ประวัติหลวงพ่อฤาษีลิงดํา วัดท่าซุง อุทัยธานี

Wednesday, May 26, 2010

ตามรอย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน "วิสุทธิเทพแห่งวัดท่าซุง"
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดํา) วัดท่าซุง

ธรรมโอวาท



"พระพุทธเจ้าบอกอย่าสนใจกายภายใน ในร่างกายเราเอง อย่าสนใจในร่างกายของคนอื่น อย่าสนใจวัตถุธาตุใดๆ เพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มีสภาพไม่เที่ยงและเป็นอนัตตาในที่สุด"




ปัจฉิมโอวาท






"ลูกเอ้ย... นี่เป็นธรรมดาของร่างกาย

มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย เป็นธรรมดา

สังขารมันเป็น อนิจจัง ไม่เที่ยงหรอก

ทุกขัง ตอนอยู่ มันเป็นทุกข์

แต่ผลที่สุด มันก็ อนัตตา สลายไป มีแค่นี้

อย่ามายึดติดสังขารพ่อเลย"



ขอแจ้งให้ทราบว่าทุกคนที่ต้องการเป็นศิษย์ ไม่ต้องขออนุญาต ขอให้ปฏิบัติตามนี้ อยู่ที่ไหนไม่เคยเห็นหน้ากันเลยก็รับเป็นศิษย์ คือ




๑.ศิษย์ชั้น ๓ พยายามรักษาศีล ๕ ได้เสมอ อาจจะขาดตกบกพร่องบ้าง แต่ก็พยายามรักษาให้ครบถ้วนมากที่สุดที่จะทำได้ อย่างนี้ขอรับไว้เป็นศิษย์ชั้น ๓ คือศิษย์ขนาดจิ๋ว

๒.ศิษย์รุ่นกลาง มีปฏิปทาดังนี้ มีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ พยายามรักษาอารมณ์ให้ทรงสมาธิเสมอตามสมควร ไม่ละเมิดศีลเป็นปกติ อย่างนี้ขอรับไว้เป็นศิษย์รุ่นกลาง

๓.ศิษย์เอก มีปฏิปทาดังนี้

(ก)รักษาศีล ๕ ครบถ้วนเป็นปกติ

(ข)เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ไม่สงสัยในความดีของท่าน มีอารมณ์ตั้งมั่นว่า ถ้าตายไปจากคนชาตินี้ ขอไปนิพพานจุดเดียว พยายามละความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นปกติ

ถ้าปฏิบัติได้ตามที่กล่าวมานี้ มาพบหรือไม่มา ขออนุญาตเป็นศิษย์ หรือไม่ขออนุญาตก็ตาม ให้ทราบว่าอาตมารับเป็นศิษย์แล้วด้วยความเต็มใจ
พระราชพรหมญาณ (วีระ ถาวโร)

ประวัติพระราชพรหมญาณ


พระราชพรหมญาณ (วีระ ถาวโร) หรือ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ

วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี

ท่านเป็นพระอริยสงฆ์ ผู้เป็นที่เคารพนับถือของศานุศิษย์ผู้ปฏิบัติธรรม ในแนวทางแห่งมโนมยิทธิ ท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อปาน โสนนฺโท วัดบางนมโค

ตลอดชีวิตของท่าน ท่านได้บำเพ็ญกิจแห่งพระสงฆ์ได้สมบูรณ์พร้อมทุกประการ

นับได้ว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยานเป็นปูชนียบุคคลผู้อยูู่่ด้วยความกรุณา เป็นปกติ พร่ำสอนธรรมะและสิ่งทีเป็นประโยชน์และสงเคราะห์

เกื้อกูลมหาชนด้วยเมตตามหาศาลสมกับ เป็น ศากยบุตรพุทธชิโนรส แท้องค์หนึ่ง

พระธาตุชานหมากหลวงพ่อฤาษีลิงดำ


พระธาตุชานหมากหลวงพ่อฤาษีลิงดำ


เมื่อเอ่ยถึงหลวงพ่อพระราชพรหมยาน อาจจะไม่มีใครทราบแต่เมื่อเอ่ยนาม "หลวงพ่อฤาษีลิงดํา" ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านนับเรือนแสนหรือนับล้านต้องรู้จักแน่ หลวงพ่อท่านเป็นพระพิเศษกล่าวคือ มีความสามารถคลุมหมด คลุมสุกขวิปัสสโกด้วยเอาไว้ในตัว เอาวิชชาสามเข้าไว้ด้วย แล้วเอาอภิญญาหกเข้าไว้ด้วย แล้วก็ฉลาดมาก คือว่า ฉลาดในธรรมะขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกอย่าง หรือที่เรียกว่า "ปฏิสัมภิทาญาณ" นอกจากนั้นหลวงพ่อยังเป็นพระผู้ทรงอภิญญาใหญ่ และที่เป็นที่กล่าวขวัญในลูกศิษย์คือ "อารมณ์จิตหลวงพ่อเร็วมาก" สามารถแปรอรรถธรรมจากยากเป็นง่ายได้อย่างพิสดาร ซึ่งแม้แต่พระอริยะเจ้าผู้มีพรรษาอาวสุโสที่สุดในสายกรรมฐานหลวงปู่มั่น คือ "พระผู้อยู่ในดวงใจนับศัตวรรรษ" หลวงปู่บุดดา ถาวโร ได้เคยกล่าวว่า ให้ลูกศิษย์ไปหาอาจารย์ใหญ่ที่วัดท่าซุง หลวงพ่อท่านยังได้รับคํายกย่องจากหลวงปู่คําแสนว่า "ในกึ่งพุทธกาลไม่มีใครเกินหลวงพ่อ" นั้นย่อมเป็นเหตุเป็นผลว่า "พระระดับนึ้หาไม่ได้อีกแล้ว "






ในนามคณะศิษย์ขออนุโมทนาทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการตามรอยและผู้อ่านทุกท่านจงมีแต่ความสุขความเจริญ ขอให้คําว่า ไม่มีจงอย่าปรากฏตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพาน
คณะศิษยานุศิษย์

2 กุมภาพันธ์ 2552


ชีวประวัติ ของ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดํา) แห่งวัดท่าซุง






หลวงพ่อพระราชพรหมยาน เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ได้ปฏิบัติข้อวัตรปฏิบัติจากหลวงพ่อปาน นอกจากนั้นหลวงพ่อท่านยังเชี่ยวชาญในด้านพระกรรมฐานทั้ง 40 กองในวิสุทธิมรรคและมหาสติปัฏฐาน 4 ท่านยังได้นํามาถ่ายทอดให้ศิษยานุศิษย์ได้ศึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์

ตามพระธรรมคําสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และหลวงพ่อท่านยังเป็นพระที่มักน้อย สันโดษและสร้างสาธารณะประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและชาติบ้านเมืองเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงควรนําประวัติของท่านมาลงเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

__________________


ชาติภูมิ








หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร ) เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2459 ตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง ที่ตำบลสาลี อำเภอบางปลาม้าจังหวัดสุพรรณบุรี บิดาชื่อ นายควง สังข์สุวรรณ มารดาชื่อ นางสมบุญ สังข์สุวรรณ ท่านเป็นบุตรคนที่ 3 จากพี่น้องร่วมบิดามารดาจำนวน 5 คน ดังนี้

นายวงษ์ สังข์สุวรรณ เกิดปี พ.ศ. 2453 ปีจอ ถึงแก่กรรมเมื่อ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513

นางสำเภา ยาหอมทอง(สังข์สุวรรณ) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2457 ปีขาล

พระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร(สังข์สุวรรณ))

พระครูพิศาลวุฒิธรรม (พระมหาเวก อักกวังโส(สังข์สุวรรณ)) เดิมชื่อ หวั่น เกิดปีพ.ศ. 2463 ปีวอก วัดดาวดึงษาราม กรุงเทพมหานคร

ด.ญ. อุบล สังข์สุวรรณ เกิดปี พ.ศ. 2468 ปีฉลู ถึงแก่กรรมตั้งแต่อายุ 4 ขวบ เดิมชื่อ พัว

บิดาเป็นหัวหน้าหาเลี้ยงครอบครัวโดยเป็นเจ้าของนาอยู่ 40 กว่าไร่ ทำนาได้ข้าวปีละ 9 - 10 เกวียน สมัยนั้นราคาข้าวเกวียนละ 20 - 25 บาท บิดาจึงมีอาชีพหลัก คือ ทำนาและหาปลา มารดาเป็นคนใจบุญสุนทาน ขณะจะตั้งครรภ์ นอนฝัน เห็นพรหมมีสีเหลืองเป็นทองคำเหมือนพระพุทธรูป นอนลอยไปในอากาศ มีเพชรประดับแพรวพราวทั้งตัว เข้าทางหัวจั่วด้านทิศเหนือ เข้ามานั่งที่ตักท่าน มารดาก็กอดไว้ แล้วก็หายเข้าไปในกาย เมื่อเกิดมาใหม่ ๆ ลุงที่บวชเป็นพระได้ฌานสมาบัติ (หลวงพ่อเล็ก เกสโร) ท่านบอกว่า เจ้าเด็กคนนี้มาจากพรหม ดังนั้นจึงให้ชื่อว่า "พรหม" และต่อมาภายหลัง คนที่จดสำมะโนครัวเขามาเปลี่ยนชื่อให้เป็น "สังเวียน" เนื่องจากท่านเป็นคนใจกล้า ไม่กลัวใคร ท่านยายกับชาวบ้านเรียกว่า "เล็ก" ส่วนท่านมารดาและพี่ ๆ น้อง ๆ เรียกว่า "พ่อกลาง"
พ.ศ. 2466 อายุ 7 ขวบ เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาลวัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนจบชั้นประถมปีที่ 3 พ.ศ. 2474 อายุ 15 ปี อาศัยกับท่านยายที่บ้านหน้าวัดเรไร อำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี ได้ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ พ.ศ. 2478 อายุ 19 ปี เข้าทำงานเป็นเภสัชกรทหาร สังกัดกรมการแพทย์ทหารเรือ (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า) พ.ศ. 2479 อายุ 20 ปี อุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 เวลา 13.00 นาฬิกา ที่วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีพระครูรัตนาภิรมย์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน โสนันโท) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์เล็ก เกสโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์


คำสั่งพระอุปัชฌาย์ ขณะเข้าบวช หลวงพ่อปาน ท่านบอกท่านอุปัชฌาย์ว่า เจ้านี่หัวแข็งมาก ต้องเสกด้วยตะพดหนักหน่อย ท่านอุปัชฌาย์ท่านเป็นพระทรงธรรมเหมือนหลวงพ่อ(ปาน) หลวงพ่อเล็กก็เหมือนกัน ท่านอุปัชฌาย์ท่านยิ้มแล้วท่านพูดว่า "3 องค์นี้ไม่สึก อีกองค์ต้องสึกเพราะมีลูก เมื่อจะสึกไม่ต้องเสียดายนะลูก เกษียณแล้วบวชใหม่มีผลสมบูรณ์เหมือนกัน 2 องค์นี้พอครบ 10 พรรษาต้องเข้าป่า เมื่อเข้าป่าแล้วห้ามออกมายุ่งกับชาวบ้านจนกว่าจะตาย จะพาพระและชาวบ้านที่อวดรู้ตกนรก จงไปตามทางของเธอ ท่านปานช่วยสอนวิชาเข้าป่าให้หนักหน่อย ท่านองค์นี้ (หมายถึงฉัน) จงเข้าป่าไปกับเขา แต่ห้ามอยู่ในป่าเป็นวัตร เพราะเธอมีบริวารมาก ต้องอยู่สอนบริวารจนตาย พอครบ 20 พรรษาจงออกจากสำนักเดิม เธอจะได้ดี จงไปตามทางของเธอ ฉันบวชพระมามากแล้วไม่อิ่มใจเท่าบวชพวกเธอ"



พ.ศ. 2480 อายุ 21 ปี สอบได้นักธรรมตรี

พ.ศ. 2481 อายุ 22 ปี สอบได้นักธรรมโท

พ.ศ. 2482 อายุ 23 ปี สอบได้นักธรรมเอก



ระหว่างพรรษาที่ 1 - 4



- เรียนอภิญญา

- ธุดงค์ป่าช้า, ป่าศรีประจันต์, พระพุทธบาท, พระพุทธฉาย, เขาวงพระจันทร์, เขาชอนเดื่อ, ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์, ดงพระยาเย็น, ภูกระดึง, พระแท่นดงรัง ฯลฯ

- ศึกษาวิปัสสนา



ระหว่างปี พ.ศ. 2480-2483 ได้ศึกษาพระกรรมฐาน จากครูบาอาจารย์หลายท่าน อาทิเช่นหลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค, หลวงพ่อจง พุทธสโร วัดหน้าต่างนอก, พระอาจารย์เล็ก เกสร วัดบางนมโค, พระครูรัตนาภิรมย์ วัดบ้านแพน, พระครูอุดมสมาจารย์ วัดน้ำเต้า, หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ, หลวงพ่อเนียม วัดน้อย, หลวงพ่อโหน่ง วัดอัมพวัน (วัดคลองมะดัน) และ หลวงพ่อเรื่อง วัดใหม่พิณสุวรรณ



