ประวัติ หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ วัดราษฎรสงเคราะห์ (วัดป่าหนองแซง) จ.อุดรธานี
คำพูดหลวงปู่ ของทุกอย่างขอให้มีสติตัวเดียว ถ้ามีสติตัวเดียวแจ้งหมดโลก
๑. หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ
พระอริยสงฆ์แห่งบ้านหนองแซง อุดรธานี
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ เป็นบิดาบังเกิดเกล้าของหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม
หลวงปู่เพ็งเคยบอกว่า ถ้าจะทำหนังสือที่ระลึกในงานศพของท่าน ขอให้นำเรื่องราวของ “หลวงปู่อาตมา” มาเขียนไว้ข้างหน้า พร้อมกับสำทับว่า “อย่าลืมเด้อ”
เมื่อหลวงปู่เพ็งจะพูดถึงหลวงปู่บัว ท่านจะแทนด้วยคำว่า “หลวงปู่ของอาตมา” หรือ “หลวงปู่อาตมา” ผู้ที่ไม่คุ้นเคยจึงออกจะสับสนไปบ้าง
หลวงปู่ทั้งสององค์นี้ นอกจากมีสายใยเชื่อมโยงทางโลกในฐานะพ่อ-ลูกกันแล้ว ยังมีส่วนอุปถัมภ์ค้ำชูในทางธรรมซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก
กล่าวคือ ท่านหลวงปู่บัว ผู้พ่อ ได้ขอให้หลวงปู่เพ็ง ผู้ลูกบวชเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนาและออกบำเพ็ญเพียรเป็นพระธุดงค์กรรมฐาน
เมื่อหลวงปู่เพ็งออกบวชได้บำเพ็ญภาวนาจนได้สัมผัสความสุขสงบในรสพระธรรม แล้ว ก็ได้พยายามโน้มน้าวใจบิดาของท่านให้ละเลิกจากทางไสยศาสตร์ การเป็นหมอปราบผีสาง มาดำเนินตามรอยบาทพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นทางสุขสงบอย่างแท้จริง นับเป็นความปรารถนาสูงสุดที่หลวงปู่เพ็งต้องการตอบแทนคุณบิดา-มารดาของท่าน
หลวงปู่เพ็ง ได้ใช้ความพยายามอย่างมาก จนบิดาของท่านยอมละวางชีวิตฆราวาส หันมาห่มผ้ากาสาวพัสตร์ เมื่ออายุเข้าวัย ๕๐ แล้ว และได้ปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจังชนิดมอบกายถวายชีวิตจนได้พบคุณธรรมสูงสุดใน ทางพระพุทธศาสนา เป็นพระอริยสงฆ์อย่างแท้จริง
ประจักษ์พยานในทางวัตถุจะเห็นได้จากอัฐิของหลวงปู่ได้กลายเป็นพระธาตุ ที่สุกใสงดงาม ไว้ให้สานุศิษย์ได้กราบไหว้บูชา ประดิษฐานอยู่ในเจดีย์ของท่าน ที่วัดราษฎร์สงเคราะห์ (วัดป่าบ้านหนองแซง) อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ในปัจจุบัน
ท่านหลวงปู่บัว ได้ปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต สุดยอดพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานในยุคปัจจุบัน
ทางฝ่ายหลวงปู่เพ็ง พระลูกชาย ต้องพบวิบากสึกหาลาเพศไปเป็นฆราวาสมีเหย้าเรือนอยู่หลายปี จนมีบุตร-ธิดา ถึง ๕ คน เมื่อพ้นวิบากแล้ว ท่านได้กลับมาบวชอีกเป็นครั้งที่สอง เมื่ออายุ ๕๒ ปี
การบวชครั้งที่สองของหลวงปู่เพ็ง ก็ได้หลวงปู่บัว คอยช่วยชี้แนะ เจียรนัย จนหลวงปู่เพ็งของเราเป็น “เพชรเม็ดงาม” ประดับในวงการพระพุทธศาสนาได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
แม้ผู้เขียน (รศ.ดร.ปฐม นิคมานนท์) ไม่มีโอกาสได้กราบหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ โดยตรง เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็เคารพ-เลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาของท่านอย่างสุดชีวิตจิตใจ ไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยใดๆ ในองค์ท่าน
สำหรับหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม นั้น ครอบครัวของผมมีโอกาสอุปัฏฐากใกล้ชิดท่านติดต่อกันนานกว่า ๑๐ ปี หลวงปู่ได้เมตตามาพำนักที่บ้านเป็นประจำ เปิดโอกาสให้เพื่อนบ้านและผู้สนใจได้มาร่วมสวดมนต์ทำวัตร ปฏิบัติภาวนา ตลอดเวลา
พวกเราได้ถวายให้ห้องหนึ่งให้เป็นที่พักสำหรับพระสงฆ์สายปฏิบัติ ได้รับเมตตาจากหลวงปู่ - หลวงพ่อหลายองค์ที่ได้แวะเวียนไปโปรดบ่อยๆ จนบ้านเรากลายเป็น “สำนักปฏิบัติธรรม” ไปโดยอัตโนมัติ จนหลวงปู่เพ็ง บอกว่า “ที่นี่เป็นกุฏิของอาตมา”
โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนรัก-เคารพ-ศรัทธาต่อหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม อย่างสุดชีวิตจิตใจ
ท่านเป็น “พระดีประจำใจ” อีกองค์หนึ่งที่กราบไหว้ได้โดยไม่ขัดเขินและไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ
ผู้เขียนเคยกราบเรียนถามหลวงปู่เพ็ง ว่า “การดูพระสงฆ์นั้น ดูอย่างไรจึงจะบอกได้ว่าเป็นพระดี พระแท้ อย่างแน่นอน ?”
หลวงปู่ ท่านตอบโดยสรุปุว่า “เราต้องมีเครื่องมือดู เครื่องมือที่ดีก็คือ ต้องทำตัวเราให้เป็นพระด้วย จึงจะแยกพระดีพระเก๊ได้ถูกต้องแน่นอน”
และท่านบอกต่อไปว่า “จิตของผู้ปฏิบัติภาวนาดีจะมีความละเอียดอ่อน รับสัมผัสคุณธรรมระดับต่างๆ ได้ อย่างแม่นยำ”
๒. ชาติกำเนิด-ชีวิตวัยเยาว์
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ เป็นชาวจังหวัดร้อยเอ็ดโดยกำเนิด
สมัยเป็นฆราวาสท่านชื่อ บัว น้อยก้อม เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ที่บ้านเขืองใหญ่ ตำบลหมูม่น อำเภอธวัชบุรี (โป่งลิง) จังหวัดร้อยเอ็ด
ปัจจุบันบ้านเกิดของท่านอยู่ในพื้นที่อำเภอจังหาร ส่วนนามสกุล “น้อยก้อม” เป็นชื่อของคุณปู่กับคุณย่ารวมกัน เป็นการตั้งนามสกุลวิธีหนึ่งของคนสมัยนั้น
บิดาของท่านชื่อ นายลาด และมารดาของท่านชื่อ นางดา น้อยก้อม
หลวงปู่มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๙ คน คือ
๑. นายแก้ว ๒. นางหลอม ๓. นายเหลา
๔. หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ๕. นายกลม ๖. นางอ้วน
๗. นางบุญสุข ๘. นางมุก และ ๙. นางแสน
ในสมัยที่หลวงปู่เป็นเด็กยังไม่มีโรงเรียน หลวงปู่จึงไม่รู้หนังสืออ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพในสมัยนั้น และไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ธรรมด้วยการปฏิบัติภาวนา
เมื่อเจริญวัย หลวงปู่ได้ช่วยบิดา-มารดา ทำงานในไร่นาได้แก่การเก็บเกี่ยว ดำ ไถ หว่านข้าว ไปตามประสาของเด็กลูกชาวนาในถิ่นห่างไกลความเจริญทั้งหลาย
บุคลิกโดยทั่วไป หลวงปู่บัวเป็นเด็กฉลาด ขยัน และมีความจริงจังมาตั้งแต่เด็ก
๓. อาชีพช่างไม้และหมอผี
ความเฉลียวฉลาดและเอาจริงเอาจังของหลวงปู่บัว เริ่มฉายแววเด่นชัดเมื่อท่านเป็นหนุ่มเริ่มแตกพาน อายุ ๑๕ ปี
นอกจากการทำนา ไถนา แล้ว หลวงปู่ยังเป็นช่างปลูกบ้าน เป็นช่างทำตาชั่งและทำเครื่องมือตวงวัดต่างๆ ทั้งๆ ที่หลวงปู่ไม่ได้ร่ำเรียนจากที่ใดมาก่อนเลย ท่านสามารถทำตราชั่งชั่งน้ำหนักเป็นกิโลกรัมเพื่อการซื้อขาย และใช้ในชีวิตประจำวันได้
นอกจากเป็นช่างประจำหมู่บ้านแล้ว หลวงปู่บัว ยังได้เรียนวิชาอาคม และไสยศาสตร์จากผู้รู้ในสมัยนั้น จนมีความเก่งกล้าทางด้านคุณไสย สามารถประกอบอาชีพเป็นหมอผี ปราบผีสางนางไพรได้อีกด้วย
ไม่ว่าด้านใด ตำบลใด ในละแวกนั้น ถ้ามีผีสางเข้าสิงสู่ผู้คน ชาวบ้านจะมาเชิญหลวงปู่บัว หรือหมอบัวไปทำพิธีขับไล่ รวมทั้งปัดรังควาญเสนียดจัญไรต่างๆ ชาวบ้านก็จะจ่ายเงินทอง ข้าวของ เป็นค่าคาย (ค่ายกครู) ให้ตามสมควร
เมื่อชาวบ้านมีความทุกข์ร้อนเรื่องต่างๆ จึงมาเชิญให้หมอบัวได้ช่วยขจัดปัดเป่าความทุกข์ร้อนนั้นให้ ซึ่งท่านก็กระตือรือร้นและเต็มใจในการช่วยเหลือ จนกลายเป็นที่พึ่งและเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในละแวกนั้น
ด้วยความเอื้ออารีและต้องการช่วยเหลือชาวบ้านนี่เอง หลวงปู่บัวได้ยึดมั่นถือมั่นในวิชาไสยศาสตร์และหมอผีอย่างแนบแน่นฝังใจ
๔. ศีลห้าและรักษาสัจจะ
แม้ว่าหลวงปู่บัว จะเล่าเรียนและยึดถือทางด้านคุณไสยก็ตาม แต่ท่านก็ยึดมั่นในคุณธรรม ๒ ประการ คือ การมีสัจจะ และรักษาศีลห้า อย่างเคร่งครัด
สัจจะ ถือเป็นคุณธรรมอย่างวิเศษ การมีสัจจะประจำใจ จะทำให้เป็นคนน่าเชื่อถือ และ “มีวาจาสิทธิ์” การเรียนมนต์คาถาต่างๆ จะยิ่งเพิ่มความขลัง และไม่เสื่อมคลายจากหายไป
ด้านการรักษาศีล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศีล ๕ จัดเป็นคุณธรรมพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ เป็นเครื่องมือยับยั้งการทำชั่วและการก่อเวรต่างๆ ทำให้เป็นคนบริสุทธิ์ มีความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ตามหลักทางพระพุทธศาสนา
สัจกิริยาของผู้ที่ตั้งมั่นในการประพฤติอยู่ในขอบข่ายของศีล โดยไม่ละเมิดผิดศีลธรรม ย่อมเป็นผลให้สมาธิเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว มั่นคง แม้การเรียนทางด้านคุณไสยก็ย่อมมีความขลังด้วย
ท่านหลวงปู่บัว สมัยเป็นฆราวาสหรือหมอบัว ท่านจะไม่กระทำผิดด้านศีลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดื่มสุรายาเมา ท่านจะงดเว้น ไม่เตะต้องอย่างเด็ดขาด
หลวงปู่ท่านทราบดีว่า การดื่มสุราทำให้ขาดสติ ขาดสมาธิที่จะกำกับเวทมนต์ และคาถาอาคมต่างๆ ดังนั้นวิชาไสยศาสตร์ที่ท่านศึกษาจึงมีความเข้มขลังอย่างมาก
ด้านศีลห้า ท่านถืออย่างเคร่งครัด ได้แก่
- การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตท่านไม่เอา แม้แต่กุ้งหอยปูปลา ก็ไม่จับไม่ฆ่า
- งดเว้นจากการลักขโมย หยิบฉวย ทรัพย์สินของผู้อื่น แม้แต่จะพูดในเชิงอยากได้ก็ไม่ทำ
- เรื่องกาเมไม่เคยประพฤติ
- ข้อมุสา การกล่าวคำเก็จ เพ้อเจ้อ พูดจาเหลวไหล หลวงปู่ไม่ชอบ
- เรื่องสุราเมรัย แม้จะมีกันดาษดื่นในท้องถิ่นอีสานหาดื่มหากินได้ไม่ยากเลย ท่านก็ไม่ข้องไม่เกี่ยว
หลวงปู่บัวท่านรักษาศีลห้าอย่างเคร่งครัด ท่านมักจะอบรมสั่งสอนลูกหลานอยู่เสมอๆ ว่า
“เรื่องศีลนี่เป็นของสำคัญที่ควรปฏิบัติให้มาก ถ้าแม้ผู้ใดมีศีล รักษาศีลเพียงอย่างเดียวให้มั่นคงแล้วจะศึกษาเล่าเรียน ไม่ว่าวิชาคุณไสย หรือบำเพ็ญภาวนากรรมฐานอันเป็นทางวิมุติแล้ว ต้องมีศีลสัตย์เป็นเบื้องต้น อย่าไปทำลายศีล ถ้าทำลายศีลแล้ว ชีวิตมันจะไม่เป็นเรื่องสักอย่างเดียว”
แม้ท่านหลวงปู่บัวสมัยยังเป็นฆราวาส จะยึดมั่นในสัจจะและถือศีลห้าประจำใจ ไม่ทำบาปน้อยใหญ่ทั้งปวงก็ตาม หลวงปู่ก็ยังถือมั่นทางด้านคุณไสยอยู่ ท่านยังไม่ถือไตรสรณาคมม์ คือถือมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เช่นเดียวกับพุทธศาสนิกชนที่ดีทั่วไป
๕. หลวงปู่บัววัยหนุ่ม
สมัยยังอยู่เป็นฆราวาส นับตั้งแต่หนุ่มน้อย อายุ ๑๕ ปีเป็นต้นมา หลวงปู่บัว หรือ นายบัว น้อยก้อม ได้สร้างฐานะได้อย่างรวดเร็ว จัดว่าเป็นผู้มีอันจะกินทีเดียว
ทางด้านอาชีพ ท่านเป็นช่างปลูกบ้านเรือน เป็นครูสอนการทำตราชั่งและเครื่องตวงวัดต่างๆ และยังเป็นผู้เรืองวิชาอาคม รับจ้างขับไล่ผี และประกอบพิธีกรรมต่างๆ อีกด้วย
หลวงปู่ท่านมีนามีสวนในเนื้อที่กว้างขวาง ส่วนตัวของท่านก็เป็นที่เคารพนับถือจากชาวบ้านทั่วไป ในฐานะผู้รู้ทางเวทมนตร์ ประกอบกับท่านอยู่ในวัยหนุ่มหน้าตาดีด้วย
คุณดำรงค์ ภู่ระย้า นักเขียนในนิตยสารโลกทิพย์ ได้รับฟังเรื่องราวของหลวงปู่บัว จากคำบอกเล่าของหลวงปู่อ่อนตา จนฺทสโร ลูกพี่ลูกน้องของหลวงปู่ ดังนี้
“ในวัยหนุ่ม ท่านบัวนี่รูปร่างสวยนะ ตัวใหญ่ สูงสง่า เวลาเดินนี่หนักแน่นมั่นคง นัยน์ตาสีน้ำตาล แสดงความเป็นนักต่อสู้ทีเดียวล่ะ ผิวสีดำแดง เสียงมีอำนาจ ก็เพราะอย่างนี้แหละจึงเป็นที่ต้องตาต้องใจสาวๆ หลายคน
ฐานะท่านบัวก็ร่ำรวยคนหนึ่งล่ะ อาคมท่านบัวดีแต่ไม่เคยทำให้ใครเดือดร้อนนะ นอกจากช่วยคนอื่น สนุกสนานไปกับเพื่อนๆ บ้างเป็นบางเวลา เสียอย่างเดียวที่ท่านยิ้มยากหน่อยอยู่จะพูดจะคุยอะไรดูเป็นหลักเป็นเกณฑ์ไป หมดละ”
๖. ชีวิตครอบครัว
หลวงปู่อ่อนตา จนทสโร ญาติลูกพี่ลูกน้องของหลวงปู่บัว ได้เล่าถึงเรื่องครอบครัวของหลวงปู่บัว ว่า เอาเรื่องแต่งงานก่อนนะ
สาวๆ ที่ต้องใจท่านบัวสมัยเป็นฆราวาสนั้นมีอยู่คนเดียว คือ นางมิ้ม พอแต่งงานกันแล้วมีลูกด้วยกันทั้งหมด ๖ คน ลำดับอย่างนี้
๑. คนแรกเสียชีวิตแต่น้อยๆ
๒. นางพุด น้อยก้อม (เสียชีวิต)
๓. นายเพ็ง น้อยก้อม (หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม)
๔. นายพรหม น้อยก้อม (พระครูสมุห์พรหม สุพฺรหมญาโณ อายุ ๘๔ ปี เจ้าอาวาสวัดเทิงเสาหิน อ.เทิง จ.เชียงราย องค์ที่ ๒ ต่อจากหลวงปู่เพ็ง)
๕. นางสมบูรณ์ น้อยก้อม (เสียชีวิต)
๖. นางเล็ก ฤทธิแสง อยู่ที่ อ.เทิง จ.เชียงราย
“สมัยที่แต่งงานกันแล้ว ท่านบัว ก็ยังอยู่บ้านเกิดเดิมอยู่ มาระยะหลังจึงย้ายครอบครัวไปทำมาหากินที่บ้านจานทุ่ง ตำบลปาฝา อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด”
๗. ไม่ยอมละเมิดศีลห้าเด็ดขาด
“สมัยนั้น การทำมาหากินของชาวบ้านปาฝา และชาวนาในภาคอีสานลำบากมากนะ แต่ที่อยู่กันได้ ท่านบัวก็ทำมาหากินไปตามฐานะไม่เดือดร้อนอะไร”
หลวงปู่อ่อนตา เล่าต่อไปว่า “แต่ถ้าเป็นคนในเมืองเขาทนอย่างนี้ไม่ได้แน่ ไม่ว่าหน้าร้อน เราก็ต้องทนแดดกันกลางทุ่งนา วันทั้งวันเลย
พอหน้าฝน พวกชาวไร่ชาวนานี่ก็ต้องทนเปียกทนแห้งอยู่อย่างนั้นแหละ มันหนีไม่ได้นี่นะ
พอถึงหน้าหนาว ตื่นแต่เช้ามืดก็ต้องไปแล้ว ออกหากิน คนสมัยนั้น เวลาหนาวก็หนาวจริงๆ มันมีแต่ป่ามีแต่ต้นไม้ ไม่โล่งเตียนเหมือนเดี๋ยวนี้
หน้าหนาวนี่ ตั้งแต่เช้า กว่าจะได้รับไอแดดก็เป็นเวลาเที่ยง จึงค่อยได้รับความอบอุ่นกับเขาบ้าง พอบ่ายสามโมงก็เอาอีกหนาวอีกแล้ว
อะไรๆ ก็ไม่โหดร้ายเหมือนเมื่อคราวอีสานแล้งติดต่อกัน ๗ ปี ท่านบัวนี่ก็เป็นคนเก่งทีเดียว ไม่รู้ว่าท่านเอาอะไรให้ลูกๆ ท่านกิน มันไม่มีอะไรกินจริงๆ นะ
ท่านบัวเองก็รักษาศีล การที่จะฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนี่ไม่มีแน่ ท่านไม่ยอมทำทั้งนั้นเรื่องบาปกรรมนี่
การที่จะทำให้ท่านบัวไปช้อนกุ้ง ตกปลา เหมือนชาวบ้านทั่วไปนั้น อย่าหวังเลย ท่านรักษาศีลห้าได้จริงๆ นะ กำลังใจท่านดี สติท่านนี่เป็นเยี่ยมเลย ตั้งแต่สมัยฆราวาสนะที่เล่านี่
ต่อมาลูกๆ ของท่านบัวออกเรือนไปกัน ท่านก็แบ่งที่ทางให้ไปทำมาหากิน ส่วนตัวท่านก็ยังไม่ปล่อยวางเรื่องไสยศาสตร์
หนังสือนี่ท่านบัวไม่ได้สักตัวเดียว แต่ท่านมีปัญญาสามารถประกอบกิจดารงานได้ ทั้งๆ ที่ไม่รู้หนังสือนั่นแหละ
พอถึงคราวไปรำนางปลา นางกระด้ง ซึ่งเป็นประเพณีของทางอีสานในสมัยนั้น ท่านบัวเป็นอันว่าเอาด้วยละเรื่องนี้ ไปกันเป็นหมู่ๆ นะ แต่เรื่องผิดศีลท่านบัวไม่เอาด้วย”
๘. พระลูกชายขอให้เลิกไสยศาสตร์
ในปี พ.ศ ๒๔๗๐ หลวงปู่บัว ท่านยังรักษาศีล ๕ อยู่ พอมาถึงต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านก็ขยับขึ้นมาถือศีล ๘ เพิ่มอีก “ทีนี้ท่านนุ่งขาวห่มขาวเลย ก็อยู่ในบ้านนั่นแหละ รักษาศีล ๘ ด้วย ทำงานด้วย”
หลวงปู่อ่อนตา เล่าต่อไปว่า “เรื่องนี้ไม่รู้ว่าท่านบัวไปได้ความคิดความรู้จากไหนมาก่อนนะ
ท่านบัวเล่าให้อาตมาฟังว่า เวลาไถนา ก็ พุท-โธ ไป หันกลับมาก็ พุท-โธ อีก แล้วตอนปักกล้า เวลาปักลงไปแต่ละต้นนี่ พุท-โธ ไม่ขาดท่านหยิบกล้าก็ พุท พอปักลงไปในดินก็ โธ นี่ท่านทำอย่างนี้
ระยะนี้ธรรมะเริ่มเข้ามาในกระแสจิตบ้างแล้ว มันเป็นเหตุให้ ท่านเพ็ง พุทฺธธมฺโม พระลูกชายของท่านบัวมาเทศน์ให้ฟัง
ท่านเพ็งนี่เทศนาเก่งนะสมัยนั้น มีชื่อเสียงมากเรื่องนี้
แต่ท่านบัวก็ยังไม่ยอมเชื่อไม่ยอมทิ้งวิชาไสยศาสตร์อยู่ดีแหละ สองพ่อลูกนี่ทะเลาะกันเรื่องพระไตรสรณาคมน์
ลูกชายที่เป็นพระ ก็ต้องการให้บิดานับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ
ท่านบัวผู้เป็นพ่อก็ไม่ยอมเชื่อลูก เพราะเข้าใจว่าไปเรียนหนังสือ นวโกวาท (คู่มือพระภิกษุบวชใหม่) มาเพียงเล่มเดียว ท่านว่าอย่างนั้น
ท่านเพ็งได้ยกเหตุผลว่า การนับถือภูตผีปีศาจนั้นไม่ดี มันไม่มีประโยชน์อะไรแก่เราเลย เมื่อยึดถือไปแล้วมันมีแต่เรื่องทุกข์เรื่องร้อน
เวลาใครเขาถูกคุณเสียจากที่อื่นมา ตนก็ต้องไปแก้ไขช่วยเหลือ ถ้าพลาดพลั้งไปอาจเข้าตัวเองได้ ลูกเมียก็ต้องลำบากเสียใจ
สู้ยึดถือ พระไตรสรณาคมน์ไม่ได้ รัตนสามประการนี้ท่านสอนชี้ให้เรากระทำความดี ให้มี ศีล สมาธิ ปัญญา
ถ้าหากว่าโยมบิดามีพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ พระธรรม และพระอริยสงฆ์อยู่ในใจแล้ว โยมบิดาจะมีแต่ความสุขความเจริญ ไม่ต้องทุกข์ร้อน ไม่ต้องไปกังวลกับการไปแก้คุณเสียให้ใครอีก
โยมบิดาเองก็มีอายุมากแล้ว ไหนจะต้องเดินเหินไปโน่นมานี่ มันเป็นการยากลำบาก
ขณะนี้โยมบิดาก็ได้ทำความดีไปแล้วขั้นหนึ่ง คือการรักษาศีล นับว่าดี ประเสริฐแล้ว เพราะเราไม่ได้ถือไม้ค้อนก้อนดิน (หมายถึง อาวุธ) มือโยมบิดาบริสุทธิ์ไม่เปรอะเปื้อนมลทินอันใดเลย ขอให้เลิกนับถือคุณไสยเสียเถิด
จงหันมารับเอาพระไตรสรณาคมน์ เป็นที่พึ่งจะดีกว่า มันเป็นทางพ้นทุกข์ เป็นทางพระนิพพาน สถานบรมสุข เป็นที่อยู่ของดวงจิตอันถาวรของเรา”
หลวงปู่อ่อนตา เล่าต่อไปว่า “พระลูกชายก็พูดไป บิดาก็ไม่ยอมเชื่อ ตั้งแต่หัวค่ำจนยันแจ้งก็ไม่สำเร็จผล
ท่านบัวนี่ ความจริงท่านเป็นคนมีเหตุผลเหมือนกัน ตั้งแต่ท่านเพ็งพูดทิ้งไว้แล้ววันนั้น ท่านบัวก็เก็บไปนึกคิดอยู่ตลอดเวลา นั่นแหละ…”
๙. พระอาจารย์สุภีช่วยเทศน์โปรด
หลวงปู่พรหม (น้องชายของหลวงปู่เพ็ง) หรือพระครูสมุห์พรหม สุพฺรหมญาโณ สมัยที่ยังเป็นฆราวาสได้เล่าเรื่องหลวงปู่บัว เสริมต่อจากหลวงปู่อ่อนตา ว่า
“หลังจากพระอาจารย์เพ็ง มาเทศน์โปรดหลวงปู่บัว ของพวกเราแล้ว ท่านก็เก็บมานั่งคิดทบทวนเหตุผลต่างๆ แล้วท่านก็ตัดสินใจละทิ้งไสยศาสตร์อย่างเด็ดขาด กลายเป็นเรื่องง่ายนิดเดียวสำหรับท่าน
คือหลังจากนั้นไม่นาน คงจะ ๓ เดือนให้หลังนี่แหละ พระอาจารย์สุภี ฉายาท่านพวกเราจำไม่ได้ ท่านมาพักที่วัดป่าศรีไพรวัน อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด
เมื่อพระอาจารย์สุภี มาถึงวัด พระอาจารย์เพ็งมั่นใจว่า พระอาจารย์สุภีคงสามารถช่วยเทศน์ชักจูงให้โยมบิดาออกจากการถือคุณไสยได้แน่ๆ จึงนิมนต์พระอาจารย์สุภีไปยังบ้านโยมบิดา
พระอาจารย์สุภี ชี้แจงอยู่ไม่นาน พอเทศน์จบหลวงปู่บัว ก็บอกว่าท่านตัดสินใจยอมเลิกการนับถือภูตผีปีศาจ ยอมละวางเรื่องคุณไสยต่างๆ และท่านก็ละทิ้งหมด ชนิดไม่เก็บมานึกคิดอีกต่อไป ท่านเลิกได้เด็ดขาดจริงๆ
หลวงปู่บัวหันมารับพระไตรสรณาคมน์ ตั้งแต่นั้นมาท่านนั่งปฏิบัติสมาธิภาวนาโดยตลอด
นอกจากนี้ หลวงปู่บัวท่านยังเห็นชอบในเรื่องพระกรรมฐานและขอร้องให้พระอาจารย์เพ็งออกธุดงค์ด้วยซ้ำไป”
หลวงปู่พรหมกล่าวย้ำว่า “หลวงปู่บิดาของผมนี่ท่านใจเด็ดขาด เวลาจะเลิกสิ่งหนึ่ง แล้วมารับสิ่งหนึ่งนี่ ท่านไม่มีความสงสัยหรือลังเลใจเลย พวกเราลูกๆ เสียอีกทำอย่างท่านไม่ได้
แต่ก่อนที่ท่านจะยึดมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้น หลวงปู่บัวก็ได้รับรักษาศีล ๘ อยู่ก่อนแล้ว แต่ระยะนั้นท่านไม่ยอมทิ้งไสยศาสตร์เท่านั้น”
๑๐. ทำงานกับพุทโธ
ตอนที่พระอาจารย์สุภี เทศน์โปรดหลวงปู่บัว นั้น อยู่ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๗๗
หลังยอมรับพระไตรสรณาคมน์แล้ว หลวงปู่บัวท่านก็ยังทำงานอยู่กับบ้านตามปกติ เวลาทำงาน เช่น ทำนา ไถนา ตำข้าว เกี่ยวข้าวท่านจะบริกรรม พุท-โธ ตลอด
เช่น เวลาเกี่ยวข้าว พอเคียวเกี่ยวถูกต้นข้าว ท่านก็บริกรรมว่า พุท พอถึงต้นข้าวขาดก็บริกรรมว่า โธ เช่นนี้ไปโดยตลอด
ไม่ว่าท่านจะทำอะไรก็ตาม เช่น กินข้าวก็ พุท-โธ อาบน้ำก็ พุท-โธ ทำอะไรใจก็อยู่กับการบริกรรม พุท-โธ กำกับอยู่เสมอ
หลวงปู่บัวเล่าให้ฟังว่า “ทำงานกับพุทโธนี่ไม่เหนื่อย ทำได้ทั้งวัน”
หลวงปู่พรหม ย้ำว่า “ก็เป็นความจริงของท่าน วันทั้งวันท่านอยู่กลางนาได้ พวกเรานี้ไม่ประสาอะไรกับการบริกรรม พุท-โธ ในตอนนั้นนะ มารู้เอาภายหลังว่า พุท-โธ ที่หลวงปู่ผู้บิดาบริกรรมอยู่นั้นมีคุณวิเศษมหาศาล ทุกวันนี้เราก็ได้ทำตามที่หลวงปู่สอนไว้นั่นแหละ”
๑๑. การสอนคนให้ทำดีนั้นยาก
หลวงปู่อ่อนตา เล่าต่อไปว่า
“ท่านบัว นี่สติและสมาธิท่านดี เพราะท่านรักษาศีล ๘ มาไม่มีการด่างพร้อยเป็นเวลาถึง ๘ ปี
แต่ก่อนบ้านอิสานเรานี่เล่นคุณไสย เล่นเวทย์มนตร์กันเกือบจะเรียกได้ว่าทั่วไปนั่นแหละนะ เขาเอาจริงเอาจังเรื่องนี้ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงเก่งๆ กันนะ
โยมมารดาของท่านเพ็ง ก็พลอยมีวิชาคาถาอาคมกับเขาเช่นกันต่อมาในภายหลังโยมมารดาท่านก็เลิก แล้วหันมาทำบุญใส่บาตร
เรื่องสอนคนที่มีจิตยึดมั่นในของที่ตนรักตนหวงนี่ มันสอนยากนะ ดูอย่างลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายธุดงคกรรมฐานของเราซิ ท่านต้องผจญกับอุปสรรคนานาประการ บางองค์ก็ถูกทำร้าย บางองค์ถูกกลั่นแกล้ง เพราะไปสอนเขาให้ทำคุณงามความดี สอนเขาให้รักษาศีล
คนที่มีปัญญานี่ อาตมาว่า พอมีคนไปเปิดประตูให้นิดเดียว มันก็เกิดสว่างไสว มองเห็นทั่วถ้วน คนที่ไม่มีปัญญาล่ะ เหมือนคนตาบอด ทำอะไรก็ไม่ได้ มองอะไรก็ไม่เห็น คนตาดีบอกให้ แนะให้ บางทีเขาก็ไม่เชื่อ กลับต่อว่าเอาเสียอีก พวกนี้เป็นมิจฉาจริยา ประพฤติผิดด้วย เห็นผิดด้วย
ไม่ต้องพูดกันในปัจจุบันนะโยมนะ แม้สมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ก็ตาม พระองค์ยังต้องพบกับอุปสรรคเช่นนี้เหมือนกันทั้งๆ ที่น้ำพระทัยของพระองค์แสนบริสุทธิ์หาที่เปรียบมิได้ ขนาดนั้นจิตของพระเทวทัตก็ยังมืดบอดไม่ยอมรับคำสอน และต่อมาก็ทำร้ายพระพุทธเจ้า จนตัวเองถูกพระแม่ธรณีสูบไปเลย
เรื่องนี้พวกเราควรพิจารณากันนะ ถ้าชาตินี้เอาดีไม่ได้แล้วชาติไหนถึงจะดีเล่า ดีไม่ดีเรามัวแต่รอชาติหน้า ครั้นจะเกิดมาจริงๆ ในชาตินั้น อาจถูกเขาบีบเขาทำแท้งเสียอีก แล้วจะมาโทษเวรโทษกรรมต่างๆ นานา เอามันชาตินี้แหละ เราต้องพยายามมันจึงจะสำเร็จผลหลวงปู่บัวท่านว่าอย่างนั้น”
๑๒. พระลูกชายขอให้บวช
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ หลวงปู่บัว (ยังเป็นฆราวาส) ได้ขอร้องให้ หลวงปู่เพ็ง พระลูกชาย ออกธุดงคกรรมฐาน หลวงปู่เพ็งจึงได้ทำตามความประสงค์ของบิดา
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ หลวงปู่เพ็ง กลับมาเยี่ยมบ้านและพักอยู่ที่วัดป่าศรีไพรวัน
หลวงปู่อ่อนตา เล่าเรื่องนี้ว่า
“ภายหลังจากท่านเพ็งกลับจากธุดงคกรรมฐาน ท่านไปได้ข้ออรรถธรรมมา ก็มีความประสงค์ให้บิดาของตนออกบวชบ้าง ท่านเพ็งก็มีจดหมายไปหาท่านบัว ท่านบัวรู้ความก็มาหาในบ่ายวันเดียวกัน แล้วท่านเพ็ง ก็ได้ปรารภเรื่องการบวชพระ
การเห็นธรรมด้วยปัญญาอย่างแจ่มแจ้งของท่านเพ็งทำให้เกิดปีติ เชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าในขณะออกเดินธุดงค์ในไพรป่านี่เอง ท่านจึงมีความตั้งใจที่จะให้บิดาได้เข้ามาใช้ชีวิตที่สมบูรณ์ในบวรพุทธศาสนา เหมือนตน
ก็นับว่า พระอาจารย์เพ็ง เป็นกุลบุตรที่มีความกตัญญูรู้คุณบิดามารดา คือได้หาทางดำเนินที่ถูกต้อง เป็นทางที่ประเสริฐแก่บิดามารดของท่าน พวกเราทั้งหลายควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง แล้วนำไปปฏิบัติเยี่ยงท่าน นับว่าเป็นกาทดแทนคุณบิดามารดาได้อย่างหมดสิ้นในชาตินี้ทีเดียว นี่แหละเป็นการทดแทนพระคุณบิดา และค่าน้ำนมแม่ละ”
หลวงปู่อ่อนตา ได้เล่าเหตุการณ์ต่อไปนี้ว่า :-
“เมื่อท่านบัวได้รับจดหมาย ทราบความแล้ว ท่านก็มาพบพระลูกชายที่วัดในวันนั้นเมื่อเวลาบ่าย ๓ โมงเห็นจะได้นะ ท่านเดินมาที่วัด
พอมาถึงก็ถามท่านเพ็งว่า ต้องประสงค์สิ่งใดก็ให้บอกมา
