัติอย่างเข้มงวด ไม่ว่างเว้น สม่ำเสมอตลอดมา การเอนกายลงนอนกลางวันไม่เคยมีในชีวิตสมณศากยบุตร เข้ากุฎเวลา ๑๘.๓๐ น. (คือหกโมงเย็นครึ่ง) หรืออย่างช้า ๓ ทุ่ม เว้นแต่ถ้าเป็นเวลาเดือนเพ็ญ ก็เข้ากุฎิล่าหน่อย ดังที่ได้เล่ามา



ตอนนี้ได้ให้สามเณรแยกไปนอนกุฎิ ทำด้วยฟาก หลังคามุงด้วยพง ประตูทำด้วยสังกะสี อยู่โคนไม้ริมพลาญหิน ห่างจากกุฎิอาตมาภาพราว ๓๐ เมตร เพราะเห็นว่ามีความคุ้นกับสถานที่และกล้าพอตัวแล้ว เวลาหมอกลงจัด หนาทึบ จนมองอะไรไม่เห็น ก็ต้องยืนรอดูส่ง จนเห็นสามเณรเข้ากุฎิ ปิดประตูเรียบร้อยแล้ว อาตมาภาพจึงกลับเข้ากุฎิ



คืนวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ เป็นวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันพฤหัสบดี อาตมาภาพได้เจริญเจโตสมาธิ ด้วยภวังคจิตที่แน่วสนิท เป็นเวลาจนถึงตี ๒ โดยนั่งหันหน้าเข้าฝากุฎิหัวนอน ได้ยินเสียงเรียกเข้าหูอย่างแจ่มชัดว่า

“พระคุณท่าน โปรดลุกออกมาข้างนอกหน่อย” น้ำเสียงสำแดงคารวะ



อาตมาภาพประหลาดใจ ลืมตาขึ้น มองเห็นอุบาสกชรา เส้นผมขาว ใบหน้าผ่องใสเป็นเงากระจ่าง นุ่งผ้าขาวจีบหน้า ห่มเฉียงด้วยผ้าขาวบาง ชายปลิวสบัดไปตามกระแสลม ถือไม้เท้ายาวเสมอศีรษะ ฝาที่หัวนอนดูเหมือนไม่มี ทั้งๆที่มุ้งกลดก็บังอยู่ แต่ก็เห็นได้อย่างแจ่มชัด จะเรียกให้ออกไปทำไม อาตมาภาพนึกในใจ ก็มรเสียงเรียกมาอีกว่า

“ลุกออกมาทางนี้แหละครับ ข้าเจ้ามาคอยรับท่าน ลุกออกมาเถอะครับ”



อาตมาภาพไม่ลังเล ความมั่นใจ ความสดชื่นภายใน ไม่ทราบว่ามีได้เต็มเปี่ยมอย่างไร รู้สึกว่าอุบาสกชราผู้นี้เป็นมิตรสนิท ไว้วางใจได้ โดยไม่ต้องคลางแคลง ออกจากมุ้งกลด หยิบไม้เท้าที่พิงไว้มุมฝาหัวนอน ก้าวออกไป พริบตาเดียวก็ไปยืนอยู่ตรงหน้าอุบาสกชรา ผู้มีใบหน้าอิ่มเอิบผ่องใสผู้นั้น กุฎิของอาตมาภาพตั้งอยู่ระหว่างช่องหิน ขอบหินด้านหัวนอนสูงกว่ากุฎิเกือบครึ่ง และห่างกันเกือบ ๑ เมตร แต่อาตมาภาพก้าวข้ามออกไปได้อย่างไร ตัวเองก็ไม่รู้ อธิบายไม่ได้ เพียงแต่ว่าแวบเดียวถึง อุบาสกชราเดินหลีกจากอาตมาภาพ พลางพูดว่า

“นิมนต์ตามข้าเจ้ามา”

“จะพาอาตมาไปไหนกัน?”