พ.ศ. 2483 อายุ 24 ปี เข้ามาจำพรรษาที่วัดช่างเหล็ก อำเภอตลิ่งชัน ธนบุรี เพื่อเรียน บาลีจากนั้นย้ายมาอยู่ที่วัดอนงคารามในช่วงออกพรรษาในสมัยสมเด็จพระพุฒาจารย์(นวม) อยู่วัดช่างเหล็กในช่วงเข้าพรรษา ระหว่างนี้ได้ศึกษาเพิ่มเติมกรรมฐานกับหลวงพ่อสดวัดปากน้ำภาษีเจริญ และพบพระสุปฏิปันโนอีกมาก เช่น สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทัย) เป็นต้น



พ.ศ. 2486 อายุ 27 ปี สอบได้ เปรียญธรรม 3 ประโยค เปลี่ยนชื่อเป็น "พระมหาวีระ" เพื่อไม่ให้คล้ายกับ พระมหาสำเนียง ที่อยู่วัดช่างเหล็ก ที่เดียวกัน



พ.ศ. 2488 อายุ 29 ปี สอบได้ เปรียญธรรม 4 ประโยค ย้ายมาอยู่วัดประยูรวงศาวาส ได้เป็นรองเจ้าคณะ 4 วัดประยูรวงศาวาส และฝึกหัดการเป็นนักเทศน์



พ.ศ. 2492 อายุ 33 ปี จำพรรษาที่วัดลาวทอง จังหวัดสุพรรณบุรี



พ.ศ. 2494 อายุ 35 ปี จึงกลับไปอยู่วัดบางนมโคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเจ้าอาวาสวัดบางนมโค



พ.ศ. 2500 อายุ 41 ปี อาพาธหนักเข้าโรงพยาบาลกรมแพทย์ทหารเรือ



พ.ศ. 2502 อายุ 43 ปี พักฟื้นที่วัดชิโนรสาราม จังหวัดกรุงเทพมหานครฯ จากนั้นจึงได้ย้ายไปอยู่วัดโพธิ์ภาวนาราม อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสำนักสงฆ์ ได้ลูกศิษย์รุ่นแรก 6 คน



พ.ศ. 2505 อายุ 46 ปี ไปจำพรรษาที่วัดพรวน อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท เป็นเวลา 1 พรรษา



พ.ศ. 2506 อายุ 47 ปี กลับมาจำพรรษาที่วัดโพธิ์ภาวนาราม พอกลางเดือนมิถุนายน ก็ได้ลาพุทธภูมิ



พ.ศ. 2508 อายุ 49 ปี จำพรรษาที่ วัดปากคลองมะขามเฒ่า ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท แล้วเริ่มไป - กลับวัดสะพาน อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท เพื่อสอนพระกรรมฐาน



พ.ศ. 2510 อายุ 51 ปี ได้สอนวิชามโนมยิทธิ แล้วจึงจำพรรษาที่วัดสะพาน อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท



พ.ศ. 2511 อายุ 52 ปี ในวันที่ 11 มีนาคม จึงมาอยู่วัดจันทาราม (ท่าซุง) ตำบลน้ำซึม อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ได้ทำบูรณะ สร้างและขยายวัด จากเดิมมีพื้นที่ 6 ไร่ 2 งาน 07 2/10 ตารางวา จนกระทั่งเป็นวัดที่มีบริเวณพื้นที่ประมาณ 289 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา มีอาคารและถาวรวัตถุต่าง ๆ จำนวน 144 รายการในวัด สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 611,949,193 บาท สิ่งก่อสร้างทั้งในวัดและนอกวัด อาทิเช่น หอสวดมนต์, พระพุทธรูป, อาคารปฏิบัติกรรมฐาน, ศาลาการเปรียญ, วิหาร 100 เมตร, โบสถ์ใหม่, บูรณะโบสถ์เก่า, ศาลา 2 ไร่, 3 ไร่, 4 ไร่ และ 12 ไร่, หอไตร, โรงพยาบาลศูนย์แม่และเด็ก ชนบทที่ 61, พระจุฬามณี, มณฑปท้าวมหาราชทั้ง 4, พระบรมราชานุสาวรีย์ 6 พระองค์, พระชำระหนี้สงฆ์, โรงไฟฟ้า, โรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา, ศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในแดนทุรกันดารตามพระราชประสงค์ เป็นต้น ทั้งยังได้ช่วยการก่อสร้างที่วัดอื่น ๆ ในประเทศไทยอีกมากมาย



พ.ศ. 2520 อายุ 61 ปี ตั้งศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในแดนทุรกันดารตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม



พ.ศ. 2526 อายุ 67 ปี สร้างโรงพยาบาลแม่และเด็กชนบทที่ 61 และมอบให้กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข



พ.ศ. 2527 อายุ 68 ปี ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชคณะชั้นสามัญเปรียญวิ.(ป.ธ.4 น.ธ.เอก) ที่ "พระสุธรรมยานเถร"



พ.ศ. 2528 อายุ 69 ปี สร้างโรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา



พ.ศ. 2532 อายุ 73 ปี ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพรราชาคณะชั้นราช ที่ "พระราชพรหมยาน ไพศาลภาวนานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี"



พ.ศ. 2535 อายุ 76 ปี ได้อาพาธด้วยโรคปอดบวมอย่างแรง และติดเชื้อในกระแสโลหิต เข้ารักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และมรณภาพที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม 2535 เวลา 16.10 น. ปัจจุบันศพของหลวงพ่อได้บรรจุไว้ในโลงแก้วบนบุษบกทองคำที่ประดับด้วยอัญมณีอันวิจิตรงดงาม ณ วัดจันทาราม ตำบลน้ำซึม อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี





















ตลอดระยะเวลาที่อุปสมบทอยู่ หลวงพ่อพระราชพรหมยานได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ ในพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ


ทางด้านชาติ ได้สร้างโรงพยาบาล, สร้างโรงเรียน, จัดตั้งธนาคารข้าว, ออกเยี่ยมเยียน ทหารหาญของชาติและตำรวจตระเวณชายแดนตามหน่วยต่าง ๆ เพื่อ ปลุกปลอบขวัญและกำลังใจ และ แจกอาหาร, ยา, อุปกรณ์อำนวยความสะดวก และวัตถุมงคลทั่วประเทศ