ท่านเพ็งบอกว่า โยมบิดา อาตมาไม่ต้องการอะไรจากบิดาเลยแต่ขอเพียงอย่างเดียว คืออยากขอให้โยมบิดาบวช เพราะตัวอาตมาก็ได้ทำตามที่โยมบิดาต้องการแล้ว โยมบิดาให้อาตมาเล่าเรียนอาตมาก็ทำตาม โยมบิดาไม่ให้แต่งงาน ต้องการให้บวชก่อน อาตมาก็บวชให้ โยมบิดาประสงค์ให้อาตมาศึกษาธรรมจนสอบได้ อาตมาก็ทำตาม
ครั้นต่อมา อาตมาก็ได้ทำตามคำขอร้องให้ออกธุดงค์ อาตมาก็ธุดงค์ปฏิบัติธรรม จนมีความเชื่อมั่นในคุณของพระพุทธเจ้า เชื่อพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยว่าอาตมาได้ประสบมากับตัวเอง
บัดนี้อาตมาอยากขอร้องให้โยมบิดาบวชเป็นพระ โยมบิดาจะให้ตามคำขอของอาตมาได้หรือไม่ อาตมาก็จะขอเพียงเท่านั้นขออย่างเดียว และจะไม่ขออะไรอีกเลยชั่วชีวิต”
๑๓. ถวายตัวกับหลวงปู่อ่อน
“ท่านบัวไม่ลังเลเลยนะ ใจเด็ดเดี่ยวมาก ท่านตอบตกลงทันที”
หลวงปู่อ่อนตา เล่าต่อไปว่า “ตอนที่ท่านบัวตอบตกลงว่าจะบวชตามคำขอนี้ ท่านมีอายุได้ ๕๐ ปีแล้วนะ เป็นปี พ.ศ. ๒๔๗๙
เมื่อตกลงกันแล้ว ท่านเพ็งก็นำตัวไปฝากฝังกับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ”
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นพระอริยสงฆ์แห่งสำนักวัดป่านิโครธาราม อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดหนองบัวลำภู ท่านเคยเป็นเณรติดตามหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ต่อมาหลวงปู่ดูลย์ ได้นำสามเณรอ่อนไปฝากให้ปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เรื่องราวของหลวงปู่อ่อนน่าศึกษาติดตามเป็นอย่างยิ่ง ท่านเป็นศิษย์อาวุโสของหลวงปู่มั่น ท่านปฏิบัติจนสำเร็จหลุดพ้นไปแล้ว พระธาตุของท่านเก็บให้ประชาชนได้สักการบูชาในเจดีย์ของท่านที่วัดป่านิโค รธาราม ใกล้ๆ กับวัดถ้ำกลองเพลของหลวงปู่ขาว อนาลโย และวัดราษฎร์สงเคราะห์ (วัดป่าบ้านหนองแซง) ของหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ
หลวงปู่อ่อน รับตัวหลวงปู่บัว (นายบัว น้อยก้อม) ไว้แล้วก็บอกกับพระอาจารย์เพ็งว่า ไม่ต้องเป็นห่วงนะ อาตมาจะบวชผ้าขาวให้ และจะอบรมธรรมให้เอง
ต่อจากนั้น หลวงปู่อ่อน ก็ได้พา ตาผ้าขาวบัว น้อยก้อม ออกเดินทางไปยังจังหวัดนครราชสีมา พักที่วัดสะแกราช อำเภอปักธงชัยไปอยู่ฝึกขานนาคอยู่กับหลวงปู่อ่อน เนื่องจากตาผ้าขาวบัวไม่ได้หนังสือ (อ่านเขียนไม่ได้) จึงใช้เวลาฝึกขานนาคอยู่ถึง ๓ ปี
ในช่วง ๓ ปีนั้น ตาผ้าขาวบัวได้ติดตามหลวงปู่อ่อนไปหลายแห่งมีโอกาสพบและฟังธรรมจากครูบา อาจารย์หลายองค์ ได้รับข้ออรรถข้อธรรม จากท่านเหล่านี้มากทีเดียว
พระอาจารย์ฝายกรรมฐานที่หลวงปู่บัว ได้ฟังธรรมในช่วงนั้นมี พระอาจารย์สุวรรณ สุจิณฺโณ, หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่จันทร์ เขมปตฺโต, หลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร, หลวงปู่คำดี ปภาโส, หลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน และครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ อีกหลายองค์
หลวงปู่บัว ใช้ชีวิตผ้าขาวเยี่ยงกับพระธุดงค์ ท่านติดตามหลวงปู่อ่อนไปธุดงค์ตามป่าตามเขา ผจญกับสัตว์ป่า และอันตรายต่างๆ อย่างเอาเป็นเอาตายเลยทีเดียว จากการฝึกปฏิบัติอย่างเข้มข้นอย่างนี้แหละทำให้การปฏิบัติภาวนาของท่านหลัง จากบวชเป็นพระแล้ว มีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว
๑๔. บวชเป็นพระภิกษุ
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เมื่อก่อนนั้นท่านเป็นคนแข็งแรง “รูปร่างของท่านนี่สง่า กล้ามเนื้อเป็นมัดๆ เลย รูปร่างสมส่วนที่สุดละ ท่านมีความองอาจหาญกล้าดีจริงๆ”
ต่อมาภายหลังที่พวกเราเห็นรูปถ่ายของหลวงปู่อ่อนว่าท่านนั่งหรือยืนหลัง ค่อมๆ เพราะท่านอาพาธ และหมอได้ตัดลำไส้ท่านออกบางส่วน ความสง่าผ่าเผยของท่านจึงดูเปลี่ยนไป
หลวงปู่อ่อนตา พูดถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ว่า “โลกเรานี้มันเป็นอนิจจังนะ มันจะเป็นอะไรไม่บอกล่วงหน้าหรอก เพราะทุกอย่างเป็นอนัตตา คือเราไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้จะเกิดมันก็ไม่บอก จะอยู่ก็ไม่บอก จะไปตายจากมันก็ไม่บอกทั้งนั้นนอกจาก สนฺทิฏฺฐิโก จึงจะรู้ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีใครบอก
พวกเราจงภูมิใจใน พุท-โธ ของเรา ในโลกนี้ไม่มีใครเก่งเกินพุทโธของเราหรอก พุทโธเป็นเลิศในโลกเน้อ”
หลวงปู่อ่อนได้ทดสอบจิตใจหลวงปู่บัวอยู่ถึง ๓ ปี ท่านเห็นสมควรบวชได้แล้ว จึงมีจดหมายถึงท่านเพ็ง ถามว่า “โยมผ้าขาวนี่จะเอาอย่างไร จะให้อาตมาบวชให้หรือท่านเพ็งจะบวชเอง
ท่านเพ็งก็ตอบไปว่า จะขอบวชเองครับ พระคุณเจ้า
ท่านเพ็งก็ได้ไปซื้อผ้ามาตัดจีวรต่างๆ เป็นไตรชุดเลย ผ้าแต่ก่อนโน้นราคาถูกนะ ไม้หนึ่งราคา ๑๖ บาทเท่านั้น ท่านเพ็งใช้เวลา ๓ วัน ๓ คืน จึงเสร็จเป็นผ้าจีวร
หลวงปู่อ่อนได้ส่งท่านบัวมาบ้านที่ร้อยเอ็ดเลย เพื่อมาบวชพระ”
หลวงปู่อ่อนตา เล่าถึงความรู้สึกของหลวงปู่บัว เมื่อก่อนบวชว่า
“ท่านเล่าว่า ทีแรกไปมองเห็นที่ทำมาหาทินแถวปักธงชัยดี ทำเรือกสวนได้ดี คิดจะพาครอบครัวมาอยู่ แต่มานึกว่า ตัวเราเองได้หยุดมานานแล้ว ยังจะคิดทำไร่ทำนาอยู่อีกหรือ ท่านคิดทบทวนดู แล้วตัดขาดตั้งแต่บัดนั้นเลยนะ ไม่คิดเอาอะไรทั้งนั้น นอกจากบวชอย่างเดียว
พอทุกอย่างจัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านเพ็งพระลูกชาย ก็ได้นำบิดา คือท่านบัว ไปบวชที่วัดบึงพระลานชัยในตัวเมืองร้อยเอ็ด ทำพิธีอุปสมบทเวลา ๑๕.๑๘ น. มีคณะสงฆ์ ๑๑ รูป เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ อายุท่านได้ ๕๓ ปี พอดี
โดยมี ท่านพระครูคุณสารพินิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ปลัดแก้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอุปัชฌาย์ได้ให้ชื่อว่า พระภิกษุบัว สิริปุณฺโณ
หลังจากพิธีบวชแล้ว ท่านบัว ได้มาจำพรรษาอยู่กับท่านเพ็ง ที่วัดป่าศรีไพรวัน จังหวัดร้อยเอ็ด ตอนนั้นท่านเพ็ง พุทฺธธมฺโม เป็นเจ้าอาวาสวัดนี้อยู่นะ”
๑๕. ปฏิบัติจริงจังและรู้ได้เร็ว
หลวงปู่อ่อนตาได้เล่าถึงการบวชของหลวงปู่บัว ต่อไปว่า
“ต่อจากนั้น ท่านบัวได้เอาจริงกับการปฏิบัติ ไม่ว่า ยืน เดิน นั่ง นอน สติของท่านดีมาก เพราะได้ฝึกมาแล้วตอนสมัยเป็นฆราวาส
ท่านบัวนี่ อาตมาพิจารณาดูแล้ว ในเรื่องการปฏิบัติ ท่านไปได้เร็วมาก คิดดูซิ ท่านมาบวชเมื่อตอนแก่นะ พาคนแก่ๆ อย่างนี้มาบวชแล้วได้สมาธิเร็วๆ คงมีไม่กี่องค์หรอก
ท่านบัวรักษาศีล ๕ ศีล ๘ มาก่อน ท่านบัว กำหนดสติอย่างชำนาญมาก่อน พอท่านบวชแล้วเอาจริงเอาจังก็เลยเป็นของไม่ยากสำหรับท่าน”
หลวงปู่บัว ท่านจึงเป็นพุทธสาวกประเภท สุขาปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา คือ ปฏิบัติได้โดยไม่ลำบากและรู้ได้รวดเร็ว
สำหรับพุทธสาวกประเภทอื่นๆ ได้แก่
- ทุกฺขาปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา ประเภทที่ปฏิบัติลำบากและก็รู้ได้ช้า
- ทุกฺขาปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ประเภทที่ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว
- สุขาปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา ประเภทที่ปฏิบัติสบายและก็รู้ได้ช้า
๑๖. พิจารณาเวทนาใต้ต้นลำดวน
ภายหลังที่หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ มาจำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวันแล้ว ในกลางพรรษาแรกนั้นเองท่านก็ได้ธรรมเกิดขึ้นในจิตใจ
ในตอนนั้น หลวงปู่บัว ท่านมีอาการเจ็บในรูหูมาก หลวงปู่เพ็ง พระลูกชายได้ออกไปซื้อหายากินและยาหยอดหูมาถวาย พอหลวงปู่บัวท่านรับยาแล้วก็ถือไปนั่งสมาธิใต้ต้นลำดวนในบริเวณวัด นั่งต่อสู้กับทุกขเวทนาที่กำลังเผชิญในขณะนั้น ท่านยกเอาความเจ็บปวดเป็นกรรมฐาน ท่านนั่งสมาธิอยู่ ณ ที่นั้นติดต่อกัน ๓ วัน ๓ คืน
หลวงปู่ต่อสู้กับความเจ็บปวดจนชนะมันได้ ความเจ็บปวดหายไปโดยไม่ได้ใช้ยากินยาหยอดหูเลยแม้สักนิดเดียว
เรื่องที่ว่า หลวงปู่บัวท่านใช้อุบายในการกำหนดอย่างไรนั้นมาเปิดเผยขึ้นเมื่อหลวงปู่บัว เข้าไปกราบหลวงปู่มั่นในครั้งแรก เพื่อถวายตัวเป็นศิษย์
ครั้งนั้นหลวงปู่มั่นท่านยังไม่เคยรู้จักหลวงปู่บัวมาก่อน เมื่อเจอหน้าครั้งแรก หลวงปู่มั่น ท่านทักถามว่า
“ตอนที่ท่านบัวนั่งอยู่ใต้ต้นลำดวนอยู่ ๓ วัน ๓ คืนนั้น ท่านทำอย่างไร…”
หลวงปู่บัว กราบเรียนว่า
“กระผมเจริญพระกรรมฐาน กำหนดดูปฏิสนธิตั้งแต่เริ่มแรก พิจารณาการเกิดของเราเลย คือตั้งแต่เข้าไปอยู่ในครรภ์มารดา ต่อเนื่องมาจนปัจจุบันครับ ท่านอาจารย์”
และทราบจากการบอกเล่าในครั้งนั้นว่าหลวงปู่บัว ได้พิจารณาปฏิจจสมุปปบาท จนมองเห็นอย่างรู้แจ้งแทงตลอด เป็นที่น่าอัศจรรย์มากที่หลวงปู่ไม่รู้หนังสือ แต่สามารถพิจารณาธรรมได้อย่างเข้าใจชัดเจน ท่านบอกว่ามันเป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องกันไปเป็นวัฏวน เหมือนกับมดไต่ขอบกระด้ง ถ้าไม่ใช้ปัญญาตัดจะไม่สามารถออกจากวัฏสงสารนี้ได้..นับเป็นที่น่าอัศจรรย์ จริงๆ
๑๗. ไปภาวนากับพระอาจารย์คูณที่มหาสารคาม
เมื่อออกพรรษาในปีนั้นแล้ว หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ได้ออกเดินทางจากวัดป่าศรีไพรวัน จังหวัดร้อยเอ็ด ไปยังจังหวัดมหาสารคาม ได้ถวายตัวเป็นศิษย์เพื่อปฏิบัติพระกรรมฐานกับพระอาจารย์คูณ ที่วัดพูลศรีสารคาม อำเภอเมือง มหาสารคาม (ไม่ทราบว่าวัดนี้ยังคงชื่อเดิมหรือเปลี่ยนชื่อไปเป็นอย่างอื่น)
สำหรับท่านพระอาจารย์คูณองค์นี้ ท่านมีชื่อเสียงในด้านการปฏิบัติภาวนา ท่านมักชอบออกเที่ยวธุดงค์อยู่ป่ามากกว่าอยู่ประจำที่ สถานที่ที่พระอาจารย์คูณท่องเที่ยวธุดงค์ส่วนใหญ่เป็นป่าแถวจังหวัด มหาสารคาม ยโสธร สุรินทร์ และปราจีนบุรี ส่วนภาคอื่นท่านก็ไปบ้างบางโอกาส
หลวงปู่บัว ท่านเคยเล่าปฏิปทาข้อวัตรต่างๆ ของพระอาจารย์คูณ ให้ลูกศิษย์ฟังว่า งดงามยิ่งนัก หลักธรรมของท่านโน้มไปสู่การรู้ข้างในตน สำหรับการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยไม่เคยมีอะไรให้เห็นเป็นข้อบกพร่อง ท่านเป็นพระฝ่ายกรรมฐานที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจริงๆ
เวลาที่พระอาจารย์คูณอยู่กลางป่ากลางไพร พอถึงเวลาปักกลดตอนเย็นหน่อยเดียวป่าสมัยนั้นก็มืดสนิท แล้วท่านนั่งภาวนาชั่วครูแล้วก็เริ่มแสดงธรรม พูดเสียงดังๆ ออกมาเหมือนกับว่าในป่าดงยามค่ำคืนนั้นมีคนฟังเทศน์ท่านอยู่เป็นร้อยๆ คนพอเทศนาจบ ท่านดับเทียนทำภาวนาและเดินจงกรม
หลวงปู่บัว มีโอกาสได้ฟังเทศน์และจดจำเนื้อหาธรรมของพระอาจารย์คูณได้เป็นอันมาก และได้นำธรรมะนั้นไปเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติของท่านได้เป็นอย่างดี
เมื่อใกล้จะสว่าง พระอาจารย์คูณก็เทศนาอีกครั้ง ท่านพูดดังๆ อยู่องค์เดียว ไม่สนใจว่าจะมีใครฟังหรือไม่ หลังจากนั้นท่านก็เจริญภาวนาและออกเดินจงกรม เมื่อได้เวลารุ่งอรุณ ท่านก็หยิบบาตรเดินเข้าโปรดญาติโยมชาวบ้านป่าเป็นกิจวัตรของท่าน
หลวงปู่บัว ได้เรียนรู้ธรรมและการปฏิบัติภาวนาจากพระอาจารย์คูณเป็นอันมาก
ปกติพระอาจารย์คูณเป็นพระพูดน้อย พอท่านได้ลูกศิษย์ที่ถูกใจคือหลวงปู่บัว ซึ่งพูดน้อยเหมือนกัน เลยอยู่ด้วยกันได้อย่างสบาย รู้ใจกันทั้งสองฝ่าย
๑๘ . การปฏิบัติธรรมไม่ต้องรอเวลา
ถ้ามีเวลาพักผ่อนสนทนากันบ้างในเรื่องอรรถธรรมพระอาจารย์คูณท่านจะบอกให้ อย่างแจ่มแจ้ง หายกังวลหายสงสัยไปเลยทีเดียว เมื่อหลวงปู่บัว และลูกศิษย์คนอื่นๆ เข้าใจแล้วก็รีบลงมือปฏิบัติทันที ไม่มีการรอเวลาว่าเท่านั้นเท่านี้โมง ลงมือเดี๋ยวนั้นเลย
เรื่องนี้ครูบาอาจารย์สายกรรมฐานแต่ละท่าน มักพูดเสียงเดียวกันว่า “เอากันเดี๋ยวนั้น” ไมมีคำว่าเดี๋ยวก่อน หรือ วันหน้า เราจะมัวประมาทหรือทำเล่นๆ ไม่ได้ เราไม่รู้วันตาย ถ้าเนิ่นช้าจะเสียการ ถ้าเพียงแต่รู้หรือเข้าใจธรรม แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติ ก็ยังไม่สามารถสัมผัสรสคุณธรรมในใจตนได้ คือ มีแต่ปริยัติ ไม่มีการปฏิบัติ ก็ย่อมไม่บังเกิดผลในจิตใจคือ ปฏิเวธ
หลวงปู่บัว ท่านมีนิสัยนี้ติดตัวมาโดยตลอด เช่น เวลานอนพักผ่อน ขณะเอนกายลง ธรรมะเกิดขึ้น ท่านจะรีบลุกขึ้นมาพิจารณา กำหนดจิตลงสู่ความสงบ ให้ได้วิปัสสนาญาณรู้แจ้งในขณะนั้น ไม่มีการห่วงเรื่องนอนแม้จะง่วงแสนง่วงก็ตาม
เพราะเมื่อได้ธรรมะแล้ว ความง่วงมันก็หลบหน้าหายไป จะมีแต่ความชื่นบานในตัวรู้ภายในตลอดเวลา บางทีมันจะทรงอยู่เป็นวันเลย มันมีตัวรู้ตัวทั่วพร้อมในนั้น คือ ภายในจิต เป็นความรู้ที่ได้จากการพิจารณาทางจิต ไม่ใช่ได้จากการใช้สมองครุ่นคิด เหมือนกับปัญญาความรู้ในทางวิชาการหรือในทางโลก
นอกจากนี้ อีกขณะหนึ่ง เวลานอนหลับ แต่ตัวสติมันรู้มันทำหน้าที่ของมันอยู่ พอเกิดธรรมะเกิดปัญญาขึ้นขณะนั้น ท่านว่าท่านจะลุกขึ้นอย่างกระฉับกระเฉง นั่งภาวนาจนรู้แจ้งแทงตลอดในเรื่องนั้นๆ
ตัวอย่างในกรณีของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ในขณะที่ลูกศิษย์นั่งสมาธิภาวนา เมื่อเกิดข้อธรรมหรือมีข้อสงสัยขึ้นในใจ หลวงปู่มักจะพูดขึ้นมาทันทีว่า “กำหนดดูต่อไป อย่าเปลี่ยน พิจารณาดูให้มันทะลุไป”
๑๙. สติกับจิตต้องไปด้วยกัน
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ แม้ท่านไม่รู้หนังสือ แต่ท่านก็รู้ธรรม เกิดปัญญาจากการปฏิบัติภาวนา เป็นความรู้ที่ค้นพบด้วยตัวของท่านเอง พิจารณาตรวจสอบด้วยตัวท่านเอง มิใช่ความรู้ที่ได้จากการจดจำมาจากตำราหรือการได้ยินได้ฟังมาเท่านั้น
หลวงปู่บัวท่านสอนศิษย์เป็นประจำขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ว่า
“ขอให้มีสติตัวเดียวเท่านั้น มันจะแจ้งหมดโลก”
คนตาดีก็ต้องมีสติกำกับในการเดิน ยืนนิ่งนอนและทำกิจกรรมทุกอย่าง ต้องทำด้วยความมีสติทั้งนั้น คลาดเคลื่อนไม่ได้ ถ้ารักการพ้นทุกข์ รักการปฏิบัติ ต้องเอาให้ได้ ทำให้ชำนาญ เรื่องสตินี้สติกับจิต ต้องหนักเท่ากัน เหมือนตราชั่ง ถ้าจะชั่งของต่างๆ ลูกตุ้มก็ดี สิ่งของก็ดี ต้องให้มันเท่ากัน มันจึงจะเป็นธรรม มันจึงจะตรงและบริสุทธิ์ยุติธรรมทั้งสองฝ่าย
คนตาบอดก็ต้องมีสติ เอาสติวางไว้ที่ไม้เท้า กำหนดรู้ที่ไม้และที่เท้าขณะก้าวเดิน ถ้าเอาไปไว้ที่ไม้เท้ามาก ขาหรือเท้าหมดสิ่งกำกับ ก็จะเป๋ตกบ่อตกท่อไป ดังนั้น ต้องให้เท่ากันเหมือนลูกตุ้มกับสิ่งของในเรื่องตราชั่งที่ว่านั่นแหละ มันจึงจะพอใจ บริสุทธิ์ต่อกัน ทั้งไม้เท้าและขา ดังนี้ เรียกว่า สติกับจิตเป็นของคู่กันทุกสมัย
๒๐. มีอำนาจในแววตา
ชีวิตในเพศบรรพชิตของหลวงปู่บัว แม้ว่าจะบวชเมื่อล่วงวัย ๕๐ ปีแล้วก็ตาม แต่ท่านก็มีประสบการณ์ในการเดินธุดงค์ตามป่าเขามามากแต่ขาดการบันทึกไว้ ส่วนที่จดจำจากคำบอกเล่าจากปากของท่านเอก็มีเป็นส่วนน้อย เพราะหลวงปู่ท่านเป็นคนพูดน้อย ท่านสนใจการปฏิบัติภาวนามากกว่าการเทศนาบอกกล่าวให้ลูกศิษย์ลูกหาได้รู้ใน เรื่องราวและประสบการณ์ของท่าน
จากคำบอกเล่าของครูบาอาจารย์ที่คุ้นเคยกับท่านมักจะพูดตรงกันว่า หลวงปู่บัวท่านมีอำนาจจิตเข้มข้น แววตาของท่าน ไม่ว่าท่านจะมองดูอะไร หรือผู้ที่พบเห็นท่านแล้ว คล้ายกับมีอำนาจสะกดให้จังงังได้
แววตาของหลวงปู่นั้นดุ มีอำนาจ และจิตใจของท่านอ่อนโยน มีเมตตาสูง เมตตาต่อผู้ที่ได้รับทุกข์เดือดร้อน ท่านจะให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลเสมอโดยไม่เลือกผู้ดีมีจน
การที่แววตาท่านดุ จริงจัง มีอำนาจ ส่วนหนึ่งก็คงสืบเนื่องมาจากกิตติศัพท์ และประสบการณ์เดิมของท่านในสมัยเป็นฆราวาส ที่ท่านเล่นคุณไสยและเป็นหมอขับไล่ผีมาก่อน จึงทำให้สัญญาในอดีตส่งผลให้คนรู้จักเกรงกลัวท่านเป็นทุนเดิมอยู่ในใจ
๒๑. สั่งสอนชาวร้อยเอ็ดให้เลิกการนับถือผี
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ออกท่องธุดงค์ แสวงหาที่วิเวกปฏิบัติธรรมตามป่าเขาเป็นเวลาหลายปี จนได้คุณธรรมชั้นสูงประจักษ์ในจิตใจแล้ว ท่านได้เดินทางกลับจังหวัดร้อยเอ็ดบ้านเกิด
ความตั้งใจประการหนึ่งของท่าน ได้แก่การสั่งสอนชาวบ้านจานทุ่งให้เลิกละการนับถือภูตผีปีศาจให้หันมานับถือ พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง และมาปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนา
หลวงปู่ได้เทศนาอบรมแสดงเหตุผลต่อชาวบ้านให้ยึดมั่นในศีลเจริญภาวนาให้ เกิดปัญญารู้เห็นในธรรม ท่านได้ชี้แจงแสดงเหตุผลอย่างชัดเจน โดยยกตัวอย่างตัวท่านเองสมัยฆราวาส ท่านได้หลงผิดนับถือยึดมั่นในหลักไสยศาสตร์ ว่าเป็นของดีงาม จนเป็นเหตุให้ตนเองและผู้อื่นหลงงมงายไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง
การนับถือผีนี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงสรรเสริญ แต่พระองค์สรรเสริญให้คนทำความดี ให้คนมีศีลธรรม
การปฏิบัติทางจิตก็ไม่ยาก เพียงแต่นั่งหลับตาแล้วบริกรรมภาวนาในใจว่า พุท-โธ เท่านั้น บุญก็เกิดขึ้นแล้วภายใน นี่เป็นวิธีปฏิบัติขั้นต้นให้ใจสงบ เพื่อจะได้ดำเนินจิตให้เกิดปัญญารู้ในขั้นสูงต่อไป
ส่วนการทำบุญภายนอก คือ การทำทาน ไม่ว่าทานนั้นจะเป็นสิ่งของวัตถุใดก็ตาม เมื่อเราได้กระทำทานไปแล้ว จิตใจจะรู้สึกเบิกบาน ความสุขที่ได้รับจะขยายวงกว้างออกไปจนหาที่สุดที่ประมาณไม่ได้
ถ้าเราไปนับถือผี การเซ่นสรวงบูชาผี เราจะมีแต่ทางเสีย เสียทั้งกำลังกาย กำลังใจ และเสียทั้งทรัพย์ การเซ่นสรวงบูชาผี ผีมีแต่กิน เมื่อได้กินแล้วเขาก็ดี แต่เราเสียเงิน เสียเวลาไปซื้อหาของมาเซ่นสรวง เราเดือดร้อน ผีมันสบาย เราต้องทำมาหากิน หาเงินแสนเหนื่อยยาก กว่าจะได้เงินมาแต่ละอัฐแต่ละไพ ผีมันก็ไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย
เวลาผีมันอยากจะกินไก่กินหมูเราก็ต้องทำตาม ต้องไปหาไปฆ่าไปแกง แต่ผีมันนอนดูเราทำบาป มันไม่ต้องบาปเพราะไม่ได้เป็นคนทำ เราเองเป็นคนฆ่า คนสั่งฆ่า บาปกรรมก็ตกอยู่ที่เรา
อย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เป็นอกุศลกรรมบถ คือทางแห่งความชั่ว เพราะเราตั้งใจกระทำชั่วเอง เมื่อเราเห็นผิดเป็นชอบแล้ว ผีมันมาช่วยอะไรเราไม่ได้ มาช่วยเรามิให้ตกนรกไม่ได้ สวรรค์หรือนรกอยู่ที่การกระทำของเราเอง เราอยากไปนรก หรืออยากไปสวรรค์กันล่ะ ถ้าอยากไปสวรรค์ ก็ควรมารับเอาพระไตรสรณาคมน์จากอาตมาเถิด เมื่อรับแล้วจงถือมั่นในสัจจะ แล้วจงรับศีลห้าไปประพฤติปฏิบัติกัน เมื่อรับแล้วถ้าบุคคลผู้นั้นปฏิบัติตรงก็เท่ากับว่ามีพระประจำอยู่ในใจด้วย กันทุกคนจะอยู่บ้านเรือน อยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่ว่าชายหรือหญิง เฒ่าเล็กเด็กน้อยสามารถทำได้ทั้งนั้น
ศีลจะรักษา ศีลจะให้ความสุขความเจริญทั้งตัวเราและประเทศชาติบ้านเมือง ให้งอกงามไพบูลย์ต่อไป
เป็นที่น่าอัศจรรย์ ปรากฏว่าชาวบ้านตำบลใกล้เคียงต่างๆ พากันเลิกการับถือภูตผีปีศาจ หันมารับพระไตรสรณาคมน์จากคำเทศนาของหลวงปู่ในครั้งนั้น
ความดีมีเมตตาของหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ในครั้งนั้นยังจารึกติดแน่นในดวงใจของชาวบ้านจานทุ่งและตำบลใกล้เคียงมาตราบเท่าทุกวันนี้
๒๒. การเผชิญสัตว์ป่า
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ได้ฝึกฝนจิตใจตนเองกับพระอาจารย์คูณเป็นเวลานานหลายพรรษา จนมีอำนาจจิตแก่กล้า อีกทั้งปัญญาญาณก็ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง
หลวงปู่บัว รักชีวิตการอยู่ป่า เพราะป่าเป็นที่อาศัยของสัตว์และมนุษย์ผู้รักความอิสระ รักสันโดษ ป่ามีธรรมะให้สำหรับผู้มีปัญญา ผู้ใฝ่ธรรมจึงเที่ยวออกหาครูอาจารย์ผู้อยู่ป่ากันมากในปัจจุบัน
จากประสบการณ์การท่องธุดงค์ในป่า มีหลายครั้งที่หลวงปู่บัวผจญกับเหตุการณ์น่ากลัวน่าหวาดเสียว แต่ท่านก็สามารถรักษาจิตใจของท่านได้ทุกครั้งที่พบเหตุการณ์นั้นๆ
ป่าในสมัยนั้นมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม นับตั้งแต่ ช้าง เสือ งู หมี ควายป่า เป็นต้น สัตว์ป่าที่หลวงปู่ได้ผจญมากและเห็นว่าดื้อมากที่สุดไม่มีอะไรเกินหมีกับ ควายป่า มันดื้อจริงๆ ทำอย่างไรๆ มันก็ไม่ค่อยหลบ ไม่ค่อยหนี มันคอยจ้องคุมเชิงพระอยู่อย่างนั้น มันจะหลีกไปก็ต่อเมื่อมันรู้ว่า ต่างคนต่างไม่เป็นภัยต่อกัน นั่นแหละมันจึงจะหลีกทางให้
ตัวอย่างที่ปรากฏบ่อย เกิดขึ้นช่วงที่หลวงปู่เดินจงกรม เมื่อท่านเดินกลับไปกลับมาบนทางเดินจงกรม ปรากฏสัตว์พวกนี้มายืนขวางทางเดิน ยืนมองดูว่า พระท่านจะเอาอย่างไร
หลวงปู่เห็นก็ทำเฉย ไม่แสดงอะไรให้เป็นที่สงสัยของมัน ท่านกำหนดสติไว้เฉพาะหน้า เดินก้าวย่างไปตามปกติ จนเกือบถึงตัวมันแล้วหันกลับเดินย้อนที่เก่า คือ เดินไปในระยะทางที่สามารถเดินได้ ท่านเดินไปเดินกลับอยู่อย่างนั้น เมื่อมันรู้ว่าพระไม่ได้สนใจกับมันจริงมันก็เดินหลบไปเอง
งูก็เหมือนกัน ตัวโตๆ ขนาดลำขา มันเลื้อยมาจากที่อื่นๆ ก็มาได้ แต่พอมาถึงทางเดินจงกรมของพระ มันก็หยุดเลื้อยเลยเฉยๆ นิ่งทำเป็นว่าใครจะกล้าถูกตัวมันบ้าง ไปถูกตัวมันไม่ได้นะ มันรัดทันทีเลยพวกนี้ มันจะสงบเฉยรออยู่อย่างนั้น พอมันเห็นว่าไม่มีอะไรผิดปกติมันก็จะค่อยๆ เลื้อยหายไปเอง
๒๓. ครอบครัวงูเห่าเผือก
มีคราวหนึ่ง หลวงปู่บัว ไปพักนั่งสมาธิภาวนาอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ปรากฏมีงูเห่า ๒ ตัว ตัวใหญ่ขนาดลำแขน ตัวมันสีขาวตลอดลำตัว มันเป็นงูเห่าเผือก
งูเห่าเผือก ๒ ตัวนี้ จะมาเฝ้าดูหลวงปู่อยู่ทุกวัน ขวางทางเข้าปากถ้ำไว้ เวลาท่านจะเดินออกไปบิณฑบาตหรือเดินจงกรมนอกถ้ำมันจะนอนเฉยอยู่อย่างนั้นโดย ไม่ทำอะไร
งูเห่าทั้ง ๒ ตัวมีลูกหลายตัว เวลามันพาครอบครัวออกไปกินน้ำกันมันจะไปเป็นแถว เลื้อยไปกันเป็นระยะทาง ๘-๙ กิโลเมตรเลย เมื่อกินน้ำแล้วมันก็จะเลื้อยกลับมายังที่เก่าในถ้ำนั้นแหละ มันมาเฝ้าอยู่เหมือนเป็นยามรักษาให้หลวงปู่
มันอยู่ของมันอย่างนั้นทุกวัน จนถึงวันสุดท้ายที่หลวงปู่จะย้ายออกจากถ้ำนั้นไป พอหลวงปู่เตรียมตัวเก็บข้าวของ แล้วคิดในใจว่าต้องไปขอบใจเขาก่อน ที่เขามีน้ำใจประเสริฐนัก ถึงแม้เขาจะเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็จริง แต่ความซื่อสัตย์ของงูเห่าทั้ง ๒ ตัวนี้ ยากจะหาอะไรเปรียบได้ หมั่นเฝ้าดูแลรักษาความปลอดภัยให้ นับว่าผิดวิสัยสัตว์ทั่วไปที่ต้องออกหากินเลี้ยงชีวิตรอดเป็นประจำวัน
พอหลวงปู่ไปถึงที่อยู่ประจำของเขาตรงปากถ้ำกลับไม่เห็นพวกเขา ไม่รู้ว่าหายไปไหน ก็ได้แต่กำหนดแผ่เมตตาอุทิศบุญกุศลให้เขาไป
๒๔. อรรถธรรมของการบำเพ็ญบารมี
การที่หลวงปู่ได้พบกับสัตว์ร้ายในขณะเดินธุดงค์ในป่านั้น หลวงปู่ได้รับธรรมะอย่างกว้างขวางจากการฝึกภาวนาพิจารณาธรรมด้วยตนเอง อาศัยธรรมชาติเหล่านั้นเป็นส่วนประกอบ เหมือนกับว่ามีสัตว์ป่าเหล่านั้นคอยให้กำลังใจในการประพฤติปฏิบัติ
สมาธิก็เป็นไปอย่างแนบแน่น ความรู้แจ้งเห็นจริงก็แจ่มใส สติสัมปชัญญะบริบูรณ์ไม่คลอนแคลน ท่านได้ปัญญาและกำลังใจมากในการอยู่ป่า
หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม พระลูกชายของหลวงปู่บัว ได้เล่าถึงการเห็นอรรถเห็นธรรมของหลวงปู่ว่า “อรรถธรรมของท่านหลวงปู่บัว ก็คือ เมตตาบารมีนี่เอง บารมีแต่ละอย่างมารวมอยู่ในจุดเดียวกันตอนที่ท่านนั่งภาวนาอยู่นั่นเอง ท่านทำจนสำเร็จกิจในระยะนั้น จนเป็นบารมีสิบทัศ พร้อมมูลบริบูรณ์ไปเลย
ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น ท่านมีบารมีด้วยกันทุกองค์นั่นแหละ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว จิตใจก็ไม่ดำเนินลงสู่สมาธิได้ นี่เรียกว่าเป็นการสร้างบารมี ดูอย่างในตอนที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ ก็เกิดขึ้นในขณะที่นั่งภาวนาในที่แห่งเดียวใต้ต้นศรีมหาโพธิพฤกษ์ เป็นอย่างนี้นะ”
๒๕. ถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น
ต่อเมื่อพระอาจารย์คูณได้ล้มป่วยและมรณภาพลง หลวงปู่บัวได้ช่วยกิจการงานศพของพระอาจารย์ แล้วท่านได้พบกับพระอาจารย์ส่วน ได้แนะนำและชักชวนหลวงปู่ให้ไปถวายตัวเป็นศิษย์ศึกษาธรรมกับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ทางวิปัสสนากรรมฐาน
หลวงปู่บัว แสนจะปีติยินดี คิดว่าเป็นวาสนาบารมีของตนที่จะมีโอกาสได้พบหลวงปู่มั่น เพราะเคยได้ยินชื่อเสียงของท่านมานาน บัดนี้บุญกุศีลเกื้อกูลเราแล้ว
จากนั้นหลวงปู่บัวได้เดินทางติดตามพระอาจารย์ส่วนไปยังจังหวัดสกลนคร ถิ่นที่พำนักของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
หลวงปู่บัว ได้เข้านมัสการถวายตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ณ วัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร และอยู่ปฏิบัติธรรมใกล้ชิดหลวงปู่มั่น จนถึงวาระสุดท้ายของหลวงปู่มั่นในปี พ.ศ. ๒๔๙๒
เมื่อไปถึงในตอนแรก หลวงปู่มั่นได้มอบธรรมเข้าสู่จิตใจหลวงปู่บัวทันทีในการพบหน้าเป็นครั้งแรก
หลวงปู่มั่นได้อธิบายขยายธรรมะที่หลวงปู่บัว พิจารณาเมื่อครั้งมีอาการเจ็บหู และพิจารณาดูปฏิสนธิ ขณะนั่ง ๓ วัน ๓ คืน ใต้ต้นลำดวน ภายในวัดป่าศรีไพรวัน จังหวัดร้อยเอ็ด
หลวงปู่มั่น ได้อธิบายปฏิจฺจสมุปฺปบาท ให้ฟังและรับรองว่าหลวงปู่บัว ได้พิจารณาและเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว รวมทั้งยกย่องชมเชยหลวงปู่บัวให้ปรากฏแก่หมู่คณะในขณะนั้น นับเป็นที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างมาก
ทำไมจะไม่อัศจรรย์ ก็ตอนที่หลวงปู่บัว นั่งภาวนาเมื่อครั้งที่ท่านเจ็บหูนั้น หลวงปู่บัว ยังไม่เคยได้ยินชื่อเสียงของหลวงปู่มั่นด้วยซ้ำไป แล้วจู่ๆ เพียงเข้ากราบและพบหน้ากันเป็นครั้งแรก หลวงปู่มั่นได้ทักทายและกล่าวถึงการภาวนาของหลวงปู่บัวในครั้งนั้นได้อย่าง ถูกต้อง ชัดเจน รวมทั้งอธิบายข้อธรรมที่ละเอียดชัดเจนให้ด้วย ยิ่งทำให้หลวงปู่เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงปู่มั่นอย่างหมดหัวใจ
๒๖. กิจวัตรประจำวัน
ลูกศิษย์สายหลวงปู่มั่นทุกองค์ มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก อีกทั้งกิจวัตรประจำวันที่หลวงปู่มั่นได้วางแนวการปฏิบัติลูกศิษย์ทุกองค์ก็ ยึดถือปฏิบัติเป็นอาจิณวัตร คือปฏิบัติเป็นแบบแผนเป็นประจำ อย่างเสมอต้นเสมอปลาย
กิจวัตรของพระสงฆ์สายหลวงปู่มั่น จะเริ่มต้นตั้งแต่เวลา ๐๓.๐๐ น. ตื่นนอน ออกจากกุฏิทำสรีรกิจ ล้างหน้าบ้วนปาก ปฏิบัติสมาธิภาวนาพอสมควร แล้วนำบริขารลงสู่โรงฉัน ปัดกวาดลานวัดออกเดินจงกรม
พอได้เวลาออกบิณฑบาตภิกขาจารก็ขึ้นสู่โรงฉัน นุ่งห่มเป็นปริมณฑล สะพายบาตรเข้าสู่หมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาตแล้ว จัดแจงบาตร จีวร จัดอาหารใส่บาตร นั่งพิจารณาอาหารปัจเวกขณ์ ทำภัตตานุโมทนายถาสัพพี แล้วฉันอาหารภายในบาตรอย่างสำรวม
หลังจากเสร็จกิจการฉันภัตตาหารแล้ว ต่างองค์ต่างเช็ดล้างบาตร ทำความสะอาดเสนาสนะ ต่างองค์ต่างแยกย้ายกลับกุฏิ พักผ่อนเล็กน้อย สวดมนต์ไหว้พระ พิจารณาธาตุอาหาร ชำระจิตจากนิวรณ์ นั่งสมาธิภาวนา หรือเดินจงกรมพอสมควร
เวลาบ่าย แต่ละองค์จะลงกวาดลานวัด ตักน้ำใช้น้ำฉันมาไว้อาบน้ำชำระกาย แล้วเดินจงกรมชำระจิตใจขัดเกลากิเลส ตัณหา อุปาทานออกจากจิตใจ จนถึงเวลาพลบค่ำจึงขึ้นกุฏิ
วาจาหรือความนึกคิดอันใดไม่มีความจำเป็นต้องพูด ให้พิจารณากำหนดลงที่จิต กำหนดสติ ตักตวงธรรมทำกำไรไว้ให้แก่ตนเองในแต่ละวัน แต่ละชั่วขณะจิต
ถ้ามีข้อสงสัยติดขัดในข้ออรรถข้อธรรม ก็ค่อยไปสอบถามพระอาจารย์ในเวลาค่ำคืน หลวงปู่มั่นจะเปิดโอกาสให้ศิษย์แต่ละคนได้สอบถาม ข้อคำถามและการอธิบายคำตอบนั้น ลูกศิษย์ทั้งปวงจะมีส่วนรู้เห็น และทำความเข้าใจอย่างพร้อมหน้ากัน
เวลากลางคืน สานุศิษย์จะทยอยกันขึ้นไปปรนนิบัติครูบาอาจารย์ เวลานี้แหละลูกศิษย์ทุกองค์จะได้ฟังธรรมวิเศษจากท่าน ซึ่งมีคุณค่าต่อการปฏิบัติธรรมอย่างมหาศาล ไม่สามารถศึกษาค้นคว้าจากตำหรับตำราได้ หลวงปู่มั่นจะสอนอบรมสติปัญญาแก่ลูกศิษย์พอสมควรแล้วต่างองค์ต่างแยกย้ายไป บำเพ็ญภาวนาในสถานที่ของตน
ส่วนพระเณรที่รับหน้าที่นวดเฟ้นถวายพอสมควรแล้วก็กราบลากลับกุฏิ หลวงปู่มั่นก็เข้าห้องพัก ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิของท่านต่อไป
บรรดาลูกศิษย์เมื่อแยกย้ายกันกลับกุฏิแล้ว บางองค์ก็นั่งภาวนา บางองค์ก็เดินจงกรม กำหนดจิตใจพิจารณาธรรมที่ตนได้รับมาเป็นเวลาอันสมควรแล้วเข้าพักผ่อน ถึงเวลา ๐๓.๐๐ น. ก็ตื่นขึ้นมาทำกิจประจำวันต่อไป
๒๗. เมื่อมีเกิด ก็ย่อมมีไม่เกิด
ในช่วงที่หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ พำนักอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือกับหลวงปู่มั่น ท่านก็ไม่ได้อยู่ประจำที่เสมอไป บางโอกาสท่านจะออกฝึกจิตใจโดยออกเดินธุดงค์ไปตามถิ่นต่างๆ เพียงลำพังองค์เดียวหลายครั้ง
ระยะทางการเดินธุดงค์ของหลวงปู่บัว ส่วนใหญ่จะไปไม่ไกลจากบ้านหนองผือนัก เพราะเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพของท่าน ด้วยท่านอยู่ในวัยชราแล้ว จึงเดินทางไกลพอสมควรแก่สุขภาพร่างกาย แม้ท่านอยู่ในวัยชราท่านก็ไม่ยอมแพ้ตกเป็นทาสของสังขาร ท่านบำเพ็ญเพียรอย่างเอาจริงเอาจัง จิตใจของท่านอาจหาญนัก
หลวงปู่มั่น เคยอบรมบ่มนิสัยสานุศิษย์ให้รู้เท่าทันกิเลส กิเลสมันพามนุษย์ทั้งหลายให้ลุ่มหลงอยู่กับรูปสังขาร
เมื่อผู้ใดยังยึดมั่น ลุ่มหลงอยู่ในขันธ์ มันก็จะพาเราให้มาเกิดแก่ เจ็บ ตาย ได้อีก อย่างไม่มีการจบสิ้น วนเวียนอยู่ในกองทุกข์ไปชั่วกาลนาน ถ้าไม่รู้จักทางแก้ไข จึงจำเป็นต้องมาพิจารณาหาทางแก้ไขความทุกข์ที่วนเวียนเหล่านี้ให้หมดสิ้นไป เพราะเมื่อมีมืดก็ต้องมีสว่างมาแก้กัน
เมื่อมี เกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้ว ก็ย่อมต้องมีทางที่จะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ และไม่ตาย อยู่เป็นแน่ ผู้ที่ใฝ่ธรรมในทางพระพุทธศาสนา จะต้องมานะพยายามใคร่ครวญหาทางแก้ไข พบเห็นหนทางด้วยตนเองให้จงได้
ทางเดียวที่หลวงปู่บัวได้พิจารณา ตามคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา และจากการอบรมพร่ำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้แก่การปฏิบัติสมาธิภาวนาให้สติตามรู้เหตุผลไปตลอดสาย จนเกิดปัญญารู้แจ้งแทงตลอด สามารถตัดขาดจากวงจรแห่งวัฏสงสารไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิด เข้าสู่วงจรแห่งความทุกข์อย่างไม่มีวันจบสิ้น
นั่นคือ ต้องบำเพ็ญเพียรจนกระทั่งจิตเข้าสู่พระนิพพานซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา
๒๘. ปฏิบัติธรรมจนรู้จริง
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ได้รับอุบายธรรมในการปฏิบัติภาวนาจากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่มีคุณค่าอย่างมากมายมหาศาล หลวงปู่มั่นได้เล่าถึงการเดินธุดงค์ไปยังที่ต่างๆ เช่นในท้องที่จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี บ้านดงน้อยสามผง จังหวัดนครพนม และได้ไปพำนักจำพรรษาอยู่ที่ภาคเหนือเป็นเวลาถึง ๑๒ ปี
หลวงปู่บัว ยังมีโอกาสศึกษาอุบายธรรมจากพระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายพระกรรมฐานหลายองค์ หลวงปู่ได้จดจำปฏิปทาของพระเดชพระคุณเจ้าเหล่านั้นมาประพฤติปฏิบัติตาม
หลวงปู่บัวเคยเล่าให้ลูกหลานฟังว่า ธรรมที่เกิดจากจิตใจในครั้งนั้น ช่างแนบแน่นยกระดับจิตใจได้รวดเร็วทีเดียว
ภายหลังจากหลวงปู่มั่น เดินทางจากภาคเหนือมายังภาคอิสาน คือ จังหวัดอุดรธานี แล้วเดินทางไปอบรมสั่งสอนศิษย์ ในจังหวัดต่างๆ ในภาคอิสานตอนบนแถบจังหวัดขอนแก่น สกลนคร นครพนม เป็นต้น หลวงปู่มั่นได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาอย่างเต็มที่ ท่านเร่งเร้าให้ศิษย์ได้เอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติภาวนาให้ยิ่งขึ้นไป ท่านเข้มงวดกวดขันกับลูกศิษย์ชนิดแทบหาเวลาพักผ่อนส่วนตัวได้ยาก
ผู้ใดมีความสงสัยอะไร ก็ให้ปรึกษาสอบถามได้อย่างไม่ต้องรอช้า เมื่อได้รับอุบายไปแล้วให้ปฏิบัติภาวนากันเลยทีเดียว พิจารณาจนรู้ประจักษ์แจ้งในธรรมนั้นๆ ด้วยตนเองไป
๒๙. ให้ระวังปัจจัยเครื่องต่อ
ในระหว่างพำนักปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ถ้าลูกศิษย์องค์ใดมีความประสงค์ออกวิเวกตามลำพังและได้เข้าไปกราบอำลา หลวงปู่มั่น ท่านจะเมตตาให้คำแนะนำและตักเตือนทุกรูปไปโดย “ให้ยึดเอาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง และเป็นแนวทางดำเนินเสมอ”
เมื่อหลวงปู่บัว เข้ากราบลาเพื่อออกธุดงค์ตามลำพัง หลวงปู่มั่นได้เมตตาเตือนสติ ให้ระวังโลกธรรมมากระทบกระทั่ง เพราะโลกธรรมทั้งหลายมีอยู่ดาดดื่นนานารูปแบบ
หลวงปู่มั่นได้แนะนำให้ยึดเอาคุณพระรัตนตรัยเป็นทางดำเนิน ให้รักษาแนวทางนี้ไว้เท่าชีวิต
เกี่ยวกับเรื่องโลกธรรมนั้น แม้แต่พระพุทธองค์ก็ยังถูกโลกธรรมเป็นมารมากระทบเลย พระพุทธองค์ทรงสอนสาวกให้มีสติพิจารณาโดยตลอด
หลวงปู่บัว ได้นำคำสอนและอุบายธรรมที่ได้รับจากหลวงปู่มั่นมาแนะนำถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ อีกทอดหนึ่ง ท่านสอนให้ระวังยิ่งในเรื่องปัจจัย หรือลาภสักการะต่างๆ เพราะปัจจัยหรือผลประโยชน์เหล่านั้นมันเป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติธรรม ถ้าไปหลงยึดถือมัน
ปัจจัย แปลว่า เครื่องต่อ มันสามารถต่อได้สารพัดอย่าง มันสามารถต่อภพต่อชาติ ต่อลูกต่อเมีย ต่อบ้านต่อเรือนต่อไป จนกระทั่งต่อทรัพย์สมบัติ วงศ์ตระกูล ถ้าขาดสติพลั้งเผลอละเมอตาม บางทีมันต่อทางเดินลงนรกไปเสียเลยก็มี
หลวงปู่บัว ท่านมักสอนลูกศิษย์ลูกหา ไม่ว่าพระสงฆ์ในวัด รวมทั้งบรรดาญาติโยม วัดป่าบ้านหนองแซง อยู่เสมอๆ ตามที่ได้รับการอบรมพร่ำสอนครั้งอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่น พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายพระกรรมฐาน
๓๐. ติดตามไปอยู่กับหลวงปู่คำดี ที่ถ้ำกวาง ขอนแก่น
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ได้ติดตามปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต อยู่หลายพรรษา จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในชีวิตของท่าน ใน วันมาฆบูชาในปีนั้นหลวงปู่มั่น ได้แสดงธรรมเป็นที่อัศจรรย์ประจักษ์แก่บรรดาสานุศิษย์ไม่เคยลืม แม้หลวงปู่มั่นจะอาพาธหนักแต่ท่านก็สามารถข่มเวทนาแสดงธรรมได้อย่างละเอียด ชัดเจน และท่านบอกสานุศิษย์ว่าเป็นการเทศน์ครั้งสุดท้ายของท่านก่อนละทิ้งสังขาร เดินทางไปสู่แดนบรมสุข คือ เข้าสู่พระนิพพาน
หลวงปู่บัว ได้อยู่ช่วยจัดงานศพหลวงปู่มั่น จนสำเร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้เดินทางออกจากจังหวัดสกลนครเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ติดตามไปอยู่กับหลวงปู่คำดี ปภาโส ที่ถ้ำกวาง จังหวัดขอนแก่น
จากบันทึกประวัติและธรรมเทศนา ของหลวงปู่คำดี ปภาโส ท่านเป็นคนขอนแก่น ได้มาพำนักที่ถ้ำกวางในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๕ ท่านตั้งสัจจะอธิษฐิานอยู่จำพรรษาที่ถ้ำกวาง ๕ พรรษา หลังจากนั้นท่านได้ออกธุดงค์ไปหลายแห่ง ในช่วงสุดท้ายของชีวิต หลวงปู่คำดี ได้ไปพำนักที่ถ้ำผาปู่ อำเภอเมือง จังหวัดเลย จนมรณภาพ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ สิริรวมอายุได้ ๘๓ ปี รวมพรรษาธรรมยุติได้ ๕๗ พรรษา
๓๑. เรื่องราวของหลวงปู่คำดี กับถ้ำกวาง
ตามประวัติของหลวงปู่คำดี ปภาโส ได้บันทึกว่า หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ในสมัยเป็นตาผ้าขาว เคยติดตามหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ไปภาวนากับหลวงปู่คำดี ที่ถ้ำกวางมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ครั้งนี้จึงไปถ้ำกวางเป็นครั้งที่สอง
ขออนุญาตคัดลอกบันทึกประวัติของหลวงปู่คำดี ที่เกี่ยวกับถ้ำกวางมาเสนอ ดังต่อไปนี้
ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ หลวงปู่คำดี ปภาโส จำพรรษาที่วัดถ้ำกวาง บ้านหินร่อง ตำบลเมืองเก่า อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ครั้งแรกท่านอยู่องค์เดียว อาศัยญาติโยมชาวบ้านทำร้านที่พักให้ชั่วคราว ต่อมามีหมู่คณะไปอยู่ด้วย มีพระ ๓ องค์ ตาผ้าขาว ๑ คน
ถ้ำกวางนี้เป็นสถานที่ที่มีป่าทึบรกชัฏมาก ห่างไกลจากหมู่บ้านประมาณ ๒ กิโลเมตร ก่อนที่ท่านจะมาถ้ำกวางนี้ หลวงปู่คำดี มุ่งมั่นทำความเพียรอย่างเอกอุ ยอมสละชีพเพื่อพรหมจรรย์ เพื่อมรรคผลนิพพานอย่างมอบกายถวายชีวิต
หลวงปู่คำดี ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานอยู่จำพรรษาที่ถ้ำกวางนี้ ๕ พรรษา ถ้ามีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ท่านจะไม่ยอมหนีให้เสียสัจจะโดยเด็ดขาด การจำพรรษาที่นี่ ท่านได้ปฏิบัติภาวนาอย่างชนิดที่เรียกว่าแบบเอาเป็นเอาตายเลยทีเดียว
ในปี พ ศ. ๒๔๘๓ หลวงปู่คำดี ได้เป็นไข้มาเลเรียอย่างหนัก แม้แต่หมู่คณะของหลวงปู่ทุกองค์ก็เป็น ไม่มีใครดูแลกันได้เลย ได้อาศัยชาวบ้านหินร่องมาช่วยอุปัฏฐากดูแล ต่อมาพระ ๒ รูปได้มรณภาพ และตาผ้าขาว ๑ คนได้ตายจากไป ส่วนพระที่ยังไม่ตาย ต่างก็หนีไปที่ต่างๆ ไม่มีใครกล้าอยู่ เพราะกลัวไข้มาเลเรียกัน
สำหรับหลวงปู่คำดี ได้มีญาติโยมมาอ้อนวอนให้หนี แต่หลวงปู่ท่านได้อธิษฐานไว้แล้ว ท่านอยู่ของท่านองค์เดียวตลอดฤดูแล้ง พอจวนจะเข้าพรรษามีพระไปร่วมจำพรรษาอีก ๔ รูป ตาผ้าขาว ๑ คน คือ พระอ่อน (หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ) หลวงตาสีดา หลวงตาช่วง (ในบันทึกมีรายชื่อพระเพียง ๓ รูป) และตาผ้าขาวบัว (หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ วัดป่าบ้านหนองแซง จังหวัดอุดรธานี ในขณะนั้น) ก็ได้ร่วมกับเพื่อนพระด้วยกันปฏิบัติภาวนาจนกระทั่งออกพรรษา
ปีนั้น ญาติโยมนิมนต์ไปงานกฐินที่บ้านกุดดุก ตำบลหว้าทอง อำเภอภูเวียง พอกฐินเสร็จเกิดอาการจับไข้อีกเกือบไม่รอด ชาวบ้านไปหาหมอพื้นบ้านในตำบลทั้งหมด ก็ไม่มีหมอคนไหนกล้ารักษา มีแต่เขาเห็นว่าจะไม่ไหวแล้วกลัวจะกำเริบใหญ่ สมัยนั้นไม่มีหมอรักษา มีแต่หมอเถื่อนเขาไปตามมารักษา หมอให้ยาถ่ายเวลาประมาณ ๕ โมงเย็น
พอฉันยาถ่ายลงไป ถ่ายมาก ถ่ายตลอดทั้งคืนถึงเวลารุ่งหมดกำลัง พอสว่างก็ยังถ่าย สังเกตเห็นถ่ายมีเลือดปนเป็นฟองสีจางๆ ถ่ายเป็นเลือดออกมาด้วย ชาวบ้านพากันตกใจวาจะไม่รอด ได้ตามหาหมอกันอีก ได้ทราบว่ามีหมออพยพต่างถิ่นคนหนึ่ง ไม่รู้ว่าย้ายมาจากไหน มาอยู่บ้านโป่งได้ไม่นาน จึงไปนำหมออพยพต่างถิ่นมายังกุฏิที่พักของท่าน
หมอใช้ยารากไม้ ต้องฝนไว้หลายๆ ถ้วย ใส่ขันบ้าง ใส่ถ้วยบ้าง ปกติขณะป่วยหนัก กินน้ำไม่ได้ กินไม่แซบไม่อร่อย เมื่อได้ฉันยาของเขาเป็นเหมือนกับธรรมดา เหมือนกับกระหายน้ำมาจากป่าจากดง มีรสดี เย็นดี ตอนแรกเขาก็ไม่ให้ฉันมาก ท่านได้ขอเขาฉันอีก เขาเอาขันอื่นมาให้ ฉันไม่ได้ มีกลิ่นคาวๆ พอฉันยาขันนั้นดูเหมือนหอม รสดี
หมอบอกว่าถูกยาแก้แล้ว ได้ขอน้ำอีก พอตื่นเช้าค่อยรู้สึกเบาตัว จิตใจปกติ แต่อ่อนเพลีย ลุกไม่ได้ ญาติโยมผู้เฒ่าผู้แก่จากขอนแก่นพากันไปเยี่ยม ต่างพากันน้ำตาตก เห็นร่างกายท่านซูบผอมมาก แต่ระยะที่ไปเยี่ยมนั้นมีอาการทุเลาลงบ้างแล้ว เรียกว่าถูกยาเขาแล้ว อาการหายไปบ้างแล้ว แต่พูดไม่ออก…ญาติโยมชาวบ้านกุดดุกได้อุปถัมภ์ค้ำชูดูแลอาหารของท่าน ตลอดจนอาหารการฉันดีมาก จนมีกำลังแข็งแรงเป็นปกติ
พอหายไข้ หลวงปู่คำดี กลับคืนถ้ำกวางไปอยู่วัดบ้านหนองบัวน้อย บ้านโยมอุปัฎฐากที่ภูเวียงอีก อาการไข้กลับเป็นซ้ำเรื้อรังอีก บางครั้งก็เป็นไข้เรียงวัน (ทุกวัน) บางครั้งก็บาวัน (เว้นวัน) ถึงเวลาไข้ มันก็ไข้ แต่ก็ฉันอาหารได้บ้างแล้ว มีกำลังพอสมควร
ในขณะอยู่ถ้ำกวาง บ้านหินร่อง กลางฤดูแล้ง ปี พ ศ. ๒๔๘๔ คิดอยากจะไปวิเวกที่ภูเก้า ขณะนั้นไข้ยังไม่หายดี ก่อนไปคิดเสียสละตัดสินใจไป หากจะเป็นอย่างไรก็ยอมเป็น จะหายก็หาย จะตายก็ตาย ตัดสินใจอย่างนั้น ก็เล่าให้ลูกศิษย์ซึ่งเป็นไข้เหมือนกันฟัง
“ผมจะไปภูเก้า ท่านจะไปด้วยไหม ถ้าผมไป ผมยอมสละชีพได้นะ จะหายก็หาย จะตายก็ตาย หากถึงภูเขาและถ้ำแล้ว ถ้าลงบิณฑบาตไม่ได้ผมก็ไม่ลง หากชาวบ้านเขาไม่เอาอาหารมาส่งผมก็ไม่ฉัน”
เมื่อโสสุด (ตั้งใจแน่นอน) อย่างนี้ก็ตกลงไปด้วยกัน การเดินทางจากถ้ำกวางไปภูเก้ายากลำบากมาก เพราะยังเป็นไข้ด้วยกันทั้ง ๒ องค์ ถ้าท่านเป็นไข้ก่อน ลูกศิษย์ก็ปูผ้าอาบให้ท่านนอนพักเลยก่อน เมื่อหายไซ้ก็ออกเดินทางต่อไป เดินไปได้ไม่ไกลลูกศิษย์ก็จับไข้บ้าง ต้องนอนพักผ่อนอีก ช่วยเหลือกันไปตามกำลัง
จะด้วยอำนาจการสละชีพเพื่อศาสนา หรือด้วยกุศลผลบุญของท่าน พอท่านเดินทางไปถึงหมู่บ้านเชิงภูเขาชื่อบ้านหนองกุง ปรากฏว่าอาการไข้ของท่านหายเป็นปลิดทิ้ง ตื่นเช้ามันเคยไข้ก็ไม่ไข้ สามารถเดินขึ้นภูเขาได้ เที่ยวบิณฑบาตทางไกลระยะทางร้อยกว่าเส้นได้อย่างน่าอัศจรรย์
หลวงปู่คำดี ได้มาพักวิเวกที่ถ้ำหามต่าง ภูเก้า อำเภอโนนสังข์ จังหวัดอุดรธานี เป็นเวลา ๓ เดือนท่านได้รับประสบการณ์ในการบำเพ็ญภาวนาอย่างมาก เมื่อจวนจะเข้าพรรษา หลวงปู่และลูกศิษย์ก็กลับมาจำพรรษาที่ถ้ำกวาง และตั้งแต่ท่านหายไข้เมื่อครั้งนั้นแล้ว ก็ไม่เคยเป็นไข้อีกเลยตลอดจนลูกศิษย์ของท่านก็ไม่เป็น นับว่าอัศจรรย์
หลวงปู่คำดี ปภาโส ได้อยู่จำพรรษาทำความเพียรภาวนาด้วยความเจริญก้าวหน้าจนกระทั่งครบ ๕ พรรษาตามที่ท่านได้อธิษฐานจิตไว้ก่อนเดินทางธุดงค์ไปที่อื่นอีกต่อไป
๓๒. ติดตามหลวงปู่คำดี
หลวงปู่คำดี ปภาโส เป็นพระคณาจารย์ศิษย์ผู้ใหญ่ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่มีปฏิปทาข้อวัตรงดงามอีกองค์หนึ่งหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ มีความเคารพและศรัทธาในหลวงปู่คำดีมาก ท่านหมั่นไปมาหาสู่เสมอๆ
ที่ถ้ำกวาง หลวงปู่บัว ได้พำนักอาศัยอยู่เป็นเวลานาน ได้รับอรรถธรรมจากหลวงปู่คำดี เป็นอย่างมากทีเดียว
ออกจากถ้ำกวาง หลวงปู่คำดีพาหลวงปู่บัวไปอยู่ถ้ำภูเวียง สถานที่แห่งนั้นหลวงปู่บัวพึงพอใจมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นที่สงบจากผู้คน ภาวนายกจิตใจขึ้นสู่ความสงบได้รวดเร็ว ไม่ว่าเดินจงกรมหรือบำเพ็ญเพียรในอิริยาบถใด หลวงปู่คำดีจะเป็นผู้ดูแลให้เป็นอย่างดียิ่ง
ต่อมาหลวงปู่คำดี ได้พาหลวงปู่บัว ออกธุดงค์มายังจังหวัดขอนแก่น ไปพักจำพรรษาที่วัดป่าชัยวัน อำเภอเมือง ๑ พรรษา เมื่อออกพรรษาปีนั้นได้ออกธุดงค์ไปทางภูพานคำ อำเภอหนองเรือ ไปพักที่สถานที่ชื่อคำหวายยาง ภูพานคำ เห็นเป็นที่สงบร่มรื่น เหมาะเป็นที่วิเวก สัปปายะดีมาก เหมาะกับการปฏิบัติภาวนาท่านจึงพักอยู่ที่นั่นหลายพรรษา
ต่อมาหลวงปู่คำดีเกิดอาพาธ หลวงปู่บัว จึงพาท่านกลับลงมาจำพรรษาที่บ้านเหล่าบูด (ต่อมาเรียกว่า บ้านเหล่าสมบูรณ์) เพื่อรักษาหลวงปู่คำดี จนท่านหายอาพาธ
๓๓. พระอาจารย์หลวงตามหาบัว วัดป่าบ้านตาด
ในช่วงพรรษาแต่ละปี หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ มักจะเดินทางไปนมัสการฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ฝ่ายกรรมฐานที่ท่าน เคารพนับถือ ได้แก่ หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดหนองบัวลำภู (แต่เดิมอยู่ในจังหวัดอุดรธานี) หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร หลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี และหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
พระเถระที่กล่าวนามมานี้ หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ มีความเคารพในคุณธรรมของแต่ละองค์อย่างมาก เพราะได้ประจักษ์ในข้อวัตรปฏิบัติของท่านมาแล้วเป็นอย่างดี
สำหรับท่านหลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน นั้น หลวงปู่บัวได้ติดตามไปอยู่ถ้ำและที่บ้านห้วยทรายอยู่ระยะหนึ่ง ท่านหลวงตาพระมหาบัว ได้อบรมธรรมแก่หลวงปู่บัวอย่างถึงแก่นถึงโคนทีเดียว ธรรมะของหลวงตาฯ ได้ “เข้าจิตใจอย่างกับสายน้ำทีเดียว” หลวงปู่บัวท่านว่าอย่างนั้น
การเทศนาแต่ละครั้ง ท่านหลวงตาฯ ได้ยกเหตุผลด้วยปัจจุบันธรรม การเทศนาของท่านเป็นไปในรูปแบบขุดล้างกิเลสมารถึงบึ้งจิตใจ มีความอาจหาญไม่อ้อมค้อม ท่านหลวงปู่บัวชอบใจเป็นนักหนา
ตอนที่หลวงปู่บัว มาพำนักประจำที่วัดป่าบ้านหนองแซง ท่านจะพาพระลูกวัดและญาติโยมไปฟังธรรมกับท่านหลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นประจำทุกวันพระเลยทีเดียว
๓๔. อธิษฐานจิตภาวนาแบบสละชีวิต
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ได้ออกธุดงค์เพียงลำพังอยู่บ่อยๆ โคจรไปในถิ่นต่างๆ ในภาคอิสาน การเดินธุดงค์ของท่านปฏิบัติตามที่หลวงปู่มั่น และครูบาอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานได้เคยอบรมมาทุกประการ ผ่านป่าเขาลำเนาไพร เมื่อพบสถานที่อันเป็นสัปปายะ หลวงปู่จะพักและปฏิบัติภาวนาอยู่หลายวัน เมื่อเริ่มคุ้นเคยและเริ่มจะติดสถานที่ ท่านก็จะออกเดินทางต่อไป เพื่อไม่ให้ติดสุขในที่นั้นๆ
หลวงปู่บัว เดินธุดงค์ไปพบสถานที่ชื่อว่า ถ้ำจันทร์ อยู่ในเขตอำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย หลวงปู่ได้เข้าไปพำนักภาวนาที่ถ้ำแห่งนั้น ท่านได้อธิษฐานจิตพิจารณาตัดกิเลสอาสวะขั้นอุกฤษฏ์ให้ได้ในครั้งนั้น
ท่านได้ตั้งสัจจะอธิษฐาน ทำใจให้แน่วแน่ลงไปโดยอ้างการกระทำดีทั้งปวงมาเป็นสักขีพยาน เอาศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเครื่องรองรับจิตใจ ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า“ถ้าแม้ข้าพเจ้าไม่ได้ธรรมะ อันเป็นสิ่งเดียว ที่สามารถจะพาจิตใจพ้นไปเสียจากกิเลส ตัณหา อุปาทานได้แล้ว ข้าพเจ้าจะไม่ลุกจากที่แม้ชีวิตจะดับสลายไป”
แล้วท่านก็ลงมือนั่งสมาธิภาวนา กำหนดจิตใจให้แน่วแน่ลงไปอย่างชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน จนกระทั่งชาวบ้านเกิดความสงสัยว่า ทำไมหลวงปู่ไม่ลงมารับบาตรเลย อยู่แต่ในถ้ำตลอดเวลา หรือว่ามีใครส่งข้าวส่งน้ำให้