“ไปยังที่ท่านผู้เป็นใหญ่ ณ ที่นี้ ประสงค์ให้พระคุณท่านได้เห็น ตามข้าเจ้ามาเถอะพระคุณท่าน เวลาล่วงไปโขแล้ว”

ว่าแล้วอุบาสกชราก็เริ่มเดินนำ เยื้องห่างจากอาตมาภาพไปทางขวาเล็กน้อย ห่างกันประมาณเกือบสองวา



คืนวันนี้แสงจันทร์ส่องกระจ่างทรงกลด ดาวเต็มท้องฟ้าสะอาดปราศจากเมฆ สรรพสิ่งทุกอย่างรอบข้างอ้างว้างเงียบสงัด ลมพัดโชยพอสบาย ทำให้ชายจีวรของอาตมาภาพ และผ้าขาวห่มเฉียงของอุบาสกชราปลิวไหวนิดๆ อาตมาภาพทั้งประหลาดใจและอัศจรรย์ใจ ในการก้าวเดินของเราทั้งสอง ในครั้งนี้ เป็นอย่างที่สุดจะพรรณนา

เพราะอะไร? ก็เพราะการก้าวเดิน ก็เป็นการก้าวเดินอย่างธรรมดา แต่ฝ่าเท้าไม่สัมผัสพื้น แต่ลอยเรื่อยไปข้ามช่องเขา แล้วมาก้าวเดิน เหยียบไปบนยอดพงหญ้าคาที่ขึ้นสูง น้ำค้างบนยอดพงเปียกติดฝ่าเท้า อาตมาภาพชำเลืองดูอุบาสกชราผู้นำทาง ก็เห็นมุ่งหน้าเดินในอาการสำรวมปกติ ไม่หันมามอง ไม่มีการพูดจา อาตมาภาพก็คงสำรวมเดินตามลิ่วๆไป ประหลาดจริงๆ



ท่านสาธุชนทั้งหลาย มันไม่ใช่อาการเหาะ ไม่ใช่อาการลอยไปเฉยๆ แต่มันเป็นอาการก้าวเดินอย่างธรรมดา แต่ทว่าคล้ายเลื่อนไถลลอยไปฉะนั้น เบาและนุ่มนวล ไม่มีอาการเกร็งข้อเท้า หรือฝืนกล้ามเนื้อน่อง หรือขาอ่อนอย่างไร ก้าวเดินไปอย่างสบายและว่องไว อาตมาภาพได้พบ ได้ถูกต้องแล้วในชีวิตนี้ ซึ่งมิคิดว่าจะได้พบ ภายในใจภาวนา นึกอนุโมทนาขอบคุณคุณโยมวิสาขา ที่ได้เอื้อเฟื้อและเมตตาถึงปานนี้



เราพากันเดินเบนเฉียงไปทางขวาเรื่อยไป ใช้เวลาราว ๑๐ นาที ประมาณตีสองเศษ ก็มาหยุดยืนริมชายป่าขอบภูแห่งหนึ่ง มองดูทิวทัศน์เบื้องล่าง เห็นแต่หมอกบางสลัว แล้วอุบาสกผู้นำทาง ก็นำเดินลงตามช่องทางเล็กๆ พอเดินเรียงเดี่ยว เบื้องบนศีรษะมีพงหญ้าปกคลุมหนาทึบ เราเดินเลี้ยวขวาต่ำลงๆไปเรื่อยๆ จนมาหยุดยืนบนแผ่นหิน เบื้องหน้าเป็นช่องกว้างประมาณ ๑ วา สูง ๒ ช่วงตน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายประตู ภายในสว่างกระจ่างแจ้ง ไม่ใช่แสงตะเกียง ไม่ใช่แสงไฟฟ้า แต่มันสว่างกระจ่างใส คล้ายแสงแก้ว อุบาสกชราผู้นำทางหยุดยืน แขนขวายันประตู มีใบหน้ายิ้มระรื่นด้วยคารวะและไมตรี มีกลิ่นคล้ายกลิ่นกระแจะอ่อนๆ รำเพยมา พลางเอ่ยบอกว่า





“บัดนี้ขอพระคุณเจ้าผู้เจริญ จงโปรดเที่ยวชมภายในรัตนคูหานี้ ได้โดยอิสระ เสมือนเป็นเจ้าของสถานที่แห่งนี้ ข้าเจ้าจะคอยท่านจนกว่าจะกลับ”

อาตมาภาพมองดูอุบาสกชราด้วยสายตาอันชื่นบาน เราสบสายตากันอยู่ครู่หนึ่ง อาตมาภาพก็ก้าวเดินเข้าไป พื้นในถ้ำราบเรียบ สภาพภายในร่มรื่น แจ่มกระจ่าง แสงสว่างที่สาดไปทั่วนั้น ทำให้ผิวร่างกายอาตมาภาพรู้สึกสดชื่น อ่อนนุ่มไปทั้งร่าง ตัวเบาอย่างผาสุก มันเบาคล้ายกับกระดูกทุกส่วนเป็นโพรง กลิ่นหอมระรื่นชื่นใจอบอวลไปทั่ว ตักเตือนตัวเองว่า