ทางด้านพระศาสนา ได้สั่งสอนพุทธบริษัทศิษยานุศิษย์ให้มุ่งพระนิพพานเป็นหลัก โดยให้ประพฤติปฏิบัติสำรวมกาย, วาจา, ใจ, มุ่งในทาน, ศีล, สมาธิ และปัญญา ทั้งในทางกรรมฐาน 40 และมหาสติปัฏฐานสูตร ได้พิมพ์หนังสือคำสอนจำนวนมากและบันทึกเทปคำสอนกว่า 1,000 ม้วน นอกจากนี้ยังได้แสดงธรรมเทศนาทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นครั้งคราว นอกจากนี้ ยังเดินทางไปสงเคราะห์คณะศิษย์ในต่างจังหวัดและต่างประเทศทุก ๆ ปี

ทางด้านวัตถุ ท่านได้ช่วยสร้างพระพุทธรูปและถาวรวัตถุไว้ในพระพุทธศาสนามากกว่า 30 วัด รวมทั้งการบูรณะฟื้นฟูวัดท่าซุงด้วยเงินกว่า 600 ล้านบาท ได้สร้างพระไตรปิฎก และถวายผ้าไตรแก่วัดต่างๆ ปีละไม่ต่ำกว่า 200 ไตร

ทางด้านพระมหากษัตริย์ท่านได้สนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการจัดตั้งศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งศูนย์ฯ นี้ได้ดำเนินการสงเคราะห์ราษฎรในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ทั้งการแจกเสื้อผ้า, อาหาร และยารักษาโรคแก่ราษฎรผู้ยากจน, การช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ, การจัดแพทย์เคลื่อนที่ออกรักษาพยาบาลราษฎรผู้เจ็บป่วย, การให้ทุน นักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจน, การบริจาคทุนทรัพย์ให้แก่มูลนิธิและโรงพยาบาลต่าง ๆ ฯลฯ

นับได้ว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยานเป็นปูชนียบุคคลผู้อยู่ด้วยความกรุณา เป็นปกติ พร่ำสอนธรรมะและสิ่งทีเป็นประโยชน์และสงเคราะห์เกื้อกูลมหาชนด้วยเมตตามหาศาลสมกับเป็น ศากยบุตรพุทธชิโนรสแท้องค์หนึ่ง

คุณวิเศษส่วนองค์และต่อส่วนรวม





1. เป็นผู้ได้บำเพ็ญบารมีมามาก

2. ทรงอภิญญาสมาบัติและปฏิสัมภิทาญาณ

3. ทรงเถรธรรม ประกอบด้วย รัตตัญญู (รู้ราตรีนาน), สีลวา (มีศีล), พหุสสุตะ (ทรงความรู้ได้ฟังมาก), สวาคตะปาฏิโมกขะ (วินิจฉัยพระวินัยได้ดี), อธิกรณสมุปปาทวูปสมกุสละ (ฉลาดในการระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น), ธัมมกามะ (ใคร่ในธรรม), สันตุฏฐะ (สันโดษ), ปาสาทิกะ (น่าเลื่อมใส), ฌานลาภี (คล่องในฌาน) และ อนาสวเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ (บรรลุเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ สิ้นอาสวกิเลส

4. รู้แจ้งในไตรภูมิ

5. เป็นที่รักของพระ พรหม เทพยดาและมนุษย์ทั้งปวง

6. สอนคนให้เข้าใจถึงพระนิพพานได้จริง ตามมาตรฐานการปฏิบัติธรรมแห่งพระพุทธศาสนาครบถ้วนทั้ง 4 หมวด อันได้แก่

6.1) สุกขวิปัสสโก ปฏิบัติธรรมแบบเรียบ ๆ มีมรรคมีผล แต่ไม่มีความรู้พิเศษ

6.2) เตวิชโช หรือเรียกว่า วิชชา 3 มีมรรคมีผล และมีความรู้พิเศษคือ ทิพจักขุญาณ รู้ว่าคนเกิดมาจากไหน ตายไปไหน เป็นต้น มีญาณ 8 ประการ

6.3) ฉฬภิญโญ หรือเรียกว่า อภิญญา 6 มีมรรคมีผล และมีความรู้พิเศษคือแสดงฤทธิ์ได้ 5 อย่าง หากหมดกิเลสด้วยจะเรียกว่าได้อภิญญา 6

6.4) ปฏิสัมภิทัปปัตโต หรือเรียกว่า ปฏิสัมภิทาญาณ มีมรรคมีผล และมีความรู้พิเศษครอบคลุมทั้ง 3 หมวดแรก ปฏิสัมภิทาญาณนั้นคือ ทรงพระ

ไตรปิฎก(แตกฉานในเหตุและผล), รู้ภาษาคนทุกภาษาและภาษาสัตว์ทุกชนิด และคล่องแคล่วในการสอนธรรม (ขยายความให้เข้าใจก็ได้ ย่อความให้เข้าใจก็ได้)





คำกล่าวที่จารึกในแผ่นทองซึ่งบรรจุใต้แท่นพระประธาน เมื่อพ.ศ. 2519 ในแผ่นทองได้จารึกไว้ดังนี้ เราพระมหาวีระ มีพระราชานามว่า ภูมิพล เป็นผู้อุปถัมถ์ ร่วมด้วยพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ สร้างวัดนี้เป็นพุทธบูชา เมื่อศักราชล่วงไปแล้ว 2700 ปีปลาย จะมีพระเจ้าธรรมิกราช นามว่า ศิริธรรมราชา สืบเชื้อสายมาจากเชียงแสนและสุโขทัย ร่วมกับพระอรหันต์ จะมาบูรณะวัดนี้ สืบพระศาสนาต่อไป คณะของเราขอโมทนา แต่อยู่ช่วยไม่ได้ เพราะไปพระนิพพานหมดแล้ว

อีกทั้งท่านยังได้ตั้งสัตยาธิษฐานฝากลูกหลานของท่านไว้ดังนี้ ฉันขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข พร้อมด้วยพระอริยสงฆ์ทั้งหมดและพระพรหม และเทพเจ้าทั้งหมด ขอทุกท่านจงกำหนดจิต จดจำลูกหลานของฉันไว้ ว่าบุคคลใดก็ตาม เมื่อเวลาจะตายขอให้สติสัมปัชัญญะสมบูรณ์ มีจิตน้อมไปในกุศลกรรม และขอให้ได้รับผลที่ฉันได้ทำไปแล้วทุกประการแก่ลูกหลานของฉันทุกคน เวลานี้ฉันมองดูแล้วนะ ตรวจดูแล้ว สิ่งที่ฉันต้องการมันสมใจนึกแล้ว ฉันมีความอิ่มใจบอกไม่ถูก ปลื้มใจที่ความปรารถนาสมหวัง ที่ฉันตั้งใจไว้นาน ปรารถนาไว้นานคิดว่าจะทำไม่ได้ แต่เวลานี้ทำได้แล้ว ลูกหลานของฉันทุกคน มีศรัทธาเป็นอจลศรัทธาแล้ว มีความมั่นคงในพระพุทธศาสนาแล้ว มีความดีพอสมควรแล้ว อุโบสถหลังใหม่นี้ มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเกศมาลาของสมเด็จพระ พุทธพรมงคล พระประธานในพระอุโบสถ, เททองหล่อรูปหลวงพ่อปาน และทรงตัดลูกนิมิตด้วย ในช่วงพ.ศ. 2518 - 2520