หลวงปู่นั่งภาวนาโดยไม่ขยับเขยื้อนจนเวลาล่วงเลยไปได้ ๑๐ วัน ชาวบ้านคิดว่าท่านได้มรณภาพในถ้ำเสียแล้วเพราะท่านไม่ได้ฉันข้าวฉันน้ำเลย
ข่าวลือการมรณภาพของหลวงปู่บัว ได้ขยายวงออกไปจนถึงจังหวัดอุดรธานี และทราบไปถึงท่านหลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน แห่งสำนักวัดป่าบ้านตาด
๓๕. ต้องส่งพระไปนิมนต์กลับ
เมื่อข่าวลือว่าหลวงปู่บัวปฏิบัติธรรมจนมรณภาพที่ถ้ำจันทร์ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย แพร่สะพัดออกไป ท่านหลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน มีความมั่นใจว่าหลวงปู่ไม่เป็นอะไร แต่ถ้าปล่อยให้ท่านอยู่ต่อไปคงต้องมรณภาพอย่างแน่นอน
ท่านหลวงตาพระมหาบัวได้ใช้ให้พระลูกวัดชื่อพระบัว กับโยมชาวบ้านชื่อพรหม ไปนิมนต์หลวงปู่บัวให้ออกจากการภาวนาและเดินทางกลับวัด โดยเขียนหนังสือกำกับไปว่า
“ถ้ามรณภาพแล้วให้เอาลงมา ถ้ายังไม่มรณภาพก็ให้ลงมา ใครจะขัดขวางไม่ได้”
หลังจากได้รับคำสั่งแล้ว พระบัว กับโยมพรหมได้ทำเปลไม้ไผ่ขึ้น แล้วออกเดินทาง ปีนั้นเป็น พ.ศ. ๒๔๙๘
เมื่อพระบัว และโยมพรหม ไปถึงถ้ำจันทร์ได้พบว่าหลวงปู่บัว“นั่งนิ่งเลย ข้าวน้ำไม่ได้ฉันมา ๑๑ วัน ๑๑ คืน” หลวงปู่นั่งนิ่งเฉยอยู่อย่างนั้น ไม่รู้สึกอาลัยในสังขารร่างกายเลยแม้แต่น้อย แม้กำลังวังชาจะไม่มี ป่วยก็ป่วย นั่นเป็นเรื่องของสังขาร ส่วนจิตใจนั้นท่านรู้สึกปีติอยู่ในธรรม อิ่มเอิบสว่างไสวตลอดทุกขณะจิตทีเดียว
พระบัวเข้ากราบเรียนหลวงปู่บัวว่า “บัดนี้ท่านพระอาจารย์มmบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด ใช้ให้กระผมมานิมนต์หลวงปู่กลับบ้านหนองแซงครับกระผม”
ท่านหลวงปู่บัว ตอบว่า “เออ…ออกก็ออก”
พระได้นิมนต์ท่านลงเปลไม้ไผ่ หามออกมาใส่เรือ ล่องน้ำมาขึ้นฝั่งที่ท่าอำเภอโพนพิสัย แล้วขึ้นรถผ่านตัวจังหวัดหนองคาย มุ่งสู่วัดป่าบ้านหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
นี่เป็นตัวอย่างความมานะอดทนปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจังของครูบา อาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ท่านยอมตายถวายชีวิตเพื่อให้ได้ธรรมตามแนวทางของพระพุทธองค์ แล้วนำมาอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาได้อย่างมั่นใจ เป็นธรรมที่ท่านแจกมาด้วยชีวิต รู้ธรรมจากการทดลองด้วยตัวเองจนเห็นประจักษ์ ไม่เพียงแต่การจดจำจากตำราหรือจากคำบอกเล่าเท่านั้น
นับเป็นคุณานุปการแก่ลูกศิษย์ลูกหาเป็นอย่างยิ่ง พวกเราทั้งหลายควรได้ระลึกถึงพระคุณของพระอริยเจ้าผู้ปฏิบัติดีรอดตายกลับมา สอนพวกเรา เราควรแสดงความกตัญญูรู้คุณด้วยการปฏิบัติอย่างจริงจังตามควรแก่อัตภาพของ แต่ละคน
๓๖. การปฏิบัติธรรมต้องอาจหาญ
หลักยึดมั่นของนักปฏิบัติภาวนา ได้แก่
“บุรุษอาชาไนย จะอ่อนแอไม่ได้ ถ้าอ่อนแอ ข้าศึก (กิเลส) จะได้ใจ เข้าโจมตีผู้อ่อนแอย่อยยับ เมื่อรู้ตนว่าเข้าสู่สนามรบแล้ว จะต้องเข้มแข็ง อาจหาญดุจพญาราชสีห์ฉะนั้น”
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ เป็นพระกรรมฐานที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบปฏิบัติตรง ไม่ยอมท้อถอยให้แก่กิเลสมารแต่ประการใด ท่านสละชีวิตเพื่อธรรมอย่างแท้จริง หลังจากที่ท่านมาอยู่ประจำที่วัดป่าบ้านหนองแซงแล้ว ท่านก็ยังประกอบความเพียรโดยสม่ำเสมอต่อไป ไม่หยุดยั้งว่างเว้นเลย
ในระหว่างพรรษา หลวงปู่ออกโปรดญาติโยม สอนการปฏิบัติภาวนา พร้อมทั้งแสดงธรรมอบรมสั่งสอนให้เหมาะสมกับจริตและความสนใจของบุคคลกลุ่ม ต่างๆ ในขณะเดียวกัน ถ้ามีเวลาท่านก็จะเดินทางไปรับข้อธรรมเพิ่มเติมจากครูบาอาจารย์ที่ท่านเคารพ นับถือในจังหวัดใกล้เคียงอยู่เป็นประจำ
ส่วนธรรมที่หลวงปู่ได้ประจักษ์ในจิตใจ ท่านก็ขยายความไปสู่หลวงปู่หลวงพ่อที่เป็นพระสหธรรมิกของท่านมีการไปมาหาสู่ แลกเปลี่ยนอรรถธรรม และอุบายการปฏิบัติภาวนาซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอแม้ท่านผู้ใดมีข้อสงสัย ติดขัด ก็ให้ข้อแนะนำกันด้วยอัธยาศัยไมตรี นับเป็นแนวทางที่ดีที่คพูาอาจารย์ท่านพาดำเนิน
๓๗. ภาวนาที่ถ้ำภูค้อบนเทือกเขาภูพาน
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ เคยออกเดินธุดงค์ภาวนาที่ถ้ำภูค้อ บนเทือกเขาภูพาน ได้นำพระสงฆ์ในวัดหลายองค์รวมทั้งหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม พระบุตรชายของท่านร่วมเดินทางในครั้งนั้นด้วย
หลวงปู่เพ็ง ได้เล่าประสบการณ์การออกธุดงค์ในครั้งนั้นให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังว่า
“เป็นความประสงค์ของหลวงปู่ของท่าน เพราะท่านเคยไปอยู่เจริญภาวนาที่นั่นมาก่อน เป็นที่สงบวิเวกเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร หลวงปู่ไปได้ธรรมจากที่นี่มากนะ ท่านสามารถพิจารณาตัดโลกธรรม ๘ ได้อย่างเด็ดขาด
บนเทือกเขาภูพานนี้ คนโบราณเขาเคยอยู่กันมาก่อน บางแห่งมีสิ่งของล้ำค่ามากมาย จำพวกเพชรนิลจินดานี่มีมาก พระพุทธรูปูทองคำต่างๆ ก็มีไม่น้อย อยู่ในถ้ำบ้าง ถูกฝังกลางดินบ้าง กาลเวลาผ่านพ้นไป น้ำได้เซาะเป็นทางน้ำเล็กๆ สมบัติเหล่านั้นถูกพัดพาเกลื่อนกลาดไป
เรื่องนี้แหละ หลวงปู่ จึงพาไปทดสอบและสอนเรื่องปัจจัยเครื่องต่อแก่ลูกศิษย์ลูกหา ท่านบอกว่านี่แหละ ถ้าบุคคลเอาจิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในโลกธรรมแล้วก็จะหมุนไปตามโลกอย่างไม่ หยุดยั้ง
ถ้าบุคคลใดพิจารณาเห็นโทษของมัน ก็จะเบื่อหน่าย จะถอนเอาจิตของตนมาตั้งอยู่ในความสงบ โลกธรรมทั้ง ๘ ก็จะทำอะไรเราไม่ได้ เพราะจิตเราอยู่เหนือโลก เหนือพวกนี้ทั้งหมด…”
หลวงปู่บัว ท่านสอนศิษย์ของท่านว่า
“พระที่ยังติดโลกธรรมมีมากนะ เห็นของจำพวกนี้ไม่ได้ ต้องหยิบเก็บเอาไปเป็นของแถม ไม่รู้ว่าเจ้าของเขามีหรือไม่ จงอย่าเอาเยี่ยงอย่าง
ถ้ารักการปฏิบัติ รักตัว ต้องทำตัวให้บริสุทธิ์ ทำใจให้สะอาดเท่านี้เป็นพอ”
ต่อจากนั้นหลวงปู่บัว ก็พาศิษย์ไปพักภาวนาบนถ้ำภูค้อ แล้วย้อนกลับลงมาเมื่อสิ้นสุดการทดสอบกิเลสภายในได้แล้ว
๓๘. สามเณรเสน ผู้เป็นเจ้าอาวาสต่อจากหลวงปู่
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ เคยได้รับการปรนนิบัติจากสามเณรน้อยรูปหนึ่งชื่อ สามเณรเสน สามเณรน้อยรูปนี้อยู่กับท่านมานาน แล้วได้จากหายไป จนสึกออกไปมีภรรยาและบุตร แม้เณรจะจากท่านไปเป็นเวลานานท่านก็ยังจำได้เป็นอย่างดี
อยู่มาวันหนึ่ง หลวงปู่บัว ได้พูดคุยกับหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม พระลูกชายของท่านว่า
“เอ…เณรน้อยคนนั้น มันไปไหนหนอ มันเป็นไข้มาลาเรีย…เราพยายามรักษามันจนจะหายแล้วไม่พาหนีจากเราไป ไม่รู้ว่าไปอยู่ไหน”
หลังจากหลวงปู่ปรารภถึงสามเณรน้อยของท่านได้เพียง ๒ วันเท่านั้น สามเณรของท่านก็กลับมา แต่มาในฐานะพระภิกษุเสน ปญฺญาธโร บวชได้ ๒ พรรษาแล้ว การปรารภของหลวงปู่ในครั้งนั้นเหมือนท่านได้รู้เหตุการณ์ล่วงหน้า
ต่อมาภายหลัง พระอาจารย์เสน ได้รับมอบภาระให้เป็นเจ้าอาวาส ปกครองวัดป่าบ้านหนองแซง สืบต่อจากหลวงปู่ ได้ทำการพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ จนกระทั่งปัจจุบัน
๓๙. การรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า
เหตุการณ์ที่ควรนำมากล่าวอีกครั้งหนึ่งได้แก่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในภาค อิสาน (ผู้เขียนไม่มีเวลาที่จะสอบทาน ปี พ ศ.ได้ เพราะมีเวลาจำกัดมาก) เหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ชาวบ้านร้านตลาดอย่างมาก ตลอดถึงชาวนาที่ตกกล้าเอาไว้ ต้องสูญเสียพืชผลและทรัพย์สินมากมายในปีนั้น
ก่อนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ชาวบ้านไม่รู้วี่แววอะไรมาก่อนเลย วิทยุของทางการก็มิได้ประกาศเตือนเรื่องน้ำท่วมแต่อย่างใด ช่วงนั้น นายกิมก่าย เศรษฐีใหญ่แห่งจังหวัดหนองคาย ซึ่งครูบาอาจารย์บอกว่า เป็นเศรษฐีชาติที่ ๗ ได้เดินทางมากราบหลวงปู่บัวที่วัดป่าบ้านหนองแซง
ทันทีที่หลวงปู่เห็นหน้าท่านเศรษฐีก็พูดว่า
“ระวังน้ำมันจะท่วมนะ ที่จังหวัดหนองคายนั่น”
ท่านเศรษฐีได้กราบเรียนขอคำแนะนำจากหลวงปู่ว่า
“จะให้กระผมเก็บข้าวของไหมครับ หลวงปู่”
หลวงปู่ ท่านตอบว่า “เออ…รีบเก็บเสียเถิด”
เศรษฐีกิมก่าย รีบกลับจังหวัดหนองคาย สั่งคนงานช่วยกันเก็บข้าวของลงเรือใหญ่ถึงแปดลำ แล้วน้ำก็ท่วมจังหวัดหนองคายจริงๆ ข้าวของของท่านไม่เสียหายเลยแม้แต่นิดเดียว
ตั้งแต่นั้นมา ท่านเศรษฐีกิมก่ายได้เกิดความศรัทธาเชื่อมั่นในหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ เป็นอย่างยิ่ง เชื่อว่าหลวงปู่มีญาณรู้ล่วงหน้าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ได้ ภายหลังจากหลวงปู่มรณภาพแล้ว ท่านเศรษฐีกิมก่ายได้สละทรัพย์สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่ ด้วยความศรัทธาและด้วยกตัญญูที่มีต่อหลวงปู่
ผู้ที่บันทึกและนำเสนอเรื่องราวที่หลวงปู่มีญาณรู้เห็นเหตุการณ์ล่วง หน้า ใน ๒ เหตุการณ์นี้ คือ คุณดำรงค์ ภู่ระย้า นักเขียนธรรมะชื่อดังแห่งนิตยสารโลกทิพย์ ได้กล่าวถึงเหตุผลที่นำมาบอกกล่าวว่า
“เท่าที่ผู้เขียน (คุณดำรงค์) นำเรื่องราวอิทธิฤทธิ์อำนาจของท่านลงไว้สองเรื่องนี้ ก็เพื่อท่านผู้อ่านวางใจในการประพฤติปฏิบัติของท่านตามขั้นตอน และช่วยกันจดจำเหตุการณ์อันจะเป็นบันไดของนักปฏิบัติใหม่ๆ จะได้มีกำลังใจยิ่งขึ้น”
๔๐. ร่วมแผ่บารมีช่วยหลวงปู่ศรี มหาวีโร สร้างวัดป่ากุง
สมัยก่อน เมืองไทยเรายังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ การที่ชาวบ้านและพระสงฆ์องค์เจ้าจะปลูกบ้านเรือนและสร้างวัดวาอารามต่างๆ ก็ต้องเข้าถากถางป่าเตรียมสถานที่เพื่อจะทำการปลูกสร้างสิ่งต่างๆ นั้น
หลวงปู่อ่อนตา จนฺทสโร ได้เล่าถึงการก่อสร้างวัดป่ากุง (วัดประชาคมวนาราม) ในอำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ของหลวงปู่ศรี มหาวีโร ดังนี้
“สมัยนั้น ต้นไม้ในป่านี้ คนธรรมดาๆ ไปทำอะไรมันไม่ได้ มันเอาจริงๆ นะ ถ้าไปแตะไปต้องมันเข้า ปีนั้น ท่านหลวงปู่ศรี มหาวีโร จะสร้างวัดป่ากุง (วัดประชาคมวนาราม) ที่จังหวัดร้อยเอ็ด แล้วที่ตรงนั้นมันก็แรงต้องอาถรรพ์ ใครไปทำอะไรแตะต้องมันไม่ได้
หลวงปู่ศรี มหาวีโร คิดว่าต้องนิมนต์พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน และหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ มาช่วยกันนั่งแผ่เมตตา รวมเป็นสามแรงก็จะดี
หลวงปู่ศรี เลยไปรับอาจารย์มหาบัว และหลวงปู่บัว ที่จังหวัดอุดรฯ มาจังหวัดร้อยเอ็ด มาแผ่เมตตาจิต และทำการวางฤกษ์ปลูกสร้างวัดป่ากุง (วัดประชาคมวนาราม)”
วัดป่ากุง ได้รับการพัฒนาตั้งแต่นั้นมา ด้วยบารมีและความสามารถของหลวงปู่ศรี วัดป่ากุงได้มีความเจริญเป็นอย่างมาก เป็นวัดปฏิบัติที่มีชื่อเสียงขจรขจาย ได้ขยายเป็นวัดสาขาออกไปยังจังหวัดต่างๆ มากกว่าร้อยสาขา และได้สร้างพระมหาเจดีย์ ที่วัดผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด ที่มีมูลค่าเป็นพันล้าน สร้างด้วยพลังศรัทธาของประชาชน เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สาธุชนควรหาโอกาสไปนมัสการเพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิต ปัจจุบันได้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติไปนมัสการ และเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสาย
๔๑. การถือสัจจวาจา
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ นอกจากท่านยึดมั่นต่อศีลต่อพระธรรมวินัยแล้ว ท่านมีความพึงพอใจต่อการรักษาสัจจะ และนับเป็นยอดปรารถนาของท่าน หากศิษย์คนใดมีจิตใจแน่วแน่ที่จะรักษาสัจจวาจาแล้วจะเป็นที่นิยมและชอบใจของ หลวงปู่ยิ่งนัก
หลวงปู่บัว ต้องการให้มนุษย์ทุกคนได้มีสัจจะประจำจิตใจในการปฏิบัติธรรม การมีสัจจะช่วยให้เกิดสมาธิได้ดี และเมื่อต้องการทำความดี ก็จะสามารถละโลภ โกรธ หลง ได้อย่างสิ้นเชิงทีเดียว
มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า มีอุบาสิกาท่านหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ เดินทางไปกราบหลวงปู่ และได้สนทนาธรรมกับหลวงปู่นานพอสมควรก่อนลากลับ ได้ขออนุญาตถ่ายรูปหลวงปู่ไว้เป็นที่ระลึก
อุบาสิกาท่านนั้นพูดว่า “ถ้าหลวงปู่ยิ้มสักนิดหนึ่ง ดิฉันจะขอตั้งสัจจะไม่ยอมแต่งงานเลยทีเดียวเจ้าค่ะ”
หลวงปู่ได้แย้มยิ้ม ยินดีให้ถ่ายรูปได้ ซึ่งโดยปกติหลวงปู่ท่านไม่ค่อยยิ้มอยู่แล้วเป็นนิสัย เมื่อท่านยิ้มก็หมายความว่า “ขอให้รักษาสัจจะที่พูดไว้ให้ดีก็แล้วกัน อย่าลืมสัจจะของตัวเอง”
จากข้อเขียนของคุณดำรงค์ ภู่ระย้า ยืนยันว่า อุบาสิกาท่านนั้นได้รักษาสัจจะที่ให้ไว้กับหลวงปู่ เป็นอย่างดี น่านิยมเป็นอย่างยิ่ง ถ้าคนเรารักษาสัจจะเช่นอุบาสิกาท่านนั้นสังคมมนุษย์คงจะมีความสุขสงบอย่าง แท้จริง สาธุ !
๔๒. ธรรมะของหลวงปู่
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ได้เริ่มต้นชีวิตในเพศบรรพชิต เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เมื่อท่านมีอายุได้ ๕๓ ปี แม้ท่านจะบวชเมื่ออายุมากแล้วก็ตาม ถือว่าไม่เป็นการสายในการปฏิบัติธรรม
ประวัติและธรรมะของท่านน่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ขาดการรวบรวมเก็บบันทึกไว้ (หรืออาจจะมีก็ได้ แต่ผู้เขียนไม่มีโอกาสเสาะหา ด้วยมีเวลาจำกัดต้องเขียนให้ทันแจกในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ในวันเสาร์ที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๕)
จากข้อมูลในหนังสือ ๘๐ พระกรรมฐาน ของนิตยสารโลกทิพย์ ได้กล่าวถึงการปฏิบัติธรรมของหลวงปู่บัว ว่า
“เป็นการปฏิบัติภาวนาขั้นอุกฤษฏ์ทั้งสิ้น เช่น อดอาหาร ๑๐ วัน ๒๐ วัน ไม่นอนหลายๆ คืน เดินจงกรมทั้งวัน นั่งสมาธิทั้งวันทั้งคืน ยืนพิจารณาอยู่กับที่โดยไม่กระดุกกระดิกตัวเลยเป็นครึ่งๆ วันก็มี…ด้วยเหตุนี้หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณจึงต้องถูกหามกลับลงมาจากเขาก็หลายครั้งหลายหน
ความที่หลวงปู่บัว ท่านมีจิตใจอาจหาญเด็ดเดี่ยว ไม่ยอมแพ้ต่อกิเลสมาร ที่จะเข้ามารบเร้าจิตใจของท่านให้อ่อนไหวไปตามกระแสอารมณ์ ท่านได้ต่อสู้จนถึงเส้นชัย…”
หลวงปู่บัวได้ประกอบคุณงามความดีด้วยการแสดงธรรมอบรมบ่มนิสัยให้แก่ญาติ โยมในถิ่นใกล้ไกลอยู่เป็นนิจ ธรรมะที่ท่านมอบให้ปฏิบัตินั้น ท่านจะย้ำอยู่เสมอ
“ให้พยายามรักษาสติให้ได้ เพราะสตินี้จะเป็นฐานสู่ความสงบของจิต จนเข้าสู่กระแสปัญหาได้โดยง่าย”
เมื่อสติครบถ้วนมีกำลังแล้ว ท่านให้นักภาวนาเปลี่ยนมาดูกาย พิจารณากายอันเป็นที่ตั้งของธาตุสี่ ขันธ์ห้า อายตนะอินทรีย์ทั้งหลาย นักปฏิบัติธรรมไม่ต้องไปหาไกลอื่นธรรมะมีอยู่ในตัวทั่วพร้อมแล้ว “ขอให้พิจารณาตัวเราให้มันเห็นตามความเป็นจริงก็แล้วกัน”
เมตตาบารมีธรรมของหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ยังตราตรึงใจแก่ผู้ที่เคยได้กราบไหว้ และได้รู้เรื่องราวของท่านอย่างไม่มีวันจางหายไปจากหัวใจได้เลย
๔๓. วาระสุดท้ายของชีวิต
ในวัย ๘๐ ปี สภาพสังขารของหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ได้ทรุดโทรมโดยลำดับ เป็นไปตามธรรมชาติ ความชรามรณะคืบคลานเข้ามาทุกลมหายใจ เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ คือทุกอย่างตกอยู่ในกฎของความเป็นจริง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามคำสอนของพระพุทธองค์
ในช่วงท้ายของชีวิต แม้โรคาพยาธิจะเข้ามาย่ำยี หลวงปู่บัวไม่เคยแสดงความอ่อนแอให้เห็น ท่านเตือนลูกศิษย์ใกล้ชิดให้ดูความเปลี่ยนแปลงในสังขารร่างกายของท่านเป็น อุทาหรณ์สอนใจ ให้รีบเร่งทำความเพียร อย่าได้ประมาท เพราะทุกอย่างต้องเสื่อมโทรมไปตามกาลอย่าได้รอช้าในการปฏิบัติ
อาการเจ็บป่วยของหลวงปู่ เพิ่มทวีขึ้นโดยลำดับ ท่านนายแพทย์อวย เกตุลงห์ แห่งโรงพยาบาลศิริราชได้ถวายการรักษาหลวงปู่ด้วยความเอาใจใส่อย่างดียิ่ง แต่อาการป่วยไข้ของท่านมิได้ทุเลาลงเลย
หลวงปู่ได้พูดถึงคุณความดีของท่านนายแพทย์อวยให้ลูกศิษย์ใกล้ชิดได้ยินกันว่า
“หมออวยท่านนี้ มีน้ำใจเป็นบุญเป็นกุศล เป็นคนที่ประเสริฐยิ่งนัก แต่อาตมารู้ว่ารักษาอย่างไรมันก็ไม่หาย โรคของอาตมานี่นะ”
หลวงปู่ ท่านปฏิเสธการรักษาไม่ว่าด้วยการฉันยา ฉีดยาหรือด้วยวิธีการใดๆ ทั้งสิ้น ท่านกำหนดวันมรณภาพของท่านในเวลา ๓ เดือน ท่านกำหนดจิตเข้าสู่สมาธิภาวนาตลอดเวลา ท่านมักถามลูกศิษย์ที่เฝ้าปรนนิบัติอยู่เสมอว่า “ถึง ๓ เดือนแล้วหรือยัง” สติของท่านดีเป็นปกติ ไม่เลอะเลือน มั่นคงตลอดเวลา
ทั้งพระและฆราวาสเข้าเยี่ยมอาการท่านตลอดเวลาท่านเคยดุผู้ที่ร้องไห้เสียใจว่า
“นี่แหละจงพิจารณาซิ อย่าเอาแต่โศกาอาดูร มันไม่เกิดประโยชน์อะไร พิจารณาความตายเสียบัดนี้ ว่าเกิดมาแล้วต้องตายทุกคนแต่ก่อนตายจากไป เราต้องทำความดีไว้ให้มากๆ”
๔๔. หลวงปู่ละสังขาร
ก่อนวันที่หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ จะมรณภาพ ท่านหลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้เดินทางไปเยี่ยม ท่านหลวงตาฯ พูดว่า “เอาล่ะ ทีนี้ไม่มาแล้วนะ จะมาก็โน่นแหละ ถึงวันนั้นแหละจึงจะมา” แล้วท่านหลวงตาฯ ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไป
เมื่อครบ ๓ เดือนตามที่หลวงปู่กำหนด ท่านก็ได้ละทิ้งสังขาร จากลูกศิษย์ลูกหาไปอย่างไม่มีวันกลับ เหลือไว้แต่คุณธรรมความดี และความเด็ดเดี่ยวของท่านให้ลูกศิษย์ได้ระลึกถึง และจดจำเป็นตัวอย่างไว้สอนใจตนเอง
ลูกศิษย์ลูกหาได้ปรึกษากันในการจัดการศพของหลวงปู่ ลงความเห็นกันว่าควรรอให้ผ่านหลวงตาพระมหาบัวท่านมาตัดสิน หลวงตาพระมหาบัว ได้เดินทางกลับจากรุงเทพฯ เพื่อมาดำเนินงานศพของหลวงปู่บัว ตามที่ได้พูดไว้ว่า “ถึงวันนั้นแหละจึงจะมา”
คณะศิษย์ได้จัดสถานที่เผาศพหลวงปู่บริเวณต้นหมากเลื่อม ไม่ห่างจากกุฏิหลวงปู่นัก ต่อมาภายหลังได้ก่อสร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุ รูปเหมือน พร้อมทั้งบริขารของท่านไว้ที่บริเวณวัดป่าหนองแซง ไว้ให้ลูกศิษย์ลูกหาได้กราบไหว้บูชา ได้ระลึกถึงความดีของหลวงปู่ตลอดกาล
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ได้ละสังขารในปี พ.ศ. ๒๕๑๘
หลวงพ่อบัวเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่นองค์หนึ่ง มีอายุพรรษาน้อยกว่าหลวงตา สถานที่ของการสนทนาธรรมในครั้งนี้ คือบ้านชุมพล ในปีนั้นหลวงปู่ขาว อนาลโย ได้พักจำพรรษาอยู่บ้านนี้ด้วย การแก้ปัญหาธรรมในครั้งนี้ ทำให้หลวงพ่อบัวเคารพนับถือ และซึ้งใจในคำแนะนำของหลวงตาเป็นอย่างสูง
เหตุที่ท่านทั้งสองจะได้พบกันนั้นมีเหตุมาจากฆราวาสท่านหนึ่ง มานิมนต์หลวงตาไปบ้านชุมพล (อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร) หลวงตาท่านถามทันทีว่า
"ไปนิมนต์หลวงพ่อบัวหรือเปล่าล่ะ?"
แกตอบว่า "นิมนต์ครับกระผม"
หลวงตาท่านว่า "ถ้าหลวงพ่อบัวไป เราจะไป เรายังมีอะไรๆ ยิบๆ ยิบๆ อยู่กับหลวงพ่อบัว พูดอะไรมันมีอะไรอยู่ ข้องๆ ใจ เอานิมนต์ให้ได้นะบอกด้วยว่าเราก็จะไปนะ"
จากนั้นฆราวาสคนเดิมนี้ ก็ไปนิมนต์หลวงพ่อบัวถึงที่วัดของท่านเหมือนกันหลวงพ่อบัวก็ถามเหมือนกันว่า "ได้นิมนต์อาจารย์มหาหรือเปล่า?"
แกตอบว่า "ผมนิมนต์ท่านมานี้แล้ว ท่านก็ถามถึงเหมือนกันว่า หลวงพ่อบัวจะไปหรือเปล่า?"
หลวงพ่อบัวกล่าวขึ้นทันทีว่า
"โอ๋ย ถ้าท่านอาจารย์มหาไป เราไป ไป ไป ไป" ว่าแล้วท่านก็ไป
หลวงพ่อบัวท่านเป็นคนสั่งจัดกุฏิเองเลยทีเดียว โดยท่านพักอยู่หลังหนึ่งและให้หลวงตาพักอีกหลังหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับรั้วและอยู่ใกล้ๆ กัน เพราะศาลาอยู่ลึกๆ ตรงกลางวัด กุฏิในวัดที่ติดเขตรั้วก็มีเพียงกุฏิ ๒ หลังนี้เท่านั้น
เมื่อครูบาอาจารย์ทั้งสองท่านเสร็จธุระส่วนตัวแล้ว หลวงตาจึงเริ่มซักไซ้ไล่เลียงหาเหตุผลเพื่อแก้ปัญหาข้อขัดข้องภายในของหลวงพ่อบัวดังนี้
หลวงตาเริ่มพูดก่อนว่า "ผมมามุ่งหลวงพ่อนะนี่ ผมไม่ได้มางานใดๆ นะ"
หลวงพ่อบัวตอบว่า "ผมก็มามุ่งครูจารย์เหมือนกันแล้ว" หลวงตาว่า "เอ้า เล่าเป็นยังไง? เอ้า เล่ามาตั้งแต่เริ่มปฏิบัติทีแรกจนกระทั่งปัจจุบันอย่าปิดบัง เล่ามาโดยลำดับ เอ้า ผมจะฟังให้ตลอดวันนี้ ผมไม่ได้สนิทใจนักกับหลวงพ่อนะ ผมพูดตรงๆ นะ"
จากนั้นหลวงพ่อบัวท่านก็เล่ามาโดยลำดับๆๆ จนถึงจุดปัจจุบัน พอถึงจุดนี้ หลวงตาบอกทันทีว่า
ท่านถามอีกว่า "แล้วความเข้าใจว่ายังไงละ? เอ้า ว่าซี"
"เข้าใจว่าสิ้นแล้ว" ท่านถามต่อว่า
"แล้วเป็นอย่างนี้มานานเท่าไรแล้ว?"
"เป็นมาได้ ๑๐ กว่าปีแล้ว"
จากนั้น หลวงตาท่านก็เริ่มอธิบายในจุดที่ละเอียดให้ฟัง
"เอ้า ทีนี้ให้พิจารณาอย่างนั้นๆ นั้น นะ เอาเลย ต่อจากนั้นให้เลยจับให้ดีนะ... อธิบายให้ฟังเต็มที่ แล้ววันนี้ไม่ต้องไปสวดมนต์ ไม่ต้องไปในงานนู้น ให้ภาวนา เอาให้มันได้วันนี้ รู้วันนี้ละ มันเข้าวงแคบแล้วนี่นา"
พอพูดกันจนเรียบร้อยแล้วท่านกล่าวต่อว่า "ไป ลงไป เริ่มภาวนาตั้งแต่บัดนี้ ไปนะ ทำยังงั้นล่ะ"
การอธิบายกันในคราวนั้นใช้เวลานานพอสมควร เมื่อจบการอธิบาย จากนั้นหลวงพ่อบัวท่านก็กลับกุฏิไปภาวนา ส่วนหลวงตาไปสวดมนต์ที่ศาลา เมื่อถึงตอนเช้า ขณะที่หลวงตากำลังนั่งภาวนาอยู่ ยังไม่ทันออกจากที่ภาวนาเลย ก็มีเสียงกุ๊บกั๊บๆ ดังขึ้นในเวลาใกล้สว่างของวันใหม่ หลวงตาถามขึ้นทันทีว่า
"ใครนี่?" ตอบ "ผมครับ" ถาม "หลวงพ่อบัวเหรอ?" ตอบ "ใช่ครับ" หลวงตาบอก "เออ ขึ้นมาๆ"
จากนั้นหลวงพ่อบัวท่านก็เล่าถึงการภาวนาในคืนนั้นให้ฟังว่า
"จับอุบายท่านอาจารย์ เข้าปุ๊บเลย... เพราะแต่ก่อนมันไม่รู้เนี่ยได้แต่เฝ้ากันอยู่นั้นเสีย แสดงว่าสำเร็จเสร็จสิ้นก็อยู่งั้นเสีย พอมาถึงที่นั่นแล้วก็เอาอุบายท่านอาจารย์เข้าใส่ ปุ๊บๆ โหไม่นานเลย ปรากฏเหมือนกัน...คานกุฏิขาดยุบลงทันทีเหมือนกับว่าก้นกระแทกดิน แต่ไม่เจ็บ เหมือนกับคานกุฏิขาดลงตูมลงพื้นเลย
ฮึบ ทีเดียวเลย แต่จิตมันก็ไม่กังวลนะ เพราะมันไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไรนี่ ในขณะนั้น พอพึบลงไปนั่น ทีเดียวเท่านั้น นิ่ง...พอมันหายจากขณะนั้นแล้ว จิตก็รู้ตัว ออกมาข้างนอก มาก็มารู้ว่า
'ฮื๊อ ว่าคานกุฏิ ถ้าขาดแล้วมันก็ลงกันทั้งพื้นนี้ ลงไปถึงดินนั่นทำไมมันถึงดีๆ อยู่นี่' มันก็รู้กันทันทีนะว่า
'โห นี่มันคานอวิชชาขาด'
โอ้โห เวลานั้นมัน มันพูดไม่ถูกเลย...พอขณะนั้น ทำงานกันไปเสร็จสิ้นไปแล้ว ทีนี้มันเหมือนกับว่า เป็นคนละโลกเลยเชียว ผมเลยไม่นอนทั้งคืน เมื่อคืนนี้..."
หลวงพ่อบัวกล่าวกับหลวงตาอย่างซาบซึ้งจับจิตจับใจว่า
"...ผมกราบท่านอาจารย์ทั้งคืนเลย มันไม่ทราบเป็นยังไงมันกราบพระพุทธเจ้า กราบพระธรรม กราบพระสงฆ์ กราบท่านอาจารย์ตลอดคืนเลย ผมไม่นอนจนกระทั่งเดี๋ยวนี้นะ โฮ้ มันอะไร เหมือนกับ ถ้าพูดภาษาพระพุทธเจ้าว่าเสวยวิมุตติสุข มันอะไรพูดไม่ถูก
อัศจรรย์ครูบาอาจารย์ พระธรรม เห็นคุณของท่านอาจารย์ ฮู้ย เห็นจริงๆ เด่นจริงๆ ถ้าไม่ใช่ท่านเราจมไปแล้ว ไม่ไปถึงไหนแล้ว เดชะจริงๆ กราบ...กราบอยู่อย่างนั้น..."
