ประวัติพระราชสุเมธาจารย์ (โรเบิร์ต สุเมโธ) ประเทศอังกฤษ

Wednesday, May 26, 2010

ประวัติและปฏิปทา พระราชสุเมธาจารย์ (โรเบิร์ต สุเมโธ) วัดอมราวดี เมืองฮาร์ดฟอร์ด ประเทศอังกฤษ
ประวัติและปฏิปทา


พระราชสุเมธาจารย์

(โรเบิร์ต สุเมโธ)



วัดอมราวดี

เมืองฮาร์ดฟอร์ด ประเทศอังกฤษ





พระราชสุเมธาจารย์ (โรเบิร์ต สุเมโธ) เกิดในเมืองซีแอตเติ้ล มลรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1934 (พ.ศ. 2477) เมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ท่านได้เข้ารับราชการในกองทัพเรือแห่งสหรัฐอเมริกา ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และได้เข้าร่วมปฏิบัติการในสงครามเกาหลี เมื่อออกจากราชการท่านก็ได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ในสาขาวิชาเอเชียใต้ศึกษา (South Asian Studies) มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย (เบิร์กเลย์) ในปี 1963 (พ.ศ. 2506) หลังจากนั้นได้ร่วมงานเป็นระยะเวลาสั้นๆ กับสภากาชาดอเมริกัน ก็ได้เดินทางไปยังแถบตะวันออกไกล และทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ กับหน่วยสันติภาพ (Peace Corp) ซาบาห์ บนเกาะบอร์เนียว



ด้วยความที่ท่านสนใจในพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้เดินทางมายังประเทศไทยในปี 1966 (พ.ศ. 2509) เพื่อหาทางเข้าสู่ชีวิตอนาคาริก (ผู้ไม่ครองเรือน) ท่านได้บวชเป็นสามเณรที่จังหวัดหนองคาย และอุปสมบทเป็นพระภิกษุในอีกหนึ่งปีต่อมา โดยมีท่านเจ้าคุณพระราชปรีชาญานมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ ไม่ช้านานหลังจากที่ท่านได้บวชเป็นพระภิกษุ ปี พ.ศ. 2510 ท่านอาจารย์สุเมโธ (ศิษย์ชาวต่างประเทศรูปแรก) ได้ยินกิติศัพท์ความเคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อ จึงกราบลาพระอุปัชฌาย์ของท่านที่จังหวัดหนองคาย เดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อ ท่านได้เมตตารับไว้ แต่ตั้งเงื่อนไขว่า



“ท่านจะมาอยู่กับผมก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าผมจะไม่หาอะไรมาบำรุงท่านให้ได้ตามอยาก ท่านต้องทำตามระเบียบข้อวัตรเหมือนที่พระเณรไทยเขาทำ”



ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ป่าพง ท่านอาจารย์สุเมโธได้รับการฝึกฝนเคี่ยวเข็ญด้วยอุบายต่างๆ จากหลวงพ่อ ท่านอาจารย์สุเมโธเล่าให้ฟังว่า



“บางครั้งหลวงพ่อจะดุหรือตักเตือนผมในที่สาธารณะ ทำให้ผมอายมาก บางครั้งท่านเล่าให้โยมทั้งศาลาฟังเรื่องที่ผมทำไม่สวย ไม่งาม เช่น การฉันข้าวด้วยมือเปล่าแต่เปิบไม่เป็น ขยุ้มอาหารขึ้นมาเต็มกำมือแล้วโปะใส่ปาก ใส่จมูกเลอะเทอะไปทั้งหน้า พระเณรและโยมหัวเราะกันลั่นศาลา ผมนั้นทั้งโกรธทั้งอาย แต่ก็ทนได้ และพิจารณาว่านี่เป็นความกรุณาของหลวงพ่อที่ช่วยเปิดเผยความเย่อหยิ่งของผม ซึ่งมันเป็นจุดบอดที่เรามักจะมองไม่เห็น และยังเป็นอุบายที่ท่านจะทดสอบอารมณ์เราว่า มีพื้นฐานที่จะรองรับธรรมะได้มากน้อยแค่ไหน”



ทุกเช้าเวลาหลวงพ่อกลับจากบิณฑบาต จะมีพระเณรหลายองค์ไปรอล้างเท้าท่าน ระยะแรกๆ ที่ผมไปอยู่วัดป่าพง เห็นกิจวัตรนี้ทีไร ก็นึกค่อนขอดพระเณรเหล่านั้นอยู่ในใจ แต่พออยู่นานเข้าผมก็เป็นไปด้วย เช้าวันหนึ่งก่อนที่ผมจะรู้ตัวว่าเป็นอะไร ผมก็ปราดเข้าไปอยู่หน้าพระเณรองค์อื่นเสียแล้ว ขณะก้มลงล้างเท้าถวายท่าน ผมได้ยินเสียงนุ่มๆ กลั้วเสียงหัวเราะของหลวงพ่อว่า “สุเมโธ ยอมแล้วเหรอ”



“เช้าวันหนึ่ง ผมกำลังกวาดใบไม้ที่ลานวัด อารมณ์ไม่ดี รู้สึกหงุดหงิดขัดเคือง และรู้สึกว่าตั้งแต่มาอยู่ที่วัดป่าพงเจอแต่ทุกข์ พอดีหลวงพ่อเดินตรงมายังผม ท่านยิ้มให้พร้อมกับพูดว่า 'วัดป่าพงทุกข์มาก !' แล้วท่านก็เดินกลับไป ผมสงสัยว่าทำไมหลวงพ่อพูดอย่างนี้ กลับไปกุฏิพิจารณาได้สติว่า ทุกข์ไม่ได้เกิดจากวัดป่าพง แต่เกิดจากจิตใจเราเอง”



ต่อมาปี พ.ศ. 2513 ได้มีชาวอเมริกันอีกสองคนเข้ามาบวชที่วัดหนองป่าพง แต่อยู่ได้ราวหนึ่งปีทั้งคู่ก็ลาสิกขาไป คนหนึ่งเป็นนักเขียนได้จดบันทึกคำสอนของหลวงพ่อ แล้วนำไปพิมพ์เผยแพร่ ทำให้ชื่อเสียงของหลวงพ่อเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างประเทศยิ่งขึ้น ส่วนอีกคนเป็นนักจิตวิทยา ชอบวิพากษ์ครูบาอาจารย์ต่างๆ เว้นไว้แต่หลวงพ่อองค์เดียวที่เขาเคารพเทิดทูนมาก หลังลาสิกขาบท เมื่อได้พบชาวต่างประเทศที่กำลังแสวงหาครูอาจารย์ เขามักแนะนำให้มาพบกับหลวงพ่อ ทำให้พระฝรั่งในวัดหนองป่าพงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ



ผู้คนที่มาวัดหนองป่าพง ต่างทึ่งที่เห็นพระฝรั่งปฏิบัติกรรมฐานเคร่งครัดอยู่เคียงข้างกับพระไทย จึงเกิดความสงสัยว่า หลวงพ่อสอนชาวต่างประเทศได้อย่างไร ในเมื่อท่านไม่คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ และลูกศิษย์ฝรั่งเองก็ไม่คุ้นเคยภาษาไทย หลวงพ่อชี้แจงว่า “ที่บ้านโยมมีสัตว์เลี้ยงหรือเปล่า อย่างหมา แมว หรือวัวควาย อย่างนี้เวลาฝึกหัดมัน โยมต้องรู้ภาษาของมันด้วยไหม ?”



“ถึงแม้มีลูกศิษย์เมืองนอกมาอยู่ด้วยมากๆ อย่างนี้ ก็ไม่ได้เทศน์ให้เขาฟังมากนัก พาเขาทำเอาเลย ทำดีได้ดี ถ้าทำไม่ดีก็ได้ของไม่ดี พาเขาทำดู เมื่อเขาทำจริงๆ ก็เลยได้ดี เขาก็เลยเชื่อ”



ครั้งหนึ่งเมื่อถูกถามปัญหาเช่นนี้ ท่านตอบแบบขำๆ ว่า “ไม่ยากหรอก ดึงไปดึงมาเหมือนควาย เดี๋ยวมันก็เป็นเท่านั้นแหละ”



ศิษย์ชาวออสเตรเลี่ยนรูปหนึ่งเล่าถึงบทเรียนอันดุเดือดว่า



“วันหนึ่งผมมีเรื่องขัดใจกับพระรูปหนึ่ง รู้สึกโกรธ หงุดหงิดอยู่ทั้งวัน รุ่งเช้าไปบิณฑบาต ก็เดินคิดไปตลอดทาง ขากลับเดินเข้าวัดพอดีสวนทางกับหลวงพ่อ ท่านยิ้มและทักผมว่า 'กู๊ด มอร์นิ่ง' ซึ่งทำให้อารมณ์ของผมเปลี่ยนทันที จากความหงุดหงิดกลายเป็นปลื้มทันที



ถึงเวลาสวดมนต์ทำวัตรเย็น หลวงพ่อให้ผมเข้าไปอุปัฏฐาก ถวายการนวดที่กุฏิของท่าน ผมรู้สึกตื่นเต้นดีใจมากกับโอกาสที่หาได้ยากเช่นนั้น เพราะเราเป็นพระใหม่ แต่ขณะที่กำลังถวายการนวดอยู่อย่างตั้งใจ หลวงพ่อก็ถีบเปรี้ยงเข้าที่ยอดอกที่กำลังพองโตของผมจนล้มก้นกระแทกพื้น ท่านดุใหญ่เลยว่า 'จิตไม่มั่นคง พอไม่ได้ดังใจก็หงุดหงิดขัดเคือง เมื่อได้ตามปรารถนาก็ฟูฟ่อง' ผมฟังท่านดุไปหลายๆ อย่างแล้ว ก็ไม่โกรธและไม่เสียใจ รู้สึกซาบซึ้งในพระคุณของท่านที่ช่วยชี้กิเลสของเรา ไม่เช่นนั้นเราคงเป็นคนหลงอารมณ์ไปอีกนาน”



นอกจากจริยาวัตรอันงดงามของหลวงพ่อแล้ว บรรยากาศของวัดหนองป่าพง และกิริยามารยาทของพระเณร ยังเป็นแรงดลใจให้ผู้มาพบเห็นเกิดความศรัทธาอย่างยิ่ง ดังท่านอาจารย์ชาวต่างชาติรูปหนึ่งเล่าว่า



“พอผ่านเข้าประตูวัดหนองป่าพงเป็นครั้งแรก ก็เกิดความประหลาดใจ และความประทับใจก็เกิดขึ้น เมื่อเห็นบริเวณสถานที่ แม้จะเป็นป่ามีต้นไม้หนาแน่น แต่ทางเดินก็ดูสะอาดไม่มีอะไรเกะกะสายตา