“อันตัวเรานี้เป็นสมณะสาวกศากยบุตร ท่านเห็นว่าเรามีคุณสมบัติ พอจะนำมาเหยียบ มาเห็นสถานที่แห่งนี้ได้

จึงได้อนุญาตนำมาให้ได้เห็นได้ชม



ใครบ้างที่เป็นมนุษย์ปุถุชน จะได้มีโอกาสดั่งเช่นเรา ฉะนั้นอย่าเผลอ อย่าผยองร่าเริงว่า นี่เป็นของเรา เราดีเหนือกว่าใตร ถ้าคิดนึกเช่นนี้แล้วไซร้ ความหวังได้ซึ่งธรรมวิเศษ หรือ การที่จะได้ประสบพบสิ่งอันเป็นมงคลเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่ฐานะจะเป็นไปได้”



อาตมาภาพเดินตรึกรำพึงไปพลาง สายตาก็พินิจพิเคราะห์สถานที่ห้องหับคูหา อันงามรุ่งเรืองตระการตาไปพลาง แสงสว่างพร่างงามนั้น ออกมาจากผนังภายในคูหานั้น เหมือนกับฉาบทาไว้ด้วยแก้วมณี หรือว่าผนังนั้นเป็นแก้วมณีเอง เป็นปุ่ม เป็นระแหง เป็นช่อ เป็นแผ่นเรียบ เป็นพวงระย้า สลับซับซ้อนติดพืดกันไปหมด อย่างเป็นระเบียบ ดุจนายช่างวิศวกรอันมีศิลปฝีมือเลิศ ได้ประดับสลักติดไว้ ถ้ายืนนิ่งจ้องดูแสงที่ออกมาจากปุ่มจากช่อ ฯลฯ เหล่านั้น จะทำอาการวาวๆ วุบวับ คล้ายกับจะแสดงอาการให้นิ่งพิศ หรือเหมือนกับล้อสายตาเล่นอย่างสนุกฉะนั้น

เพียงไม่ถึงนาที อาตมาภาพไม่ติดใจ เดินเลยเข้าไปในห้องเบื้องหน้า พอย่างล้ำล่วงเข้าไป ก็ต้องยืนนิ่งด้วยความประหลาดพิศดารยิ่งของห้องนั้น มีโต๊ะเท้าสิงห์ พื้นไม้สีดำดุจสีนิล ลายทองคำสลักด้วยลวดลายละเอียดยิบ สูงเสมอเอว ยาวประมาณ ๒ วา กว้าง ๑ วา ขาโต๊ะแกะสลักเสลาด้วยลวดลาย ที่งามเหนือลวดลายที่ได้พบเห็น ขอบโต๊ะก็เช่นกัน



แต่ที่มหัศจรรย์อย่างยิ่งก็คือ บนโต๊ะนั้นมีกระถางสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวประมาณ ๑ ศอกคืบ กว้างประมาณคืบครึ่ง สูงจากพื้นโต๊ะที่วางเท่ากับความกว้าง ตัวกระถางเป็นสีมรกตใสจาง ในกระถางมีทองคำแท่งเนื้อเยี่ยม ยาวกว่ากล่องไม้ขีดไฟสักสองนิ้วมือเรียง กว้างขนาดกล่องไม้ขีดไฟ วางเรียงเป็นระเบียบ เต็มถึงขอบปากกระถาง โต๊ะที่ว่านี้ในห้องนั้นนับดูได้สี่สิบโต๊ะ วางเรียงเป็นหมู่ หมู่ละ ๔ โต๊ะ ระหว่างช่องของหมู่ กว้างพอเดินเรียงเดี่ยวได้ตลอด





ส่วนช่องทางเดินระหว่างหมู่ใหญ่ต่อหมู่ใหญ่ กว้างพอสองคนเดินเรียงกันได้สบาย อาตมาภาพลองแงะหยิบ (ทองคำแท่ง) ขึ้นมาดู เห็นความหนาประมาณ ๑ นิ้วฟุต มีน้ำหนักเท่าที่ลองหยั่งดูคงจะหลายสิบบาท เป็นทองคำเนื้อเลิศ เหนือกว่าเนื้อเก้าเนื้ออะไรทั้งนั้น อาตมาภาพดูแล้วก็วางลงที่เดิม แล้วลองเอาเล็บหัวแม่มือกดขีดดู เป็นรอยนิ่มเป็นแนวไปตามเล็บ แต่พอยกมือพ้นขึ้นมาได้หน่อย ก็กลับเป็นเนื้อเรียบดังเก่า แปลกแท้ๆ