พระสงฆ์ที่หลวงพ่อพระราชพรหมยานได้เคยสนทนา หรือเป็นสหาย ได้แก่




1. พระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน โสนันโท) วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา :

ท่านเป็นปฐมาจารย์ ผู้สั่งสอนเป็นองค์แรก สอนกรรมฐานทุกตอนจนถึงระดับนิพพาน และพยายามฝึกฝนให้จนมีความเข้าใจในการปฏิบัติกรรมฐานจนมี ความเข้าใจ



2. หลวงพ่อเล็ก เกสโร วัดดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา : อาจารย์ที่สองรองจากหลวงพ่อปาน เป็นตัวแทนหลวงพ่อปาน ในการควบคุมดูแลในการปฏิบัติเบื้องต้นท่านอยู่วัดบางนมโค เช่นเดียวกัน

3. พระครูอุดมสมาจารย์ วัดน้ำเต้า อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

4. หลวงพ่อปั้น วัดพิกุล อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

5. หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

6. หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

7. พระครูรัตนาภิรมย์ วัดบ้านแพน อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา :พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน

8. หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

9. หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

10. หลวงพ่อเรื่อง วัดใหม่พิณสุวรรณ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

11. พระครูสุวรรณพิทักษ์บรรพต เจ้าคณะ 11 วัดสระเกศ จังหวัดพระนคร

12. สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทัย) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร จังหวัดกรุงเทพฯ

13. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม จังหวัดกรุงเทพฯ

14. ท่านเจ้าคุณ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี

15. ท่านเจ้าคุณ พระธรรมปาหังสณาจารย์ อดีตเจ้าอาวาส วัดประยุรวงศาวาส ธนบุรี

16. ท่านเจ้าคุณ พระมหาโพธิวงศาจารย์ เจ้าอาวาส วัดอนงคาราม จังหวัดธนบุรี

17. พระเดชพระคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตเจ้าอาวาส วัดอนงคาราม จังหวัดธนบุรี

18. พระอาจารย์เกษม วัดดาวดึงสาวาส จังหวัดธนบุรี

19. พระอาจารย์ทอง วัดราษฎรสุนทรเจริญ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี

20. ท่านอาจารย์สุข (เป็นฆราวาส) ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี

21. พระเทพวิสุทธิเวที (ไสว สุจิตฺโต ป.ธ.6) อดีตเจ้าอาวาสวัดอนงคาราม จังหวัดกรุงเทพฯ

22. พระราชวิสุทธิเมธี (พระมหาวิจิตร วิจารโณ; พระศรีวิสุทธิโสภณ ในสมัยนั้น) วัดอนงคาราม จังหวัดกรุงเทพฯ

23. พระมงคลชัยสิทธิ์ (พระครูวิชาญชัยคุณ ในสมัยนั้น) วัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท

24. พระวิสุทธาธิบดี วัดไตรมิตร จังหวัดกรุงเทพฯ

25. พระราชอุทัยกวี จังหวัดอุทัยธานี

26. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จันทสิริ)

27. พระครูปิยรัตนาภรณ์ (บุญรัตน์ กันตจาโร) วัดโขงขาว ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

28. หลวงปู่ชุ่ม โพธิโก วัดไชยมงคล(วัดวังมุย) จังหวัดลำพูน

29. พระครูสุคันธศีล (หลวงปู่คำแสน) วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่

30. หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง(ดอยม่อนเวียง) อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

31. หลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร วัดป่าดอนมูล สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

32. หลวงพ่อทืม(หลวงพ่อบุญทืม พรหมเสโน) วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน

33. พระครูสันติวรญาณ(หลวงพ่อสิม) วัดถ้ำผาปล่อง เชียงดาว

34. พระครูพรหมจักสังวร (พระสุพรหมยานเถระ; ครูบาพรหมจักโก) วัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซางจังหวัดลำพูน

35. พระครูภาวนาภิรัตน์ (พระสุธรรมยานเถระ; ครูบาอินทจักรรักษา) วัดวนาราม(วัดน้ำบ่อหลวง) อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

36. พระครูพัฒนกิจจานุรักษ์ (ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

37. พระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา จังหวัดกรุงเทพฯ

38. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

39. พระครูวรเวทย์วิสิฐ (ครูบาธรรมชัย) วัดทุ่งหลวง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

40. พระภาวนาปัญญาวิสุทธิ์ (อำพัน บุญ - หลง) วัดเทพศิรินทราวาส จังหวัดกรุงเทพฯ

41. หลวงปู่บุดดา ถาวโร วัดกลางชูศรีเจริญสุข อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี

42. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดราชผาติการาม จังหวัดกรุงเทพฯ

ยังคงมีพระสงฆ์อีกมากรูปในชั่วชีวิตของพระราชพรหมยานฯ


ประสบการณ์ของผู้ที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของหลวงพ่อ

ที่ได้รับผลในปัจจุบันนี้
ผู้ถาม : "หลวงพ่อครับ ผมก็คิดเรื่องการเรื่องงานเป็นประจำเลยครับ ทีนี้อยากถามว่ากรรมฐานบทไหนที่ทำให้ค้าขายดีครับ..?"

หลวงพ่อ : "อ๋อ... ก็บทค้าขายราคาถูกซิ เขาขายหนึ่งบาท เราขายห้าสิบสตางค์ รับรองพรึบเดียวหมด บทนี้ดีมาก เพราะเมตตาบารมีไงล่ะ"

ผู้ถาม : "โอ้โฮ.. ตรงเปี๊ยบเลยหลวงพ่อ.."