จากนั้นก็ไปเห็นกุฏิศาลาสะอาดเรียบร้อยที่สุด รู้สึกว่าวัดหนองป่าพงนี่ระเบียบวินัยดีมากจริงๆ พอตกตอนเย็นเห็นพระเณรออกมาทำกิจ ท่านเรียบร้อยดี มีกิริยาสำรวมไม่ตื่นเต้นอะไรเลย ผมเคยไปวัดอื่น พอพระเณรเห็นพวกฝรั่งก็ปรี่เข้าหา เข้ามาพูดภาษาอังกฤษ ถามรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ทำเหมือนกับว่าพวกฝรั่งมีอะไรดีอย่างนั้น



แต่ที่วัดหนองป่าพง บรรดาพระสงฆ์ ญาติโยม ผ้าขาว แม่ชี ไม่เห็นมีใครสนใจกับฝรั่งอย่างผม ท่านนั่งก็สำรวม เดินก็สำรวม มีกิจอะไรต้องทำก็ทำไป ถามก็เงยหน้ามาพูดด้วย ไม่มีอาการตื่นเต้นอะไรเลย มีความรู้สึกว่า ท่านเหล่านี้ต้องมีของดีแน่ เกิดศรัทธาขึ้นมาก”



ปีพ.ศ. 2518 จำนวนศิษย์ชาวต่างประเทศในวัดหนองป่าพงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลวงพ่อจึงตั้งวัดป่านานาชาติขึ้นที่ป่าช้าบ้านบุ่งหวาย ซึ่งอยู่ห่างจากวัดหนองป่าพงราว 7-8 กิโลเมตร เพื่อปูพื้นฐานให้พระชาวต่างชาติได้รู้จักปกครองกันเอง โดยมอบให้ท่านอาจารย์สุเมโธดูแล



ประธานสงฆ์วัดป่านานาชาติในสมัยแรก ประสบปัญหาในการปกครองหมู่คณะมาก เพราะคนฝรั่งมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงและกล้าแสดงออก จึงสร้างปัญหาให้ประธานสงฆ์ต้องเป็นทุกข์เสมอ เมื่อเรื่องถึงหลวงพ่อ ท่านจะแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายละวางทิฐิมานะ ให้ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น สำหรับประธานสงฆ์ หลวงพ่อจะแนะนำวิธีปกครองให้ว่า “ถ้าลูกศิษย์ของเรามีเรื่องขัดแย้งกัน ก็ให้พิจารณาให้ดี อย่าตัดสินว่าผู้มาใหม่ไม่ดี อย่าไปว่าคนนั้นดี คนนี้ไม่ดี ต้องใช้เวลาดูไปนานๆ ก่อน ดูอุปนิสัยของเขาไปนานๆ อย่าไปคิดว่าดีหรือไม่ดีเลยทันที เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่แน่นอน ต้องใช้เวลาดูไปก่อน”



ศิษย์ชาวต่างประเทศต่างเคารพปัญญาบารมีของหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่ง ท่านเต็มไปด้วยเมตตาธรรม และอารมณ์ขันเบิกบานแจ่มใสอยู่เป็นนิจ มีความสามารถพิเศษในการสื่อสาร และแก้ปัญหาแก่ศิษย์ได้อย่างดีเยี่ยม ชาวต่างประเทศจึงเกิดศรัทธาเข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมที่วัดหนองป่าพงและวัด ป่านานาชาติ เป็นจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับ



ในพรรษาที่สิบ ปี พ.ศ. 2519 ท่านอาจารย์สุเมโธเดินทางไปเยี่ยมบ้านเกิดที่อเมริกา ขากลับได้แวะพักที่พุทธวิหารธรรมประทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ขณะพักอยู่ที่พุทธวิหารแห่งนั้น สมาชิกมูลนิธิกิจการสงฆ์แห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้จัดตั้งพุทธวิหารได้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในปฏิปทาของท่าน อาจารย์สุเมโธ จึงนิมนต์ให้ท่านพำนักอยู่เพื่อเป็นผู้นำในการประพฤติปฏิบัติ ท่านอาจารย์สุเมโธไม่ได้ตอบรับคำ แต่ได้ชี้แจงว่าจะนำเรื่องนี้ไปกราบเรียนหลวงพ่อชา ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์เสียก่อน



หลังจากนั้นไม่นาน ประธานมูลนิธิฯ คือนายยอร์ช ชาร์ป ก็ได้เดินทางมาเมืองไทยเพื่อนิมนต์หลวงพ่อไปเผยแผ่พุทธธรรม และพิจารณาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งสำนักสาขาในประเทศอังกฤษ หลวงพ่อไม่ได้รับนิมนต์ทันที แต่อนุญาตให้ประธานมูลนิธิฯ พำนักอยู่ที่วัดหนองป่าพง ระยะหนึ่ง โดยให้ปฏิบัติตนเหมือนคนวัด คือ พักที่ศาลา กินข้าวในกะละมังวันละมื้อ และทำกิจวัตรเช่นเดียวกับคนอื่นๆ เพื่อให้ทำความเข้าใจในความเป็นอยู่ของพระป่า รวมทั้งเพื่อทดสอบดูความอดทนและความจริงใจกันก่อน เมื่อพิจารณาเห็นว่ามีเจตนามุ่งมั่นจริง หลวงพ่อจึงรับนิมนต์จากประธานมูลนิธิฯ นั้น



5 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 หลวงพ่อได้เดินทางไปเผยแผ่พุทธธรรมที่ประเทศอังกฤษ โดยมีท่านอาจารย์สุเมโธ เป็นผู้ติดตาม หลวงพ่อได้เขียนบันทึกประจำวัน กล่าวถึงความรู้สึกส่วนตัวและเล่าถึงภาระกิจรวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆ ในระยะสองเดือนกว่าที่ต่างประเทศ ไว้ในสมุดบันทึกด้วยลายมือของท่าน ดังได้คัดมาบางตอนว่า



จินตนาการที่เกิดขึ้นใหม่ ในการเดินทางจากเมืองไทยสู่กรุงลอนดอน ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ทั้งหลายก็เหมือนกับแสงของพระจันทร์ พระอาทิตย์ เมื่อถูกเมฆหมอกเข้าครอบงำ ก็เป็นอย่างหนึ่ง เมื่อปราศจากเมฆหมอกก็เป็นอย่างหนึ่ง



เป็นเหตุให้คิดต่อไปว่า การเรียนธรรม การรู้ธรรม การเห็นธรรม การปฏิบัติธรรม การเป็นธรรมเหล่านี้นั้น เป็นคนละส่วน ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และทำให้จินตนาการต่อไปอีกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า เมื่อเรายังไม่รู้ประเพณี คำพูด การกระทำของเขา ทุกอย่างเราไม่ควรถือตัวในที่นั้น



และคิดต่อไปอีกขณะเมื่ออยู่บนกลีบเมฆนั้นว่า ชาติตระกูล ความรู้คุณธรรมเป็นอย่างไร ก็เป็นที่แปลกมาก เพราะเรื่องนี้ดูเหมือนเราได้ประสบมาก่อนแล้ว ตอนที่เราได้ถวายชีวิตในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์... ว่าเราได้มาเมืองนอกนี่... นี้คือเมืองนอกใน (วัฏฏะ) ไม่ใช่เมืองนอก นอกการเห็น เมืองนอกในพระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญ พระพุทธเจ้าสรรเสริญคนผู้เห็นเมืองนอกนอก



ความคิดของเรา มันคิดบวกคิดลบกันอย่างนี้เรื่อยไปจนถึงกรุงลอนดอน และก็ได้ปรับกาย วาจา ใจ ให้เข้ากับเขาได้เป็นอย่างดี ไม่มีอะไร



สิ่งที่แปลกนั้นก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ส่วนใจนั้นปกติอยู่ตามเดิม เพราะได้เตรียมมานานแล้ว ต่างแต่ไม่แปลก แปลกแต่ไม่ต่าง คิดต่อไปว่าประชาชนในยุโรปนี้ เขาได้ถึงจุดอิ่มของวัตถุทั้งหลายแล้ว แต่ยังไม่รู้จักพอเพราะขาดจากธรรม เปรียบได้เหมือนผลไม้พันธุ์ดี เกิดอยู่ในสวนที่มีดินดี แต่ขาดคนดูแลรักษา จึงทำให้ผลไม้ทั้งหลายเหล่านั้นไร้คุณค่าเท่าที่ควรจะได้ เหมือนมนุษย์ไร้คุณค่าจากการเกิดมาเป็นมนุษย์ฉะนั้น



6 พฤษภาคม 2520 บินต่อถึงเมืองการาจี ปากีสถาน บินผ่านอิตาลีถึงลอนดอน นายยอร์ช ชาร์ปและนางฟรีดา วินท์ ได้เอารถมารับที่สนามบินฮีทโลว์



เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการเดินทางในวันที่ 6 ในขณะที่บินอยู่เครื่องบินได้เกิดเหตุยางระเบิด 1 เส้นบนอากาศ พนักงานการบินจึงได้ประกาศให้ผู้โดยสารเตรียมตัวรัดเข็มขัด มีฟันปลอมก็ต้องถอดออก แม้กระทั่งแว่นตาหรือรองเท้า เครื่องบริขารทุกอย่างต้องเตรียมพร้อมหมด ผู้โดยสารทุกคนเมื่อเก็บบริขารทุกอย่างเสร็จเร็ว ต่างคนต่างก็เงียบคิดว่าเป็นครั้งสุดท้ายของพวกเราทุกคนเสียแล้ว



ขณะนั้นเราก็ให้คิดว่า เป็นครั้งแรกที่เราได้เดินทางมาเมืองนอกเพื่อสร้างประโยชน์แก่พระศาสนา จะเป็นบุญอย่างนี้เทียวหรือ เมื่อระลึกได้เช่นนี้แล้ว ก็ตั้งสัตย์อธิษฐานมอบชีวิตให้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็กำหนดจิตรวมลงไว้ในสถานที่ควรอันหนึ่ง แล้วได้รับความสงบเยือกเย็นดูคล้ายกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น พักที่ตรงนั้น จนกระทั่งเครื่องบินได้ลดระดับลงมาถึงแผ่นดินด้วยความปลอดภัย ฝ่ายคนโดยสารต่างก็ปรบมือด้วยความดีใจ คงคิดว่าเราปลอดภัยแล้ว



สิ่งที่แปลกก็คือ ขณะเมื่อเครื่องบินเกิดอุบัติเหตุ ต่างคนก็ร้องเรียกว่า “หลวงพ่อช่วยปกป้องพวกเราด้วย” แต่เมื่อพ้นอันตรายแล้วเดินลงจากเครื่องบิน เห็นประณมมือไหว้พระเพียงคนเดียวเท่านั้น นอกนั้นไหว้แอร์โฮสเตสทั้งหมดในที่นั้น... นี่เป็นสิ่งที่แปลก