แล้วก็เดินเรื่อยไปยัง (โต๊ะ) อีกหมู่ติดผนัง เพราะสะดุดสายตาที่เห็นภายในกระถางมีเงาพราวๆ พอถึง ก้มลงดู ก็ต้องประหลาดใจอีก เพราะเห็นเป็นเม็ดทรายเต็มกระถาง แต่เป็นทรายทองทอแสงเป็นเงาวาว งามทีเดียว อาตมาภาพลองหยิบขึ้นมาเต็มกำมือ มีน้ำหนักกะไม่ถูก พอกำและบีบแรงๆ ก็ดังอ๊อดๆ พอโปรยปล่อยคืนลงกระถาง ก็กลับเรียบไปตามเดิม แหม! แปลกและอัศจรรย์แท้ พินิจมองนึกไปว่า ทองคำที่ว่าดีว่าแพงบนพื้นโลก อยากได้กันนัก แย่งกันหนักหนา เห็นเข้าน้ำลายไหล มันไม่ได้ขี้กระผีกของทองคำที่เห็นนี้เลย ขณะนี้กลิ่นหอมเหมือนดอกพิกุลโชยเข้ามา ชำเลืองมองดูรอบๆ ก็ไม่เห็นมีอะไร



อาตมาภาพเดินผ่านช่องประตูคูหา เข้าไปยังอีกห้องหนึ่ง เป็นห้องกว้างโอ่โถง แสงสว่างเป็นสีชมพูอ่อน แต่สว่างชัดแจ่มแจ้ง เป็นห้องกว้างลึกไกล มีโต๊ะชนิดและขนาดเล็กใหญ่ต่างๆกัน ของที่วางบนโต๊ะแต่ละโต๊ะมีมากมายหลายชนิด ที่เป็นของใหญ่ต้องวางบนพื้น ก็มีมากจนลานตาไปหมด มากมายจริงๆ เป็นต้นไม้ใหญ่เล็กนานาชนิด อาตมาภาพค่อยก้าวเดินไปตามช่องทาง อย่างระมัดระวัง ช่องทางแม้จะดูว่าแคบ เกราชายจีวรจะไปเกี่ยวสิ่งของเข้า แต่ก็ไม่เห็นกระทบเลย



โต๊ะใหญ่บางตัว พื้นโต๊ะสีแดงสด ขอบโต๊ะฝังด้วยเพชรเม็ดใหญ่ แต่ห่างกันเป็นระยะพองาม ส่องแสงวุบวับเป็นประกาย ปลายขาโต๊ะที่ยันพื้นทำเป็นเท้าสิงห์ เลี่ยมเป็นเงินบ้าง เป็นรูปกลมคล้ายบาตร สีแดงเข้มบ้าง เป็นเหลี่ยมหกเหลี่ยมบ้าง ฯลฯ ขอบโต๊ะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า สี่เหลี่ยมด้านเท่า และกลม และหกเหลี่ยมบ้าง ตั้งสลับกันไป สลักลวดลายอันวิจิตรทั่วทั้งขอบโต๊ะ บางตัวเป็นทองคำฝังด้วยเพชรและมรกตสีรุ้งเม็ดใหญ่ โต๊ะบางตัวเป็นมรกตฝังเพชรและทับทิม ฯลฯ วัตถุที่วางบนโต๊ะเป็นต้นไม้กระถางอัญมณีต่างอย่างต่างชนิด ดูคล้ายกับต้นตะโกดัด โมกดัด ต้นเข็มดัด และต้นสนดัด ฯลฯ





บางต้นกระถางเป็นแก้วมณีทอแสงคล้ายสายรุ้ง ต้นไม้ในกระถางลำต้นเป็นมรกต กิ่งเป็นเพชรประกายวาว ใบเป็นทับทิมสีแดงสด บางกระถางต้นเป็นเพชร กิ่งเป็นมรกต ใบเป็นเพชรทอแสงพราว บางกระถางต้นเป็นนิล กิ่งเป็นเพชร ใบเป็นโกเมน ลูกเป็นไพฑูรย์และบุษราคัม อาตมาภาพสุดที่จะพรรณนานำมาเล่าให้หมดได้ ส่วนต้นใหญ่ที่วางกับพื้นนั้น โคนต้นทำเป็นโขดสูงดำเป็นนิล แต่ลำต้นเป็นแก้วมณีส่องแสงเป็นประกายใสกระจ่าง ใบเป็นทองคำ ดอกเป็นทับทิม ลูกเป็นมรกตบ้าง เป็นอำพันสีแดงบ้าง บางลูกเป็นสองสีเหลือบกัน คล้ายปีกแมลงทับ อาตมาภาพเอามือประคองลูกขึ้นมาดู ก้านของลูกติดกับขั้วต้นแต่บางๆ คล้ายจะหลุด แต่ก็ไม่หลุด แล้วปล่อยไว้ตามเดิม