หลวงพ่อ : "ยังมีอีกนะ ถ้าบทที่สองดีกว่านี้อีก จาคานุสสติ แจกดะเลย"

ผู้ถาม : ( หัวเราะ ) "โอ...บทนี้น่ากลัวจนแย่เลย"

หลวงพ่อ : "ไอ้เรื่องค้าขายดีมีคาถาตกอยู่บทหนึ่ง"

ผู้ถาม : "เดี๋ยวผมขอจดก่อนครับ"

หลวงพ่อ : "ไม่ต้องจดหรอก คาถามหาโต๊ะ มหาโต๊ะนี่สมัยนั้นบวชด้วยกัน มีโยมคนหนึ่งแกหาบข้าวแกงมาขาย หาบไปตั้งแต่เช้ากลับมาบ่าย มันก็ไม่หมด

วันหนึ่งมหาโต๊ะยืนล้างหน้าอยู่ที่หน้าต่างแกก็บอก

"ท่านมหา มีคาถาอะไรดี ๆ ทำน้ำมนต์ให้ทีเถอะจะได้ขายหมดเร็ว ๆ "

มหาโต๊ะแกไม่ใช่นักคาถาอาคมกะเขานี่ ก็นึกไม่ออก แต่ไอ้นี่น่าจะดีว่ะ "อนัตตา" แกนึกในใจนะ แกไม่ได้บอก แกก็เอาน้ำล้างหน้าพรม ๆ ยายนั่นแกก็กลับไป พอสาย ๆ แกก็กลับ ปรากฏว่าหมด"

ผู้ถาม : "อะไรหมดครับ...?"

หลวงพ่อ : "ของหมด ข้าวแกงหมด แต่หม้อยังอยู่ หาบยังอยู่และคนหาบก็ยังอยู่ แหม..นี่ต้องให้อธิบายให้ละเอียดเลยนะ"

ผู้ถาม : ( หัวเราะ )"คือสงสัยครับ"
หลวงพ่อ : "ก็เป็นอันว่าวันต่อมา โยมคนนั้นแกก็มาหาเรื่อย ๆ แกก็สังเกตมหาโต๊ะ ในที่สุดมหาโต๊ะต้องทำน้ำมนต์ด้วยคาถาบทนี้เอาไว้ที่บูชา แกก็ไปขายหมดทุกวัน ก็แปลกเหมือนกันเพราะจิตตรงใช่ไหม .. อนัตตา นี่เขาแปลว่าสลายตัวไงล่ะ"

ผู้ถาม : "ลูกหลานเอาไปใช้ได้ไหมครับหลวงพ่อ..?"


หลวงพ่อ : "ปู่ย่าตายายก็ใช้ได้"

ผู้ถาม : ( หัวเราะ )"แล้ว คาถาพระปัจเจกพุทธเจ้า ใช้ได้ไหมครับ...?"

หลวงพ่อ : "ความจริงคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้าของเขาก็ดี เขาขายของแล้วก็พรมตั้งแต่ตอนเช้า ถ้าตั้งร้านก็พรมหน้าร้านตั้งแต่เช้าตรู่ ตอนล้างหน้านั่นแหล่ะ ทำตอนนั้น เอาน้ำ ล้างเสกด้วยคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้า เสกแล้วพอล้างหน้าเสร็จก็พรม ตอนพรมก็ว่าไปด้วยนะ"
ผู้ถาม : "บางคนก็บอกว่า ถ้าว่าคาถา มหาปุญโญ มหาลาโภ ภวันตุ เมฯ ก็จะมีลาภมาก..?"

หลวงพ่อ : "มหาปุญโญ เป็นคาถาเสกพระวัดพนัญเชิง เจ้าอาวาสวัดนั้นรูปร่างผอมดำ นั่งเสกด้วยคาถาบทนี้ ๓ ปี ฉะนั้นวัดนั้นจึงมีลาภมาก แล้วต่อมาสมเด็จหรือใครก็ไม่ทราบ ถามว่าเสกด้วยคาถาอะไร ท่านบอกว่า เสกด้วยคาถา มหาปุญโญ มหาลาโภ ภวันตุ เมฯ แล้วท่านก็บอกให้ต่อด้วยคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้า มีอยู่รายหนึ่งชื่อ นายแจ่ม เปาเล้ง บ้านอยู่อำเภอดำเนินสะดวก แกเป็นคนจน ทำสวนอยู่ที่บางช้าง ปลูกพริกขายเป็นอาชีพ เพราะอาศัยความจนของแก จึงได้เป็นหนี้เป็นสินเขาอยู่ตั้ง ๒ หมื่น ( นี่พูดถึงเงินในสมัยนั้นนะ เดี๋ยวนี้เป็นเงินเท่าไรก็คิดกันดู ) ตาแจ่มจึงมาขอเรียนคาถาพระปัจเจกโพธิ์ เมื่อได้ไปแล้ว วัน ๆ ไม่ได้ทำอะไรนอกจากท่องแต่คาถาอย่างเดียว นั่งทำอยู่ทั้งวันทั้งคืน

ข้างฝ่ายลูกเมียของตาแจ่มก็ดีแสนดี ไม่ยอมให้แกทำอะไรเหมือนกัน นอกจากท่องคาถา

"คาถาบทนี้ เขาทำแล้วรวยนี่ ต้องให้มันรวยให้ได้" ลูกเมียแกว่าอย่างนั้น


ตาแจ่มแกคิดจะเอาอย่าง นายประยงค์ ตั้งตรงจิตร นั่นแหล่ะ? ทีนี้ พอพริกออกดอกออกผลขึ้นมาจริง ๆ ตาแจ่มก็คิดจะขายพริกละ ไอ้พริกของคนอื่นนะ งามสะพรั่งมีพริกเยอะแยะ มองดูหนาทึบ ไปหมด ส่วนพริกของตาแจ่มพิเศษกว่าเขา มียอดหงุก ๆ หงิก ๆ เม็ดก็บางตา มองดูโปร่ง ๆ ดูท่าทางแล้วเห็นจะขายได้ไม่กี่สตางค์

อีตอนเก็บนี่ซิ คนอื่นเก็บพริกได้กองใหญ่เท่าไร ตาแจ่มก็เก็บได้กองโตเท่านั้น เห็นพริกบาง ๆ ยอดหงุกหงิก ๆ นั่นแหล่ะ เขาเก็บได้เท่าไร ตาแจ่มก็เก็บได้เท่านั้น มาถึงตอนขาย เจ๊กชั่งของคนอื่นได้ ๑ หาบ พอมาของตาแจ่มกลับเป็น ๒ หาบ ทั้ง ๆ ที่กองก็โตเท่ากัน เจ๊กหาว่าตาแจ่มโกง คิดว่าเอาทราบใส่เข้าไปในกองพริกเป็นการถ่วงน้ำหนักเลยเอะอะโวยวายใหญ่ ปรากฏว่าเม็ดดินเม็ดทรายที่เจ๊กว่า นั้นหาไม่ได้เลย เล่นเอาเจ๊กแปลกใจ แต่ก็ต้องซื้อไปตามนั้น