15 พฤษภาคม 2520 วันนี้ประมาณ 7 โมงเช้า เราได้นั่งอยู่ในที่สงบเงียบจึงได้เกิดความรู้ในการภาวนาหลายอย่าง เราจึงได้หยิบเอาสมุดปากกาขึ้นมาบันทึกไว้ภายในวิหารธรรมประทีป ด้วยความเงียบสงบ ธรรมะที่เกิดขึ้นนี้เราเรียกว่า “มโนธรรม” เพราะเกิดขึ้นด้วยการปรากฏในส่วนลึกของใจว่า การที่มาบวชเจริญรอยตามพระพุทธองค์นั้น เรายังไม่ได้ทำอะไรๆ ได้เต็มที่ เพราะยังบกพร่องอยู่หลายประการอันเกี่ยวแก่พุทธศาสนาคือ หนึ่งสถานที่ สองบุคคล สามกาลเวลา



เราจึงได้คิดไปอีกว่าเมื่อสร้างประโยชน์ตนได้เป็นที่พอใจแล้ว ให้สร้างประโยชน์บุคคลอื่น จึงจะได้ชื่อว่ากระทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงมีความเห็นว่า กรุงลอนดอนนี้แห่งหนึ่งจัดเรียกได้ว่าเป็นปฏิรูปเทศ คือประเทศอันสมควรในการที่จะประกาศพระศาสนา จึงได้จัดให้ศิษย์ฝรั่งอยู่ประจำเพื่อดำเนินงานพระศาสนาต่อไป



วิธีสอนธรรมนั้นให้เป็นไปในทำนองที่ว่า ทำน้อยได้มาก ทำมากได้น้อย ให้เห็นว่าความเย็นอยู่ในความร้อน ความร้อนอยู่ในความเย็น ความผิดอยู่ในความถูก ความถูกอยู่ในความผิด ความสุขอยู่ในที่ความทุกข์ ความทุกข์อยู่ที่ความสุข ความน้อยอยู่ที่ความใหญ่ ความใหญ่อยู่ที่ความน้อย สกปรกอยู่ที่สะอาด สะอาดอยู่ที่สกปรก อย่างนี้เสมอไป นี้เรียกว่า สัจธรรม หรือสัจศาสตร์



เมื่อท่านกลับไป ท่านจึงให้ท่านสุเมโธกับศิษย์พระฝรั่งอีกสามรูปอยู่ต่อไปที่แฮมสเตด โดยมีเงื่อนไขว่า มูลนิธิฯ ต้องจัดหาสถานที่ๆ เป็นป่าอันเหมาะสมให้ลูกศิษย์ของท่านอาศัยปฏิบัติธรรม และเผยแพร่พระศาสนาต่อไป



ในปีแรกนั้น มีแต่ความทุกข์ยากเป็นอันมาก ลองนึกภาพดูก็จะเห็นได้ว่า “พระภิกษุนั้น แม้ท่านจะเป็นพระฝรั่ง แต่ท่านมาจากวัดหนองป่าพง ซึ่งเป็น “วัดป่า” ท่านเคยชินกับการอยู่ป่าอันเป็นที่วิเวก ร่มรื่น ปลอดโปร่ง ห่างไกลจากผู้คนและสิ่งรบกวนจากภายนอก ไปไหนมาไหนก็มีแต่คนเคารพกราบไหว้ และนำของมาถวาย แต่แล้วเอาท่านมาอยู่ในห้องแคบๆ อับๆ ในย่านจอแจของเมืองหลวงใกล้กับร้านขายเหล้า



อีกทั้งสภาพอากาศในบางฤดูของกรุงลอนดอนก็ย่ำแย่ เวลาออกบิณฑบาตก็ไม่มีคนใส่บาตร บางครั้งยังมีคนมาพูดจาดูหมิ่นถากถาง หาว่าเป็นขอทาน เป็นต้น ประกอบกับในคณะกรรมการมูลนิธิฯ เองที่นิมนต์ท่านมา ก็มีความขัดแย้งกันในเรื่องการหาสถานที่อันเหมาะสม และบทบาทของพระสงฆ์ ซึ่งควรจะปรับอย่างไรให้เข้ากับสภาพสังคมของคนอังกฤษ เกิดความสับสนจนบางคนคิดว่า ในประเทศเช่นนี้ บางทีพระอาจจะไม่เหมาะที่จะไปอยู่ในป่า ดังนี้แล้ว จึงเห็นได้ว่า เป็นระยะเวลาที่มีแต่ความยุ่งยากลำบากมาก บุคคลทั่วไปอาจเกิดความท้อแท้ได้ง่ายๆ อย่างไรก็ดี ท่านสุเมโธกับคณะผู้ได้รับการฝึกให้มีความอดทนและตั้งมั่นอยู่ในพระวินัย ก็สามารถอยู่ต่อไปด้วยความสงบ อาจถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ท่านใช้ฝึกขันติธรรมและการปล่อยวางไปด้วยในตัว”



กิจวัตรประจำวันของพระภิกษุคงดำเนินไปตามแบบที่เคยปฏิบัติอยู่ในเมืองไทย เช่น สวดมนต์เช้า-เย็น สนทนาธรรม และแนะนำการฝึกกรรมฐานแก่ผู้ที่สนใจสมัครมารับการฝึก ณ พระวิหารแห่งนั้น ออกบิณฑบาตทุกเช้าแม้จะไม่ได้อาหาร ท่านอาจารย์ชาเคยสอนว่า การออกบิณฑบาตนั้น มิใช่มุ่งจะเอาแต่ “อาหาร” แต่มุ่งเอา “คน” หมายความว่า ในการออกเดินไปตามถนน อาจมีบางคนที่เขาสนใจอยากจะรู้ จะเข้ามาทักทายสอบถามว่าเป็นใคร มาทำอะไรที่นี้ นับถือศาสนาอะไร เป็นต้น ก็จะเป็นโอกาสได้ชี้แจงให้เข้าใจพอสมควร และจะได้เชื้อเชิญให้มาฟังคำอธิบายอย่างละเอียด และฝึกกรรมฐานที่พระวิหารต่อไป



ในฤดูใบไม้ผลิของปี พ.ศ. 2521 มีสิ่งอัศจรรย์อย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือเช้าวันหนึ่ง ท่านสุเมโธออกบิณฑบาตอันเป็นกิจวัตรของท่าน แถวแฮมสเตดฮีธ ไปเจอกับนักวิ่งออกกำลังกายผู้หนึ่ง นักวิ่งผู้นี้เกิดประทับใจในท่าทางของพระภิกษุ จึงเข้ามาสนทนาด้วย ท่านผู้นี้ได้ซื้อป่าไว้แห่งหนึ่ง ชื่อว่า แฮมเมอรวูด อยู่ในแคว้นซัสเซกส์ เนื้อที่ประมาณ 370 ไร่ โดยตั้งใจจะบำรุงรักษาให้คงสภาพป่าอย่างสมัยก่อน แต่ท่านก็เข้าใจดีว่า งานเช่นนี้เหลือกำลังที่คนๆ เดียวจะทำได้ แม้ท่านจะไม่ได้เป็นพุทธศาสนิกชน ท่านก็มีใจกว้างพอที่จะเล็งเห็นว่าพระภิกษุคณะนี้ น่าจะเป็นผู้ดูแลรักษาป่าได้เป็นอย่างดี



ท่านสมัครเข้ารับการฝึกกรรมฐานที่ท่านสุเมโธจัดขึ้นที่ศูนย์พุทธศาสนา โอ็คเคนโฮลท์ ใกล้เมืองอ๊อกฟอร์ด แล้วในที่สุด ท่านก็ยกป่าแห่งนี้ให้แก่คณะสงฆ์ ถือได้ว่าสถานที่ๆ จะเป็นวัดป่าในประเทศอังกฤษได้ก่อกำเนิดขึ้นแล้ว ณ บัดนั้น



แม้จะได้ป่ามาแล้วก็เข้าไปอยู่ไม่ได้ เพราะยังติดขัดด้วยกฎหมายของประเทศอังกฤษ ที่ห้ามไม่ให้สร้างอาคารถาวรขึ้นในป่า ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2521 ท่านสุเมโธและคณะจึงต้องจำพรรษา ณ ศูนย์พุทธศาสนาที่โอ็คเคนโฮลท์ และปล่อยให้คณะกรรมการมูลนิธิฯ แก้ปัญหาต่อไป



ต้นปี พ.ศ. 2522 ท่านอาจารย์ชาเดินทางมาประเทศอังกฤษ เพื่อจะดูความเป็นอยู่ของลูกศิษย์ของท่าน พอดีในช่วงนั้น นายยอร์ช ชาร์ป ได้ข่าวการบอกขายบ้านใหญ่หลังหนึ่ง ใกล้ๆ กับป่าแฮมเมอร์วูด บ้านหลังนี้มีชื่อว่า บ้านชิตเฮิสต์ การซื้อบ้านหลังนี้เป็นการเสี่ยงมาก จึงยังไม่มีมติเป็นเอกฉันท์ในคณะกรรมการฯ เพราะเงินที่จะซื้อบ้านนั้น จะต้องได้มาจากการขายพุทธวิหาร และทาวน์เฮาส์ใกล้เคียง ซึ่งได้ค่าเช่าเป็นประจำมาเป็นค่าใช้จ่ายของมูลนิธิฯ ประกอบกับบ้านหลังนี้ทรุดโทรมมาก ไม่แน่ใจว่าจะเข้าไปอยู่ได้หรือไม่ มีการถกเถียงกันอยู่ เมื่อท่านอาจารย์ชามาเห็นสภาพการณ์เช่นนั้น ท่านก็ปรารภว่า ท่านเห็นจะต้องนำลูกศิษย์ของท่านกลับเมืองไทย ท่านปรารภ แล้วท่านก็เดินทางต่อไปยังสหรัฐอเมริกา ในที่สุด มูลนิธิฯ ก็ตัดสินใจซื้อบ้านชิตเฮิสต์ และในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 ได้รวบรวมข้าวของขนใส่รถ เดินทางออกจากกรุงลอนดอน มุ่งสู่ซัสเซกส์



บ้านชิตเฮิสต์ ทรุดโทรมจริงๆ ชำรุดเสียหายจนไม่สามารถเข้าไปอยู่ได้ เมื่อเข้าไปดูครั้งแรก ปรากฏว่าในจำนวนห้องทั้งหมดประมาณยี่สิบห้องนั้น ที่จะซ่อมแซมให้พอใช้การได้มีเพียงสี่ห้องเท่านั้น ไฟฟ้าก็ไม่มี หลังคารั่ว พื้นผุพัง ท่อน้ำแตก น้ำไหลเปรอะผนังตึก กัดผนังกร่อนเป็นแถบๆ มีสัพเพเหระเก่าๆ สมัยก่อนสงครามโลก ทับถมอยู่เต็มภายในบ้าน อาคารภายนอกหลังเล็กหลังน้อยก็อยู่ในสภาพทรุดโทรมใช้การไม่ได้เลย หญ้าขึ้นรกเป็นป่า มีรถยนต์ผุๆ จมดินระเกะระกะอยู่ทั่วบริเวณ