อาตมาภาพยืนหันมาดูทางซ้ายและทางขวา ดุจสามัญชนได้มาชมมาเห็น สมบัติของบรมจักรพรรดิ์ ดูแล้วก็ทำให้ต้องถอนใจใหญ่รำพึงว่า

“นี่โยมให้พามาดูทำไม? เพื่ออะไร? ทั้งๆที่ไม่ใช่ของเราแต่ให้เรามาชมเล่นเป็นขวัญตาอย่างนั้นหรือ?” คิดแล้วก็ออกเดินไปยังห้องที่สาม เป็นห้องที่กว้างไกลกว่าห้องที่สองหลายเท่า จะไม่กว้างอย่างไรได้ ห้องนี้เต็มไปด้วยบุษบกยานุมาศ ราชรถใหญ่น้อย พระแท่นบัลลังก์ราชอาสน์ ตลอดจนพระเก้าอี้และพระแท่นที่บรรทม และกำพูฉัตรอันสูงใหญ่ตระหง่านงาม เครื่องราชูปโภค สิ้นทุกชนิด มีวางไว้พร้อมภายในห้องคูหานี้ มันงามเหนือกว่า มโหฬารเหนือกว่า รุ่งเรืองเหนือกว่า พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งอมรินทร์ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หลายร้อยพันเท่า เหลียวดูอะไร มองดูอะไร ดูมันวูบวาบพร่างพราวระยิบระยับไปทั่วทั้งสองฟาก อันกว้างใหญ่สุดสายตา



อะไรๆอาตมาภาพไม่ติดใจ ประทับใจ เท่ากัมพูฉัตร ความสง่างาม ความตระการตา ตลอดจนความรุ่งเรืองที่พร้อมอยู่ในต้นกัมพูฉัตรนี้ ที่ทำให้อาตมาภาพสามารถจะพรรณนาได้ แม้จะนานสักร้อยปีหรือพันปี เป็นความสง่างามตระการ ที่อยู่ในความทรงจำจนบัดนี้ มันทำให้อาตมาภาพมีความสำนึก ระลึกไปถึงกาลแต่อดีต ที่ล่วงมาแล้วนานแสนนาน มองดูกำพูฉัตร ทำให้หวนระลึกนึกถึงเหตุการณ์ที่เป็นมาแล้ว สลายมาแล้ว แต่กัมพูฉัตร เหตุไฉนมาอยู่ที่นี่ (ข้อนี้อาตมาภาพเล่าให้คุณโยมเสนาะ จุลวัจนะ ฟังในครั้งนั้นแล้ว ก็คงจะติดใจ ซักอาตมาภาพอย่างชนิดฟอกเป็นแน่ แต่ขณะนั้นยังมิใช่กาลเวลา จึงรอมาจนบัดนี้)

เพื่อกันความสงสัยของท่านสาธุชนผู้อ่านว่า ต้นกัมพูฉัตรคืออะไร มีรูปร่างอย่างไร? อาตมาภาพขอแจงรายละเอียดรูปร่างของกัมพูฉัตรเท่าที่จะทำได้ ดังต่อไปนี้



๑. ความสูงของฉัตร ตั้งแต่ฐานโคนที่ตั้ง ถึงปลายยอด ประมาณ ๓ วา

๒. ตัวคันฉัตรทำด้วยทองคำเนื้อสุกปลั่ง เป็นเนื้อสีเหลืองเข้ม นับได้ ๑๖ เหลี่ยม ทุกๆพื้นของเหลี่ยม ฝังประดับด้วยแก้วมณีอันล้ำค่า คือ เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยเพชร ขนาดเม็ดข้าวโพดอย่างใหญ่ เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยทับทิม เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยมรกต เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยโกเมน เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยไพฑูรย์ เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยมุกดาหาร เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยบุษราคัม เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยนิล เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยมณีสีม่วงสด เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยมณีสีเขียวใบไม้สด เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยแก้วผลึก เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยมณีสีรุ้ง เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยเพทายสีหม่น เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยไข่มุก สีเหมือนพระอาทิตย์ทรงกลด เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยแก้วลาย เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยแก้วมณี สลับสีทุกสีที่บรรยายมาข้างต้น