ตอนหลังหลวงตาท่านเคยปรารภถึงเรื่องนี้ว่า นับแต่นั้นมาก็ไม่ได้พูดคุยอะไรกับหลวงพ่อบัว วัดหนองแซง กันอีกเลยจนกระทั่งหลวงพ่อบัวท่านมรณภาพไป ท่านเคยบอกเหตุผลเหมือนกันว่าถึงจุดนี้แล้วไม่จำเป็นต้องมีอะไรเพิ่มเติมให้เป็นประโยชน์อีกแล้ว เพราะมันพออยู่ในตัวแล้ว หมดปัญหาแล้วไม่จำเป็นต้องเอาอะไรมาพูดอีกแล้ว
คำพูดหลวงปู่ ของทุกอย่างขอให้มีสติตัวเดียว ถ้ามีสติตัวเดียวแจ้งหมดโลก
๑. หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ
พระอริยสงฆ์แห่งบ้านหนองแซง อุดรธานี
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ เป็นบิดาบังเกิดเกล้าของหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม
หลวงปู่เพ็งเคยบอกว่า ถ้าจะทำหนังสือที่ระลึกในงานศพของท่าน ขอให้นำเรื่องราวของ “หลวงปู่อาตมา” มาเขียนไว้ข้างหน้า พร้อมกับสำทับว่า “อย่าลืมเด้อ”
เมื่อหลวงปู่เพ็งจะพูดถึงหลวงปู่บัว ท่านจะแทนด้วยคำว่า “หลวงปู่ของอาตมา” หรือ “หลวงปู่อาตมา” ผู้ที่ไม่คุ้นเคยจึงออกจะสับสนไปบ้าง
หลวงปู่ทั้งสององค์นี้ นอกจากมีสายใยเชื่อมโยงทางโลกในฐานะพ่อ-ลูกกันแล้ว ยังมีส่วนอุปถัมภ์ค้ำชูในทางธรรมซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก
กล่าวคือ ท่านหลวงปู่บัว ผู้พ่อ ได้ขอให้หลวงปู่เพ็ง ผู้ลูกบวชเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนาและออกบำเพ็ญเพียรเป็นพระธุดงค์กรรมฐาน
เมื่อหลวงปู่เพ็งออกบวชได้บำเพ็ญภาวนาจนได้สัมผัสความสุขสงบในรสพระธรรม แล้ว ก็ได้พยายามโน้มน้าวใจบิดาของท่านให้ละเลิกจากทางไสยศาสตร์ การเป็นหมอปราบผีสาง มาดำเนินตามรอยบาทพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นทางสุขสงบอย่างแท้จริง นับเป็นความปรารถนาสูงสุดที่หลวงปู่เพ็งต้องการตอบแทนคุณบิดา-มารดาของท่าน
หลวงปู่เพ็ง ได้ใช้ความพยายามอย่างมาก จนบิดาของท่านยอมละวางชีวิตฆราวาส หันมาห่มผ้ากาสาวพัสตร์ เมื่ออายุเข้าวัย ๕๐ แล้ว และได้ปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจังชนิดมอบกายถวายชีวิตจนได้พบคุณธรรมสูงสุดใน ทางพระพุทธศาสนา เป็นพระอริยสงฆ์อย่างแท้จริง
ประจักษ์พยานในทางวัตถุจะเห็นได้จากอัฐิของหลวงปู่ได้กลายเป็นพระธาตุ ที่สุกใสงดงาม ไว้ให้สานุศิษย์ได้กราบไหว้บูชา ประดิษฐานอยู่ในเจดีย์ของท่าน ที่วัดราษฎร์สงเคราะห์ (วัดป่าบ้านหนองแซง) อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ในปัจจุบัน
ท่านหลวงปู่บัว ได้ปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต สุดยอดพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานในยุคปัจจุบัน
ทางฝ่ายหลวงปู่เพ็ง พระลูกชาย ต้องพบวิบากสึกหาลาเพศไปเป็นฆราวาสมีเหย้าเรือนอยู่หลายปี จนมีบุตร-ธิดา ถึง ๕ คน เมื่อพ้นวิบากแล้ว ท่านได้กลับมาบวชอีกเป็นครั้งที่สอง เมื่ออายุ ๕๒ ปี
การบวชครั้งที่สองของหลวงปู่เพ็ง ก็ได้หลวงปู่บัว คอยช่วยชี้แนะ เจียรนัย จนหลวงปู่เพ็งของเราเป็น “เพชรเม็ดงาม” ประดับในวงการพระพุทธศาสนาได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
แม้ผู้เขียน (รศ.ดร.ปฐม นิคมานนท์) ไม่มีโอกาสได้กราบหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ โดยตรง เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็เคารพ-เลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาของท่านอย่างสุดชีวิตจิตใจ ไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยใดๆ ในองค์ท่าน
สำหรับหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม นั้น ครอบครัวของผมมีโอกาสอุปัฏฐากใกล้ชิดท่านติดต่อกันนานกว่า ๑๐ ปี หลวงปู่ได้เมตตามาพำนักที่บ้านเป็นประจำ เปิดโอกาสให้เพื่อนบ้านและผู้สนใจได้มาร่วมสวดมนต์ทำวัตร ปฏิบัติภาวนา ตลอดเวลา
พวกเราได้ถวายให้ห้องหนึ่งให้เป็นที่พักสำหรับพระสงฆ์สายปฏิบัติ ได้รับเมตตาจากหลวงปู่ - หลวงพ่อหลายองค์ที่ได้แวะเวียนไปโปรดบ่อยๆ จนบ้านเรากลายเป็น “สำนักปฏิบัติธรรม” ไปโดยอัตโนมัติ จนหลวงปู่เพ็ง บอกว่า “ที่นี่เป็นกุฏิของอาตมา”
โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนรัก-เคารพ-ศรัทธาต่อหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม อย่างสุดชีวิตจิตใจ
ท่านเป็น “พระดีประจำใจ” อีกองค์หนึ่งที่กราบไหว้ได้โดยไม่ขัดเขินและไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ
ผู้เขียนเคยกราบเรียนถามหลวงปู่เพ็ง ว่า “การดูพระสงฆ์นั้น ดูอย่างไรจึงจะบอกได้ว่าเป็นพระดี พระแท้ อย่างแน่นอน ?”
หลวงปู่ ท่านตอบโดยสรุปุว่า “เราต้องมีเครื่องมือดู เครื่องมือที่ดีก็คือ ต้องทำตัวเราให้เป็นพระด้วย จึงจะแยกพระดีพระเก๊ได้ถูกต้องแน่นอน”
และท่านบอกต่อไปว่า “จิตของผู้ปฏิบัติภาวนาดีจะมีความละเอียดอ่อน รับสัมผัสคุณธรรมระดับต่างๆ ได้ อย่างแม่นยำ”
๒. ชาติกำเนิด-ชีวิตวัยเยาว์
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ เป็นชาวจังหวัดร้อยเอ็ดโดยกำเนิด
สมัยเป็นฆราวาสท่านชื่อ บัว น้อยก้อม เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ที่บ้านเขืองใหญ่ ตำบลหมูม่น อำเภอธวัชบุรี (โป่งลิง) จังหวัดร้อยเอ็ด
ปัจจุบันบ้านเกิดของท่านอยู่ในพื้นที่อำเภอจังหาร ส่วนนามสกุล “น้อยก้อม” เป็นชื่อของคุณปู่กับคุณย่ารวมกัน เป็นการตั้งนามสกุลวิธีหนึ่งของคนสมัยนั้น
บิดาของท่านชื่อ นายลาด และมารดาของท่านชื่อ นางดา น้อยก้อม
หลวงปู่มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๙ คน คือ
๑. นายแก้ว ๒. นางหลอม ๓. นายเหลา
๔. หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ๕. นายกลม ๖. นางอ้วน
๗. นางบุญสุข ๘. นางมุก และ ๙. นางแสน
ในสมัยที่หลวงปู่เป็นเด็กยังไม่มีโรงเรียน หลวงปู่จึงไม่รู้หนังสืออ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพในสมัยนั้น และไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ธรรมด้วยการปฏิบัติภาวนา
เมื่อเจริญวัย หลวงปู่ได้ช่วยบิดา-มารดา ทำงานในไร่นาได้แก่การเก็บเกี่ยว ดำ ไถ หว่านข้าว ไปตามประสาของเด็กลูกชาวนาในถิ่นห่างไกลความเจริญทั้งหลาย
บุคลิกโดยทั่วไป หลวงปู่บัวเป็นเด็กฉลาด ขยัน และมีความจริงจังมาตั้งแต่เด็ก
๓. อาชีพช่างไม้และหมอผี
ความเฉลียวฉลาดและเอาจริงเอาจังของหลวงปู่บัว เริ่มฉายแววเด่นชัดเมื่อท่านเป็นหนุ่มเริ่มแตกพาน อายุ ๑๕ ปี
นอกจากการทำนา ไถนา แล้ว หลวงปู่ยังเป็นช่างปลูกบ้าน เป็นช่างทำตาชั่งและทำเครื่องมือตวงวัดต่างๆ ทั้งๆ ที่หลวงปู่ไม่ได้ร่ำเรียนจากที่ใดมาก่อนเลย ท่านสามารถทำตราชั่งชั่งน้ำหนักเป็นกิโลกรัมเพื่อการซื้อขาย และใช้ในชีวิตประจำวันได้
นอกจากเป็นช่างประจำหมู่บ้านแล้ว หลวงปู่บัว ยังได้เรียนวิชาอาคม และไสยศาสตร์จากผู้รู้ในสมัยนั้น จนมีความเก่งกล้าทางด้านคุณไสย สามารถประกอบอาชีพเป็นหมอผี ปราบผีสางนางไพรได้อีกด้วย
ไม่ว่าด้านใด ตำบลใด ในละแวกนั้น ถ้ามีผีสางเข้าสิงสู่ผู้คน ชาวบ้านจะมาเชิญหลวงปู่บัว หรือหมอบัวไปทำพิธีขับไล่ รวมทั้งปัดรังควาญเสนียดจัญไรต่างๆ ชาวบ้านก็จะจ่ายเงินทอง ข้าวของ เป็นค่าคาย (ค่ายกครู) ให้ตามสมควร
เมื่อชาวบ้านมีความทุกข์ร้อนเรื่องต่างๆ จึงมาเชิญให้หมอบัวได้ช่วยขจัดปัดเป่าความทุกข์ร้อนนั้นให้ ซึ่งท่านก็กระตือรือร้นและเต็มใจในการช่วยเหลือ จนกลายเป็นที่พึ่งและเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในละแวกนั้น
ด้วยความเอื้ออารีและต้องการช่วยเหลือชาวบ้านนี่เอง หลวงปู่บัวได้ยึดมั่นถือมั่นในวิชาไสยศาสตร์และหมอผีอย่างแนบแน่นฝังใจ
๔. ศีลห้าและรักษาสัจจะ
แม้ว่าหลวงปู่บัว จะเล่าเรียนและยึดถือทางด้านคุณไสยก็ตาม แต่ท่านก็ยึดมั่นในคุณธรรม ๒ ประการ คือ การมีสัจจะ และรักษาศีลห้า อย่างเคร่งครัด
สัจจะ ถือเป็นคุณธรรมอย่างวิเศษ การมีสัจจะประจำใจ จะทำให้เป็นคนน่าเชื่อถือ และ “มีวาจาสิทธิ์” การเรียนมนต์คาถาต่างๆ จะยิ่งเพิ่มความขลัง และไม่เสื่อมคลายจากหายไป
ด้านการรักษาศีล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศีล ๕ จัดเป็นคุณธรรมพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ เป็นเครื่องมือยับยั้งการทำชั่วและการก่อเวรต่างๆ ทำให้เป็นคนบริสุทธิ์ มีความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ตามหลักทางพระพุทธศาสนา
สัจกิริยาของผู้ที่ตั้งมั่นในการประพฤติอยู่ในขอบข่ายของศีล โดยไม่ละเมิดผิดศีลธรรม ย่อมเป็นผลให้สมาธิเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว มั่นคง แม้การเรียนทางด้านคุณไสยก็ย่อมมีความขลังด้วย
ท่านหลวงปู่บัว สมัยเป็นฆราวาสหรือหมอบัว ท่านจะไม่กระทำผิดด้านศีลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดื่มสุรายาเมา ท่านจะงดเว้น ไม่เตะต้องอย่างเด็ดขาด
หลวงปู่ท่านทราบดีว่า การดื่มสุราทำให้ขาดสติ ขาดสมาธิที่จะกำกับเวทมนต์ และคาถาอาคมต่างๆ ดังนั้นวิชาไสยศาสตร์ที่ท่านศึกษาจึงมีความเข้มขลังอย่างมาก
ด้านศีลห้า ท่านถืออย่างเคร่งครัด ได้แก่
- การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตท่านไม่เอา แม้แต่กุ้งหอยปูปลา ก็ไม่จับไม่ฆ่า
- งดเว้นจากการลักขโมย หยิบฉวย ทรัพย์สินของผู้อื่น แม้แต่จะพูดในเชิงอยากได้ก็ไม่ทำ
- เรื่องกาเมไม่เคยประพฤติ
- ข้อมุสา การกล่าวคำเก็จ เพ้อเจ้อ พูดจาเหลวไหล หลวงปู่ไม่ชอบ
- เรื่องสุราเมรัย แม้จะมีกันดาษดื่นในท้องถิ่นอีสานหาดื่มหากินได้ไม่ยากเลย ท่านก็ไม่ข้องไม่เกี่ยว
หลวงปู่บัวท่านรักษาศีลห้าอย่างเคร่งครัด ท่านมักจะอบรมสั่งสอนลูกหลานอยู่เสมอๆ ว่า
“เรื่องศีลนี่เป็นของสำคัญที่ควรปฏิบัติให้มาก ถ้าแม้ผู้ใดมีศีล รักษาศีลเพียงอย่างเดียวให้มั่นคงแล้วจะศึกษาเล่าเรียน ไม่ว่าวิชาคุณไสย หรือบำเพ็ญภาวนากรรมฐานอันเป็นทางวิมุติแล้ว ต้องมีศีลสัตย์เป็นเบื้องต้น อย่าไปทำลายศีล ถ้าทำลายศีลแล้ว ชีวิตมันจะไม่เป็นเรื่องสักอย่างเดียว”
แม้ท่านหลวงปู่บัวสมัยยังเป็นฆราวาส จะยึดมั่นในสัจจะและถือศีลห้าประจำใจ ไม่ทำบาปน้อยใหญ่ทั้งปวงก็ตาม หลวงปู่ก็ยังถือมั่นทางด้านคุณไสยอยู่ ท่านยังไม่ถือไตรสรณาคมม์ คือถือมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เช่นเดียวกับพุทธศาสนิกชนที่ดีทั่วไป
๕. หลวงปู่บัววัยหนุ่ม
สมัยยังอยู่เป็นฆราวาส นับตั้งแต่หนุ่มน้อย อายุ ๑๕ ปีเป็นต้นมา หลวงปู่บัว หรือ นายบัว น้อยก้อม ได้สร้างฐานะได้อย่างรวดเร็ว จัดว่าเป็นผู้มีอันจะกินทีเดียว
ทางด้านอาชีพ ท่านเป็นช่างปลูกบ้านเรือน เป็นครูสอนการทำตราชั่งและเครื่องตวงวัดต่างๆ และยังเป็นผู้เรืองวิชาอาคม รับจ้างขับไล่ผี และประกอบพิธีกรรมต่างๆ อีกด้วย
หลวงปู่ท่านมีนามีสวนในเนื้อที่กว้างขวาง ส่วนตัวของท่านก็เป็นที่เคารพนับถือจากชาวบ้านทั่วไป ในฐานะผู้รู้ทางเวทมนตร์ ประกอบกับท่านอยู่ในวัยหนุ่มหน้าตาดีด้วย
คุณดำรงค์ ภู่ระย้า นักเขียนในนิตยสารโลกทิพย์ ได้รับฟังเรื่องราวของหลวงปู่บัว จากคำบอกเล่าของหลวงปู่อ่อนตา จนฺทสโร ลูกพี่ลูกน้องของหลวงปู่ ดังนี้
“ในวัยหนุ่ม ท่านบัวนี่รูปร่างสวยนะ ตัวใหญ่ สูงสง่า เวลาเดินนี่หนักแน่นมั่นคง นัยน์ตาสีน้ำตาล แสดงความเป็นนักต่อสู้ทีเดียวล่ะ ผิวสีดำแดง เสียงมีอำนาจ ก็เพราะอย่างนี้แหละจึงเป็นที่ต้องตาต้องใจสาวๆ หลายคน
ฐานะท่านบัวก็ร่ำรวยคนหนึ่งล่ะ อาคมท่านบัวดีแต่ไม่เคยทำให้ใครเดือดร้อนนะ นอกจากช่วยคนอื่น สนุกสนานไปกับเพื่อนๆ บ้างเป็นบางเวลา เสียอย่างเดียวที่ท่านยิ้มยากหน่อยอยู่จะพูดจะคุยอะไรดูเป็นหลักเป็นเกณฑ์ไป หมดละ”
๖. ชีวิตครอบครัว
หลวงปู่อ่อนตา จนทสโร ญาติลูกพี่ลูกน้องของหลวงปู่บัว ได้เล่าถึงเรื่องครอบครัวของหลวงปู่บัว ว่า เอาเรื่องแต่งงานก่อนนะ
สาวๆ ที่ต้องใจท่านบัวสมัยเป็นฆราวาสนั้นมีอยู่คนเดียว คือ นางมิ้ม พอแต่งงานกันแล้วมีลูกด้วยกันทั้งหมด ๖ คน ลำดับอย่างนี้
๑. คนแรกเสียชีวิตแต่น้อยๆ
๒. นางพุด น้อยก้อม (เสียชีวิต)
๓. นายเพ็ง น้อยก้อม (หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม)
๔. นายพรหม น้อยก้อม (พระครูสมุห์พรหม สุพฺรหมญาโณ อายุ ๘๔ ปี เจ้าอาวาสวัดเทิงเสาหิน อ.เทิง จ.เชียงราย องค์ที่ ๒ ต่อจากหลวงปู่เพ็ง)
๕. นางสมบูรณ์ น้อยก้อม (เสียชีวิต)
๖. นางเล็ก ฤทธิแสง อยู่ที่ อ.เทิง จ.เชียงราย
“สมัยที่แต่งงานกันแล้ว ท่านบัว ก็ยังอยู่บ้านเกิดเดิมอยู่ มาระยะหลังจึงย้ายครอบครัวไปทำมาหากินที่บ้านจานทุ่ง ตำบลปาฝา อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด”
๗. ไม่ยอมละเมิดศีลห้าเด็ดขาด
“สมัยนั้น การทำมาหากินของชาวบ้านปาฝา และชาวนาในภาคอีสานลำบากมากนะ แต่ที่อยู่กันได้ ท่านบัวก็ทำมาหากินไปตามฐานะไม่เดือดร้อนอะไร”
หลวงปู่อ่อนตา เล่าต่อไปว่า “แต่ถ้าเป็นคนในเมืองเขาทนอย่างนี้ไม่ได้แน่ ไม่ว่าหน้าร้อน เราก็ต้องทนแดดกันกลางทุ่งนา วันทั้งวันเลย
พอหน้าฝน พวกชาวไร่ชาวนานี่ก็ต้องทนเปียกทนแห้งอยู่อย่างนั้นแหละ มันหนีไม่ได้นี่นะ
พอถึงหน้าหนาว ตื่นแต่เช้ามืดก็ต้องไปแล้ว ออกหากิน คนสมัยนั้น เวลาหนาวก็หนาวจริงๆ มันมีแต่ป่ามีแต่ต้นไม้ ไม่โล่งเตียนเหมือนเดี๋ยวนี้
หน้าหนาวนี่ ตั้งแต่เช้า กว่าจะได้รับไอแดดก็เป็นเวลาเที่ยง จึงค่อยได้รับความอบอุ่นกับเขาบ้าง พอบ่ายสามโมงก็เอาอีกหนาวอีกแล้ว
อะไรๆ ก็ไม่โหดร้ายเหมือนเมื่อคราวอีสานแล้งติดต่อกัน ๗ ปี ท่านบัวนี่ก็เป็นคนเก่งทีเดียว ไม่รู้ว่าท่านเอาอะไรให้ลูกๆ ท่านกิน มันไม่มีอะไรกินจริงๆ นะ
ท่านบัวเองก็รักษาศีล การที่จะฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนี่ไม่มีแน่ ท่านไม่ยอมทำทั้งนั้นเรื่องบาปกรรมนี่
การที่จะทำให้ท่านบัวไปช้อนกุ้ง ตกปลา เหมือนชาวบ้านทั่วไปนั้น อย่าหวังเลย ท่านรักษาศีลห้าได้จริงๆ นะ กำลังใจท่านดี สติท่านนี่เป็นเยี่ยมเลย ตั้งแต่สมัยฆราวาสนะที่เล่านี่
ต่อมาลูกๆ ของท่านบัวออกเรือนไปกัน ท่านก็แบ่งที่ทางให้ไปทำมาหากิน ส่วนตัวท่านก็ยังไม่ปล่อยวางเรื่องไสยศาสตร์
หนังสือนี่ท่านบัวไม่ได้สักตัวเดียว แต่ท่านมีปัญญาสามารถประกอบกิจดารงานได้ ทั้งๆ ที่ไม่รู้หนังสือนั่นแหละ
พอถึงคราวไปรำนางปลา นางกระด้ง ซึ่งเป็นประเพณีของทางอีสานในสมัยนั้น ท่านบัวเป็นอันว่าเอาด้วยละเรื่องนี้ ไปกันเป็นหมู่ๆ นะ แต่เรื่องผิดศีลท่านบัวไม่เอาด้วย”
๘. พระลูกชายขอให้เลิกไสยศาสตร์
ในปี พ.ศ ๒๔๗๐ หลวงปู่บัว ท่านยังรักษาศีล ๕ อยู่ พอมาถึงต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านก็ขยับขึ้นมาถือศีล ๘ เพิ่มอีก “ทีนี้ท่านนุ่งขาวห่มขาวเลย ก็อยู่ในบ้านนั่นแหละ รักษาศีล ๘ ด้วย ทำงานด้วย”
หลวงปู่อ่อนตา เล่าต่อไปว่า “เรื่องนี้ไม่รู้ว่าท่านบัวไปได้ความคิดความรู้จากไหนมาก่อนนะ
ท่านบัวเล่าให้อาตมาฟังว่า เวลาไถนา ก็ พุท-โธ ไป หันกลับมาก็ พุท-โธ อีก แล้วตอนปักกล้า เวลาปักลงไปแต่ละต้นนี่ พุท-โธ ไม่ขาดท่านหยิบกล้าก็ พุท พอปักลงไปในดินก็ โธ นี่ท่านทำอย่างนี้
ระยะนี้ธรรมะเริ่มเข้ามาในกระแสจิตบ้างแล้ว มันเป็นเหตุให้ ท่านเพ็ง พุทฺธธมฺโม พระลูกชายของท่านบัวมาเทศน์ให้ฟัง
ท่านเพ็งนี่เทศนาเก่งนะสมัยนั้น มีชื่อเสียงมากเรื่องนี้
แต่ท่านบัวก็ยังไม่ยอมเชื่อไม่ยอมทิ้งวิชาไสยศาสตร์อยู่ดีแหละ สองพ่อลูกนี่ทะเลาะกันเรื่องพระไตรสรณาคมน์
ลูกชายที่เป็นพระ ก็ต้องการให้บิดานับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ
ท่านบัวผู้เป็นพ่อก็ไม่ยอมเชื่อลูก เพราะเข้าใจว่าไปเรียนหนังสือ นวโกวาท (คู่มือพระภิกษุบวชใหม่) มาเพียงเล่มเดียว ท่านว่าอย่างนั้น
ท่านเพ็งได้ยกเหตุผลว่า การนับถือภูตผีปีศาจนั้นไม่ดี มันไม่มีประโยชน์อะไรแก่เราเลย เมื่อยึดถือไปแล้วมันมีแต่เรื่องทุกข์เรื่องร้อน
เวลาใครเขาถูกคุณเสียจากที่อื่นมา ตนก็ต้องไปแก้ไขช่วยเหลือ ถ้าพลาดพลั้งไปอาจเข้าตัวเองได้ ลูกเมียก็ต้องลำบากเสียใจ
สู้ยึดถือ พระไตรสรณาคมน์ไม่ได้ รัตนสามประการนี้ท่านสอนชี้ให้เรากระทำความดี ให้มี ศีล สมาธิ ปัญญา
ถ้าหากว่าโยมบิดามีพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ พระธรรม และพระอริยสงฆ์อยู่ในใจแล้ว โยมบิดาจะมีแต่ความสุขความเจริญ ไม่ต้องทุกข์ร้อน ไม่ต้องไปกังวลกับการไปแก้คุณเสียให้ใครอีก
โยมบิดาเองก็มีอายุมากแล้ว ไหนจะต้องเดินเหินไปโน่นมานี่ มันเป็นการยากลำบาก
ขณะนี้โยมบิดาก็ได้ทำความดีไปแล้วขั้นหนึ่ง คือการรักษาศีล นับว่าดี ประเสริฐแล้ว เพราะเราไม่ได้ถือไม้ค้อนก้อนดิน (หมายถึง อาวุธ) มือโยมบิดาบริสุทธิ์ไม่เปรอะเปื้อนมลทินอันใดเลย ขอให้เลิกนับถือคุณไสยเสียเถิด
จงหันมารับเอาพระไตรสรณาคมน์ เป็นที่พึ่งจะดีกว่า มันเป็นทางพ้นทุกข์ เป็นทางพระนิพพาน สถานบรมสุข เป็นที่อยู่ของดวงจิตอันถาวรของเรา”
หลวงปู่อ่อนตา เล่าต่อไปว่า “พระลูกชายก็พูดไป บิดาก็ไม่ยอมเชื่อ ตั้งแต่หัวค่ำจนยันแจ้งก็ไม่สำเร็จผล
ท่านบัวนี่ ความจริงท่านเป็นคนมีเหตุผลเหมือนกัน ตั้งแต่ท่านเพ็งพูดทิ้งไว้แล้ววันนั้น ท่านบัวก็เก็บไปนึกคิดอยู่ตลอดเวลา นั่นแหละ…”
๙. พระอาจารย์สุภีช่วยเทศน์โปรด
หลวงปู่พรหม (น้องชายของหลวงปู่เพ็ง) หรือพระครูสมุห์พรหม สุพฺรหมญาโณ สมัยที่ยังเป็นฆราวาสได้เล่าเรื่องหลวงปู่บัว เสริมต่อจากหลวงปู่อ่อนตา ว่า
“หลังจากพระอาจารย์เพ็ง มาเทศน์โปรดหลวงปู่บัว ของพวกเราแล้ว ท่านก็เก็บมานั่งคิดทบทวนเหตุผลต่างๆ แล้วท่านก็ตัดสินใจละทิ้งไสยศาสตร์อย่างเด็ดขาด กลายเป็นเรื่องง่ายนิดเดียวสำหรับท่าน
คือหลังจากนั้นไม่นาน คงจะ ๓ เดือนให้หลังนี่แหละ พระอาจารย์สุภี ฉายาท่านพวกเราจำไม่ได้ ท่านมาพักที่วัดป่าศรีไพรวัน อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด
เมื่อพระอาจารย์สุภี มาถึงวัด พระอาจารย์เพ็งมั่นใจว่า พระอาจารย์สุภีคงสามารถช่วยเทศน์ชักจูงให้โยมบิดาออกจากการถือคุณไสยได้แน่ๆ จึงนิมนต์พระอาจารย์สุภีไปยังบ้านโยมบิดา
พระอาจารย์สุภี ชี้แจงอยู่ไม่นาน พอเทศน์จบหลวงปู่บัว ก็บอกว่าท่านตัดสินใจยอมเลิกการนับถือภูตผีปีศาจ ยอมละวางเรื่องคุณไสยต่างๆ และท่านก็ละทิ้งหมด ชนิดไม่เก็บมานึกคิดอีกต่อไป ท่านเลิกได้เด็ดขาดจริงๆ
หลวงปู่บัวหันมารับพระไตรสรณาคมน์ ตั้งแต่นั้นมาท่านนั่งปฏิบัติสมาธิภาวนาโดยตลอด
นอกจากนี้ หลวงปู่บัวท่านยังเห็นชอบในเรื่องพระกรรมฐานและขอร้องให้พระอาจารย์เพ็งออกธุดงค์ด้วยซ้ำไป”
หลวงปู่พรหมกล่าวย้ำว่า “หลวงปู่บิดาของผมนี่ท่านใจเด็ดขาด เวลาจะเลิกสิ่งหนึ่ง แล้วมารับสิ่งหนึ่งนี่ ท่านไม่มีความสงสัยหรือลังเลใจเลย พวกเราลูกๆ เสียอีกทำอย่างท่านไม่ได้
แต่ก่อนที่ท่านจะยึดมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้น หลวงปู่บัวก็ได้รับรักษาศีล ๘ อยู่ก่อนแล้ว แต่ระยะนั้นท่านไม่ยอมทิ้งไสยศาสตร์เท่านั้น”
๑๐. ทำงานกับพุทโธ
ตอนที่พระอาจารย์สุภี เทศน์โปรดหลวงปู่บัว นั้น อยู่ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๗๗
หลังยอมรับพระไตรสรณาคมน์แล้ว หลวงปู่บัวท่านก็ยังทำงานอยู่กับบ้านตามปกติ เวลาทำงาน เช่น ทำนา ไถนา ตำข้าว เกี่ยวข้าวท่านจะบริกรรม พุท-โธ ตลอด
เช่น เวลาเกี่ยวข้าว พอเคียวเกี่ยวถูกต้นข้าว ท่านก็บริกรรมว่า พุท พอถึงต้นข้าวขาดก็บริกรรมว่า โธ เช่นนี้ไปโดยตลอด
ไม่ว่าท่านจะทำอะไรก็ตาม เช่น กินข้าวก็ พุท-โธ อาบน้ำก็ พุท-โธ ทำอะไรใจก็อยู่กับการบริกรรม พุท-โธ กำกับอยู่เสมอ
หลวงปู่บัวเล่าให้ฟังว่า “ทำงานกับพุทโธนี่ไม่เหนื่อย ทำได้ทั้งวัน”
หลวงปู่พรหม ย้ำว่า “ก็เป็นความจริงของท่าน วันทั้งวันท่านอยู่กลางนาได้ พวกเรานี้ไม่ประสาอะไรกับการบริกรรม พุท-โธ ในตอนนั้นนะ มารู้เอาภายหลังว่า พุท-โธ ที่หลวงปู่ผู้บิดาบริกรรมอยู่นั้นมีคุณวิเศษมหาศาล ทุกวันนี้เราก็ได้ทำตามที่หลวงปู่สอนไว้นั่นแหละ”
๑๑. การสอนคนให้ทำดีนั้นยาก
หลวงปู่อ่อนตา เล่าต่อไปว่า
“ท่านบัว นี่สติและสมาธิท่านดี เพราะท่านรักษาศีล ๘ มาไม่มีการด่างพร้อยเป็นเวลาถึง ๘ ปี
แต่ก่อนบ้านอิสานเรานี่เล่นคุณไสย เล่นเวทย์มนตร์กันเกือบจะเรียกได้ว่าทั่วไปนั่นแหละนะ เขาเอาจริงเอาจังเรื่องนี้ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงเก่งๆ กันนะ
โยมมารดาของท่านเพ็ง ก็พลอยมีวิชาคาถาอาคมกับเขาเช่นกันต่อมาในภายหลังโยมมารดาท่านก็เลิก แล้วหันมาทำบุญใส่บาตร
เรื่องสอนคนที่มีจิตยึดมั่นในของที่ตนรักตนหวงนี่ มันสอนยากนะ ดูอย่างลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายธุดงคกรรมฐานของเราซิ ท่านต้องผจญกับอุปสรรคนานาประการ บางองค์ก็ถูกทำร้าย บางองค์ถูกกลั่นแกล้ง เพราะไปสอนเขาให้ทำคุณงามความดี สอนเขาให้รักษาศีล
คนที่มีปัญญานี่ อาตมาว่า พอมีคนไปเปิดประตูให้นิดเดียว มันก็เกิดสว่างไสว มองเห็นทั่วถ้วน คนที่ไม่มีปัญญาล่ะ เหมือนคนตาบอด ทำอะไรก็ไม่ได้ มองอะไรก็ไม่เห็น คนตาดีบอกให้ แนะให้ บางทีเขาก็ไม่เชื่อ กลับต่อว่าเอาเสียอีก พวกนี้เป็นมิจฉาจริยา ประพฤติผิดด้วย เห็นผิดด้วย
ไม่ต้องพูดกันในปัจจุบันนะโยมนะ แม้สมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ก็ตาม พระองค์ยังต้องพบกับอุปสรรคเช่นนี้เหมือนกันทั้งๆ ที่น้ำพระทัยของพระองค์แสนบริสุทธิ์หาที่เปรียบมิได้ ขนาดนั้นจิตของพระเทวทัตก็ยังมืดบอดไม่ยอมรับคำสอน และต่อมาก็ทำร้ายพระพุทธเจ้า จนตัวเองถูกพระแม่ธรณีสูบไปเลย
เรื่องนี้พวกเราควรพิจารณากันนะ ถ้าชาตินี้เอาดีไม่ได้แล้วชาติไหนถึงจะดีเล่า ดีไม่ดีเรามัวแต่รอชาติหน้า ครั้นจะเกิดมาจริงๆ ในชาตินั้น อาจถูกเขาบีบเขาทำแท้งเสียอีก แล้วจะมาโทษเวรโทษกรรมต่างๆ นานา เอามันชาตินี้แหละ เราต้องพยายามมันจึงจะสำเร็จผลหลวงปู่บัวท่านว่าอย่างนั้น”
๑๒. พระลูกชายขอให้บวช
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ หลวงปู่บัว (ยังเป็นฆราวาส) ได้ขอร้องให้ หลวงปู่เพ็ง พระลูกชาย ออกธุดงคกรรมฐาน หลวงปู่เพ็งจึงได้ทำตามความประสงค์ของบิดา
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ หลวงปู่เพ็ง กลับมาเยี่ยมบ้านและพักอยู่ที่วัดป่าศรีไพรวัน
หลวงปู่อ่อนตา เล่าเรื่องนี้ว่า
“ภายหลังจากท่านเพ็งกลับจากธุดงคกรรมฐาน ท่านไปได้ข้ออรรถธรรมมา ก็มีความประสงค์ให้บิดาของตนออกบวชบ้าง ท่านเพ็งก็มีจดหมายไปหาท่านบัว ท่านบัวรู้ความก็มาหาในบ่ายวันเดียวกัน แล้วท่านเพ็ง ก็ได้ปรารภเรื่องการบวชพระ
การเห็นธรรมด้วยปัญญาอย่างแจ่มแจ้งของท่านเพ็งทำให้เกิดปีติ เชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าในขณะออกเดินธุดงค์ในไพรป่านี่เอง ท่านจึงมีความตั้งใจที่จะให้บิดาได้เข้ามาใช้ชีวิตที่สมบูรณ์ในบวรพุทธศาสนา เหมือนตน
ก็นับว่า พระอาจารย์เพ็ง เป็นกุลบุตรที่มีความกตัญญูรู้คุณบิดามารดา คือได้หาทางดำเนินที่ถูกต้อง เป็นทางที่ประเสริฐแก่บิดามารดของท่าน พวกเราทั้งหลายควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง แล้วนำไปปฏิบัติเยี่ยงท่าน นับว่าเป็นกาทดแทนคุณบิดามารดาได้อย่างหมดสิ้นในชาตินี้ทีเดียว นี่แหละเป็นการทดแทนพระคุณบิดา และค่าน้ำนมแม่ละ”
หลวงปู่อ่อนตา ได้เล่าเหตุการณ์ต่อไปนี้ว่า :-
“เมื่อท่านบัวได้รับจดหมาย ทราบความแล้ว ท่านก็มาพบพระลูกชายที่วัดในวันนั้นเมื่อเวลาบ่าย ๓ โมงเห็นจะได้นะ ท่านเดินมาที่วัด