ในสภาพเช่นนี้ คณะที่อพยพมาด้วยกันไม่มีทางเลือก นอกจากจะต้องช่วยกันบูรณะซ่อมแซมต่อไป ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ตีตัวจากไป ที่เหลืออยู่ก็ก้มหน้าลงมือทำงาน และเป็นงานที่ต้องลงแรงทำกันเองทั้งสิ้น



ฤดูร้อนปีนั้นอากาศแจ่มใส มีอาสาสมัครผลัดเปลี่ยนกันมาช่วยทำงานกันอย่างหนัก แต่ร่าเริงสนุกสนาน ได้อาศัยพักอยู่ในกระโจมเป็นการชั่วคราวไปก่อน ในพรรษานั้น พุทธบริษัทที่มาอยู่ ณ ที่นั้น มีพระภิกษุหกรูป สามเณรสองคน อนาคาริกแปดคน มีสตรีที่เข้ามาฝึกเตรียมจะบวชเป็นแม่ชีสี่คน กับฆราวาสสามสี่คนที่ผลัดเปลี่ยนกันมาอยู่เป็นระยะๆ สำหรับแม่ชีนั้นได้ใช้กระท่อมหลังเล็กๆ ใกล้ป่าแฮมเมอร์วูด เป็นที่พัก สถานพำนักจิตแห่งนี้ได้ค่อยๆ พัฒนาขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ และสำนักแม่ชี ในเวลาต่อมา



สถานีวิทยุ บี.บี.ซี. ออกอากาศบทความเรื่อง “พระพุทธองค์เสด็จสู่ซัสเซกซ์แล้ว” ก่อให้เกิดความสนใจขึ้นในหมู่ชนทั่วไป ในชั้นแรกนั้นคนในท้องถิ่นยังมีความแคลงใจอยู่ บางคนรังเกียจ คิดว่าเป็นการรุกรานของพวกนอกศาสนา คือพวกไม่มีพระเจ้า หลงใหลบูชารูปปั้น และเที่ยวเดินภิกขาจารไปตามท้องถนน แต่หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจกัน และได้เห็นความเคร่งครัดในพระวินัย ประพฤติปฏิบัติในทางที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้ใด สุภาพสงบเสงี่ยมและถ่อมตน ความเข้าใจอันดีจึงเกิดขึ้น ในที่สุดคณะกรรมการบริหารตำบลได้ยินยอมรับฐานะของวัดชิตเฮิสต์ ให้มีอิสระที่จะฝึกอบรมพระภิกษุสามเณร และแม่ชีได้ และสามารถดำเนินชีวิตตามวิถีทาง และขนบประเพณีของวัดในพระพุทธศาสนา



คำรับรองหรือคำอนุญาตนี้ตกมาใน พ.ศ. 2524 แต่มาถึงช่วงนั้น วัดได้พัฒนาไปแล้วหลายๆ ด้าน จากการทำงานกันอย่างหนักในฤดูร้อนของปี พ.ศ. 2522 ได้ดัดแปลงเป็นห้องครัวขึ้นห้องหนึ่ง แต่ต้องทนต่อความหนาวเหน็บตลอดฤดูหนาว จนกว่าจะได้เตาฟืนมาใช้ในเดือนมีนาคมของปี พ.ศ. 2523 เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ตัวตึก ต่อมาได้ดัดแปลงส่วนหนึ่งของอาคาร โดยรื้อพื้นและประตูหน้าต่างตั้งแต่ชั้นล่างจดชั้นบน แล้วสร้างเป็นห้องพระ ตลอดฤดูหนาวครั้งที่สอง งานต้องหยุดชะงักเพราะขาดปัจจัย ท่านสุเมโธ จึงตัดสินใจว่าเป็นโอกาสอันดีที่ได้หยุดงาน แล้วพากันปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจัง หรือเรียกกันว่า รีทรีต (Retreat) เลยกลายเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันสืบมา



ในตอนท้ายของระยะการปฏิบัติธรรมนี้ คือในเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2524 พระพุทธองค์ได้เสด็จมาสู่ซัสเซกซ์ โดยมาในรูปพระพุทธปฏิมาประธาน น้ำหนักครึ่งตัน ซึ่งพุทธบริษัทในประ เทศไทยได้กรุณาส่งมาให้ ทำให้ทุกคนมีกำลังใจลงมือทำงานกันต่อไปโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และในวันก่อนวันอาสาฬหบูชา ห้องพระก็เสร็จเรียบร้อย พร้อมกับมีพระพุทธปฏิมาประดิษฐานอยู่อย่างสง่างาม



ในช่วงแรกๆ นั้น นอกจากจะมีการปฏิบัติธรรมระยะสั้น เวลาส่วนใหญ่จะหมดไปกับการทำงาน บางครั้งต้องทำจนดึกดื่นเพื่อให้งานเสร็จ ครั้งหนึ่งทำนบใกล้กระท่อมทำท่าจะพัง จึงต้องเร่งซ่อมแซมเป็นการด่วน บางคนเหนื่อยและบ่นว่าไม่มีเวลาทำสมาธิภาวนา แต่ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าช่วงนั้นเป็นระยะเวลาแห่งการเริ่มต้น อันที่จริงแล้วเป็นเวลาที่ดีมากในการฝึกพระวินัย มีการอบรมสั่งสอนที่ดี มีการสนับสนุนพอสมควร และมีคณะสงฆ์ที่เป็นปึกแผ่นมั่นคง



ขณะนี้ เลขานุการของท่านสุเมโธ แทนที่จะจดลงไปว่า มีกิจรับนิมนต์ไปข้างนอกวันไหนบ้าง กลับต้องบันทึกว่า ท่านอยู่วัดวันไหน ได้มีความเข้าใจมากขึ้นถึงความจริง และความรับผิดชอบในวิถีดำเนินชีวิตของพระสงฆ์ ทั้งในหมู่ผู้ที่สมัครจะเข้ามาบวชและฆราวาสทั่วไป และเป็นที่แน่นอนแล้วว่าวิถีชีวิตเช่นนี้ สามารถจะดำเนินไปได้ในประเทศอังกฤษ



พระราชสุเมธาจารย์ (โรเบิร์ต สุเมโธ) คณะสงฆ์ และสานุศิษย์ของท่านได้ปฏิบัติหน้าที่เผยแผ่ธรรมอย่างเข้มแข็ง ได้ผลดีเป็นที่น่าชื่นชมยิ่งนัก มีชาวตะวันตกประกาศตนเป็นพุทธมามกะเพิ่มขึ้นเป็นสถิติสูงมาก จนอาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทสายวัดป่าจากประเทศไทย ได้รับการประดิษฐานเป็นอย่างดีในโลกตะวันตก มิใช่แต่เฉพาะในประเทศอังกฤษเท่านั้น การเจริญเติบโตของทางวัดยังได้ขยายไกลออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี

ดอกบัวบานแล้วทางทิศตะวันตก


พระราชสุเมธาจารย์ (โรเบิร์ต สุเมโธ)



ในอดีตหลายสิบปีมาแล้วหลวงปู่ชากล่าวว่า “ดอกบัวกำลังบานทางทิศตะวันตก”



หลวงปู่ชา ท่านมีความสามารถมากในการถ่ายทอดธรรม แม้แต่ต่างชาติต่างภาษาคุยกันไม่รู้เรื่องท่านก็ยังทำให้เมล็ดบัวในตัวท่าน เหล่านั้น แตกกอ ผลิดอกและเบ่งบานขึ้นมาได้ (ชาวต่างชาติเหล่านี้มีนิสัยวาสนากับพุทธศาสนามาแล้ว ถึงได้มีศรัทธาในเบื้องต้น มีวาสนาได้พบครูบาอาจารย์ และมีวิริยะในการปฏิบัติ นั่นคือท่านมีเมล็ดบัวฝังอยู่แล้วในตัว)



พระราชสุเมธาจารย์ (โรเบิร์ต สุเมโธ) เป็นศิษย์ต่างชาติรุ่นแรกๆ ที่กำลังเบ่งบานอยู่



ดอกบัวบานแล้วทางทิศตะวันตกและนับวันก็จะแตกกอเป็นป่าบัวต่อไป แต่ป่าบัวดั้งเดิมทางทิศตะวันออกกำลังเสื่อมลงตามกาลเวลา ตามหลักอนิจจัง



ขออวยพรให้ทุกท่านที่กำลังเป็นเมล็ดบัวอยู่ ขอให้แตกรากฝังศรัทธาให้มั่นคงงอกแล้วบำรุงด้วยรสแห่งธรรมให้เจริญยิ่งขึ้น ไป ดอกตูมก็ให้บาน บานแล้วก็ให้ส่งกลิ่นหอมให้กว้างขวาง เพื่อเร่งเร้า ปลุกผู้หลับอยู่ให้ตื่นขึ้น....เทอญ



ต่อไปนี้คือตัวอย่างแนวคิดของชาวต่างชาติที่มีต่อพระพุทธศาสนาและหลวงปู่ชา





เส้นทางชีวิตที่เปลี่ยนแปลง-การค้นหาครั้งสำคัญ



อเมริกันนาวิกโยธินหนุ่ม เมื่อราวครึ่งศตววรษก่อนเดินทางท่องโลก เพราะภารกิจของกองทัพ ได้คิดได้ค้นได้พบกับศาสนาของโลกตะวันออก และได้กำหนดเส้นทางชีวิตใหม่ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กลายมาเป็น พระสุเมธาจารย์ที่ฝรั่งไทยเคารพศรัทธา เมื่อ ๕๐ ปีมาแล้ว ท่านเป็นทหารเรืออเมริกันสมัยสงครามเกาหลีได้ไปประเทศญี่ปุ่น มีความสนใจในศาสนาพุทธ แต่หนังสือที่เป็นภาษาอังกฤษ ยังมีน้อยหายากเดินทางไปๆ มาๆ ญี่ปุ่น ซานฟรานซิสโกอยู่ ๒ ปี



ออกจากกองทัพแล้ว ก็กลับไปเรียนปริญญาตรีที่อเมริกา จบปริญญาตรีสาขาประวัติศาสตร์ของประเทศจีน เพื่อศึกษารากลึกของทวีปเอเชีย จากนั้นเรียนต่อที่แคลิฟอร์เนีย ๒ ปี ได้ปริญญาโท ประวัติศาสตร์ของอินเดีย



เมื่อจบปริญญาโทแล้ว ก็ยังมีความสนใจมากที่อยากปฏิบัติ แสวงหาอาจารย์ที่จะสอนเรื่องของจิตใจเพื่อจะปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าได้ ตรัส ในประเทศอเมริกายังไม่พบอาจารย์สักคน เมื่อได้ปริญญาโทแล้ว ก็ได้สมัครเป็นอาสาสมัครสมัยนั้น เพื่อจะไปสอนภาษาอังกฤษที่ประเทศมาเลเซีย ไปอยู่ที่นั่น ๒ ปี ก็มีโอกาสมาเมืองไทย