๓. ลักษณะตัวฉัตรเป็นผ้าขาวอย่างหนา เนื้อละเอียดเป็นเงามันระยับคล้ายกำมะหยี่ กางขึงแผ่กว้าง โค้งคุ้มน้อยๆ ลาดลงมาจนถึงปลายขอบฉัตรอย่างอ่อนช้อย ก้านฉัตรที่ขึงกางตัวฉัตร นับแล้วได้พันก้าน ทำด้วยทองและเงิน พันด้วยลวดลายสีต่างๆเป็นเงาวับ ไม่ทราบว่าเป็นลวดลายเส้นอะไร เพราะอยู่สูง ความกว้างระหว่างขอบเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ วาเต็ม

๔. ขอบฉัตรมีระย้าแก้วมณี-เงิน-ทอง ห้อยสลับกันอย่างมีศิลป์งดงามยิ่ง เวลาแกว่งก็ทอแสงวูบวาบแวววับ คล้ายดาวในท้องฟ้า และมีเสียงดังกังวานใส แผ่วเบาชวนฟังอย่างยิ่ง

๕. พื้นผ้าตัวฉัตร มีเม็ดแก้วติดอยู่ทั่วคล้ายน้ำค้าง มีลวดลายกนกทอง โตขนาดเท่าจานรองถ้วยน้ำชา ติดเป็นระยะทั่วพื้นฉัตร

๖. ยอดของฉัตรเป็นจอมเจดีย์ คล้ายเม็ดหัวมัน แล้วมีสามแฉกคล้ายนพสูรย์ พุ่งขึ้นไปส่องแสงวับวับ

๗. ต้นฉัตรโตประมาณ ๔ กำรอบ





ขณะที่อาตมาภาพกำลังยืนพิศดู ด้วยความตรึงใจอยู่นี้ ดูคล้ายกับว่าแสงสีต่างๆ ได้กระจายออกจากตัวฉัตร ค่อยๆย้อยเลื่อนมาทางที่อาตมาภาพยืน ทำให้อาตมาภาพได้สติ ถอยหลังก้าวเลี่ยงออกไปข้างๆ แล้วเลยเดินห่างออกไปทางช่องประตูคูหา ซึ่งอยู่เกือบกึ่งกลางของห้อง หยุดยืนชิดขอบประตู หันมาเงยมองดูฉัตรนั้นอีกครั้ง คราวนี้ฉัตรมีอาการโยกตัวน้อยๆ ทำให้พวงระย้าที่แขวนอยู่ มีเสียงดังสดใสกังวานไพเราะ แผ่วหวิว คล้ายดังเคล้าสายลมมาแต่ไกล เพราะจริงๆ แสงเมื่อกี้หายไป



คราวนี้อาตมาภาพหันมาทางประตูที่ยืน แสงที่ประตูสว่างสดใส คล้ายอาบด้วยสีทอง ทำให้จีวรย้อมฝาดที่อาตมาภาพครอง กลายเป็นสีทองเข้ม อาตมาภาพก้าวเดินออกไปแล้วเลี้ยวขวา เพราะเป็นทางบังคับให้เลี้ยวอยู่ในตัว เนื่องจากทางซ้ายมือตัน เป็นผนังถ้ำหินใสคล้ายแก้ว สีเหลืองหม่น อาตมาภาพเดินไปเรื่อยๆ มีกระแสลมพัดมาปะทะใบหน้าแต่แผ่วเบา หายใจสูดเข้าจมูก จมูกก็โล่ง หัวอกภายในก็โล่ง เดินเบาหวิวไปอย่างสบาย ปลอดโปร่งอิ่มเอมใจเรื่อยไป ในราวสัก ๑๕ นาที ก็มาหยุดยืนตรงสุดขอบทาง เพราะเห็นเป็นชั้นบันไดหินสามชั้น ทอดต่ำลงไป มองไปข้างหน้า เห็นเป็นหนทางคล้ายอุโมงค์ มีแสงสว่างสลัวๆตามผนังทั้งสองข้างและเพดานเหนือศีรษะ เห็นเป็นแสงประกายระยิบระยับ ทำให้พื้นทางเดินเบื้องล่าง สะท้อนแสงเป็นเงาแวววาว อาตมาภาพยืนพินิจดูสักอึดใจ ก็ได้ยินเสียงพูดอยู่ข้างขวาเยื้องไปข้างหลังว่า