พอมาถึงก็ถามท่านเพ็งว่า ต้องประสงค์สิ่งใดก็ให้บอกมา
ท่านเพ็งบอกว่า โยมบิดา อาตมาไม่ต้องการอะไรจากบิดาเลยแต่ขอเพียงอย่างเดียว คืออยากขอให้โยมบิดาบวช เพราะตัวอาตมาก็ได้ทำตามที่โยมบิดาต้องการแล้ว โยมบิดาให้อาตมาเล่าเรียนอาตมาก็ทำตาม โยมบิดาไม่ให้แต่งงาน ต้องการให้บวชก่อน อาตมาก็บวชให้ โยมบิดาประสงค์ให้อาตมาศึกษาธรรมจนสอบได้ อาตมาก็ทำตาม
ครั้นต่อมา อาตมาก็ได้ทำตามคำขอร้องให้ออกธุดงค์ อาตมาก็ธุดงค์ปฏิบัติธรรม จนมีความเชื่อมั่นในคุณของพระพุทธเจ้า เชื่อพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยว่าอาตมาได้ประสบมากับตัวเอง
บัดนี้อาตมาอยากขอร้องให้โยมบิดาบวชเป็นพระ โยมบิดาจะให้ตามคำขอของอาตมาได้หรือไม่ อาตมาก็จะขอเพียงเท่านั้นขออย่างเดียว และจะไม่ขออะไรอีกเลยชั่วชีวิต”
๑๓. ถวายตัวกับหลวงปู่อ่อน
“ท่านบัวไม่ลังเลเลยนะ ใจเด็ดเดี่ยวมาก ท่านตอบตกลงทันที”
หลวงปู่อ่อนตา เล่าต่อไปว่า “ตอนที่ท่านบัวตอบตกลงว่าจะบวชตามคำขอนี้ ท่านมีอายุได้ ๕๐ ปีแล้วนะ เป็นปี พ.ศ. ๒๔๗๙
เมื่อตกลงกันแล้ว ท่านเพ็งก็นำตัวไปฝากฝังกับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ”
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นพระอริยสงฆ์แห่งสำนักวัดป่านิโครธาราม อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดหนองบัวลำภู ท่านเคยเป็นเณรติดตามหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ต่อมาหลวงปู่ดูลย์ ได้นำสามเณรอ่อนไปฝากให้ปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เรื่องราวของหลวงปู่อ่อนน่าศึกษาติดตามเป็นอย่างยิ่ง ท่านเป็นศิษย์อาวุโสของหลวงปู่มั่น ท่านปฏิบัติจนสำเร็จหลุดพ้นไปแล้ว พระธาตุของท่านเก็บให้ประชาชนได้สักการบูชาในเจดีย์ของท่านที่วัดป่านิโค รธาราม ใกล้ๆ กับวัดถ้ำกลองเพลของหลวงปู่ขาว อนาลโย และวัดราษฎร์สงเคราะห์ (วัดป่าบ้านหนองแซง) ของหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ
หลวงปู่อ่อน รับตัวหลวงปู่บัว (นายบัว น้อยก้อม) ไว้แล้วก็บอกกับพระอาจารย์เพ็งว่า ไม่ต้องเป็นห่วงนะ อาตมาจะบวชผ้าขาวให้ และจะอบรมธรรมให้เอง
ต่อจากนั้น หลวงปู่อ่อน ก็ได้พา ตาผ้าขาวบัว น้อยก้อม ออกเดินทางไปยังจังหวัดนครราชสีมา พักที่วัดสะแกราช อำเภอปักธงชัยไปอยู่ฝึกขานนาคอยู่กับหลวงปู่อ่อน เนื่องจากตาผ้าขาวบัวไม่ได้หนังสือ (อ่านเขียนไม่ได้) จึงใช้เวลาฝึกขานนาคอยู่ถึง ๓ ปี
ในช่วง ๓ ปีนั้น ตาผ้าขาวบัวได้ติดตามหลวงปู่อ่อนไปหลายแห่งมีโอกาสพบและฟังธรรมจากครูบา อาจารย์หลายองค์ ได้รับข้ออรรถข้อธรรม จากท่านเหล่านี้มากทีเดียว
พระอาจารย์ฝายกรรมฐานที่หลวงปู่บัว ได้ฟังธรรมในช่วงนั้นมี พระอาจารย์สุวรรณ สุจิณฺโณ, หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่จันทร์ เขมปตฺโต, หลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร, หลวงปู่คำดี ปภาโส, หลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน และครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ อีกหลายองค์
หลวงปู่บัว ใช้ชีวิตผ้าขาวเยี่ยงกับพระธุดงค์ ท่านติดตามหลวงปู่อ่อนไปธุดงค์ตามป่าตามเขา ผจญกับสัตว์ป่า และอันตรายต่างๆ อย่างเอาเป็นเอาตายเลยทีเดียว จากการฝึกปฏิบัติอย่างเข้มข้นอย่างนี้แหละทำให้การปฏิบัติภาวนาของท่านหลัง จากบวชเป็นพระแล้ว มีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว
๑๔. บวชเป็นพระภิกษุ
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เมื่อก่อนนั้นท่านเป็นคนแข็งแรง “รูปร่างของท่านนี่สง่า กล้ามเนื้อเป็นมัดๆ เลย รูปร่างสมส่วนที่สุดละ ท่านมีความองอาจหาญกล้าดีจริงๆ”
ต่อมาภายหลังที่พวกเราเห็นรูปถ่ายของหลวงปู่อ่อนว่าท่านนั่งหรือยืนหลัง ค่อมๆ เพราะท่านอาพาธ และหมอได้ตัดลำไส้ท่านออกบางส่วน ความสง่าผ่าเผยของท่านจึงดูเปลี่ยนไป
หลวงปู่อ่อนตา พูดถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ว่า “โลกเรานี้มันเป็นอนิจจังนะ มันจะเป็นอะไรไม่บอกล่วงหน้าหรอก เพราะทุกอย่างเป็นอนัตตา คือเราไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้จะเกิดมันก็ไม่บอก จะอยู่ก็ไม่บอก จะไปตายจากมันก็ไม่บอกทั้งนั้นนอกจาก สนฺทิฏฺฐิโก จึงจะรู้ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีใครบอก
พวกเราจงภูมิใจใน พุท-โธ ของเรา ในโลกนี้ไม่มีใครเก่งเกินพุทโธของเราหรอก พุทโธเป็นเลิศในโลกเน้อ”
หลวงปู่อ่อนได้ทดสอบจิตใจหลวงปู่บัวอยู่ถึง ๓ ปี ท่านเห็นสมควรบวชได้แล้ว จึงมีจดหมายถึงท่านเพ็ง ถามว่า “โยมผ้าขาวนี่จะเอาอย่างไร จะให้อาตมาบวชให้หรือท่านเพ็งจะบวชเอง
ท่านเพ็งก็ตอบไปว่า จะขอบวชเองครับ พระคุณเจ้า
ท่านเพ็งก็ได้ไปซื้อผ้ามาตัดจีวรต่างๆ เป็นไตรชุดเลย ผ้าแต่ก่อนโน้นราคาถูกนะ ไม้หนึ่งราคา ๑๖ บาทเท่านั้น ท่านเพ็งใช้เวลา ๓ วัน ๓ คืน จึงเสร็จเป็นผ้าจีวร
หลวงปู่อ่อนได้ส่งท่านบัวมาบ้านที่ร้อยเอ็ดเลย เพื่อมาบวชพระ”
หลวงปู่อ่อนตา เล่าถึงความรู้สึกของหลวงปู่บัว เมื่อก่อนบวชว่า
“ท่านเล่าว่า ทีแรกไปมองเห็นที่ทำมาหาทินแถวปักธงชัยดี ทำเรือกสวนได้ดี คิดจะพาครอบครัวมาอยู่ แต่มานึกว่า ตัวเราเองได้หยุดมานานแล้ว ยังจะคิดทำไร่ทำนาอยู่อีกหรือ ท่านคิดทบทวนดู แล้วตัดขาดตั้งแต่บัดนั้นเลยนะ ไม่คิดเอาอะไรทั้งนั้น นอกจากบวชอย่างเดียว
พอทุกอย่างจัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านเพ็งพระลูกชาย ก็ได้นำบิดา คือท่านบัว ไปบวชที่วัดบึงพระลานชัยในตัวเมืองร้อยเอ็ด ทำพิธีอุปสมบทเวลา ๑๕.๑๘ น. มีคณะสงฆ์ ๑๑ รูป เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ อายุท่านได้ ๕๓ ปี พอดี
โดยมี ท่านพระครูคุณสารพินิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ปลัดแก้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอุปัชฌาย์ได้ให้ชื่อว่า พระภิกษุบัว สิริปุณฺโณ
หลังจากพิธีบวชแล้ว ท่านบัว ได้มาจำพรรษาอยู่กับท่านเพ็ง ที่วัดป่าศรีไพรวัน จังหวัดร้อยเอ็ด ตอนนั้นท่านเพ็ง พุทฺธธมฺโม เป็นเจ้าอาวาสวัดนี้อยู่นะ”
๑๕. ปฏิบัติจริงจังและรู้ได้เร็ว
หลวงปู่อ่อนตาได้เล่าถึงการบวชของหลวงปู่บัว ต่อไปว่า
“ต่อจากนั้น ท่านบัวได้เอาจริงกับการปฏิบัติ ไม่ว่า ยืน เดิน นั่ง นอน สติของท่านดีมาก เพราะได้ฝึกมาแล้วตอนสมัยเป็นฆราวาส
ท่านบัวนี่ อาตมาพิจารณาดูแล้ว ในเรื่องการปฏิบัติ ท่านไปได้เร็วมาก คิดดูซิ ท่านมาบวชเมื่อตอนแก่นะ พาคนแก่ๆ อย่างนี้มาบวชแล้วได้สมาธิเร็วๆ คงมีไม่กี่องค์หรอก
ท่านบัวรักษาศีล ๕ ศีล ๘ มาก่อน ท่านบัว กำหนดสติอย่างชำนาญมาก่อน พอท่านบวชแล้วเอาจริงเอาจังก็เลยเป็นของไม่ยากสำหรับท่าน”
หลวงปู่บัว ท่านจึงเป็นพุทธสาวกประเภท สุขาปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา คือ ปฏิบัติได้โดยไม่ลำบากและรู้ได้รวดเร็ว
สำหรับพุทธสาวกประเภทอื่นๆ ได้แก่
- ทุกฺขาปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา ประเภทที่ปฏิบัติลำบากและก็รู้ได้ช้า
- ทุกฺขาปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ประเภทที่ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว
- สุขาปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา ประเภทที่ปฏิบัติสบายและก็รู้ได้ช้า
๑๖. พิจารณาเวทนาใต้ต้นลำดวน
ภายหลังที่หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ มาจำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวันแล้ว ในกลางพรรษาแรกนั้นเองท่านก็ได้ธรรมเกิดขึ้นในจิตใจ
ในตอนนั้น หลวงปู่บัว ท่านมีอาการเจ็บในรูหูมาก หลวงปู่เพ็ง พระลูกชายได้ออกไปซื้อหายากินและยาหยอดหูมาถวาย พอหลวงปู่บัวท่านรับยาแล้วก็ถือไปนั่งสมาธิใต้ต้นลำดวนในบริเวณวัด นั่งต่อสู้กับทุกขเวทนาที่กำลังเผชิญในขณะนั้น ท่านยกเอาความเจ็บปวดเป็นกรรมฐาน ท่านนั่งสมาธิอยู่ ณ ที่นั้นติดต่อกัน ๓ วัน ๓ คืน
หลวงปู่ต่อสู้กับความเจ็บปวดจนชนะมันได้ ความเจ็บปวดหายไปโดยไม่ได้ใช้ยากินยาหยอดหูเลยแม้สักนิดเดียว
เรื่องที่ว่า หลวงปู่บัวท่านใช้อุบายในการกำหนดอย่างไรนั้นมาเปิดเผยขึ้นเมื่อหลวงปู่บัว เข้าไปกราบหลวงปู่มั่นในครั้งแรก เพื่อถวายตัวเป็นศิษย์
ครั้งนั้นหลวงปู่มั่นท่านยังไม่เคยรู้จักหลวงปู่บัวมาก่อน เมื่อเจอหน้าครั้งแรก หลวงปู่มั่น ท่านทักถามว่า
“ตอนที่ท่านบัวนั่งอยู่ใต้ต้นลำดวนอยู่ ๓ วัน ๓ คืนนั้น ท่านทำอย่างไร…”
หลวงปู่บัว กราบเรียนว่า
“กระผมเจริญพระกรรมฐาน กำหนดดูปฏิสนธิตั้งแต่เริ่มแรก พิจารณาการเกิดของเราเลย คือตั้งแต่เข้าไปอยู่ในครรภ์มารดา ต่อเนื่องมาจนปัจจุบันครับ ท่านอาจารย์”
และทราบจากการบอกเล่าในครั้งนั้นว่าหลวงปู่บัว ได้พิจารณาปฏิจจสมุปปบาท จนมองเห็นอย่างรู้แจ้งแทงตลอด เป็นที่น่าอัศจรรย์มากที่หลวงปู่ไม่รู้หนังสือ แต่สามารถพิจารณาธรรมได้อย่างเข้าใจชัดเจน ท่านบอกว่ามันเป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องกันไปเป็นวัฏวน เหมือนกับมดไต่ขอบกระด้ง ถ้าไม่ใช้ปัญญาตัดจะไม่สามารถออกจากวัฏสงสารนี้ได้..นับเป็นที่น่าอัศจรรย์ จริงๆ
๑๗. ไปภาวนากับพระอาจารย์คูณที่มหาสารคาม
เมื่อออกพรรษาในปีนั้นแล้ว หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ได้ออกเดินทางจากวัดป่าศรีไพรวัน จังหวัดร้อยเอ็ด ไปยังจังหวัดมหาสารคาม ได้ถวายตัวเป็นศิษย์เพื่อปฏิบัติพระกรรมฐานกับพระอาจารย์คูณ ที่วัดพูลศรีสารคาม อำเภอเมือง มหาสารคาม (ไม่ทราบว่าวัดนี้ยังคงชื่อเดิมหรือเปลี่ยนชื่อไปเป็นอย่างอื่น)
สำหรับท่านพระอาจารย์คูณองค์นี้ ท่านมีชื่อเสียงในด้านการปฏิบัติภาวนา ท่านมักชอบออกเที่ยวธุดงค์อยู่ป่ามากกว่าอยู่ประจำที่ สถานที่ที่พระอาจารย์คูณท่องเที่ยวธุดงค์ส่วนใหญ่เป็นป่าแถวจังหวัด มหาสารคาม ยโสธร สุรินทร์ และปราจีนบุรี ส่วนภาคอื่นท่านก็ไปบ้างบางโอกาส
หลวงปู่บัว ท่านเคยเล่าปฏิปทาข้อวัตรต่างๆ ของพระอาจารย์คูณ ให้ลูกศิษย์ฟังว่า งดงามยิ่งนัก หลักธรรมของท่านโน้มไปสู่การรู้ข้างในตน สำหรับการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยไม่เคยมีอะไรให้เห็นเป็นข้อบกพร่อง ท่านเป็นพระฝ่ายกรรมฐานที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจริงๆ
เวลาที่พระอาจารย์คูณอยู่กลางป่ากลางไพร พอถึงเวลาปักกลดตอนเย็นหน่อยเดียวป่าสมัยนั้นก็มืดสนิท แล้วท่านนั่งภาวนาชั่วครูแล้วก็เริ่มแสดงธรรม พูดเสียงดังๆ ออกมาเหมือนกับว่าในป่าดงยามค่ำคืนนั้นมีคนฟังเทศน์ท่านอยู่เป็นร้อยๆ คนพอเทศนาจบ ท่านดับเทียนทำภาวนาและเดินจงกรม
หลวงปู่บัว มีโอกาสได้ฟังเทศน์และจดจำเนื้อหาธรรมของพระอาจารย์คูณได้เป็นอันมาก และได้นำธรรมะนั้นไปเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติของท่านได้เป็นอย่างดี
เมื่อใกล้จะสว่าง พระอาจารย์คูณก็เทศนาอีกครั้ง ท่านพูดดังๆ อยู่องค์เดียว ไม่สนใจว่าจะมีใครฟังหรือไม่ หลังจากนั้นท่านก็เจริญภาวนาและออกเดินจงกรม เมื่อได้เวลารุ่งอรุณ ท่านก็หยิบบาตรเดินเข้าโปรดญาติโยมชาวบ้านป่าเป็นกิจวัตรของท่าน
หลวงปู่บัว ได้เรียนรู้ธรรมและการปฏิบัติภาวนาจากพระอาจารย์คูณเป็นอันมาก
ปกติพระอาจารย์คูณเป็นพระพูดน้อย พอท่านได้ลูกศิษย์ที่ถูกใจคือหลวงปู่บัว ซึ่งพูดน้อยเหมือนกัน เลยอยู่ด้วยกันได้อย่างสบาย รู้ใจกันทั้งสองฝ่าย
๑๘ . การปฏิบัติธรรมไม่ต้องรอเวลา
ถ้ามีเวลาพักผ่อนสนทนากันบ้างในเรื่องอรรถธรรมพระอาจารย์คูณท่านจะบอกให้ อย่างแจ่มแจ้ง หายกังวลหายสงสัยไปเลยทีเดียว เมื่อหลวงปู่บัว และลูกศิษย์คนอื่นๆ เข้าใจแล้วก็รีบลงมือปฏิบัติทันที ไม่มีการรอเวลาว่าเท่านั้นเท่านี้โมง ลงมือเดี๋ยวนั้นเลย
เรื่องนี้ครูบาอาจารย์สายกรรมฐานแต่ละท่าน มักพูดเสียงเดียวกันว่า “เอากันเดี๋ยวนั้น” ไมมีคำว่าเดี๋ยวก่อน หรือ วันหน้า เราจะมัวประมาทหรือทำเล่นๆ ไม่ได้ เราไม่รู้วันตาย ถ้าเนิ่นช้าจะเสียการ ถ้าเพียงแต่รู้หรือเข้าใจธรรม แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติ ก็ยังไม่สามารถสัมผัสรสคุณธรรมในใจตนได้ คือ มีแต่ปริยัติ ไม่มีการปฏิบัติ ก็ย่อมไม่บังเกิดผลในจิตใจคือ ปฏิเวธ
หลวงปู่บัว ท่านมีนิสัยนี้ติดตัวมาโดยตลอด เช่น เวลานอนพักผ่อน ขณะเอนกายลง ธรรมะเกิดขึ้น ท่านจะรีบลุกขึ้นมาพิจารณา กำหนดจิตลงสู่ความสงบ ให้ได้วิปัสสนาญาณรู้แจ้งในขณะนั้น ไม่มีการห่วงเรื่องนอนแม้จะง่วงแสนง่วงก็ตาม
เพราะเมื่อได้ธรรมะแล้ว ความง่วงมันก็หลบหน้าหายไป จะมีแต่ความชื่นบานในตัวรู้ภายในตลอดเวลา บางทีมันจะทรงอยู่เป็นวันเลย มันมีตัวรู้ตัวทั่วพร้อมในนั้น คือ ภายในจิต เป็นความรู้ที่ได้จากการพิจารณาทางจิต ไม่ใช่ได้จากการใช้สมองครุ่นคิด เหมือนกับปัญญาความรู้ในทางวิชาการหรือในทางโลก
นอกจากนี้ อีกขณะหนึ่ง เวลานอนหลับ แต่ตัวสติมันรู้มันทำหน้าที่ของมันอยู่ พอเกิดธรรมะเกิดปัญญาขึ้นขณะนั้น ท่านว่าท่านจะลุกขึ้นอย่างกระฉับกระเฉง นั่งภาวนาจนรู้แจ้งแทงตลอดในเรื่องนั้นๆ
ตัวอย่างในกรณีของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ในขณะที่ลูกศิษย์นั่งสมาธิภาวนา เมื่อเกิดข้อธรรมหรือมีข้อสงสัยขึ้นในใจ หลวงปู่มักจะพูดขึ้นมาทันทีว่า “กำหนดดูต่อไป อย่าเปลี่ยน พิจารณาดูให้มันทะลุไป”
๑๙. สติกับจิตต้องไปด้วยกัน
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ แม้ท่านไม่รู้หนังสือ แต่ท่านก็รู้ธรรม เกิดปัญญาจากการปฏิบัติภาวนา เป็นความรู้ที่ค้นพบด้วยตัวของท่านเอง พิจารณาตรวจสอบด้วยตัวท่านเอง มิใช่ความรู้ที่ได้จากการจดจำมาจากตำราหรือการได้ยินได้ฟังมาเท่านั้น
หลวงปู่บัวท่านสอนศิษย์เป็นประจำขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ว่า
“ขอให้มีสติตัวเดียวเท่านั้น มันจะแจ้งหมดโลก”
คนตาดีก็ต้องมีสติกำกับในการเดิน ยืนนิ่งนอนและทำกิจกรรมทุกอย่าง ต้องทำด้วยความมีสติทั้งนั้น คลาดเคลื่อนไม่ได้ ถ้ารักการพ้นทุกข์ รักการปฏิบัติ ต้องเอาให้ได้ ทำให้ชำนาญ เรื่องสตินี้สติกับจิต ต้องหนักเท่ากัน เหมือนตราชั่ง ถ้าจะชั่งของต่างๆ ลูกตุ้มก็ดี สิ่งของก็ดี ต้องให้มันเท่ากัน มันจึงจะเป็นธรรม มันจึงจะตรงและบริสุทธิ์ยุติธรรมทั้งสองฝ่าย
คนตาบอดก็ต้องมีสติ เอาสติวางไว้ที่ไม้เท้า กำหนดรู้ที่ไม้และที่เท้าขณะก้าวเดิน ถ้าเอาไปไว้ที่ไม้เท้ามาก ขาหรือเท้าหมดสิ่งกำกับ ก็จะเป๋ตกบ่อตกท่อไป ดังนั้น ต้องให้เท่ากันเหมือนลูกตุ้มกับสิ่งของในเรื่องตราชั่งที่ว่านั่นแหละ มันจึงจะพอใจ บริสุทธิ์ต่อกัน ทั้งไม้เท้าและขา ดังนี้ เรียกว่า สติกับจิตเป็นของคู่กันทุกสมัย
๒๐. มีอำนาจในแววตา
ชีวิตในเพศบรรพชิตของหลวงปู่บัว แม้ว่าจะบวชเมื่อล่วงวัย ๕๐ ปีแล้วก็ตาม แต่ท่านก็มีประสบการณ์ในการเดินธุดงค์ตามป่าเขามามากแต่ขาดการบันทึกไว้ ส่วนที่จดจำจากคำบอกเล่าจากปากของท่านเอก็มีเป็นส่วนน้อย เพราะหลวงปู่ท่านเป็นคนพูดน้อย ท่านสนใจการปฏิบัติภาวนามากกว่าการเทศนาบอกกล่าวให้ลูกศิษย์ลูกหาได้รู้ใน เรื่องราวและประสบการณ์ของท่าน
จากคำบอกเล่าของครูบาอาจารย์ที่คุ้นเคยกับท่านมักจะพูดตรงกันว่า หลวงปู่บัวท่านมีอำนาจจิตเข้มข้น แววตาของท่าน ไม่ว่าท่านจะมองดูอะไร หรือผู้ที่พบเห็นท่านแล้ว คล้ายกับมีอำนาจสะกดให้จังงังได้
แววตาของหลวงปู่นั้นดุ มีอำนาจ และจิตใจของท่านอ่อนโยน มีเมตตาสูง เมตตาต่อผู้ที่ได้รับทุกข์เดือดร้อน ท่านจะให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลเสมอโดยไม่เลือกผู้ดีมีจน
การที่แววตาท่านดุ จริงจัง มีอำนาจ ส่วนหนึ่งก็คงสืบเนื่องมาจากกิตติศัพท์ และประสบการณ์เดิมของท่านในสมัยเป็นฆราวาส ที่ท่านเล่นคุณไสยและเป็นหมอขับไล่ผีมาก่อน จึงทำให้สัญญาในอดีตส่งผลให้คนรู้จักเกรงกลัวท่านเป็นทุนเดิมอยู่ในใจ
๒๑. สั่งสอนชาวร้อยเอ็ดให้เลิกการนับถือผี
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ออกท่องธุดงค์ แสวงหาที่วิเวกปฏิบัติธรรมตามป่าเขาเป็นเวลาหลายปี จนได้คุณธรรมชั้นสูงประจักษ์ในจิตใจแล้ว ท่านได้เดินทางกลับจังหวัดร้อยเอ็ดบ้านเกิด
ความตั้งใจประการหนึ่งของท่าน ได้แก่การสั่งสอนชาวบ้านจานทุ่งให้เลิกละการนับถือภูตผีปีศาจให้หันมานับถือ พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง และมาปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนา
หลวงปู่ได้เทศนาอบรมแสดงเหตุผลต่อชาวบ้านให้ยึดมั่นในศีลเจริญภาวนาให้ เกิดปัญญารู้เห็นในธรรม ท่านได้ชี้แจงแสดงเหตุผลอย่างชัดเจน โดยยกตัวอย่างตัวท่านเองสมัยฆราวาส ท่านได้หลงผิดนับถือยึดมั่นในหลักไสยศาสตร์ ว่าเป็นของดีงาม จนเป็นเหตุให้ตนเองและผู้อื่นหลงงมงายไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง
การนับถือผีนี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงสรรเสริญ แต่พระองค์สรรเสริญให้คนทำความดี ให้คนมีศีลธรรม
การปฏิบัติทางจิตก็ไม่ยาก เพียงแต่นั่งหลับตาแล้วบริกรรมภาวนาในใจว่า พุท-โธ เท่านั้น บุญก็เกิดขึ้นแล้วภายใน นี่เป็นวิธีปฏิบัติขั้นต้นให้ใจสงบ เพื่อจะได้ดำเนินจิตให้เกิดปัญญารู้ในขั้นสูงต่อไป
ส่วนการทำบุญภายนอก คือ การทำทาน ไม่ว่าทานนั้นจะเป็นสิ่งของวัตถุใดก็ตาม เมื่อเราได้กระทำทานไปแล้ว จิตใจจะรู้สึกเบิกบาน ความสุขที่ได้รับจะขยายวงกว้างออกไปจนหาที่สุดที่ประมาณไม่ได้
ถ้าเราไปนับถือผี การเซ่นสรวงบูชาผี เราจะมีแต่ทางเสีย เสียทั้งกำลังกาย กำลังใจ และเสียทั้งทรัพย์ การเซ่นสรวงบูชาผี ผีมีแต่กิน เมื่อได้กินแล้วเขาก็ดี แต่เราเสียเงิน เสียเวลาไปซื้อหาของมาเซ่นสรวง เราเดือดร้อน ผีมันสบาย เราต้องทำมาหากิน หาเงินแสนเหนื่อยยาก กว่าจะได้เงินมาแต่ละอัฐแต่ละไพ ผีมันก็ไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย
เวลาผีมันอยากจะกินไก่กินหมูเราก็ต้องทำตาม ต้องไปหาไปฆ่าไปแกง แต่ผีมันนอนดูเราทำบาป มันไม่ต้องบาปเพราะไม่ได้เป็นคนทำ เราเองเป็นคนฆ่า คนสั่งฆ่า บาปกรรมก็ตกอยู่ที่เรา
อย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เป็นอกุศลกรรมบถ คือทางแห่งความชั่ว เพราะเราตั้งใจกระทำชั่วเอง เมื่อเราเห็นผิดเป็นชอบแล้ว ผีมันมาช่วยอะไรเราไม่ได้ มาช่วยเรามิให้ตกนรกไม่ได้ สวรรค์หรือนรกอยู่ที่การกระทำของเราเอง เราอยากไปนรก หรืออยากไปสวรรค์กันล่ะ ถ้าอยากไปสวรรค์ ก็ควรมารับเอาพระไตรสรณาคมน์จากอาตมาเถิด เมื่อรับแล้วจงถือมั่นในสัจจะ แล้วจงรับศีลห้าไปประพฤติปฏิบัติกัน เมื่อรับแล้วถ้าบุคคลผู้นั้นปฏิบัติตรงก็เท่ากับว่ามีพระประจำอยู่ในใจด้วย กันทุกคนจะอยู่บ้านเรือน อยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่ว่าชายหรือหญิง เฒ่าเล็กเด็กน้อยสามารถทำได้ทั้งนั้น
ศีลจะรักษา ศีลจะให้ความสุขความเจริญทั้งตัวเราและประเทศชาติบ้านเมือง ให้งอกงามไพบูลย์ต่อไป
เป็นที่น่าอัศจรรย์ ปรากฏว่าชาวบ้านตำบลใกล้เคียงต่างๆ พากันเลิกการับถือภูตผีปีศาจ หันมารับพระไตรสรณาคมน์จากคำเทศนาของหลวงปู่ในครั้งนั้น
ความดีมีเมตตาของหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ในครั้งนั้นยังจารึกติดแน่นในดวงใจของชาวบ้านจานทุ่งและตำบลใกล้เคียงมาตราบเท่าทุกวันนี้
๒๒. การเผชิญสัตว์ป่า
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ได้ฝึกฝนจิตใจตนเองกับพระอาจารย์คูณเป็นเวลานานหลายพรรษา จนมีอำนาจจิตแก่กล้า อีกทั้งปัญญาญาณก็ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง
หลวงปู่บัว รักชีวิตการอยู่ป่า เพราะป่าเป็นที่อาศัยของสัตว์และมนุษย์ผู้รักความอิสระ รักสันโดษ ป่ามีธรรมะให้สำหรับผู้มีปัญญา ผู้ใฝ่ธรรมจึงเที่ยวออกหาครูอาจารย์ผู้อยู่ป่ากันมากในปัจจุบัน
จากประสบการณ์การท่องธุดงค์ในป่า มีหลายครั้งที่หลวงปู่บัวผจญกับเหตุการณ์น่ากลัวน่าหวาดเสียว แต่ท่านก็สามารถรักษาจิตใจของท่านได้ทุกครั้งที่พบเหตุการณ์นั้นๆ
ป่าในสมัยนั้นมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม นับตั้งแต่ ช้าง เสือ งู หมี ควายป่า เป็นต้น สัตว์ป่าที่หลวงปู่ได้ผจญมากและเห็นว่าดื้อมากที่สุดไม่มีอะไรเกินหมีกับ ควายป่า มันดื้อจริงๆ ทำอย่างไรๆ มันก็ไม่ค่อยหลบ ไม่ค่อยหนี มันคอยจ้องคุมเชิงพระอยู่อย่างนั้น มันจะหลีกไปก็ต่อเมื่อมันรู้ว่า ต่างคนต่างไม่เป็นภัยต่อกัน นั่นแหละมันจึงจะหลีกทางให้
ตัวอย่างที่ปรากฏบ่อย เกิดขึ้นช่วงที่หลวงปู่เดินจงกรม เมื่อท่านเดินกลับไปกลับมาบนทางเดินจงกรม ปรากฏสัตว์พวกนี้มายืนขวางทางเดิน ยืนมองดูว่า พระท่านจะเอาอย่างไร
หลวงปู่เห็นก็ทำเฉย ไม่แสดงอะไรให้เป็นที่สงสัยของมัน ท่านกำหนดสติไว้เฉพาะหน้า เดินก้าวย่างไปตามปกติ จนเกือบถึงตัวมันแล้วหันกลับเดินย้อนที่เก่า คือ เดินไปในระยะทางที่สามารถเดินได้ ท่านเดินไปเดินกลับอยู่อย่างนั้น เมื่อมันรู้ว่าพระไม่ได้สนใจกับมันจริงมันก็เดินหลบไปเอง
งูก็เหมือนกัน ตัวโตๆ ขนาดลำขา มันเลื้อยมาจากที่อื่นๆ ก็มาได้ แต่พอมาถึงทางเดินจงกรมของพระ มันก็หยุดเลื้อยเลยเฉยๆ นิ่งทำเป็นว่าใครจะกล้าถูกตัวมันบ้าง ไปถูกตัวมันไม่ได้นะ มันรัดทันทีเลยพวกนี้ มันจะสงบเฉยรออยู่อย่างนั้น พอมันเห็นว่าไม่มีอะไรผิดปกติมันก็จะค่อยๆ เลื้อยหายไปเอง
๒๓. ครอบครัวงูเห่าเผือก
มีคราวหนึ่ง หลวงปู่บัว ไปพักนั่งสมาธิภาวนาอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ปรากฏมีงูเห่า ๒ ตัว ตัวใหญ่ขนาดลำแขน ตัวมันสีขาวตลอดลำตัว มันเป็นงูเห่าเผือก
งูเห่าเผือก ๒ ตัวนี้ จะมาเฝ้าดูหลวงปู่อยู่ทุกวัน ขวางทางเข้าปากถ้ำไว้ เวลาท่านจะเดินออกไปบิณฑบาตหรือเดินจงกรมนอกถ้ำมันจะนอนเฉยอยู่อย่างนั้นโดย ไม่ทำอะไร
งูเห่าทั้ง ๒ ตัวมีลูกหลายตัว เวลามันพาครอบครัวออกไปกินน้ำกันมันจะไปเป็นแถว เลื้อยไปกันเป็นระยะทาง ๘-๙ กิโลเมตรเลย เมื่อกินน้ำแล้วมันก็จะเลื้อยกลับมายังที่เก่าในถ้ำนั้นแหละ มันมาเฝ้าอยู่เหมือนเป็นยามรักษาให้หลวงปู่
มันอยู่ของมันอย่างนั้นทุกวัน จนถึงวันสุดท้ายที่หลวงปู่จะย้ายออกจากถ้ำนั้นไป พอหลวงปู่เตรียมตัวเก็บข้าวของ แล้วคิดในใจว่าต้องไปขอบใจเขาก่อน ที่เขามีน้ำใจประเสริฐนัก ถึงแม้เขาจะเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็จริง แต่ความซื่อสัตย์ของงูเห่าทั้ง ๒ ตัวนี้ ยากจะหาอะไรเปรียบได้ หมั่นเฝ้าดูแลรักษาความปลอดภัยให้ นับว่าผิดวิสัยสัตว์ทั่วไปที่ต้องออกหากินเลี้ยงชีวิตรอดเป็นประจำวัน
พอหลวงปู่ไปถึงที่อยู่ประจำของเขาตรงปากถ้ำกลับไม่เห็นพวกเขา ไม่รู้ว่าหายไปไหน ก็ได้แต่กำหนดแผ่เมตตาอุทิศบุญกุศลให้เขาไป
๒๔. อรรถธรรมของการบำเพ็ญบารมี
การที่หลวงปู่ได้พบกับสัตว์ร้ายในขณะเดินธุดงค์ในป่านั้น หลวงปู่ได้รับธรรมะอย่างกว้างขวางจากการฝึกภาวนาพิจารณาธรรมด้วยตนเอง อาศัยธรรมชาติเหล่านั้นเป็นส่วนประกอบ เหมือนกับว่ามีสัตว์ป่าเหล่านั้นคอยให้กำลังใจในการประพฤติปฏิบัติ
สมาธิก็เป็นไปอย่างแนบแน่น ความรู้แจ้งเห็นจริงก็แจ่มใส สติสัมปชัญญะบริบูรณ์ไม่คลอนแคลน ท่านได้ปัญญาและกำลังใจมากในการอยู่ป่า
หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม พระลูกชายของหลวงปู่บัว ได้เล่าถึงการเห็นอรรถเห็นธรรมของหลวงปู่ว่า “อรรถธรรมของท่านหลวงปู่บัว ก็คือ เมตตาบารมีนี่เอง บารมีแต่ละอย่างมารวมอยู่ในจุดเดียวกันตอนที่ท่านนั่งภาวนาอยู่นั่นเอง ท่านทำจนสำเร็จกิจในระยะนั้น จนเป็นบารมีสิบทัศ พร้อมมูลบริบูรณ์ไปเลย
ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น ท่านมีบารมีด้วยกันทุกองค์นั่นแหละ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว จิตใจก็ไม่ดำเนินลงสู่สมาธิได้ นี่เรียกว่าเป็นการสร้างบารมี ดูอย่างในตอนที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ ก็เกิดขึ้นในขณะที่นั่งภาวนาในที่แห่งเดียวใต้ต้นศรีมหาโพธิพฤกษ์ เป็นอย่างนี้นะ”
๒๕. ถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น
ต่อเมื่อพระอาจารย์คูณได้ล้มป่วยและมรณภาพลง หลวงปู่บัวได้ช่วยกิจการงานศพของพระอาจารย์ แล้วท่านได้พบกับพระอาจารย์ส่วน ได้แนะนำและชักชวนหลวงปู่ให้ไปถวายตัวเป็นศิษย์ศึกษาธรรมกับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ทางวิปัสสนากรรมฐาน
หลวงปู่บัว แสนจะปีติยินดี คิดว่าเป็นวาสนาบารมีของตนที่จะมีโอกาสได้พบหลวงปู่มั่น เพราะเคยได้ยินชื่อเสียงของท่านมานาน บัดนี้บุญกุศีลเกื้อกูลเราแล้ว
จากนั้นหลวงปู่บัวได้เดินทางติดตามพระอาจารย์ส่วนไปยังจังหวัดสกลนคร ถิ่นที่พำนักของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
หลวงปู่บัว ได้เข้านมัสการถวายตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ณ วัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร และอยู่ปฏิบัติธรรมใกล้ชิดหลวงปู่มั่น จนถึงวาระสุดท้ายของหลวงปู่มั่นในปี พ.ศ. ๒๔๙๒
เมื่อไปถึงในตอนแรก หลวงปู่มั่นได้มอบธรรมเข้าสู่จิตใจหลวงปู่บัวทันทีในการพบหน้าเป็นครั้งแรก
หลวงปู่มั่นได้อธิบายขยายธรรมะที่หลวงปู่บัว พิจารณาเมื่อครั้งมีอาการเจ็บหู และพิจารณาดูปฏิสนธิ ขณะนั่ง ๓ วัน ๓ คืน ใต้ต้นลำดวน ภายในวัดป่าศรีไพรวัน จังหวัดร้อยเอ็ด
หลวงปู่มั่น ได้อธิบายปฏิจฺจสมุปฺปบาท ให้ฟังและรับรองว่าหลวงปู่บัว ได้พิจารณาและเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว รวมทั้งยกย่องชมเชยหลวงปู่บัวให้ปรากฏแก่หมู่คณะในขณะนั้น นับเป็นที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างมาก
ทำไมจะไม่อัศจรรย์ ก็ตอนที่หลวงปู่บัว นั่งภาวนาเมื่อครั้งที่ท่านเจ็บหูนั้น หลวงปู่บัว ยังไม่เคยได้ยินชื่อเสียงของหลวงปู่มั่นด้วยซ้ำไป แล้วจู่ๆ เพียงเข้ากราบและพบหน้ากันเป็นครั้งแรก หลวงปู่มั่นได้ทักทายและกล่าวถึงการภาวนาของหลวงปู่บัวในครั้งนั้นได้อย่าง ถูกต้อง ชัดเจน รวมทั้งอธิบายข้อธรรมที่ละเอียดชัดเจนให้ด้วย ยิ่งทำให้หลวงปู่เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงปู่มั่นอย่างหมดหัวใจ
๒๖. กิจวัตรประจำวัน
ลูกศิษย์สายหลวงปู่มั่นทุกองค์ มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก อีกทั้งกิจวัตรประจำวันที่หลวงปู่มั่นได้วางแนวการปฏิบัติลูกศิษย์ทุกองค์ก็ ยึดถือปฏิบัติเป็นอาจิณวัตร คือปฏิบัติเป็นแบบแผนเป็นประจำ อย่างเสมอต้นเสมอปลาย
กิจวัตรของพระสงฆ์สายหลวงปู่มั่น จะเริ่มต้นตั้งแต่เวลา ๐๓.๐๐ น. ตื่นนอน ออกจากกุฏิทำสรีรกิจ ล้างหน้าบ้วนปาก ปฏิบัติสมาธิภาวนาพอสมควร แล้วนำบริขารลงสู่โรงฉัน ปัดกวาดลานวัดออกเดินจงกรม
พอได้เวลาออกบิณฑบาตภิกขาจารก็ขึ้นสู่โรงฉัน นุ่งห่มเป็นปริมณฑล สะพายบาตรเข้าสู่หมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาตแล้ว จัดแจงบาตร จีวร จัดอาหารใส่บาตร นั่งพิจารณาอาหารปัจเวกขณ์ ทำภัตตานุโมทนายถาสัพพี แล้วฉันอาหารภายในบาตรอย่างสำรวม
หลังจากเสร็จกิจการฉันภัตตาหารแล้ว ต่างองค์ต่างเช็ดล้างบาตร ทำความสะอาดเสนาสนะ ต่างองค์ต่างแยกย้ายกลับกุฏิ พักผ่อนเล็กน้อย สวดมนต์ไหว้พระ พิจารณาธาตุอาหาร ชำระจิตจากนิวรณ์ นั่งสมาธิภาวนา หรือเดินจงกรมพอสมควร
เวลาบ่าย แต่ละองค์จะลงกวาดลานวัด ตักน้ำใช้น้ำฉันมาไว้อาบน้ำชำระกาย แล้วเดินจงกรมชำระจิตใจขัดเกลากิเลส ตัณหา อุปาทานออกจากจิตใจ จนถึงเวลาพลบค่ำจึงขึ้นกุฏิ
วาจาหรือความนึกคิดอันใดไม่มีความจำเป็นต้องพูด ให้พิจารณากำหนดลงที่จิต กำหนดสติ ตักตวงธรรมทำกำไรไว้ให้แก่ตนเองในแต่ละวัน แต่ละชั่วขณะจิต
ถ้ามีข้อสงสัยติดขัดในข้ออรรถข้อธรรม ก็ค่อยไปสอบถามพระอาจารย์ในเวลาค่ำคืน หลวงปู่มั่นจะเปิดโอกาสให้ศิษย์แต่ละคนได้สอบถาม ข้อคำถามและการอธิบายคำตอบนั้น ลูกศิษย์ทั้งปวงจะมีส่วนรู้เห็น และทำความเข้าใจอย่างพร้อมหน้ากัน
เวลากลางคืน สานุศิษย์จะทยอยกันขึ้นไปปรนนิบัติครูบาอาจารย์ เวลานี้แหละลูกศิษย์ทุกองค์จะได้ฟังธรรมวิเศษจากท่าน ซึ่งมีคุณค่าต่อการปฏิบัติธรรมอย่างมหาศาล ไม่สามารถศึกษาค้นคว้าจากตำหรับตำราได้ หลวงปู่มั่นจะสอนอบรมสติปัญญาแก่ลูกศิษย์พอสมควรแล้วต่างองค์ต่างแยกย้ายไป บำเพ็ญภาวนาในสถานที่ของตน
ส่วนพระเณรที่รับหน้าที่นวดเฟ้นถวายพอสมควรแล้วก็กราบลากลับกุฏิ หลวงปู่มั่นก็เข้าห้องพัก ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิของท่านต่อไป
บรรดาลูกศิษย์เมื่อแยกย้ายกันกลับกุฏิแล้ว บางองค์ก็นั่งภาวนา บางองค์ก็เดินจงกรม กำหนดจิตใจพิจารณาธรรมที่ตนได้รับมาเป็นเวลาอันสมควรแล้วเข้าพักผ่อน ถึงเวลา ๐๓.๐๐ น. ก็ตื่นขึ้นมาทำกิจประจำวันต่อไป
๒๗. เมื่อมีเกิด ก็ย่อมมีไม่เกิด
ในช่วงที่หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ พำนักอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือกับหลวงปู่มั่น ท่านก็ไม่ได้อยู่ประจำที่เสมอไป บางโอกาสท่านจะออกฝึกจิตใจโดยออกเดินธุดงค์ไปตามถิ่นต่างๆ เพียงลำพังองค์เดียวหลายครั้ง
ระยะทางการเดินธุดงค์ของหลวงปู่บัว ส่วนใหญ่จะไปไม่ไกลจากบ้านหนองผือนัก เพราะเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพของท่าน ด้วยท่านอยู่ในวัยชราแล้ว จึงเดินทางไกลพอสมควรแก่สุขภาพร่างกาย แม้ท่านอยู่ในวัยชราท่านก็ไม่ยอมแพ้ตกเป็นทาสของสังขาร ท่านบำเพ็ญเพียรอย่างเอาจริงเอาจัง จิตใจของท่านอาจหาญนัก
หลวงปู่มั่น เคยอบรมบ่มนิสัยสานุศิษย์ให้รู้เท่าทันกิเลส กิเลสมันพามนุษย์ทั้งหลายให้ลุ่มหลงอยู่กับรูปสังขาร
เมื่อผู้ใดยังยึดมั่น ลุ่มหลงอยู่ในขันธ์ มันก็จะพาเราให้มาเกิดแก่ เจ็บ ตาย ได้อีก อย่างไม่มีการจบสิ้น วนเวียนอยู่ในกองทุกข์ไปชั่วกาลนาน ถ้าไม่รู้จักทางแก้ไข จึงจำเป็นต้องมาพิจารณาหาทางแก้ไขความทุกข์ที่วนเวียนเหล่านี้ให้หมดสิ้นไป เพราะเมื่อมีมืดก็ต้องมีสว่างมาแก้กัน
เมื่อมี เกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้ว ก็ย่อมต้องมีทางที่จะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ และไม่ตาย อยู่เป็นแน่ ผู้ที่ใฝ่ธรรมในทางพระพุทธศาสนา จะต้องมานะพยายามใคร่ครวญหาทางแก้ไข พบเห็นหนทางด้วยตนเองให้จงได้
ทางเดียวที่หลวงปู่บัวได้พิจารณา ตามคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา และจากการอบรมพร่ำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้แก่การปฏิบัติสมาธิภาวนาให้สติตามรู้เหตุผลไปตลอดสาย จนเกิดปัญญารู้แจ้งแทงตลอด สามารถตัดขาดจากวงจรแห่งวัฏสงสารไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิด เข้าสู่วงจรแห่งความทุกข์อย่างไม่มีวันจบสิ้น
นั่นคือ ต้องบำเพ็ญเพียรจนกระทั่งจิตเข้าสู่พระนิพพานซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา
๒๘. ปฏิบัติธรรมจนรู้จริง
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ได้รับอุบายธรรมในการปฏิบัติภาวนาจากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่มีคุณค่าอย่างมากมายมหาศาล หลวงปู่มั่นได้เล่าถึงการเดินธุดงค์ไปยังที่ต่างๆ เช่นในท้องที่จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี บ้านดงน้อยสามผง จังหวัดนครพนม และได้ไปพำนักจำพรรษาอยู่ที่ภาคเหนือเป็นเวลาถึง ๑๒ ปี
หลวงปู่บัว ยังมีโอกาสศึกษาอุบายธรรมจากพระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายพระกรรมฐานหลายองค์ หลวงปู่ได้จดจำปฏิปทาของพระเดชพระคุณเจ้าเหล่านั้นมาประพฤติปฏิบัติตาม
หลวงปู่บัวเคยเล่าให้ลูกหลานฟังว่า ธรรมที่เกิดจากจิตใจในครั้งนั้น ช่างแนบแน่นยกระดับจิตใจได้รวดเร็วทีเดียว
ภายหลังจากหลวงปู่มั่น เดินทางจากภาคเหนือมายังภาคอิสาน คือ จังหวัดอุดรธานี แล้วเดินทางไปอบรมสั่งสอนศิษย์ ในจังหวัดต่างๆ ในภาคอิสานตอนบนแถบจังหวัดขอนแก่น สกลนคร นครพนม เป็นต้น หลวงปู่มั่นได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาอย่างเต็มที่ ท่านเร่งเร้าให้ศิษย์ได้เอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติภาวนาให้ยิ่งขึ้นไป ท่านเข้มงวดกวดขันกับลูกศิษย์ชนิดแทบหาเวลาพักผ่อนส่วนตัวได้ยาก
ผู้ใดมีความสงสัยอะไร ก็ให้ปรึกษาสอบถามได้อย่างไม่ต้องรอช้า เมื่อได้รับอุบายไปแล้วให้ปฏิบัติภาวนากันเลยทีเดียว พิจารณาจนรู้ประจักษ์แจ้งในธรรมนั้นๆ ด้วยตนเองไป
๒๙. ให้ระวังปัจจัยเครื่องต่อ
ในระหว่างพำนักปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ถ้าลูกศิษย์องค์ใดมีความประสงค์ออกวิเวกตามลำพังและได้เข้าไปกราบอำลา หลวงปู่มั่น ท่านจะเมตตาให้คำแนะนำและตักเตือนทุกรูปไปโดย “ให้ยึดเอาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง และเป็นแนวทางดำเนินเสมอ”
เมื่อหลวงปู่บัว เข้ากราบลาเพื่อออกธุดงค์ตามลำพัง หลวงปู่มั่นได้เมตตาเตือนสติ ให้ระวังโลกธรรมมากระทบกระทั่ง เพราะโลกธรรมทั้งหลายมีอยู่ดาดดื่นนานารูปแบบ
หลวงปู่มั่นได้แนะนำให้ยึดเอาคุณพระรัตนตรัยเป็นทางดำเนิน ให้รักษาแนวทางนี้ไว้เท่าชีวิต
เกี่ยวกับเรื่องโลกธรรมนั้น แม้แต่พระพุทธองค์ก็ยังถูกโลกธรรมเป็นมารมากระทบเลย พระพุทธองค์ทรงสอนสาวกให้มีสติพิจารณาโดยตลอด
หลวงปู่บัว ได้นำคำสอนและอุบายธรรมที่ได้รับจากหลวงปู่มั่นมาแนะนำถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ อีกทอดหนึ่ง ท่านสอนให้ระวังยิ่งในเรื่องปัจจัย หรือลาภสักการะต่างๆ เพราะปัจจัยหรือผลประโยชน์เหล่านั้นมันเป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติธรรม ถ้าไปหลงยึดถือมัน
ปัจจัย แปลว่า เครื่องต่อ มันสามารถต่อได้สารพัดอย่าง มันสามารถต่อภพต่อชาติ ต่อลูกต่อเมีย ต่อบ้านต่อเรือนต่อไป จนกระทั่งต่อทรัพย์สมบัติ วงศ์ตระกูล ถ้าขาดสติพลั้งเผลอละเมอตาม บางทีมันต่อทางเดินลงนรกไปเสียเลยก็มี
หลวงปู่บัว ท่านมักสอนลูกศิษย์ลูกหา ไม่ว่าพระสงฆ์ในวัด รวมทั้งบรรดาญาติโยม วัดป่าบ้านหนองแซง อยู่เสมอๆ ตามที่ได้รับการอบรมพร่ำสอนครั้งอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่น พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายพระกรรมฐาน
๓๐. ติดตามไปอยู่กับหลวงปู่คำดี ที่ถ้ำกวาง ขอนแก่น
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ได้ติดตามปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต อยู่หลายพรรษา จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในชีวิตของท่าน ใน วันมาฆบูชาในปีนั้นหลวงปู่มั่น ได้แสดงธรรมเป็นที่อัศจรรย์ประจักษ์แก่บรรดาสานุศิษย์ไม่เคยลืม แม้หลวงปู่มั่นจะอาพาธหนักแต่ท่านก็สามารถข่มเวทนาแสดงธรรมได้อย่างละเอียด ชัดเจน และท่านบอกสานุศิษย์ว่าเป็นการเทศน์ครั้งสุดท้ายของท่านก่อนละทิ้งสังขาร เดินทางไปสู่แดนบรมสุข คือ เข้าสู่พระนิพพาน
หลวงปู่บัว ได้อยู่ช่วยจัดงานศพหลวงปู่มั่น จนสำเร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้เดินทางออกจากจังหวัดสกลนครเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ติดตามไปอยู่กับหลวงปู่คำดี ปภาโส ที่ถ้ำกวาง จังหวัดขอนแก่น
จากบันทึกประวัติและธรรมเทศนา ของหลวงปู่คำดี ปภาโส ท่านเป็นคนขอนแก่น ได้มาพำนักที่ถ้ำกวางในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๕ ท่านตั้งสัจจะอธิษฐิานอยู่จำพรรษาที่ถ้ำกวาง ๕ พรรษา หลังจากนั้นท่านได้ออกธุดงค์ไปหลายแห่ง ในช่วงสุดท้ายของชีวิต หลวงปู่คำดี ได้ไปพำนักที่ถ้ำผาปู่ อำเภอเมือง จังหวัดเลย จนมรณภาพ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ สิริรวมอายุได้ ๘๓ ปี รวมพรรษาธรรมยุติได้ ๕๗ พรรษา
๓๑. เรื่องราวของหลวงปู่คำดี กับถ้ำกวาง
ตามประวัติของหลวงปู่คำดี ปภาโส ได้บันทึกว่า หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ในสมัยเป็นตาผ้าขาว เคยติดตามหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ไปภาวนากับหลวงปู่คำดี ที่ถ้ำกวางมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ครั้งนี้จึงไปถ้ำกวางเป็นครั้งที่สอง
ขออนุญาตคัดลอกบันทึกประวัติของหลวงปู่คำดี ที่เกี่ยวกับถ้ำกวางมาเสนอ ดังต่อไปนี้
ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ หลวงปู่คำดี ปภาโส จำพรรษาที่วัดถ้ำกวาง บ้านหินร่อง ตำบลเมืองเก่า อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ครั้งแรกท่านอยู่องค์เดียว อาศัยญาติโยมชาวบ้านทำร้านที่พักให้ชั่วคราว ต่อมามีหมู่คณะไปอยู่ด้วย มีพระ ๓ องค์ ตาผ้าขาว ๑ คน
ถ้ำกวางนี้เป็นสถานที่ที่มีป่าทึบรกชัฏมาก ห่างไกลจากหมู่บ้านประมาณ ๒ กิโลเมตร ก่อนที่ท่านจะมาถ้ำกวางนี้ หลวงปู่คำดี มุ่งมั่นทำความเพียรอย่างเอกอุ ยอมสละชีพเพื่อพรหมจรรย์ เพื่อมรรคผลนิพพานอย่างมอบกายถวายชีวิต
หลวงปู่คำดี ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานอยู่จำพรรษาที่ถ้ำกวางนี้ ๕ พรรษา ถ้ามีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ท่านจะไม่ยอมหนีให้เสียสัจจะโดยเด็ดขาด การจำพรรษาที่นี่ ท่านได้ปฏิบัติภาวนาอย่างชนิดที่เรียกว่าแบบเอาเป็นเอาตายเลยทีเดียว
ในปี พ ศ. ๒๔๘๓ หลวงปู่คำดี ได้เป็นไข้มาเลเรียอย่างหนัก แม้แต่หมู่คณะของหลวงปู่ทุกองค์ก็เป็น ไม่มีใครดูแลกันได้เลย ได้อาศัยชาวบ้านหินร่องมาช่วยอุปัฏฐากดูแล ต่อมาพระ ๒ รูปได้มรณภาพ และตาผ้าขาว ๑ คนได้ตายจากไป ส่วนพระที่ยังไม่ตาย ต่างก็หนีไปที่ต่างๆ ไม่มีใครกล้าอยู่ เพราะกลัวไข้มาเลเรียกัน
สำหรับหลวงปู่คำดี ได้มีญาติโยมมาอ้อนวอนให้หนี แต่หลวงปู่ท่านได้อธิษฐานไว้แล้ว ท่านอยู่ของท่านองค์เดียวตลอดฤดูแล้ง พอจวนจะเข้าพรรษามีพระไปร่วมจำพรรษาอีก ๔ รูป ตาผ้าขาว ๑ คน คือ พระอ่อน (หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ) หลวงตาสีดา หลวงตาช่วง (ในบันทึกมีรายชื่อพระเพียง ๓ รูป) และตาผ้าขาวบัว (หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ วัดป่าบ้านหนองแซง จังหวัดอุดรธานี ในขณะนั้น) ก็ได้ร่วมกับเพื่อนพระด้วยกันปฏิบัติภาวนาจนกระทั่งออกพรรษา
ปีนั้น ญาติโยมนิมนต์ไปงานกฐินที่บ้านกุดดุก ตำบลหว้าทอง อำเภอภูเวียง พอกฐินเสร็จเกิดอาการจับไข้อีกเกือบไม่รอด ชาวบ้านไปหาหมอพื้นบ้านในตำบลทั้งหมด ก็ไม่มีหมอคนไหนกล้ารักษา มีแต่เขาเห็นว่าจะไม่ไหวแล้วกลัวจะกำเริบใหญ่ สมัยนั้นไม่มีหมอรักษา มีแต่หมอเถื่อนเขาไปตามมารักษา หมอให้ยาถ่ายเวลาประมาณ ๕ โมงเย็น
พอฉันยาถ่ายลงไป ถ่ายมาก ถ่ายตลอดทั้งคืนถึงเวลารุ่งหมดกำลัง พอสว่างก็ยังถ่าย สังเกตเห็นถ่ายมีเลือดปนเป็นฟองสีจางๆ ถ่ายเป็นเลือดออกมาด้วย ชาวบ้านพากันตกใจวาจะไม่รอด ได้ตามหาหมอกันอีก ได้ทราบว่ามีหมออพยพต่างถิ่นคนหนึ่ง ไม่รู้ว่าย้ายมาจากไหน มาอยู่บ้านโป่งได้ไม่นาน จึงไปนำหมออพยพต่างถิ่นมายังกุฏิที่พักของท่าน
หมอใช้ยารากไม้ ต้องฝนไว้หลายๆ ถ้วย ใส่ขันบ้าง ใส่ถ้วยบ้าง ปกติขณะป่วยหนัก กินน้ำไม่ได้ กินไม่แซบไม่อร่อย เมื่อได้ฉันยาของเขาเป็นเหมือนกับธรรมดา เหมือนกับกระหายน้ำมาจากป่าจากดง มีรสดี เย็นดี ตอนแรกเขาก็ไม่ให้ฉันมาก ท่านได้ขอเขาฉันอีก เขาเอาขันอื่นมาให้ ฉันไม่ได้ มีกลิ่นคาวๆ พอฉันยาขันนั้นดูเหมือนหอม รสดี
หมอบอกว่าถูกยาแก้แล้ว ได้ขอน้ำอีก พอตื่นเช้าค่อยรู้สึกเบาตัว จิตใจปกติ แต่อ่อนเพลีย ลุกไม่ได้ ญาติโยมผู้เฒ่าผู้แก่จากขอนแก่นพากันไปเยี่ยม ต่างพากันน้ำตาตก เห็นร่างกายท่านซูบผอมมาก แต่ระยะที่ไปเยี่ยมนั้นมีอาการทุเลาลงบ้างแล้ว เรียกว่าถูกยาเขาแล้ว อาการหายไปบ้างแล้ว แต่พูดไม่ออก…ญาติโยมชาวบ้านกุดดุกได้อุปถัมภ์ค้ำชูดูแลอาหารของท่าน ตลอดจนอาหารการฉันดีมาก จนมีกำลังแข็งแรงเป็นปกติ
พอหายไข้ หลวงปู่คำดี กลับคืนถ้ำกวางไปอยู่วัดบ้านหนองบัวน้อย บ้านโยมอุปัฎฐากที่ภูเวียงอีก อาการไข้กลับเป็นซ้ำเรื้อรังอีก บางครั้งก็เป็นไข้เรียงวัน (ทุกวัน) บางครั้งก็บาวัน (เว้นวัน) ถึงเวลาไข้ มันก็ไข้ แต่ก็ฉันอาหารได้บ้างแล้ว มีกำลังพอสมควร
ในขณะอยู่ถ้ำกวาง บ้านหินร่อง กลางฤดูแล้ง ปี พ ศ. ๒๔๘๔ คิดอยากจะไปวิเวกที่ภูเก้า ขณะนั้นไข้ยังไม่หายดี ก่อนไปคิดเสียสละตัดสินใจไป หากจะเป็นอย่างไรก็ยอมเป็น จะหายก็หาย จะตายก็ตาย ตัดสินใจอย่างนั้น ก็เล่าให้ลูกศิษย์ซึ่งเป็นไข้เหมือนกันฟัง
“ผมจะไปภูเก้า ท่านจะไปด้วยไหม ถ้าผมไป ผมยอมสละชีพได้นะ จะหายก็หาย จะตายก็ตาย หากถึงภูเขาและถ้ำแล้ว ถ้าลงบิณฑบาตไม่ได้ผมก็ไม่ลง หากชาวบ้านเขาไม่เอาอาหารมาส่งผมก็ไม่ฉัน”
เมื่อโสสุด (ตั้งใจแน่นอน) อย่างนี้ก็ตกลงไปด้วยกัน การเดินทางจากถ้ำกวางไปภูเก้ายากลำบากมาก เพราะยังเป็นไข้ด้วยกันทั้ง ๒ องค์ ถ้าท่านเป็นไข้ก่อน ลูกศิษย์ก็ปูผ้าอาบให้ท่านนอนพักเลยก่อน เมื่อหายไซ้ก็ออกเดินทางต่อไป เดินไปได้ไม่ไกลลูกศิษย์ก็จับไข้บ้าง ต้องนอนพักผ่อนอีก ช่วยเหลือกันไปตามกำลัง
จะด้วยอำนาจการสละชีพเพื่อศาสนา หรือด้วยกุศลผลบุญของท่าน พอท่านเดินทางไปถึงหมู่บ้านเชิงภูเขาชื่อบ้านหนองกุง ปรากฏว่าอาการไข้ของท่านหายเป็นปลิดทิ้ง ตื่นเช้ามันเคยไข้ก็ไม่ไข้ สามารถเดินขึ้นภูเขาได้ เที่ยวบิณฑบาตทางไกลระยะทางร้อยกว่าเส้นได้อย่างน่าอัศจรรย์
หลวงปู่คำดี ได้มาพักวิเวกที่ถ้ำหามต่าง ภูเก้า อำเภอโนนสังข์ จังหวัดอุดรธานี เป็นเวลา ๓ เดือนท่านได้รับประสบการณ์ในการบำเพ็ญภาวนาอย่างมาก เมื่อจวนจะเข้าพรรษา หลวงปู่และลูกศิษย์ก็กลับมาจำพรรษาที่ถ้ำกวาง และตั้งแต่ท่านหายไข้เมื่อครั้งนั้นแล้ว ก็ไม่เคยเป็นไข้อีกเลยตลอดจนลูกศิษย์ของท่านก็ไม่เป็น นับว่าอัศจรรย์
หลวงปู่คำดี ปภาโส ได้อยู่จำพรรษาทำความเพียรภาวนาด้วยความเจริญก้าวหน้าจนกระทั่งครบ ๕ พรรษาตามที่ท่านได้อธิษฐานจิตไว้ก่อนเดินทางธุดงค์ไปที่อื่นอีกต่อไป
๓๒. ติดตามหลวงปู่คำดี
หลวงปู่คำดี ปภาโส เป็นพระคณาจารย์ศิษย์ผู้ใหญ่ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่มีปฏิปทาข้อวัตรงดงามอีกองค์หนึ่งหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ มีความเคารพและศรัทธาในหลวงปู่คำดีมาก ท่านหมั่นไปมาหาสู่เสมอๆ
ที่ถ้ำกวาง หลวงปู่บัว ได้พำนักอาศัยอยู่เป็นเวลานาน ได้รับอรรถธรรมจากหลวงปู่คำดี เป็นอย่างมากทีเดียว
ออกจากถ้ำกวาง หลวงปู่คำดีพาหลวงปู่บัวไปอยู่ถ้ำภูเวียง สถานที่แห่งนั้นหลวงปู่บัวพึงพอใจมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นที่สงบจากผู้คน ภาวนายกจิตใจขึ้นสู่ความสงบได้รวดเร็ว ไม่ว่าเดินจงกรมหรือบำเพ็ญเพียรในอิริยาบถใด หลวงปู่คำดีจะเป็นผู้ดูแลให้เป็นอย่างดียิ่ง
ต่อมาหลวงปู่คำดี ได้พาหลวงปู่บัว ออกธุดงค์มายังจังหวัดขอนแก่น ไปพักจำพรรษาที่วัดป่าชัยวัน อำเภอเมือง ๑ พรรษา เมื่อออกพรรษาปีนั้นได้ออกธุดงค์ไปทางภูพานคำ อำเภอหนองเรือ ไปพักที่สถานที่ชื่อคำหวายยาง ภูพานคำ เห็นเป็นที่สงบร่มรื่น เหมาะเป็นที่วิเวก สัปปายะดีมาก เหมาะกับการปฏิบัติภาวนาท่านจึงพักอยู่ที่นั่นหลายพรรษา
ต่อมาหลวงปู่คำดีเกิดอาพาธ หลวงปู่บัว จึงพาท่านกลับลงมาจำพรรษาที่บ้านเหล่าบูด (ต่อมาเรียกว่า บ้านเหล่าสมบูรณ์) เพื่อรักษาหลวงปู่คำดี จนท่านหายอาพาธ
๓๓. พระอาจารย์หลวงตามหาบัว วัดป่าบ้านตาด
ในช่วงพรรษาแต่ละปี หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ มักจะเดินทางไปนมัสการฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ฝ่ายกรรมฐานที่ท่าน เคารพนับถือ ได้แก่ หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดหนองบัวลำภู (แต่เดิมอยู่ในจังหวัดอุดรธานี) หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร หลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี และหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
พระเถระที่กล่าวนามมานี้ หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ มีความเคารพในคุณธรรมของแต่ละองค์อย่างมาก เพราะได้ประจักษ์ในข้อวัตรปฏิบัติของท่านมาแล้วเป็นอย่างดี
สำหรับท่านหลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน นั้น หลวงปู่บัวได้ติดตามไปอยู่ถ้ำและที่บ้านห้วยทรายอยู่ระยะหนึ่ง ท่านหลวงตาพระมหาบัว ได้อบรมธรรมแก่หลวงปู่บัวอย่างถึงแก่นถึงโคนทีเดียว ธรรมะของหลวงตาฯ ได้ “เข้าจิตใจอย่างกับสายน้ำทีเดียว” หลวงปู่บัวท่านว่าอย่างนั้น
การเทศนาแต่ละครั้ง ท่านหลวงตาฯ ได้ยกเหตุผลด้วยปัจจุบันธรรม การเทศนาของท่านเป็นไปในรูปแบบขุดล้างกิเลสมารถึงบึ้งจิตใจ มีความอาจหาญไม่อ้อมค้อม ท่านหลวงปู่บัวชอบใจเป็นนักหนา
ตอนที่หลวงปู่บัว มาพำนักประจำที่วัดป่าบ้านหนองแซง ท่านจะพาพระลูกวัดและญาติโยมไปฟังธรรมกับท่านหลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นประจำทุกวันพระเลยทีเดียว
๓๔. อธิษฐานจิตภาวนาแบบสละชีวิต
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ได้ออกธุดงค์เพียงลำพังอยู่บ่อยๆ โคจรไปในถิ่นต่างๆ ในภาคอิสาน การเดินธุดงค์ของท่านปฏิบัติตามที่หลวงปู่มั่น และครูบาอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานได้เคยอบรมมาทุกประการ ผ่านป่าเขาลำเนาไพร เมื่อพบสถานที่อันเป็นสัปปายะ หลวงปู่จะพักและปฏิบัติภาวนาอยู่หลายวัน เมื่อเริ่มคุ้นเคยและเริ่มจะติดสถานที่ ท่านก็จะออกเดินทางต่อไป เพื่อไม่ให้ติดสุขในที่นั้นๆ
หลวงปู่บัว เดินธุดงค์ไปพบสถานที่ชื่อว่า ถ้ำจันทร์ อยู่ในเขตอำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย หลวงปู่ได้เข้าไปพำนักภาวนาที่ถ้ำแห่งนั้น ท่านได้อธิษฐานจิตพิจารณาตัดกิเลสอาสวะขั้นอุกฤษฏ์ให้ได้ในครั้งนั้น
ท่านได้ตั้งสัจจะอธิษฐาน ทำใจให้แน่วแน่ลงไปโดยอ้างการกระทำดีทั้งปวงมาเป็นสักขีพยาน เอาศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเครื่องรองรับจิตใจ ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า“ถ้าแม้ข้าพเจ้าไม่ได้ธรรมะ อันเป็นสิ่งเดียว ที่สามารถจะพาจิตใจพ้นไปเสียจากกิเลส ตัณหา อุปาทานได้แล้ว ข้าพเจ้าจะไม่ลุกจากที่แม้ชีวิตจะดับสลายไป”
แล้วท่านก็ลงมือนั่งสมาธิภาวนา กำหนดจิตใจให้แน่วแน่ลงไปอย่างชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน จนกระทั่งชาวบ้านเกิดความสงสัยว่า ทำไมหลวงปู่ไม่ลงมารับบาตรเลย อยู่แต่ในถ้ำตลอดเวลา หรือว่ามีใครส่งข้าวส่งน้ำให้
หลวงปู่นั่งภาวนาโดยไม่ขยับเขยื้อนจนเวลาล่วงเลยไปได้ ๑๐ วัน ชาวบ้านคิดว่าท่านได้มรณภาพในถ้ำเสียแล้วเพราะท่านไม่ได้ฉันข้าวฉันน้ำเลย
ข่าวลือการมรณภาพของหลวงปู่บัว ได้ขยายวงออกไปจนถึงจังหวัดอุดรธานี และทราบไปถึงท่านหลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน แห่งสำนักวัดป่าบ้านตาด