พริกของคนอื่นเขาเก็บกัน ๒ - ๓ ครั้ง ก็หมดแล้วครั้งแรกมาก ครั้งที่สองได้มากหน่อย พอครั้งที่สาม เก็บได้อีกเพียงเล็กน้อยเป็นอันว่าหมดกัน ต้องถอนต้นพริกทิ้งแล้วปลูกกันใหม่ ส่วนพริกของตาแจ่มไม่เป็นอย่างนั้น ต้องลงมือเก็บกัน ๖ ครั้งถึงได้หมด พริกที่ได้แต่ละครั้งก็มีปริมาณเท่า ๆ กัน นี่ไอ้พริกใบหงุกหงิก ๆ นั้นแหละ เก็บกันซะ ๖ คราว ผลที่สุด พริกของตาแจ่มก็กลายเป็นของอัศจรรย์ แถมเจ๊กยังตีราคาให้สูงกว่า พริกของคนอื่นเสียอีก เพราะว่า "เมื่อส่งไปแล้วเป็นพริกที่มีค่า ทางโน้นเขาให้ราคาสูง" ปีนั้นจึงใช้หนี้สองหมื่นหลุดหมด แถมยังมีเงินเหลืออีกตั้งสองหมื่น"



( นี่เห็นไหม... ถ้าหากว่า ท่านภาวนาคาถาบทนี้อยู่เสมอ ท่านอาจจะรวยกว่านายแจ่มก็ได้นะ )

ต่อมามีผู้นำคาถา อนัตตา ไปปฏิบัติหลังจากที่หลวงพ่อแนะนำไปแล้ว เขาผู้นั้นได้เข้ามารายงานกับหลวงพ่อว่า

"หลวงพ่อครับ อนัตตา แจ๋วเลยครับ อัศจรรย์มาก ตอนบ่ายวันนี้ฟลุ๊คมาก ของที่ผมขายฝรั่งซื้อคนเดียว ๑,๖๐๐ บาท ไม่เคยมีปรากฏเลยครับ""

"อาจารย์ทำยังไงล่ะ.. อาจารย์ใช้แบบไหน จึงมีผลตามลำดับ... จะได้แจกจ่ายคนอื่นเขาบ้าง"

ผู้ถาม : "อันดับแรกตักน้ำใส่แก้ว แล้วนำไปไว้หน้าพระพุทธรูปที่โต๊ะหมู่บูชา แล้วชุมนุมเทวดาไหว้พระบูชาพระตามหลวงพ่อกล่าวนำ มีมนต์อะไรก็สวดไป ของผมสวดยาวหน่อย เมื่อสวดเสร็จแล้ว ก็อาราธนาบารมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย พระอริยสงฆ์ทั้งหลาย แล้วก็มาหลวงปู่ปาน แล้วมาหลวงพ่อ


เสร็จแล้วเช้าตื่นมาก็กราบแก้วน้ำ ๕ ครั้ง แล้วก็เอามาที่ห้องน้ำ แบ่งครึ่ง ครึ่งหนึ่งใส่ขันสำหรับล้างหน้า ก่อนจะแบ่งก็ตั้งจิตให้ดี ว่านะโม ๓ จบ แล้วก็ว่าคาถานี้อีกครั้งหนึ่ง เท่าที่ใช้ก็ใช้คาถา มหาปุญโญ มหาลาโภ ภวันตุ เม ฯ แล้วก็มาว่า คาถาพระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อว่าเสร็จแล้วก็บอก "อนัตตา ขายเกลี้ยง"

อีกครึ่งหนึ่งเราแบ่งมาแล้วก็ว่า คาถาวิระทะโย ไป แล้วก็พรมตู้อะไรต่าง ๆ แล้วก็ลงท้าย "อนัตตา ขายเกลี้ยง ๆ ๆ" แม้แต่หน้าร้านก็พรมออกไปเลย ถ้าใครเดินมาถูกน้ำมนต์ปุ๊บอยู่ไม่ได้ ต้องมาซื้อ อันนี้ได้ผลดีครับ"

หลวงพ่อ : "อ้าว.. จำได้ไหมล่ะ อันนี้ก็ดีมีประโยชน์นะ ควรจะนำไปใช้ทุก ๆ คนนะ ฉันบอกให้อาจารย์เขาไปทำ ท่านทำแล้วผลมันเกิดขึ้นทุกวัน"

ผู้ถาม : "แล้วถ้าฟลุ๊คอะไรเป็นพิเศษละก้อ เวลาจุดธูปเทียนหรือพรมน้ำมนต์ มันจะมีขนลุกซู่ซ่า ถ้าซู่มากละ มาแน่"

หลวงพ่อ : "อ้อ..กำลังปีติสูง ใช่ เพราะซู่ซ่านี่เจ้าของมาแสดงให้ปรากฏ ถ้านึกถึงท่านจริง ท่านเข้ามาช่วยจริงก็ถือว่าเป็นอาการของปีติ เมื่อสัมผัสแล้วทางจิตใจก็เกิดปีติ ความอิ่มใจเกิดขึ้น ขนลุกซู่ซ่ามาก การแสดงออกตามอาจารย์พูดน่ะถูก ถ้าหากว่าสัมผัสน้อยก็มีผลน้อยหน่อย แต่ก็ดีกว่าปกติ สัมผัสมากก็มีผลมากหน่อย ปัจจุบันทันด่วน อันนี้ถูกต้อง ถ้าทำขึ้น หนักจริง ๆ นะ ถ้าขายของเป็นน้ำหนัก น้ำหนักจะสูงขึ้น แล้วก็ไม่สูงแต่ของเรา เอาไปขายคนอื่นต่อก็สูง นี่เขาทำมาแล้วนะ คนที่ไทรย้อยแกขายข้าว ไปซื้อข้าวมาวันนี้ พรุ่งนี้จะเอาไปขึ้นโรงสี แกก็พรมน้ำมนต์ก่อน พอถึงบ้านก็พรมน้ำมนต์หน่อย พอขึ้นโรงสีปรากฏว่าน้ำหนักสูง

ถ้าหากว่าของที่เก็บไว้ในปี๊บในถงในอะไรก็ตาม จะมีปริมาณสูง

เมื่อก่อนหลวงพ่อปานท่านบอก เอาข้าวใส่ยุ้งฉางให้เรียบร้อย ตวงให้ดี แล้วนับให้ดี ทำมาจนกว่าจะถึงฤดูออกมาใช้มาขาย แล้วตวง มันจะมากทุกคราว