“นิมนต์เดินลงไปได้ พระคุณท่าน ไม่กี่ร้อยก้าวก็จะไปขึ้นทางฝั่งเวียงจันทน์ เพราะตอนนี้ลอดใต้ลำโขง”





อาตมาภาพหันไปมองอุบาสกชราผู้พูด เห็นแกยิ้มละไมก็ยิ้มตอบ พลางว่า

“พอละ ท่านอุบาสกที่อุตส่าห์นำมา ขอเจริญพรอนุโมทนาคุณโยมมหาอุบาสิกาวิสาขา ที่ได้มีกุศลจิตอนุเคราะห์ ให้อาตมาภาพได้มาเห็น มาพบ สิ่งที่มิได้คาดคิดว่าจะได้เห็น ขอคุณโยมจงมีความผาสุกในทิพยสมบัติ ตราบเท่าพระนิพพานเทอญ”

อาตมาภาพหยุดมองดูอุบาสกชรา เห็นยืนพนมมือ ก้มศีรษะนิดหนึ่ง ด้วยอาการสำรวมอันงดงาม อาตมาภาพจึงกล่าวต่อไป

“และขออนุโมทนาต่อท่านอุบาสก ด้วยกุศลเจตนา อันพร้อมด้วยไมตรีจิตของท่าน ขอท่านจงเสวยผลแห่งความเกษมสำราญ ตราบเท่าพระนิพพานเทอญ”





ใบหน้าของอุบาสกชรา เปล่งปลั่งผุดผาดขึ้นอย่างประหลาด มือที่พนมนั้นงามผิดมือมนุษย์สามัญ เสียงกล่าวอะไรพึมพำทุ้มๆในลำคอ แล้วก็เงยขึ้นมองอาตมาภาพ ด้วยสายตาอันเป็นประกายกระจ่างอย่างชื่นชม อาตมาภาพจึงพูดเตือนขึ้นว่า

“กลับกันเถอะอุบาสก กี่ทุ่มกี่โมงก็ไม่รู้”

“เห็นจะตกเข้าตีสี่แหละพระคุณท่าน โอ... ท่านยังจำกัมพูฉัตรของท่านได้ ข้าเจ้ารู้ ข้าเจ้ารู้” อุบาสกชราตอบ และอะไรต่ออะไร อาตมาภาพไม่ทันคิด





เราพากันเดินกลับมา อาตมาภาพไม่เหลียวมองอะไรอีก จำทางเข้าออกได้ดี อึดใจใหญ่ ก็ออกมายืนบนลานหิน หน้าช่องประตูทางเข้าทีแรก แล้วก็เดินขึ้นกลับมายืนปากทางเบื้องบนริมภู ท้องฟ้ายังคงสว่างสลัว และก็แปลก ที่ทำไมมองเห็นกุฎิเป็นสีขาวแต่ไกลได้ชัด ป่านนี้สามเณรคงนอนคุดคู้ ไม่รู้เรื่อง เสียงอุบาสกพูดว่า

“นิมนต์พระคุณท่านกลับไปเถอะ ข้าเจ้าจะยืนรอส่งอยู่ที่นี่ จนกว่าพระคุณท่านจะเข้ากุฎิเรียบร้อยแล้ว ขอได้โปรดเข้าทางเก่า ที่พระคุณท่านได้ออกมา”



อาตมาภาพเหลียวดูแวบหนึ่ง เห็นยืนพนมมืออยู่ จึงก้าวออกเดิน ทีแรกคิดว่า คงจะต้องเดินไปบนดินอย่างธรรมดา ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น จะต้องไปตามทางที่คดเคี้ยวไกลกว่าสิบกิโลเมตรทีเดียว แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ขามาเดินก้าวลอยมาอย่างไร ก็คงก้าวลอยไปเช่นนั้น ไม่ประหลาดใจอีกต่อไป คงก้าวเดินปลิวไป ในระดับเดียวกับตอนขามา แต่ทว่าเร็วกว่า มาถึงหัวนอนกุฎิไม่ถึงสิบนาที หันไปมอง ยังคงเห็นอุบาสกชราร่างขาวโพลน ยังยืนอยู่ลิบๆ