๓๕. ต้องส่งพระไปนิมนต์กลับ
เมื่อข่าวลือว่าหลวงปู่บัวปฏิบัติธรรมจนมรณภาพที่ถ้ำจันทร์ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย แพร่สะพัดออกไป ท่านหลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน มีความมั่นใจว่าหลวงปู่ไม่เป็นอะไร แต่ถ้าปล่อยให้ท่านอยู่ต่อไปคงต้องมรณภาพอย่างแน่นอน
ท่านหลวงตาพระมหาบัวได้ใช้ให้พระลูกวัดชื่อพระบัว กับโยมชาวบ้านชื่อพรหม ไปนิมนต์หลวงปู่บัวให้ออกจากการภาวนาและเดินทางกลับวัด โดยเขียนหนังสือกำกับไปว่า
“ถ้ามรณภาพแล้วให้เอาลงมา ถ้ายังไม่มรณภาพก็ให้ลงมา ใครจะขัดขวางไม่ได้”
หลังจากได้รับคำสั่งแล้ว พระบัว กับโยมพรหมได้ทำเปลไม้ไผ่ขึ้น แล้วออกเดินทาง ปีนั้นเป็น พ.ศ. ๒๔๙๘
เมื่อพระบัว และโยมพรหม ไปถึงถ้ำจันทร์ได้พบว่าหลวงปู่บัว“นั่งนิ่งเลย ข้าวน้ำไม่ได้ฉันมา ๑๑ วัน ๑๑ คืน” หลวงปู่นั่งนิ่งเฉยอยู่อย่างนั้น ไม่รู้สึกอาลัยในสังขารร่างกายเลยแม้แต่น้อย แม้กำลังวังชาจะไม่มี ป่วยก็ป่วย นั่นเป็นเรื่องของสังขาร ส่วนจิตใจนั้นท่านรู้สึกปีติอยู่ในธรรม อิ่มเอิบสว่างไสวตลอดทุกขณะจิตทีเดียว
พระบัวเข้ากราบเรียนหลวงปู่บัวว่า “บัดนี้ท่านพระอาจารย์มmบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด ใช้ให้กระผมมานิมนต์หลวงปู่กลับบ้านหนองแซงครับกระผม”
ท่านหลวงปู่บัว ตอบว่า “เออ…ออกก็ออก”
พระได้นิมนต์ท่านลงเปลไม้ไผ่ หามออกมาใส่เรือ ล่องน้ำมาขึ้นฝั่งที่ท่าอำเภอโพนพิสัย แล้วขึ้นรถผ่านตัวจังหวัดหนองคาย มุ่งสู่วัดป่าบ้านหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
นี่เป็นตัวอย่างความมานะอดทนปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจังของครูบา อาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ท่านยอมตายถวายชีวิตเพื่อให้ได้ธรรมตามแนวทางของพระพุทธองค์ แล้วนำมาอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาได้อย่างมั่นใจ เป็นธรรมที่ท่านแจกมาด้วยชีวิต รู้ธรรมจากการทดลองด้วยตัวเองจนเห็นประจักษ์ ไม่เพียงแต่การจดจำจากตำราหรือจากคำบอกเล่าเท่านั้น
นับเป็นคุณานุปการแก่ลูกศิษย์ลูกหาเป็นอย่างยิ่ง พวกเราทั้งหลายควรได้ระลึกถึงพระคุณของพระอริยเจ้าผู้ปฏิบัติดีรอดตายกลับมา สอนพวกเรา เราควรแสดงความกตัญญูรู้คุณด้วยการปฏิบัติอย่างจริงจังตามควรแก่อัตภาพของ แต่ละคน
๓๖. การปฏิบัติธรรมต้องอาจหาญ
หลักยึดมั่นของนักปฏิบัติภาวนา ได้แก่
“บุรุษอาชาไนย จะอ่อนแอไม่ได้ ถ้าอ่อนแอ ข้าศึก (กิเลส) จะได้ใจ เข้าโจมตีผู้อ่อนแอย่อยยับ เมื่อรู้ตนว่าเข้าสู่สนามรบแล้ว จะต้องเข้มแข็ง อาจหาญดุจพญาราชสีห์ฉะนั้น”
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ เป็นพระกรรมฐานที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบปฏิบัติตรง ไม่ยอมท้อถอยให้แก่กิเลสมารแต่ประการใด ท่านสละชีวิตเพื่อธรรมอย่างแท้จริง หลังจากที่ท่านมาอยู่ประจำที่วัดป่าบ้านหนองแซงแล้ว ท่านก็ยังประกอบความเพียรโดยสม่ำเสมอต่อไป ไม่หยุดยั้งว่างเว้นเลย
ในระหว่างพรรษา หลวงปู่ออกโปรดญาติโยม สอนการปฏิบัติภาวนา พร้อมทั้งแสดงธรรมอบรมสั่งสอนให้เหมาะสมกับจริตและความสนใจของบุคคลกลุ่ม ต่างๆ ในขณะเดียวกัน ถ้ามีเวลาท่านก็จะเดินทางไปรับข้อธรรมเพิ่มเติมจากครูบาอาจารย์ที่ท่านเคารพ นับถือในจังหวัดใกล้เคียงอยู่เป็นประจำ
ส่วนธรรมที่หลวงปู่ได้ประจักษ์ในจิตใจ ท่านก็ขยายความไปสู่หลวงปู่หลวงพ่อที่เป็นพระสหธรรมิกของท่านมีการไปมาหาสู่ แลกเปลี่ยนอรรถธรรม และอุบายการปฏิบัติภาวนาซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอแม้ท่านผู้ใดมีข้อสงสัย ติดขัด ก็ให้ข้อแนะนำกันด้วยอัธยาศัยไมตรี นับเป็นแนวทางที่ดีที่คพูาอาจารย์ท่านพาดำเนิน
๓๗. ภาวนาที่ถ้ำภูค้อบนเทือกเขาภูพาน
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ เคยออกเดินธุดงค์ภาวนาที่ถ้ำภูค้อ บนเทือกเขาภูพาน ได้นำพระสงฆ์ในวัดหลายองค์รวมทั้งหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม พระบุตรชายของท่านร่วมเดินทางในครั้งนั้นด้วย
หลวงปู่เพ็ง ได้เล่าประสบการณ์การออกธุดงค์ในครั้งนั้นให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังว่า
“เป็นความประสงค์ของหลวงปู่ของท่าน เพราะท่านเคยไปอยู่เจริญภาวนาที่นั่นมาก่อน เป็นที่สงบวิเวกเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร หลวงปู่ไปได้ธรรมจากที่นี่มากนะ ท่านสามารถพิจารณาตัดโลกธรรม ๘ ได้อย่างเด็ดขาด
บนเทือกเขาภูพานนี้ คนโบราณเขาเคยอยู่กันมาก่อน บางแห่งมีสิ่งของล้ำค่ามากมาย จำพวกเพชรนิลจินดานี่มีมาก พระพุทธรูปูทองคำต่างๆ ก็มีไม่น้อย อยู่ในถ้ำบ้าง ถูกฝังกลางดินบ้าง กาลเวลาผ่านพ้นไป น้ำได้เซาะเป็นทางน้ำเล็กๆ สมบัติเหล่านั้นถูกพัดพาเกลื่อนกลาดไป
เรื่องนี้แหละ หลวงปู่ จึงพาไปทดสอบและสอนเรื่องปัจจัยเครื่องต่อแก่ลูกศิษย์ลูกหา ท่านบอกว่านี่แหละ ถ้าบุคคลเอาจิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในโลกธรรมแล้วก็จะหมุนไปตามโลกอย่างไม่ หยุดยั้ง
ถ้าบุคคลใดพิจารณาเห็นโทษของมัน ก็จะเบื่อหน่าย จะถอนเอาจิตของตนมาตั้งอยู่ในความสงบ โลกธรรมทั้ง ๘ ก็จะทำอะไรเราไม่ได้ เพราะจิตเราอยู่เหนือโลก เหนือพวกนี้ทั้งหมด…”
หลวงปู่บัว ท่านสอนศิษย์ของท่านว่า
“พระที่ยังติดโลกธรรมมีมากนะ เห็นของจำพวกนี้ไม่ได้ ต้องหยิบเก็บเอาไปเป็นของแถม ไม่รู้ว่าเจ้าของเขามีหรือไม่ จงอย่าเอาเยี่ยงอย่าง
ถ้ารักการปฏิบัติ รักตัว ต้องทำตัวให้บริสุทธิ์ ทำใจให้สะอาดเท่านี้เป็นพอ”
ต่อจากนั้นหลวงปู่บัว ก็พาศิษย์ไปพักภาวนาบนถ้ำภูค้อ แล้วย้อนกลับลงมาเมื่อสิ้นสุดการทดสอบกิเลสภายในได้แล้ว
๓๘. สามเณรเสน ผู้เป็นเจ้าอาวาสต่อจากหลวงปู่
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ เคยได้รับการปรนนิบัติจากสามเณรน้อยรูปหนึ่งชื่อ สามเณรเสน สามเณรน้อยรูปนี้อยู่กับท่านมานาน แล้วได้จากหายไป จนสึกออกไปมีภรรยาและบุตร แม้เณรจะจากท่านไปเป็นเวลานานท่านก็ยังจำได้เป็นอย่างดี
อยู่มาวันหนึ่ง หลวงปู่บัว ได้พูดคุยกับหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม พระลูกชายของท่านว่า
“เอ…เณรน้อยคนนั้น มันไปไหนหนอ มันเป็นไข้มาลาเรีย…เราพยายามรักษามันจนจะหายแล้วไม่พาหนีจากเราไป ไม่รู้ว่าไปอยู่ไหน”
หลังจากหลวงปู่ปรารภถึงสามเณรน้อยของท่านได้เพียง ๒ วันเท่านั้น สามเณรของท่านก็กลับมา แต่มาในฐานะพระภิกษุเสน ปญฺญาธโร บวชได้ ๒ พรรษาแล้ว การปรารภของหลวงปู่ในครั้งนั้นเหมือนท่านได้รู้เหตุการณ์ล่วงหน้า
ต่อมาภายหลัง พระอาจารย์เสน ได้รับมอบภาระให้เป็นเจ้าอาวาส ปกครองวัดป่าบ้านหนองแซง สืบต่อจากหลวงปู่ ได้ทำการพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ จนกระทั่งปัจจุบัน
๓๙. การรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า
เหตุการณ์ที่ควรนำมากล่าวอีกครั้งหนึ่งได้แก่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในภาค อิสาน (ผู้เขียนไม่มีเวลาที่จะสอบทาน ปี พ ศ.ได้ เพราะมีเวลาจำกัดมาก) เหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ชาวบ้านร้านตลาดอย่างมาก ตลอดถึงชาวนาที่ตกกล้าเอาไว้ ต้องสูญเสียพืชผลและทรัพย์สินมากมายในปีนั้น
ก่อนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ชาวบ้านไม่รู้วี่แววอะไรมาก่อนเลย วิทยุของทางการก็มิได้ประกาศเตือนเรื่องน้ำท่วมแต่อย่างใด ช่วงนั้น นายกิมก่าย เศรษฐีใหญ่แห่งจังหวัดหนองคาย ซึ่งครูบาอาจารย์บอกว่า เป็นเศรษฐีชาติที่ ๗ ได้เดินทางมากราบหลวงปู่บัวที่วัดป่าบ้านหนองแซง
ทันทีที่หลวงปู่เห็นหน้าท่านเศรษฐีก็พูดว่า
“ระวังน้ำมันจะท่วมนะ ที่จังหวัดหนองคายนั่น”
ท่านเศรษฐีได้กราบเรียนขอคำแนะนำจากหลวงปู่ว่า
“จะให้กระผมเก็บข้าวของไหมครับ หลวงปู่”
หลวงปู่ ท่านตอบว่า “เออ…รีบเก็บเสียเถิด”
เศรษฐีกิมก่าย รีบกลับจังหวัดหนองคาย สั่งคนงานช่วยกันเก็บข้าวของลงเรือใหญ่ถึงแปดลำ แล้วน้ำก็ท่วมจังหวัดหนองคายจริงๆ ข้าวของของท่านไม่เสียหายเลยแม้แต่นิดเดียว
ตั้งแต่นั้นมา ท่านเศรษฐีกิมก่ายได้เกิดความศรัทธาเชื่อมั่นในหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ เป็นอย่างยิ่ง เชื่อว่าหลวงปู่มีญาณรู้ล่วงหน้าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ได้ ภายหลังจากหลวงปู่มรณภาพแล้ว ท่านเศรษฐีกิมก่ายได้สละทรัพย์สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่ ด้วยความศรัทธาและด้วยกตัญญูที่มีต่อหลวงปู่
ผู้ที่บันทึกและนำเสนอเรื่องราวที่หลวงปู่มีญาณรู้เห็นเหตุการณ์ล่วง หน้า ใน ๒ เหตุการณ์นี้ คือ คุณดำรงค์ ภู่ระย้า นักเขียนธรรมะชื่อดังแห่งนิตยสารโลกทิพย์ ได้กล่าวถึงเหตุผลที่นำมาบอกกล่าวว่า
“เท่าที่ผู้เขียน (คุณดำรงค์) นำเรื่องราวอิทธิฤทธิ์อำนาจของท่านลงไว้สองเรื่องนี้ ก็เพื่อท่านผู้อ่านวางใจในการประพฤติปฏิบัติของท่านตามขั้นตอน และช่วยกันจดจำเหตุการณ์อันจะเป็นบันไดของนักปฏิบัติใหม่ๆ จะได้มีกำลังใจยิ่งขึ้น”
๔๐. ร่วมแผ่บารมีช่วยหลวงปู่ศรี มหาวีโร สร้างวัดป่ากุง
สมัยก่อน เมืองไทยเรายังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ การที่ชาวบ้านและพระสงฆ์องค์เจ้าจะปลูกบ้านเรือนและสร้างวัดวาอารามต่างๆ ก็ต้องเข้าถากถางป่าเตรียมสถานที่เพื่อจะทำการปลูกสร้างสิ่งต่างๆ นั้น
หลวงปู่อ่อนตา จนฺทสโร ได้เล่าถึงการก่อสร้างวัดป่ากุง (วัดประชาคมวนาราม) ในอำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ของหลวงปู่ศรี มหาวีโร ดังนี้
“สมัยนั้น ต้นไม้ในป่านี้ คนธรรมดาๆ ไปทำอะไรมันไม่ได้ มันเอาจริงๆ นะ ถ้าไปแตะไปต้องมันเข้า ปีนั้น ท่านหลวงปู่ศรี มหาวีโร จะสร้างวัดป่ากุง (วัดประชาคมวนาราม) ที่จังหวัดร้อยเอ็ด แล้วที่ตรงนั้นมันก็แรงต้องอาถรรพ์ ใครไปทำอะไรแตะต้องมันไม่ได้
หลวงปู่ศรี มหาวีโร คิดว่าต้องนิมนต์พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน และหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ มาช่วยกันนั่งแผ่เมตตา รวมเป็นสามแรงก็จะดี
หลวงปู่ศรี เลยไปรับอาจารย์มหาบัว และหลวงปู่บัว ที่จังหวัดอุดรฯ มาจังหวัดร้อยเอ็ด มาแผ่เมตตาจิต และทำการวางฤกษ์ปลูกสร้างวัดป่ากุง (วัดประชาคมวนาราม)”
วัดป่ากุง ได้รับการพัฒนาตั้งแต่นั้นมา ด้วยบารมีและความสามารถของหลวงปู่ศรี วัดป่ากุงได้มีความเจริญเป็นอย่างมาก เป็นวัดปฏิบัติที่มีชื่อเสียงขจรขจาย ได้ขยายเป็นวัดสาขาออกไปยังจังหวัดต่างๆ มากกว่าร้อยสาขา และได้สร้างพระมหาเจดีย์ ที่วัดผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด ที่มีมูลค่าเป็นพันล้าน สร้างด้วยพลังศรัทธาของประชาชน เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สาธุชนควรหาโอกาสไปนมัสการเพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิต ปัจจุบันได้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติไปนมัสการ และเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสาย
๔๑. การถือสัจจวาจา
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ นอกจากท่านยึดมั่นต่อศีลต่อพระธรรมวินัยแล้ว ท่านมีความพึงพอใจต่อการรักษาสัจจะ และนับเป็นยอดปรารถนาของท่าน หากศิษย์คนใดมีจิตใจแน่วแน่ที่จะรักษาสัจจวาจาแล้วจะเป็นที่นิยมและชอบใจของ หลวงปู่ยิ่งนัก
หลวงปู่บัว ต้องการให้มนุษย์ทุกคนได้มีสัจจะประจำจิตใจในการปฏิบัติธรรม การมีสัจจะช่วยให้เกิดสมาธิได้ดี และเมื่อต้องการทำความดี ก็จะสามารถละโลภ โกรธ หลง ได้อย่างสิ้นเชิงทีเดียว
มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า มีอุบาสิกาท่านหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ เดินทางไปกราบหลวงปู่ และได้สนทนาธรรมกับหลวงปู่นานพอสมควรก่อนลากลับ ได้ขออนุญาตถ่ายรูปหลวงปู่ไว้เป็นที่ระลึก
อุบาสิกาท่านนั้นพูดว่า “ถ้าหลวงปู่ยิ้มสักนิดหนึ่ง ดิฉันจะขอตั้งสัจจะไม่ยอมแต่งงานเลยทีเดียวเจ้าค่ะ”
หลวงปู่ได้แย้มยิ้ม ยินดีให้ถ่ายรูปได้ ซึ่งโดยปกติหลวงปู่ท่านไม่ค่อยยิ้มอยู่แล้วเป็นนิสัย เมื่อท่านยิ้มก็หมายความว่า “ขอให้รักษาสัจจะที่พูดไว้ให้ดีก็แล้วกัน อย่าลืมสัจจะของตัวเอง”
จากข้อเขียนของคุณดำรงค์ ภู่ระย้า ยืนยันว่า อุบาสิกาท่านนั้นได้รักษาสัจจะที่ให้ไว้กับหลวงปู่ เป็นอย่างดี น่านิยมเป็นอย่างยิ่ง ถ้าคนเรารักษาสัจจะเช่นอุบาสิกาท่านนั้นสังคมมนุษย์คงจะมีความสุขสงบอย่าง แท้จริง สาธุ !
๔๒. ธรรมะของหลวงปู่
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ได้เริ่มต้นชีวิตในเพศบรรพชิต เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เมื่อท่านมีอายุได้ ๕๓ ปี แม้ท่านจะบวชเมื่ออายุมากแล้วก็ตาม ถือว่าไม่เป็นการสายในการปฏิบัติธรรม
ประวัติและธรรมะของท่านน่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ขาดการรวบรวมเก็บบันทึกไว้ (หรืออาจจะมีก็ได้ แต่ผู้เขียนไม่มีโอกาสเสาะหา ด้วยมีเวลาจำกัดต้องเขียนให้ทันแจกในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ในวันเสาร์ที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๕)
จากข้อมูลในหนังสือ ๘๐ พระกรรมฐาน ของนิตยสารโลกทิพย์ ได้กล่าวถึงการปฏิบัติธรรมของหลวงปู่บัว ว่า
“เป็นการปฏิบัติภาวนาขั้นอุกฤษฏ์ทั้งสิ้น เช่น อดอาหาร ๑๐ วัน ๒๐ วัน ไม่นอนหลายๆ คืน เดินจงกรมทั้งวัน นั่งสมาธิทั้งวันทั้งคืน ยืนพิจารณาอยู่กับที่โดยไม่กระดุกกระดิกตัวเลยเป็นครึ่งๆ วันก็มี…ด้วยเหตุนี้หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณจึงต้องถูกหามกลับลงมาจากเขาก็หลายครั้งหลายหน
ความที่หลวงปู่บัว ท่านมีจิตใจอาจหาญเด็ดเดี่ยว ไม่ยอมแพ้ต่อกิเลสมาร ที่จะเข้ามารบเร้าจิตใจของท่านให้อ่อนไหวไปตามกระแสอารมณ์ ท่านได้ต่อสู้จนถึงเส้นชัย…”
หลวงปู่บัวได้ประกอบคุณงามความดีด้วยการแสดงธรรมอบรมบ่มนิสัยให้แก่ญาติ โยมในถิ่นใกล้ไกลอยู่เป็นนิจ ธรรมะที่ท่านมอบให้ปฏิบัตินั้น ท่านจะย้ำอยู่เสมอ
“ให้พยายามรักษาสติให้ได้ เพราะสตินี้จะเป็นฐานสู่ความสงบของจิต จนเข้าสู่กระแสปัญหาได้โดยง่าย”
เมื่อสติครบถ้วนมีกำลังแล้ว ท่านให้นักภาวนาเปลี่ยนมาดูกาย พิจารณากายอันเป็นที่ตั้งของธาตุสี่ ขันธ์ห้า อายตนะอินทรีย์ทั้งหลาย นักปฏิบัติธรรมไม่ต้องไปหาไกลอื่นธรรมะมีอยู่ในตัวทั่วพร้อมแล้ว “ขอให้พิจารณาตัวเราให้มันเห็นตามความเป็นจริงก็แล้วกัน”
เมตตาบารมีธรรมของหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ยังตราตรึงใจแก่ผู้ที่เคยได้กราบไหว้ และได้รู้เรื่องราวของท่านอย่างไม่มีวันจางหายไปจากหัวใจได้เลย
๔๓. วาระสุดท้ายของชีวิต
ในวัย ๘๐ ปี สภาพสังขารของหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ได้ทรุดโทรมโดยลำดับ เป็นไปตามธรรมชาติ ความชรามรณะคืบคลานเข้ามาทุกลมหายใจ เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ คือทุกอย่างตกอยู่ในกฎของความเป็นจริง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามคำสอนของพระพุทธองค์
ในช่วงท้ายของชีวิต แม้โรคาพยาธิจะเข้ามาย่ำยี หลวงปู่บัวไม่เคยแสดงความอ่อนแอให้เห็น ท่านเตือนลูกศิษย์ใกล้ชิดให้ดูความเปลี่ยนแปลงในสังขารร่างกายของท่านเป็น อุทาหรณ์สอนใจ ให้รีบเร่งทำความเพียร อย่าได้ประมาท เพราะทุกอย่างต้องเสื่อมโทรมไปตามกาลอย่าได้รอช้าในการปฏิบัติ
อาการเจ็บป่วยของหลวงปู่ เพิ่มทวีขึ้นโดยลำดับ ท่านนายแพทย์อวย เกตุลงห์ แห่งโรงพยาบาลศิริราชได้ถวายการรักษาหลวงปู่ด้วยความเอาใจใส่อย่างดียิ่ง แต่อาการป่วยไข้ของท่านมิได้ทุเลาลงเลย
หลวงปู่ได้พูดถึงคุณความดีของท่านนายแพทย์อวยให้ลูกศิษย์ใกล้ชิดได้ยินกันว่า
“หมออวยท่านนี้ มีน้ำใจเป็นบุญเป็นกุศล เป็นคนที่ประเสริฐยิ่งนัก แต่อาตมารู้ว่ารักษาอย่างไรมันก็ไม่หาย โรคของอาตมานี่นะ”
หลวงปู่ ท่านปฏิเสธการรักษาไม่ว่าด้วยการฉันยา ฉีดยาหรือด้วยวิธีการใดๆ ทั้งสิ้น ท่านกำหนดวันมรณภาพของท่านในเวลา ๓ เดือน ท่านกำหนดจิตเข้าสู่สมาธิภาวนาตลอดเวลา ท่านมักถามลูกศิษย์ที่เฝ้าปรนนิบัติอยู่เสมอว่า “ถึง ๓ เดือนแล้วหรือยัง” สติของท่านดีเป็นปกติ ไม่เลอะเลือน มั่นคงตลอดเวลา
ทั้งพระและฆราวาสเข้าเยี่ยมอาการท่านตลอดเวลาท่านเคยดุผู้ที่ร้องไห้เสียใจว่า
“นี่แหละจงพิจารณาซิ อย่าเอาแต่โศกาอาดูร มันไม่เกิดประโยชน์อะไร พิจารณาความตายเสียบัดนี้ ว่าเกิดมาแล้วต้องตายทุกคนแต่ก่อนตายจากไป เราต้องทำความดีไว้ให้มากๆ”
๔๔. หลวงปู่ละสังขาร
ก่อนวันที่หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ จะมรณภาพ ท่านหลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้เดินทางไปเยี่ยม ท่านหลวงตาฯ พูดว่า “เอาล่ะ ทีนี้ไม่มาแล้วนะ จะมาก็โน่นแหละ ถึงวันนั้นแหละจึงจะมา” แล้วท่านหลวงตาฯ ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไป
เมื่อครบ ๓ เดือนตามที่หลวงปู่กำหนด ท่านก็ได้ละทิ้งสังขาร จากลูกศิษย์ลูกหาไปอย่างไม่มีวันกลับ เหลือไว้แต่คุณธรรมความดี และความเด็ดเดี่ยวของท่านให้ลูกศิษย์ได้ระลึกถึง และจดจำเป็นตัวอย่างไว้สอนใจตนเอง
ลูกศิษย์ลูกหาได้ปรึกษากันในการจัดการศพของหลวงปู่ ลงความเห็นกันว่าควรรอให้ผ่านหลวงตาพระมหาบัวท่านมาตัดสิน หลวงตาพระมหาบัว ได้เดินทางกลับจากรุงเทพฯ เพื่อมาดำเนินงานศพของหลวงปู่บัว ตามที่ได้พูดไว้ว่า “ถึงวันนั้นแหละจึงจะมา”
คณะศิษย์ได้จัดสถานที่เผาศพหลวงปู่บริเวณต้นหมากเลื่อม ไม่ห่างจากกุฏิหลวงปู่นัก ต่อมาภายหลังได้ก่อสร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุ รูปเหมือน พร้อมทั้งบริขารของท่านไว้ที่บริเวณวัดป่าหนองแซง ไว้ให้ลูกศิษย์ลูกหาได้กราบไหว้บูชา ได้ระลึกถึงความดีของหลวงปู่ตลอดกาล
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ได้ละสังขารในปี พ.ศ. ๒๕๑๘
หลวงพ่อบัวเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่นองค์หนึ่ง มีอายุพรรษาน้อยกว่าหลวงตา สถานที่ของการสนทนาธรรมในครั้งนี้ คือบ้านชุมพล ในปีนั้นหลวงปู่ขาว อนาลโย ได้พักจำพรรษาอยู่บ้านนี้ด้วย การแก้ปัญหาธรรมในครั้งนี้ ทำให้หลวงพ่อบัวเคารพนับถือ และซึ้งใจในคำแนะนำของหลวงตาเป็นอย่างสูง
เหตุที่ท่านทั้งสองจะได้พบกันนั้นมีเหตุมาจากฆราวาสท่านหนึ่ง มานิมนต์หลวงตาไปบ้านชุมพล (อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร) หลวงตาท่านถามทันทีว่า
"ไปนิมนต์หลวงพ่อบัวหรือเปล่าล่ะ?"
แกตอบว่า "นิมนต์ครับกระผม"
หลวงตาท่านว่า "ถ้าหลวงพ่อบัวไป เราจะไป เรายังมีอะไรๆ ยิบๆ ยิบๆ อยู่กับหลวงพ่อบัว พูดอะไรมันมีอะไรอยู่ ข้องๆ ใจ เอานิมนต์ให้ได้นะบอกด้วยว่าเราก็จะไปนะ"
จากนั้นฆราวาสคนเดิมนี้ ก็ไปนิมนต์หลวงพ่อบัวถึงที่วัดของท่านเหมือนกันหลวงพ่อบัวก็ถามเหมือนกันว่า "ได้นิมนต์อาจารย์มหาหรือเปล่า?"
แกตอบว่า "ผมนิมนต์ท่านมานี้แล้ว ท่านก็ถามถึงเหมือนกันว่า หลวงพ่อบัวจะไปหรือเปล่า?"
หลวงพ่อบัวกล่าวขึ้นทันทีว่า
"โอ๋ย ถ้าท่านอาจารย์มหาไป เราไป ไป ไป ไป" ว่าแล้วท่านก็ไป
หลวงพ่อบัวท่านเป็นคนสั่งจัดกุฏิเองเลยทีเดียว โดยท่านพักอยู่หลังหนึ่งและให้หลวงตาพักอีกหลังหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับรั้วและอยู่ใกล้ๆ กัน เพราะศาลาอยู่ลึกๆ ตรงกลางวัด กุฏิในวัดที่ติดเขตรั้วก็มีเพียงกุฏิ ๒ หลังนี้เท่านั้น
เมื่อครูบาอาจารย์ทั้งสองท่านเสร็จธุระส่วนตัวแล้ว หลวงตาจึงเริ่มซักไซ้ไล่เลียงหาเหตุผลเพื่อแก้ปัญหาข้อขัดข้องภายในของหลวงพ่อบัวดังนี้
หลวงตาเริ่มพูดก่อนว่า "ผมมามุ่งหลวงพ่อนะนี่ ผมไม่ได้มางานใดๆ นะ"
หลวงพ่อบัวตอบว่า "ผมก็มามุ่งครูจารย์เหมือนกันแล้ว" หลวงตาว่า "เอ้า เล่าเป็นยังไง? เอ้า เล่ามาตั้งแต่เริ่มปฏิบัติทีแรกจนกระทั่งปัจจุบันอย่าปิดบัง เล่ามาโดยลำดับ เอ้า ผมจะฟังให้ตลอดวันนี้ ผมไม่ได้สนิทใจนักกับหลวงพ่อนะ ผมพูดตรงๆ นะ"
จากนั้นหลวงพ่อบัวท่านก็เล่ามาโดยลำดับๆๆ จนถึงจุดปัจจุบัน พอถึงจุดนี้ หลวงตาบอกทันทีว่า
ท่านถามอีกว่า "แล้วความเข้าใจว่ายังไงละ? เอ้า ว่าซี"
"เข้าใจว่าสิ้นแล้ว" ท่านถามต่อว่า
"แล้วเป็นอย่างนี้มานานเท่าไรแล้ว?"
"เป็นมาได้ ๑๐ กว่าปีแล้ว"
จากนั้น หลวงตาท่านก็เริ่มอธิบายในจุดที่ละเอียดให้ฟัง
"เอ้า ทีนี้ให้พิจารณาอย่างนั้นๆ นั้น นะ เอาเลย ต่อจากนั้นให้เลยจับให้ดีนะ... อธิบายให้ฟังเต็มที่ แล้ววันนี้ไม่ต้องไปสวดมนต์ ไม่ต้องไปในงานนู้น ให้ภาวนา เอาให้มันได้วันนี้ รู้วันนี้ละ มันเข้าวงแคบแล้วนี่นา"
พอพูดกันจนเรียบร้อยแล้วท่านกล่าวต่อว่า "ไป ลงไป เริ่มภาวนาตั้งแต่บัดนี้ ไปนะ ทำยังงั้นล่ะ"
การอธิบายกันในคราวนั้นใช้เวลานานพอสมควร เมื่อจบการอธิบาย จากนั้นหลวงพ่อบัวท่านก็กลับกุฏิไปภาวนา ส่วนหลวงตาไปสวดมนต์ที่ศาลา เมื่อถึงตอนเช้า ขณะที่หลวงตากำลังนั่งภาวนาอยู่ ยังไม่ทันออกจากที่ภาวนาเลย ก็มีเสียงกุ๊บกั๊บๆ ดังขึ้นในเวลาใกล้สว่างของวันใหม่ หลวงตาถามขึ้นทันทีว่า
"ใครนี่?" ตอบ "ผมครับ" ถาม "หลวงพ่อบัวเหรอ?" ตอบ "ใช่ครับ" หลวงตาบอก "เออ ขึ้นมาๆ"
จากนั้นหลวงพ่อบัวท่านก็เล่าถึงการภาวนาในคืนนั้นให้ฟังว่า
"จับอุบายท่านอาจารย์ เข้าปุ๊บเลย... เพราะแต่ก่อนมันไม่รู้เนี่ยได้แต่เฝ้ากันอยู่นั้นเสีย แสดงว่าสำเร็จเสร็จสิ้นก็อยู่งั้นเสีย พอมาถึงที่นั่นแล้วก็เอาอุบายท่านอาจารย์เข้าใส่ ปุ๊บๆ โหไม่นานเลย ปรากฏเหมือนกัน...คานกุฏิขาดยุบลงทันทีเหมือนกับว่าก้นกระแทกดิน แต่ไม่เจ็บ เหมือนกับคานกุฏิขาดลงตูมลงพื้นเลย
ฮึบ ทีเดียวเลย แต่จิตมันก็ไม่กังวลนะ เพราะมันไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไรนี่ ในขณะนั้น พอพึบลงไปนั่น ทีเดียวเท่านั้น นิ่ง...พอมันหายจากขณะนั้นแล้ว จิตก็รู้ตัว ออกมาข้างนอก มาก็มารู้ว่า
'ฮื๊อ ว่าคานกุฏิ ถ้าขาดแล้วมันก็ลงกันทั้งพื้นนี้ ลงไปถึงดินนั่นทำไมมันถึงดีๆ อยู่นี่' มันก็รู้กันทันทีนะว่า
'โห นี่มันคานอวิชชาขาด'
โอ้โห เวลานั้นมัน มันพูดไม่ถูกเลย...พอขณะนั้น ทำงานกันไปเสร็จสิ้นไปแล้ว ทีนี้มันเหมือนกับว่า เป็นคนละโลกเลยเชียว ผมเลยไม่นอนทั้งคืน เมื่อคืนนี้..."
หลวงพ่อบัวกล่าวกับหลวงตาอย่างซาบซึ้งจับจิตจับใจว่า
"...ผมกราบท่านอาจารย์ทั้งคืนเลย มันไม่ทราบเป็นยังไงมันกราบพระพุทธเจ้า กราบพระธรรม กราบพระสงฆ์ กราบท่านอาจารย์ตลอดคืนเลย ผมไม่นอนจนกระทั่งเดี๋ยวนี้นะ โฮ้ มันอะไร เหมือนกับ ถ้าพูดภาษาพระพุทธเจ้าว่าเสวยวิมุตติสุข มันอะไรพูดไม่ถูก
อัศจรรย์ครูบาอาจารย์ พระธรรม เห็นคุณของท่านอาจารย์ ฮู้ย เห็นจริงๆ เด่นจริงๆ ถ้าไม่ใช่ท่านเราจมไปแล้ว ไม่ไปถึงไหนแล้ว เดชะจริงๆ กราบ...กราบอยู่อย่างนั้น..."
ตอนหลังหลวงตาท่านเคยปรารภถึงเรื่องนี้ว่า นับแต่นั้นมาก็ไม่ได้พูดคุยอะไรกับหลวงพ่อบัว วัดหนองแซง กันอีกเลยจนกระทั่งหลวงพ่อบัวท่านมรณภาพไป ท่านเคยบอกเหตุผลเหมือนกันว่าถึงจุดนี้แล้วไม่จำเป็นต้องมีอะไรเพิ่มเติมให้เป็นประโยชน์อีกแล้ว เพราะมันพออยู่ในตัวแล้ว หมดปัญหาแล้วไม่จำเป็นต้องเอาอะไรมาพูดอีกแล้ว
0 comments:
Post a Comment