มาเที่ยวครั้งแรก ก็ได้ข่าวว่า มีอาจารย์ดีหลายองค์ที่กรุงเทพฯ ที่จะสอนวิปัสสนากรรมฐาน ไปหาท่านเจ้าคุณที่วัดมหาธาตุ ปี ๒๕๐๙ เราเป็นอาสาสมัครเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ สอนที่ธรรมศาสตร์ด้วย ตอนไปก็ข้ามถนนไปจากฝั่งวัดมหาธาตุ (หัวเราะ) ตอนเช้าจะนั่งสมาธิ เดินจงกลม ทำอย่างนั้นอยู่ประมาณ ๖ เดือน ก็มีความสนใจมากขึ้นทำให้เราอยากบวช



ในปีนั้นก็บวชที่วัดหนองคาย เป็นสามเณร ฝึกกรรมฐานที่นั่นหนึ่งปี อยู่แต่ในห้อง อยู่ในกุฏิ มีระเบียบเคร่งครัดไม่ให้ออกจากกุฏิ ไม่ให้คลุกคลีกับใคร ต้องอยู่และปฏิบัติก็ได้ผลในการปฏิบัติ



ตอนแรกก็มีความสงสัยว่า ปฏิบัติอย่างนี้แล้วจะได้ผลอย่างไร จนกระทั่งขอให้บวชเป็นพระ ท่านเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย ก็ส่งไปอยู่ที่วัดหนองป่าพงให้ปฏิบัติและศึกษาอยู่กับหลวงพ่อชา ที่จังหวัดอุบลฯ ๑๐ ปี ที่หนองป่าพง จากนั้นหลวงพ่อชาก็ส่งไปอยู่ตามสาขาต่างๆ อย่างที่อำเภออำนาจเจริญ ตั้งวัดนานาชาติ จากนั้นมีผู้นิมนต์ไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษจากวันนั้นถึงวันนี้ ๒๖ พรรษา





๑. ก่อนที่หลวงพ่อจะมาศรัทธาในพระพุทธศาสนา คงเคยนับถือคริสต์มาก่อน ตรงไหนที่ทำให้เลื่อมใสพระพุทธศาสนา ?



พ่อแม่เราเป็นคริสต์ เรานับถือศาสนาแต่ไม่เอาจริงเอาจังด้วย อาตมาก็มีศรัทธาตั้งแต่เป็นเด็กก็ไม่ค่อยสงสัย บาทหลวง หรือพ่อแม่พูดอย่างไร ก็ไม่ค่อยสงสัย แต่พอตอนวัยรุ่นอายุ ๑๕-๑๖ ปีจึงเกิดความสงสัย มักจะถาม อยากจะรู้พระเจ้าเป็นอย่างไร มีหรือไม่มี แล้วมีประโยชน์อะไรที่จะทำอย่างนี้ต่อไป



แล้วก็มาสมัครเป็นทหารเรือ ออกจากบ้านไปอยู่ห่างไกลจากพ่อแม่ ไปหาความสุขสนุกทางโลกไม่เคยคิดเรื่องของพระพุทธศาสนาเลย จนกระทั่งได้พบพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่นแล้วก็อ่านหนังสือ ศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ท่านบอกว่าอย่าไปเชื่อ ต้องทดลอง ต้องค้นคว้าต้องเห็นเอง นี่ก็เป็นจุดที่ทำให้เราศรัทธา



หลังจากนั้นอายุ ๒๑ ปี เราก็มีศรัทธามั่นคง ศาสนานี้ก็ถูกใจเรามันมีทั้งปฏิบัติ มีทั้งพิสูจน์ได้เห็นความจริงในใจเรา และเราไม่จำเป็นต้องเชื่อในสิ่งที่เราพิสูจน์ไม่ได้





๒. ตอนที่ไปเป็นทหาร มีเพื่อนที่นับถือพุทธศาสนาอยู่แล้วหรือเปล่า ?



สมัยนั้นไม่มีใครนับถือพุทธศาสนาเลย เพราะเมื่อ ๕๐ ปีก่อน คนอเมริกันที่เป็นรุ่นเดียวกันส่วนมากก็ไม่เคยมีใครสนใจศาสนาไม่ว่าจะเป็น คริสต์ หรือศาสนาอะไรก็ไม่สนใจ เบื่อแล้ว และก็ตอนนั้นยังเป็นหนุ่มอยู่ด้วย คิดกันว่าศาสนาเป็นเรื่องสมัยโบราณ เป็นคนล้าสมัย ส่วนมากจะเชื่อว่าวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งสูงสุดแล้ว แต่เราก็สงสัยหลายอย่าง ในวิทยาศาสตร์ด้วย (หัวเราะ) วิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ลึกซึ้ง พอสงสัยว่าจิตใจของ เราเป็นอย่างไรเรื่องวิทยาศาสตร์ของตะวันตก ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องภายนอก





๓. เหตุผลที่คนตะวันตก ให้ความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา



ส่วนมากชาวตะวันตกให้ความสนใจในด้านการปฏิบัติ เพราะเราหาในวัฒนธรรมในศาสนาของเราไม่เจอ แต่เดี๋ยวนี้โลกมันคับแคบแล้ว เอเชียกับยุโรปก็ไม่ห่างไกลกันเท่าไรนักเมื่อ ๕๐ ปี มาแล้ว เราสังเกตดูความคิดของชาวต่างประเทศกำลังจะเปลี่ยนไปบ้าง ศรัทธาในวิทยาศาสตร์มันกำลังจะเสื่อม ศรัทธาในพุทธศาสนาก็จะเสื่อมด้วย หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ วัฒนธรรมญี่ปุ่นกับวัฒนธรรมอเมริกา มีการแลกเปลี่ยนกันมาก สิ่งที่เราได้รับจากวัฒนธรรม ญี่ปุ่น คือ พุทธศาสนา



ส่วนมากเรามีความคิดสองอย่าง ดีชั่ว ถูกผิด เท่านั้นที่จะพิจารณาได้ และพระพุทธเจ้าสอนให้ใช้สติสัมปชัญญะ ที่จะเห็นสัจธรรม และทางวัฒนธรรมของเรา ในศาสนาคริสต์ไม่มีใครพูดถึงสติสัมปชัญญะด้วยนั่นเป็นเรื่องเชื่อถือ เรื่องเหตุผล เรื่องอุดมคติ ทำให้เรามีความยึดมั่นถือมั่นในอุดมคติสูง และที่จะเข้าใจการเป็นมนุษย์จริง ซึ่งไม่มีใครรู้นี่ก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าต้องรู้การเป็นมนุษย์เป็นอย่าง ไร คบคิดว่าการเป็นมนุษย์ต้องรู้ตัวเอง ต้องรู้โลภ โกรธหลงเป็นอย่างไรว่ามันเกิดที่ไหนดับที่ไหน



พุทธองค์บอกให้เราเห็นผลของการทำความดี ว่าจะได้ผลอย่างนี้ ถ้าทำไม่ดีก็ได้ผลอย่างนี้เราจะเปรียบเทียบกับอะไร ถ้าเราจะเพิ่มความสุขควรทำอย่างไร ถ้าเราอยากเพิ่มความทุกข์ควรทำอย่างไร แล้วก็เห็นทางพ้นทุกข์ด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นหลักธรรมที่เราไม่เห็นในวัฒนธรรม และศาสนาทางตะวันตก



สังคมทางตะวันตกมีความเจริญทางเทคโนโลยีสูงจำเป็นขนาดไหนที่พวกเขาต้องหาที่ พึ่งทางจิตใจก็มีการปฏิบัติก็เป็นศาสนาคริสต์ อิสลาม ยิว ศาสนาสามอย่างนี้มันเป็นศาสนาที่นับถือพระเจ้า และก็เป็นศาสนาที่เรามีเรื่องพระเจ้า แล้วพระพุทธเจ้าก็มีคำสอนเริ่มต้นที่อริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สิ่งที่เราเห็นได้ในปัจจุบันคือความทุกข์เราจะเห็นความทุกข์ของเราได้นี่ ต้องเชื่อโดยการพิสูจน์ และเราก็จะสามารถเห็นนิพพานได้



นี่ก็เป็นที่มาของคริสต์กับพุทธซึ่งตรงกันข้าม คริสต์เริ่มต้นที่พระเจ้า จุดเริ่มต้นของพุทธศาสนาก็พระพุทธเจ้า มองเห็นความทุกข์ของมนุษย์ นี่เป็นวิธีที่จะพิจารณาในสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็จะเห็นพระเจ้าได้ ถ้าคิดแบบคริสต์ก็เห็นทางพ้นทุกข์ได้ เราก็คิดว่าการปฏิบัติเกิดจากการเชื่อถือพระเจ้า แล้วก็ถ้ามีศรัทธาและเชื่อถือในคำสอนของพระเจ้าก็จะมีคนดีเหมือนกัน มันก็แล้วแต่บุคคลเป็นอย่างไร



แม่ของอาตมาเป็นชาวคริสต์ ไม่สงสัยเรื่องศาสนา แม่สงสัยไม่ได้เลย และก็ได้ผลดีด้วย (หัวเราะ) แต่ท่านก็สามารถแก้ปัญญาได้ด้วยความศรัทธาในพระเจ้า แม่ก็เป็นคนอย่างนั้นแต่ลูกชายก็เป็นคนตรงกันข้ามเป็นชาวพุทธ (หัวเราะ)





๔. สังคมของคนตะวันตกเป็นคนขี้สงสัยช่างซักถาม แล้วยากไหมที่เราจะไปเผยแพร่ให้เขาเข้าใจ ?