จำเอาไว้นะ ถ้าปฏิบัติ ทุกคนจะไม่จน ฉันอยากให้ทุกคนรวย ฉันจะได้รวยด้วย พระแช่งให้ชาวบ้านจนก็ซวย พระไม่มีกินน่ะซิ"

คาถาเงินล้าน


ตั้ง นะโม ๓ จบ

สัมปจิตฉามิ คาถาสนองกลับ

นาสังสิโม คาถาพระพุทธกัสสป

บทแรก "พรหมมา จะ มหาเทวา สัพเพยักขา ปะรายันติ" อันนี้ตัดอุปสรรคที่ลาภจะมาแต่เขามาบอก ว่ามีผลแน่นอน คือว่า แกจะไม่ยอมให้ลูกแกจน พูดง่าย ๆ ก็แล้วกัน พระพุทธเจ้า ก็ทรงยืนยันบอกว่า ให้ หมด

บทที่สอง "พรมหมา จะ มหาเทวา อภิลาภา ภะวันตุเม" คาถาบทนี้เป็นคาถาเงินแสนของท่าน

บทที่สาม "มหาปุญโญ มหาลาโภ ภะวันตุ เม" บทนี้เป็นคาถาปลุกพระวัดพนัญเชิง

บทที่สี่ "มิเตพาหุหะติ" เป็นคาถาเงินล้าน
บทที่ห้า "พุทธะมะอะอุ นะโมพุทธายะ วิระทะโย วิระโคนายัง วิระหิงสา วิระทาสี วิระทาสา วิระอิตถิโย พุทธัสสะ มามีมามะ พุทธัสสะ สวาโหม" เป็นคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้า

บทที่หก "สัมปติฉามิ" บทนี้เป็นบทเร่งรัดบทสุดท้าย
บทที่เจ็ด "เพ็ง ๆ พา ๆ หา ๆ ฤา ๆ" พระปัจเจกพุทธเจ้า มาบอกหลวงพ่อเมื่อ พ.ย. 33 เป็นภาษาโบ ราณ แต่เทียบกับภาษาไทยอ่านได้อย่างนี้ เป็นคาถามหาลาภ มีผลยิ่งใหญ่มาก ทั้งหมดนี้ต้องสวดเป็นบท เดียวกัน บูชาเรื่อย ๆ ไป การบูชาถ้าบูชาเฉย ๆ มันเป็นเบี้ยต่อไส้

คาถา ว่า 9 จบ หลวงพ่อบอกว่า ถ้าว่า 9 จบเป็นเบี้ยต่อไส้ จะว่ามากกว่านั้นก็ได้ แต่ถ้าท่องจนเป็นสมาธิหรือได้ญาณจะได้ผลดีมาก อย่าลืมถ้าอยากจะให้ได้ผลต้องท่องจนเป็นสมาธิและใส่บาตรทุกวัน ถ้าไม่ว่างก็ใส่บาตร วิระทะโย ที่วัดแจก แล้วถ้าว่างจะนําไปถวายก็สุดแล้วแต่ท่านหรือสิ้นเดือนก็นําไปถวายที่บ้านสายลมก็ได้ อันนึ้ลูกศิษย์หลวงพ่อที่เคยปฏิบัติจนสําเร็จกล่าวให้ผู้เขียนฟังนานแล้ว

ความสามารถหลวงพ่อในวัยเด็ก




บันทึกโดยคุณปรุง ตุงคะเศรณี

คืนวันที่ 16 ธันวาคม 2526 ก่อนเวลานั่งกรรมฐานหลวงพ่อท่านไม่ได้ลงสอน และท่านได้คุยกับเราเรื่องเมื่อตอนเด็กๆอยู่ที่ โรงเรียน



1พระเดขพระคุณหลวงพ่อชอบเล่นกีฬา ฟุตบอลและสามารถเตะจากประตูที่ยืนโด่งเข้าไปประตูตรงกันข้ามได้(โหสุดยอด)และหัดอยู่ไม่นานก่อนที่จะสามารถเตะได้เช่นนี้ท่านเตะกับเพื่อนอีกหนึ่งคนผลัดกันเตะโดยอยู่คนละด้านตรงหน้าประตูและเพื่อนก็สามารถเตะเข้าประตูตรงที่ท่านยืนอยู่ได้



2. ท่านเคยลงแข่งขันเป็นนายประตู และเตะแบบข้อหนึ่ง เตะเข้าประตูฝ่ายตรงข้ามคือเพื่อนที่ซ้อมเตะมาด้วยกันนั้นก็สามารถเตะเข้าประตูที่ท่านรักษาได้เหมือนกัน เมื่อลงเล่นเตะได้ประตูเช่นนี้คนละครั้งกรรมการเลยให้ท่านและเพื่อนออกไปนอกสนามเพราะไม่อยากให้เล่นต่อ



3. ท่านชอบมวยไทย เคยหัดเตะต้นกล้วยที่ตัดยอดและโคนออกแล้ว เอามาตั้งปักไว้และเตะทั้งซ้ายและขวา ต้นกล้วยไม่ล้มท่านบอกว่าครั้งแรกต้นกล้วยไม่ล้มแต่ตัวเราล้ม



4. ท่านอบเล่นปามีด สามารถปามีดปาดโคนหรือเครือกล้วยได้ทั้งเครือ ให้ขาดตกลงมารับได้สบาย ท่านเล่าว่าหัดปาเพียงวันเดียวเท่านั้นเข้าใจว่าเป็นของเก่าตามมาท่านพกมีดปา 5 เล่ม ที่พุงตามขอบกางเกงที่พุง

เคยมีนักเลง 5 คนจะรุมทำร้ายท่านพระเดชพระคุณหลวงพ่อเป็นนักเลงต่างถิ่น

ท่านแสดงปามีดปักผลกล้วยให้ดูและก็บอกว่าแค่นี้ปานัยน์ตาไม่พลาด พวกนักเลงต่างถิ่นรีบหนีไปหมดเลย(ผู้เขียนเคยได้ยินท่านเล่าเหมือนกันท่านสามารถใช้มีดปามะม่วงให้ตกลงมาได้โดยให้ชี้ว่าต้องการลูกไหน)



5. หัดว่ายน้ำข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ท่าราชวรดิฐหัดว่ายไปอยู่จนสามารถว่ายไปกลับข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 20 เที่ยวอย่างแบบสบายๆ



ที่มา เวปแดนพระนิพพานและหนังสือตามรอยพระพุทธบาทเล่ม 4

1 comments:

Dith Narkyose said...

น่าศรัทธาครับ

Post a Comment