อาตมาภาพก้าวผ่านเข้าฝาหัวนอนกุฎิเข้าไป เหมือนไม่มีฝาฉะนั้น แปลกอัศจรรย์ใจ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะพูดจะเปรียบได้อย่างไร พิงไม้เท้าไว้มุมฝา แล้วก็ลองเอามือดันฝาหัวนอนดูให้แน่ใจ มันก็คงเป็นฝาไม้ ที่แน่นด้วยตะปูตรึงอยู่นั่นเอง แล้วคราวนี้จะดันออกไปก็ไม่ได้ แล้วออกไปด้วยอำนาจอะไร? ถ้าไม่ใช่อุบาสกชรา ผู้เป็นเสมือนเทพอารักษ์ผู้นั้นบันดาล ก็จะมีใครอีกเล่า น้ำหน้าอย่างเราจะมีอะไร ขืนดันออกไป หน้าตาก็พังเท่านั้น มุดเข้ากลด หยิบนาฬิกาขึ้นดูเห็นเวลาตีสี่เกือบครึ่ง ใช้เวลาเที่ยวชมสมบัติจักรพรรดิ์ภายในถ้ำแก้ว สองชั่วโมง ขัดสมาธิสงบจิตที่หวั่นไหว เจริญภาวนาดำรงสติสัมปชัญญะตั้งมั่นต่อไป จนถึงตีห้าครึ่ง เก็บมุ้งกลด พับผ้าห่ม เปิดกุฎิออกไปล้างหน้า
เหรียญโล่ครึ่งองค์ รุ่น๑ หลวงพ่อกัสสปมุณี วัดปิปผลิวนาราม อ.บ้านค่าย จ.ระยอง


" วัดปิปผลิวนาราม ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เป็นวัดที่หลวงพ่อกัสสปมุนี ได้ก่อตั้งขึ้น อาตมาได้มาปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2519 โดยคำแนะนำของศาสตราจารย์ระพี สาคริก ซึ่งท่านได้มาสร้างหอพระไว้ที่วัดฯ โดยปกติ หลวงพ่อกัสสปมุนี จะเข้านิโรธสมาบัติปีละครั้ง ช่วงออกพรรษา โดยจะเข้านิโรธสมาบัติเป็นเวลา 7 วัน ในวันที่ออกนิโรธสมาบัติ จะมีประชาชนมารอใส่บาตรตั้งแต่ตี 5 อาตมามาปฏิบัติกับหลวงพ่อช่วงนั้น ท่านจะให้นั่งภาวนา ครั้งละ 2 ชั่วโมง โดยหลวงพ่อคอยนำสมาธิให้ตลอด 2 ชั่วโมง ในช่วงนั้น หลวงพ่อจะเน้นให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เจริญสติและสมาธิให้ขนานกัน(แบบไม่แนบชิดกัน) ไปพร้อมๆกัน โดยท่านอธิบายว่า โลกียฌานนั้นสติและสมาธิจะขนานกันไปแบบแนบชิดกัน ส่วนโลกุตตรฌานนั้น สติและสมาธิจะขนานกันไปแบบถอยห่างจากกัน การที่สติขนานกับสมาธิแบบถอยห่างจากกัน สติจะเห็นความเป็นไปอาการต่างๆขององค์ฌานและสามารถพิจารณา ในองค์ฌานได้ กล่าวคือ พอถึงฌาน 4 ท่านพิจารณาปฏิจจสมุปบาทต่อเลย ทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลม กำลังของฌาน 4 ของท่าน คือ ไปไหนมาไหนด้วยกายหยาบ เวลาท่านไปป่าหิมพานต์หรือสามเหลี่ยมเบอร์มูด้า ท่านก็เล่าให้ฟังว่า ท่านไปด้วยกายหยาบ ส่วนปฐมฌานนั้น ก็มีกำลังมหาศาล เหมือนพายุที่สามารถดับไฟป่าได้ ท่านเคยเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า หากท่านใดปฏิบัติได้ถึงปฐมฌาน สามารถเกาะชายจีวรหลวงพ่อเหาะไปทั้งกายหยาบได้เลย"

" หลวงพ่อกัสสป มรณภาพวันที่ 11 สังหาคม 2531 ด้วยสิริมายุ 78 ปีเศษ ปัจจุบัน สรีระของหลวงพ่อได้ตั้งไว้ที่วัดให้ลูกศิษย์ได้กราบไหว้เคารพบูชา โดยท่านกล่าวว่า เมื่อถึงเวลาอันควร สรีระของท่านจะลุกไหม้ขึ้นเองด้วยอำนาจเตโชธาตุ"

เหรียญหลวงพ่อกัสสปมุณี ตอกโค๊ดกำกับสร้างปี2518

0 comments:

Post a Comment