ก็ไม่ยากเท่าไร ก็มีคนสนใจมากในการปฏิบัติในทางพุทธศาสนา ปัจจุบันชาวตะวันกำลังสนใจวัตถุนิยมกันมาก ตอนนี้คนกำลังดูจิตพิจารณาตัวเองเป็นอย่างไร นี่ก็เป็นสิ่งที่ชาวต่างประเทศกำลังทำอยู่ที่อเมริกา ซึ่งมีประโยชน์มาก แล้วก็เราอยู่อังกฤษ ๒๖ ปีแล้ว เราก็สังเกตเห็นคนที่สนใจมากขึ้นคนที่ปฏิบัติแล้วได้ผลที่จะเห็นทางก็มีมาก ขึ้น



คำสอนของพระพุทธเจ้าก็ทำให้เราทึ่ง คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นคำสอนที่จะพิจารณาให้เราเห็นจิตใจ ความสงสัยที่เกิดขึ้นในใจ ที่จะปล่อยวางไม่ให้เกิดความสงสัยได้ เมื่อมีความสงบแล้ว ก็จะเห็นถึงความ สงบในจิตใจของเรา อย่างแท้จริง และจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย ซึ่งสังคมในตะวันตกความสงบไม่ค่อยมี (หัวเราะ) เขาก็อยากได้สันติภาพมาเป็นความสงบ



การปฏิบัติของเราที่หลวงพ่อชาสอนในสมัยก่อนที่วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลฯ เราก็นึกถึงแต่หลวงพ่อชานี่ ก็เป็นความจำที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ตอนที่อยู่กับหลวงพ่อชา ก็ได้ผลในเรื่องของการปฏิบัติ เพราะท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะแนะนำทางที่จะปลดทุกข์ได้ แรกๆ เราก็อยู่กับหลวงพ่อชา ปี ๒๕๑๐ ตอนนั้นเราไม่รู้ภาษาไทย และภาษาอีสาน ท่านหลวงพ่อก็เทศน์เป็น



ภาษาอุบลฯ แล้วเราก็ไม่รู้เรื่อง



แรกๆ ก็นั่งฟังหลวงพ่อท่านเทศน์หลายชั่วโมง ด้วยความที่เราเป็นพระฝรั่ง เราจึงขอ ว่าช่วงที่หลวงพ่อเทศน์นั้นเราจะกลับกุฏิ ไปทำสมาธิในกุฏิดีกว่า แต่หลวงพ่อไม่อนุญาตบอกว่า ต้องอยู่ต้องอดทนฟังเทศน์ ท่านก็บังคับให้ให้อยู่



อารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตของเราเอง แทนที่จะยอมเพราะเรื่องภาษา ก็เป็นอุปสรรค อาจารย์ชาก็พูดภาษาอังกฤษไม่เป็น พระสุเมโธก็พูดภาษาไทยไม่เป็น หลวงพ่อชาจะสอนพระฝรั่งอย่างไร แต่ท่านก็มีอุบาย มีความสามารถที่จะให้เราพิจารณาอารมณ์ที่เกิดขึ้น และท่านบอกว่าพระสุเมโธความอดทนมันน้อยไป เป็นคนอเมริกัน วัฒนธรรมอเมริกัน เป็นวัฒนธรรมที่ชอบทำอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่คนที่อดทนต่ออะไร และท่านก็บอกว่า พระสุเมโธไม่เข้าใจภาษาไทยก็ไม่เป็นไรแต่ให้อดทนกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น



เบื่อแล้วก็เกิดอารมณ์โกรธ โมโหอย่างนี้ แล้วก็เราก็คิดแบบคนอเมริกันด้วย สงสารตัวเองว่าเราเป็นฝรั่งไม่รู้ภาษา หลวงพ่อชายังจะให้เราอยู่ไม่เห็นใจเราแล้ว ตอนนั้นนั่งพับเพียบไม่ค่อยได้ ด้วยความ ที่เราไม่เคยนั่งอย่างนี้ จึงทำให้เจ็บปวดอย่างแรงที่สุด จึงอยากเปลี่ยนท่านั่ง



พิจารณาในอารมณ์ แล้วทราบความทุกข์กับชีวิตของเราได้ ที่กุฏิครั้งแรกกุฏิที่อยู่วัดหนองป่าพง พระไทยสมัยนั้นก็ไม่สูงเท่าไร นิยมสร้างเตี้ยๆ และไม่มีพระฝรั่ง เราต้องก้มตัวลง ยืนตรงไม่ค่อยได้ เวลาเข้าประตูก็ต้องก้ม เสร็จแล้วก็เกิด อารมณ์รังเกียจกุฏิหลังนั้น บ้างก็อยากได้กุฏิสูงกว่านี้ แล้วไปหาหลวงพ่อบอกว่ากุฏิมันเตี้ยเกินไป อยู่ยาก มันโดนศีรษะ มันอันตราย และเรารู้สึกไม่สบายใจ อยากอยู่กุฏิอื่น



หลวงพ่อไม่ให้เรา พอพิจารณาแล้วว่ากุฏิ พอที่จะกันแดดกันฝนได้ กุฏิเตี้ยนั้นพออยู่ได้ก็ดีแล้ว ถ้าพิจารณาโดยปัญญาอย่างนี้ก็พอใช้ได้ ถ้าพิจารณาแบบคนอเมริกัน ตามวัฒนธรรมของคนอเมริกาว่าเตี้ยเกินไป เล็กเกินไป ไม่เหมาะไม่ชอบกุฏิหลังนี้ก็จะมีความทุกข์อยู่ ถ้าเราพิจารณาด้วยปัญญา ก็จะพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่



เรื่องอาหารก็เหมือนกัน หลวงพ่อท่านชอบทรมานลูกศิษย์ เรื่องอาหารญาติโยมก็นำมาถวาย แล้วหลวงพ่อก็ให้เทใส่กะละมังใหญ่ เป็นปลา เป็นไก่เป็นหมูทุกอย่างแล้วก็ผสมกัน จะมีข้าวเหนียวมีอาหารอีสานมีรสแปลกๆ ที่เราไม่เคยชิม เราก็เลยเกิดอารมณ์รังเกียจอาหารด้วยมันไม่อร่อยมันไม่คุ้นเคย แล้วก็มีของ หวานที่โยมนำมาถวายผสมกันหมดเลย มันทำให้การ ทานอาหารลำบากแล้วก็มีความทุกข์เกิดขึ้น



ความจริงพระพุทธเจ้า สร้างวินัยให้พระรับอะไรก็ได้ไม่ใช่แต่สิ่ง ที่ชอบ หรือเป็นอาหารของเศรษฐีที่เอร็ดอร่อย แต่ให้คิดว่าอาหารที่ให้ทานมานั้น เป็นอาหารที่บริสุทธิ์ ให้พิจารณาอย่างนี้ และอาหารที่มีอยู่ในบาตรนั้นก็ดีแล้ว พอที่จะรักษาสุขภาพร่างกายให้ดีด้วย



เรื่องอาหารของอเมริกา เปรียบเทียบกับอาหารที่มีอยู่ในวัดหนองป่าพงนั้น เราก็คิดว่าอาหารของอเมริกาดีกว่าอร่อยกว่า อาหารที่วัดหนองป่าพงก็แย่ ไม่อร่อยเลย นั่นก็เป็นความคิดความเห็นที่เกิดขึ้น ทำให้เรามีความทุกข์ พิจารณาด้วยปัญญาเราก็จะเห็น และปล่อยความคิดแบบนี้ได้เราก็จะสามารถฉันอาหารได้ด้วยสติด้วยปัญญา



เมื่อ ๒๖ ปีมาแล้วตอนนั้นโยมได้นิมนต์ไป อยู่ประเทศอังกฤษ แล้วเราก็อยู่จนเคยแล้ว อยู่วัดหนองป่าพง วัดป่านานาชาติมากว่า ๑๐ พรรษาแล้ว แล้วก็เปลี่ยนแปลงร่างกายใจ ให้เข้ากับพระไทยในสมัยนั้นตอนนั้นที่ไปอยู่อังกฤษกับหลวงพ่อเราก็สงสัยว่า เราจะรักษาวินัยได้ไหม ในอังกฤษไม่ค่อยมีใคร รู้เรื่องของพระพุทธศาสนา แล้วเราจะอยู่ในลอนดอนอย่างไร ถ้าไม่มีเงินจะใช้ แล้วคนอังกฤษจะเข้าใจอย่างไร เป็นคนแปลก ศีรษะอย่างนี้ (จับศีรษะ) มีจีวรอย่างนี้ เดินวิบากใน กรุงลอนดอน จะเข้าใจความประสงค์ของเราอย่างไร เราก็สงสัยอย่างนี้



แล้วเราก็ถามหลวงพ่อว่า หลวงพ่อถ้าไม่มีใครจะใส่บาตร ไม่มีใครจะถวายปัจจัย ๔ เราจะอยู่ได้อย่างไร อาจารย์ก็ตอบอย่างดีว่า คนตะวันตกไม่มีเมตตา เราก็ว่ามีเมตตาเหมือนกันและอาจารย์บอกว่าเราต้องอยู่ได้ เพราะชาวพุทธมีอยู่ทั่วโลก และชาวพุทธเป็นคนดีเราต้องอาศัยความดี ท่านก็อยากให้เราพิจารณาในความเป็นมนุษย์ว่าเป็นอย่างไร



ในประเทศอังกฤษ อเมริกาคนใจดีก็มีมาก คนมีเมตตาก็มี ท่านก็อบรมเราอย่างนี้ หลวงพ่อชาก็เก่งนะ ทั้งที่ท่านไม่เคยไปอเมริกา ไม่รู้ว่าอังกฤษเป็นอย่างไร อยู่เมืองไทยตลอด แต่ท่านก็รู้ในเรื่องของสัตว์มนุษย์ เราว่าเป็นอย่างไร เราก็ไปอยู่อังกฤษ ๒๖ ปี ก็ดีเหมือนกัน ไม่อดอาหาร ที่อยู่อาศัย ผ้าจีวรก็สมบูรณ์ดี เราไปอยู่ก็ไม่มีปัญหาเรื่องอาหาร เรื่องสิ่งจำเป็น


เจ้าคุณโรเบิร์ต ศิษย์ฝรั่งรูปแรกของหลวงพ่อชา




พระราชสุเมธาจารย์ (โรเบิร์ต สุเมโธ) เจ้าอาวาสวัดอมราวดี เมืองฮาร์ดฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ศิษย์ฝรั่งรูปแรกของหลวงพ่อชา ดีกรีปริญญาโทรูปนี้ เป็นอดีตนาวิกโยธินหนุ่มชาวอเมริกัน นามว่า ‘โรเบิร์ต สุเมโธ’ ที่หันมาสนใจใฝ่รู้เรื่องราวทางพุทธศาสนา ทั้งๆ ที่ครอบครัวนับถือศาสนาคริสต์ และเข้าโบสถ์มาตั้งแต่เด็ก แต่ทว่าศรัทธาก็ยังไม่เกิด กระทั่งได้สมัครเข้าเป็นทหารเรือ และไปประจำการที่ญี่ปุ่น มีโอกาสได้ศึกษาพุทธศาสนานิกายเซนจากการอ่านตำรับตำราต่างๆ แต่ก็ยังมิได้ลงมือปฏิบัติกระทั่งออกจากกองทัพเรือ และกลับไปเรียนต่อจนจบปริญญาโท



ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสมาเมืองไทย และได้รู้ว่าที่กรุงเทพฯ มีอาจารย์สอนกรรมฐานหลายรูป ในปี 2509 ก็ได้มาเป็นอาสาสมัครครูสอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้มีโอกาสไปศึกษาปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เดินจงกรม ที่วัดมหาธาตุฯ อยู่ราว 6 เดือนก็เกิดความรู้สึกว่าอยากบวช ดังนั้น ในปีนั้นเองจึงได้ไปบวชที่จังหวัดหนองคาย พระอุปัชฌาย์ในสมัยนั้นคือ พระราชปรีชาญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดหนองคาย ปีแรกได้บรรพชาเป็นสามเณรก่อน และฝึกหัดปฏิบัติกรรมฐาน ต่อมาจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และพระอุปัชฌาย์ได้ส่งท่านสุเมโธไปจำพรรษากับพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท) ที่วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี



ที่วัดหนองป่าพง ท่านสุเมโธได้มีโอกาสศึกษาและเรียนรู้วิถีการปฏิบัติธรรมจากหลวงพ่อชามากมาย ขณะเดียวกันก็มีชาวต่างประเทศเข้ามาบวชและศึกษาปฏิบัติธรรมในวัดหนองป่าพง มากขึ้น ดังนั้น ในปี 2518 หลวงพ่อชาจึงได้จัดตั้งวัดป่านานาชาติขึ้นที่บ้านบุ่งหวาย ซึ่งอยู่ห่างจากวัดหนองป่าพง ราว 8 กม. โดยให้ท่านสุเมโธเป็นผู้ดูแล



หลังจากนั้นอีก 1 ปี ท่านสุเมโธก็ได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่อเมริกา ขากลับได้แวะพักที่พุทธวิหารธรรมประทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปฏิปทาและวัตรปฏิบัติของท่านก่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่คณะผู้ศรัทธาที่นั่น จึงได้นิมนต์ท่านให้พำนักอยู่ เพื่อเป็นผู้นำในการปฏิบัติ แต่ท่านสุเมโธบอกว่าจะต้องนำไปกราบเรียนครูบาอาจารย์ คือหลวงพ่อชาก่อน



ต่อมาในปี 2520 ท่านสุเมโธและหลวงพ่อชาก็รับนิมนต์ไปเผยแผ่ธรรมที่อังกฤษ หลังจากนั้นหลวงพ่อชาก็ให้ท่านสุเมโธอยู่เผยแผ่ธรรมที่อังกฤษต่อไป ตลอด 30 ปีแห่งการเผยแผ่ธรรม และการจัดตั้งวัดอมราวดีในประเทศอังกฤษ รวมทั้งการบริหารจัดการดูแล แม้เป็นงานที่หนักเหนื่อย และมีอุปสรรคมากมายเพียงใด แต่ด้วยความมานะอดทนและมุ่งมั่นในการทำงานให้พระศาสนาของพระสุเมโธ ทำให้งานทุกอย่างสำเร็จลงด้วยดี



ในปี 2547 พระสุเมโธก็เป็น 1 ใน พระสงฆ์ 73 รูปที่ได้รับพระราชทานแต่งตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์สำหรับพระสงฆ์ผู้ทำคุณ ประโยชน์ต่อพระศาสนาและประเทศชาติเป็นกรณีพิเศษ เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 12 ส.ค. 2547 พระสุเมโธได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ ‘พระราชสุเมธาจารย’์



เมื่อเดือนพฤษภาคม 50 ที่ผ่านมา พระราชสุเมธาจารย์ ได้เดินทางมาร่วมงานประชุมชาวพุทธนานาชาติ ครั้งที่ 4 เนื่องในวันวิสาขบูชา ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ



รายการธรรมาภิวัฒน์ ซึ่งออกอากาศทาง ASTV News 1 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น. โดยมีอัญชลีพร กุสุมภ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้นิมนต์ท่านมาร่วมพูดคุยในรายการ ซึ่ง ‘ธรรมลีลา’ ขอนำมาเรียบเรียงและถ่ายทอดบางส่วนในห้องสนทนา ดังนี้


หลวงพ่อชากับพระสุเมโธที่วัดหนองป่าพง











ตอนนั้นพระอาจารย์ก็ยังพูดภาษาไทยไม่ได้ หลวงพ่อชาก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ทำไมสามารถที่จะสื่อกันจนกระทั่งศรัทธายอมเป็นลูกศิษย์ แล้วก็ทำอะไรต่อมิอะไรให้กับหลวงพ่อชาได้เยอะแยะ




ได้ไปกราบนมัสการพระอาจารย์หลายรูปแล้ว ก่อนที่บวชเป็นพระนะ แต่ไม่ใช่ที่จะเอาเป็นอาจารย์ของเราเองนะ ศรัทธายังไม่เกิด ได้พบหลวงพ่อชาก็เลยไม่ต้องไปหาองค์ไหน อันนี้อธิบายไม่ได้เหมือนกัน



• แค่พบก็รู้สึกศรัทธาเลยหรือ



ศรัทธา และท่านก็มีวิธีที่จะทำให้เราได้ดูอารมณ์ของเราได้ ครั้งแรกเป็นปัญหาในเรื่องภาษาด้วย เราเป็นฝรั่งด้วย ไม่รู้ประเพณี ไม่รู้วินัย ไม่รู้อะไรเลย ต้องสอนแบบคนโง่ๆ อีกอย่างหนึ่งไม่รู้จักอาหารอีสานอะไรสักอย่าง มันต่างกันทำให้มีอารมณ์แบบเนกกาทีฟ โมโหง่าย บางทีก็สับสนวุ่นวายทั้งกายและใจ ก็รับรู้นะว่ามีอารมณ์อย่างนั้น ท่านจะแนะนำให้เราดูอารมณ์นั้น เห็นเป็นอารมณ์แบบอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้ที่จะปล่อยได้ ที่จะเป็นผู้รู้อารมณ์ ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ ท่านก็พูดอย่างนี้



• หลังจากนั้นก็ไปเผยแพร่ธรรมในอังกฤษ หลวงพ่อชาไปด้วยใช่ไหมคะ



หลวงพ่อชาก็ไปด้วยครั้งแรก รับนิมนต์จากชาวอังกฤษ มูลนิธิพุทธศาสนากลุ่มกรุงลอนดอนก็นิมนต์ และหลวงพ่อชาก็ยังสงสัยว่าจะอยู่ได้ไหม มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์



ท่านก็ไปด้วย และก็เห็นใจคนชาวอังกฤษนะ ที่มูลนิธิที่นั่นด้วย ท่านก็อยู่ไม่นาน ได้เดือนหนึ่ง แล้วท่านก็กลับมาที่เมืองไทยจำพรรษา ปล่อยให้เราทำงานทำหน้าที่ต่อ



• หลักปฏิบัติที่สำคัญในวัดอมราวดี คือการฝึกวิปัสสนาใช่ไหม



ส่วนมากฝรั่งเขาสนใจวิปัสสนามาก วิปัสสนาเป็นคำสอนที่พระพุทธเจ้าแนะนำให้พ้นทุกข์ได้ ในประเทศอังกฤษทุกวันนี้ก็มีความอุดมสมบูรณ์ในวัตถุภายนอก แต่ยังเป็นทุกข์อยู่ในจิตใจของประชาชน ไม่มีความสุขเท่าไหร่



• มีสตางค์อย่างเดียว แล้วเขาก็จะเดินเข้ามาแล้ว ถามว่าทำยังไงให้เขามีความสุขจริงๆ ใช่ไหมคะ



ก็เป็นบางคน ก็มีความหยั่งรู้ว่าจะปฏิบัติเองได้ แล้วที่จะไปหาจิตแพทย์ ยาระงับประสาท หรือกินแล้วทำอะไรต่อไป จะสะสมทรัพย์สมบัติมากขึ้น เราก็ยังเป็นทุกข์อยู่ ปัญญาชนที่นั่นมีความสงสัยในด้านปฏิบัติธรรม พุทธศาสตร์ก็คงเป็นประโยชน์มาก ทุกวันนี้ชื่อเสียงของพุทธศาสตร์นั้นก็มีในประเทศอังกฤษนะ ในยุโรปด้วย



• เวลาคนที่เข้ามาปฏิบัติธรรม จริงๆ แล้วสนใจเพียงแค่วิปัสสนา ทำสมาธิ หรือสนใจเนื้อหาสาระของตัวพระพุทธศาสนาจริงๆ



แล้วแต่บุคคล ส่วนมากก็สนใจแต่การปฏิบัติ บางทีก็ไม่อยากจะทำให้เป็นชาวพุทธ อยากจะทำปฏิบัติวิปัสสนาแบบพระพุทธเจ้า



• ทำไมเขาไม่เปลี่ยนศาสนา ไม่ศรัทธาหรือว่าเห็นพุทธศาสนาของเราเป็นเพียงแค่วิธีการที่จะบำบัดแทนจิตแพทย์เท่านั้น



ส่วนมากทางยุโรปก็ถือพุทธศาสนาเป็นที่ยึดมั่นถือมั่น แบบถือว่าเราเป็นชาวพุทธแล้วเราจะรังเกียจชาวคริสต์ ชาวยิว ชาวอิสลามอะไร ศาสนาก็เป็นอย่างนั้นที่จะสร้างความยุ่งยาก แตกแยกในสังคมได้ ก็มีความเห็นอย่างนี้มาก เพราะส่วนมากไม่รู้จักพุทธศาสตร์เป็นอย่างไร ครั้งแรกที่เราอยู่อังกฤษ ปีแรกมีคนหนึ่งมาบอกว่า ทำไมท่านมาเพื่อที่จะเอาชาวคริสต์เปลี่ยนเป็นศาสนาพุทธ เรามีพระเจ้าอยู่แล้ว ว่าด่าเราด้วย พูดแบบนี้ เราบอกว่าเราไม่มีเจตนาอย่างนั้นเลย



• อธิบายอยู่นานไหมคะ



2-3 วันได้ แล้วเขาก็รับดีด้วย เขาไม่เคยคิดว่าเราจะเป็นอย่างนี้ เพราะว่า 30 ปี เราไม่เคยโฆษณา ไม่เคยที่จะสร้างความไม่ดีอะไรให้กับสังคม



• ทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมากไหม ตั้งแต่ 30 ปี ที่หลวงพ่อไป



เปลี่ยนแปลงไปมาก เห็นคนที่ได้ปฏิบัติก็ได้ผลได้ความหยั่งรู้ด้วย ก็มีความสามารถจะสอนคนอื่นได้ เราไปอยู่ครั้งแรกคนที่เป็นอาจารย์ที่จะสอนคนอื่นเรื่องการปฏิบัติมีไม่มาก เท่าไร มีแค่ 2-3 คน เดี๋ยวนี้ก็มีมากขึ้น เป็นผู้หญิงบ้าง เป็นผู้ชายบ้าง เป็นฆราวาส เป็นพระ และเป็นแม่ชีด้วย ก็มีความสามารถมีความรู้จากการปฏิบัติ ก็สมควรที่จะอธิบายให้คนอื่นปฏิบัติตามได้



• การแพร่หลายอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาในฝั่งตะวันตกก็เพราะว่าเขาเห็นประโยชน์ว่าเอาไปบำบัดจิตได้ใช่ไหม



เห็นประโยชน์ สนใจมากในเรื่องสร้างจิตวิทยาศาสตร์ ด้วยจิตวิทยา 2 อย่างนี้ วิธีปฏิบัติของชาวพุทธ การวิปัสสนามากขึ้น เพราะไม่ค่อยมีในศาสนาคริสต์หรือในวัฒนธรรมชาวตะวันตกหรือในวิทยาศาสตร์ด้วย



เรื่องแนะนำให้มีสติสัมปชัญญะ สติปัญญามีอยู่แต่ไม่ได้เป็นคำสอนที่สำคัญในวัฒนธรรมของตะวันตก และนี่ก็เป็นเหตุที่ทำให้เราต้องมาเมืองไทยแสวงหาคำสอน สมัยที่เราอยู่ แสวงหาจากซานฟรานซิสโก แสวงหาเท่าไรก็ไม่เจอ ก็เลยต้องมาที่นี่



• ท่านทะไลลามะเองก็ทำให้ทางฝั่งตะวันตกสนใจพระพุทธศาสนามากใช่ไหมคะ



เป็นตัวอย่างที่ดีนะ ชาวต่างประเทศนับถือเคารพท่านมาก คนที่ไม่สนใจพุทธศาสตร์ก็ยังนับถือทะไลลามะได้ ทะไลลามะไปที่ไหนก็มีคนร่วมไปด้วยเป็นหลายพัน ผู้มีความสงบ แล้วก็ส่วนมากฝรั่งก็ไม่มีความสงบอย่างนั้น แล้วบางทีท่านก็ไม่ได้พูดมาก เป็นบางครั้งบางทีก็อบรมในเรื่องการปฏิบัติเป็นตัวอย่าง ท่านมาอังกฤษก็อยากเข้าใกล้ชิดท่าน เหมือนที่เราอยากใกล้ชิดหลวงพ่อชา ไม่ต้องพูดอะไรมาก อยู่ใกล้อาจารย์ที่ดีก็มีความสงบอยู่แล้ว



• นอกจากทางด้านการปฏิบัติแล้ว ทางทฤษฎี ทางด้านวิชาการของพุทธได้มีการสอนกันบ้างไหม



ก็มี ส่วนมากจะสอนแบบที่เหมือนกับหลวงพ่อชาสอน อริยสัจ 4 เป็นคำสอนที่ลึกซึ้งมาก และปฏิจจสมุปบาท เอาคำส่วนใหญ่นี้เป็นหลักปฏิบัติ และก็อบรมสอนในเรื่องของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งอาศัยด้วย ความจริงเราก็อธิบายตามความสามารถของเรา ความรู้ของเราด้วย หลวงพ่อชาวัดป่าส่วนมากก็มีวิธีปฏิบัติแบบภาวนาพุทโธ ชื่อพระพุทธเจ้า เป็นคำภาวนาทำให้มีสติอยู่ในปัจจุบันได้ แล้วก็ที่อาศัยผู้รู้ ผู้มีสติ ในปัจจุบันก็เป็นความระลึก ความพิจารณาที่จะเป็นประโยชน์ให้มีศรัทธามากขึ้น แล้วก็พระพุทธ พระสงฆ์ เป็นสรณะเป็นที่พึ่ง ชอบสอนอย่างนี้มาก ให้ชาวฝรั่งมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างจริงๆ



• จริงๆ แล้วชาวพุทธจริงๆ ต้องศึกษาใช่ไหม



ศึกษานี่สำคัญปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ มีทั้งปริยัติธรรม



ก็เป็นที่เราได้จากตำรา หรืออาจารย์ ค้นเองได้ และเอาคำสอนอย่างนี้เพื่อจะรู้อารมณ์ที่จะเกิดขึ้น รู้จิตใจของเราเองได้ เรื่องอริยสัจ 4 นี้ มีความทุกข์อยู่เป็นอริยสัจที่ 1 เวลาที่เรายังไม่ปฏิบัติแล้วยังมีความทุกข์อยู่น่ะ แล้วนิสัยของเราไม่อยากให้มีความทุกข์ แสวงหาความสุขนะ พอได้ปฏิบัติแล้ว เริ่มการปฏิบัติ ก่อนที่บวชเป็นพระ มากรุงเทพฯ มาปฏิบัติที่วัดมหาธาตุฯ เป็นครั้งแรก แล้วก็อาจารย์ที่นั่นบอกว่าให้ดูความทุกข์ที่เกิดขึ้น ไม่ให้แสวงหาความสุข



ครั้งแรกเราปฏิบัติเพื่อที่จะมีความสุขความสงบได้ และอาจารย์ท่านเจ้าคุณที่วัดมหาธาตุฯ ในสมัยนั้น ก็ได้สอนให้มีสติ ดูความทุกข์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อที่จะให้เห็นความสุขได้ นี่เป็นอุบายของพระพุทธเจ้าที่จะแนะนำให้เรา ส่วนมากมนุษย์ที่อยากมีความสุข ความทุกข์ก็ไม่มี พระพุทธเจ้ายกความทุกข์มาเป็นพระอริยสัจ นั่นก็แปลกมาก แปลกมากที่จะเอาความทุกข์ที่เราไม่ต้องการยกเป็นอริยสัจ



• อยากให้พระอาจารย์มองกลับมาที่เมืองไทย ว่าตอนนี้บรรยากาศในเรื่องของการนับถือศาสนาพุทธการปฏิบัติครั้งก่อน กับครั้ง 30 ปีที่แล้วมาจนถึงขนาดนี้ เปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน



ก็มีความเห็นว่า เดี๋ยวนี้คนในกรุงเทพฯ เองก็มีคนหลายๆ คนมากขึ้นที่จะสนใจการปฏิบัติธรรม เมื่อ 30 ปีมาแล้ว หลวงพ่อชาบอกว่าคนไทยชอบทำบุญแต่ไม่อยากปฏิบัติธรรมและท่านก็พูดอย่างนี้ บ่อย ทุกวันนี้ถ้าเรามากรุงเทพฯ ก็มีคนสนใจกรรมฐานมาก ถ้ามากรุงเทพฯ ก็มีคนมานิมนต์ไปอบรมสอนวิปัสสนากรรมฐาน แล้วก็มีอาจารย์หลายรูปหลายองค์ ฆราวาสด้วยในกรุงเทพฯ เองที่มีความสามารถจะสอนวิธีปฏิบัติ



ปัจจุบันที่กรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงไปมาก จนเป็นเมืองใหญ่มาก มีบรรยากาศเครียดมาก ทำให้ชาวกรุงเทพฯ มีความทุกข์มากขึ้น และความทุกข์เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เราสนใจการปฏิบัติธรรม เพื่อแก้ทุกข์ บางคนที่เป็นปัญญาชนเห็นประโยชน์ที่จะปฏิบัติรักษาจิตเอง และก็แก้ปัญหาทางจิตใจได้



• แล้วสิ่งที่เปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดีของชาวพุทธ ท่านมองเห็นอย่างไรบ้าง



ก็เห็นหลายอย่างเดี๋ยวนี้ ความสันโดษก็ดี คนไทยก็มีน้อยลง อยากได้วัตถุมากขึ้น สมัยก่อนอยู่จังหวัดอุบลฯ ชาวบ้านบ้านนอกก็มีสันโดษ รู้จักพอดีพอสมควรมีวัฒนธรรม เดี๋ยวนี้ก็มีเปลี่ยนแปลงไปมาก อยากได้



• แล้วมีผลต่อการศรัทธาหรือว่าทำนุบำรุงศาสนาไหมคะ เมื่อชาวบ้านเปลี่ยนไป



อันนี้ก็ไม่รู้นะ เดี๋ยวนี้ศาสนาคนไทยก็สอนในเรื่องศาสนาจะเสื่อม ได้ยินคนไทยบ่นให้ทราบ ศาสนาพุทธเสื่อมมาก แต่หลวงพ่อชาบอกศาสนาพุทธเสื่อมไม่ได้ คนไทยซิเสื่อมได้ พระก็เสื่อมได้ แต่ศาสนาพุทธยังบริสุทธิ์อยู่นะ เพราะความจริงที่มีคำสอนของพระพุทธเจ้าในอินเดียเมื่อ 2550 ปีมาแล้ว ก็ยังใช้คำสอนอย่างนั้นในประเทศอังกฤษได้ในอเมริกาได้ ยังไม่มีเปลี่ยนแปลง ในบางทีวัฒนธรรมสมัยปัจจุบันนี้ คนจะเสื่อมได้ บางคนก็เห็นว่าทุกวันนี้คนไทยมักได้ผลจากการปฏิบัติมากกว่าสมัยที่เราเคย อยู่เมื่อ 30 ปีมาแล้ว



• จริงๆ แล้วพระพุทธศาสนาในประเทศไทยคนสนใจเรื่องของการวิปัสสนา เรื่องการปฏิบัติมากขึ้น แล้วก็ไม่ต้องวิตกว่าจะเสื่อมใช่ไหมคะ



เสื่อมแต่คนปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติ เป็นอย่างนั้น ที่มานี้เหมือนที่เราไปพบหลวงพ่อชา ท่านก็รู้นะ พุทธศาสตร์ในเมืองไทยมันผสมกันกับศาสนาพราหมณ์ศาสนาผี หลวงพ่อชาก็มีความตั้งใจจะอบรมให้ชาวไทยรู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้แค่ นี้ อย่างนี้ประเพณีนี้เป็นพราหมณ์ ไม่ได้เป็นเรื่องพระพุทธศาสนา ท่านเจ้าคุณพุทธทาสก็เหมือนกัน สมัยที่ท่านยังอยู่ที่สวนโมกข์ มีพระอย่างนี้สำคัญมากที่จะทำให้ศาสนาพุทธในเมืองไทยมีความเจริญ ทางที่เป็นประโยชน์มาก แล้วก็ทำให้ศาสนาพุทธบริสุทธิ์อย่างนี้ได้ ที่จะแนะนำให้รู้พุทธศาสตร์เป็นแค่นี้ เรื่องประเพณี เรื่องอะไรนี่ก็ไม่รังเกียจ ไม่ได้ดูหมิ่น ไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องพุทธศาสนาที่คนไทยจะรู้ ถ้าอยากจะรู้ อยากจะชำระ อยากจะพ้นจากความทุกข์ก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า บางคนก็ไม่อยากพ้นทุกข์เท่าไร่ อยากจะอยู่สวรรค์



• หลวงพ่อยังมีภาระสำคัญที่อยากจะทำอีกเยอะไหม ในการเผยแพร่ศาสนา



ปีนี้ก็อยู่นานแล้ว ตั้งวัด และมีผู้คนสนใจมาก และมีพระด้วย ที่เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย และก็พระเถระมากขึ้น จะเป็นชาวต่างประเทศรับผิดชอบทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาส ชีวิตของเราตายแล้วคงจะมีความสามารถสืบต่อไปได้ สบายใจจริงๆ นะ แล้วเราไม่ผิดหวัง เป็นประโยชน์มากน่ะที่อยู่มา 30 ปี

ภายในโบสถ์วัดอมราวดี ประเทศอังกฤษ



 
 
 
 
 
ทุกวันนี้ เจ้าคุณโรเบิร์ต ศิษย์ฝรั่งรูปแรกของหลวงพ่อชา ในวัย 73 ปี พรรษา 41 ยังคงเดินหน้าเผยแผ่ธรรมทางตะวันตก ด้วยวัตรปฏิบัติและปฏิปทาอันงดงาม ยังความศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ผู้พบเห็น สมเป็นสาวกแห่งพระศาสดาสัมมาสัมพุทธะ และศิษย์หลวงพ่อชาโดยแท้

0 comments:

Post a Comment