สมาธิวิธี โดยพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม

Sunday, May 23, 2010

สมาธิวิธี

พระญาณวิศิษฐ์ (พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม)

๑.นั่งสมาธิวิธี

ให้นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาวางทับมือซ้าย อุชุ กายํ ปณิธาย ตั้งกายให้ตรง คือ ไม่ให้เอียงไปข้างซ้าย ข้างขวา ข้างหน้า ข้างหลัง และอย่างก้มนัก เช่นอย่างหอยนาหน้าต่ำ อย่าเงยนัก เช่นอย่างนกกระแต้ (นกกระต้อยตีวิด) นอนหงายถึงดูพระพุทธรูปเป็นตัวอย่าง อุชุ จิตฺตํ ปณธาย ตั้งจิตให้ตรงคืออย่าส่งใจไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และอย่าส่งใจไปข้างหน้า ข้างหลัง ข้างซ้าย ข้างขวา พึงกำหนดรวมเข้าไว้ในจิตฯ



๒.วิธีสำรวมจิตในสมาธิ



มนสา สํวโร สาธุ สำรวมจิตให้ดี คือ ให้นึกว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ใจ พระธรรม อยู่ที่ใจ พระอริยสงฆ์อยู่ที่ใจ นึกอยู่อย่างนี้จนใจตกลงเห็นว่า อยู่ที่ใจจริงๆ แล้ว ทอดธุระเครื่องกังวลลงได้ว่า ไม่ต้องกังวลอะไรอื่นอีก จะกำหนดเฉพาะที่ใจแห่ง เดียวเท่านั้นจึงตั้งสติกำหนดใจนั้นไว้ นึกคำบริกรรมรวมใจเข้าฯ



๓.วิธีนึกคำบริกรรม



ให้ตรวจดูจิตเสียก่อน ว่าจิตคิดอยู่ในอารมณ์อะไร ในอารมณ์อันนั้นเป็น อารมณ์ที่น่ารัก หรือน่าชัง เมื่อติดใจในอารมณ์ที่น่ารัก พึงเข้าใจว่าจิตนี้ลำเอียง ไปด้วยความรัก เมื่อติดในอารมณ์ที่น่าชัง พึงเข้าใจว่าจิตนี้ลำเอียงไปด้วยความ ชัง ไม่ตั้งเที่ยง พึงกำหนดส่วนทั้งสองนั้น ให้เป็นคู่กันเข้าไว้ ที่ตรงหน้าซ้ายขวา แล้วตั้งสติกำหนดใจ ตั้งไว้ในระหว่างกลาง ทำความรู้เท่าส่วนทั้งสอง เปรียบอย่างถนน สามแยกออกจากจิตตรงหน้าอก ระวังไม่ให้จิตแวะไปตามทางเส้นซ้าย เส้นขวา ให้เดินตรงตามเส้นกลาง แต่ระวังไม่ให้ไปข้างหน้า ให้กำหนดเฉพาะจิตอยู่กับที่นั่น ก่อน แล้วนึกคำบริกรรม ที่เลือกไว้ จำเพาะพอเหมาะกับใจ คำใดคำหนึ่งเป็นต้นว่า "พุทโธ ธัมโม สังโฆ" ๓ จบ แล้วรวมลงเอาคำเดียวว่า "พุทโธ ๆ ๆ" เป็นอารมณ์แพ่ง จำเพาะจิต จนกว่าจิตนั้นจะวางความรักความชัง ได้ขาด ตั้งลงเป็นกลางจริงๆ แล้วจึง กำหนดรวม ทวนกระแสประชุมลงในภวังค์ ตั้งสติตามกำหนดจิตในภวังค์นั้นให้เห็น แจ่มแจ้งไม่ให้เผลอฯ



๔.วิธีสังเกตจิตเข้าสู่ภวังค์



พึงสังเกตจิตใจเวลากำลังนึกคำบริกรรมอยู่นั้น ครั้งเมื่อจิตตั้งลงเป็นกลาง วางความรัก ความชังทั้งสองนั้นได้แล้ว จิตย่อมเข้าสู่ภวังค์ (คือจิตเดิม) มีอาการต่างๆ กัน บางคนรวมผับลง บางคนรวมปึบลง บางคนรวมวับแวม เข้าไปแล้วสว่างขึ้น ลืมคำบริกรรมไป บางคนก็ไม่ลืม แต่รู้สึกว่าเบาในกาย เบาในใจที่เรียกว่า กายลหุตา จิตฺตลหุตา กายก็เบา จิตก็เบา กายมุทุตา จิตฺตมุทุตา กายก็อ่อน จิตก็อ่อน กายปสฺสทฺธิ จิตฺตปสฺสทฺธิ กายก็สงบ จิตก็สงบ กายุชุกตา จิตฺตุชุกตา กายก็ตรง จิตก็ตรง กายกมฺมญฺญตา จิตฺตกมฺมญฺญตา กายก็ควรแก่การทำสมาธิ จิตก็ควรแก่การทำสมาธิ กายปาคุญฺญตา จิตูตปาคุญฺญตา กายก็คล่องแคล่ว จิตก็คล่องแคล่ว หายเหน็ดหายเหนื่อย หายเมื่อย หายหิว หายปวดหลังปวดเอว ก็รู้สึกว่าสบายในใจมาก ถึงเข้าใจว่าจิตเข้าสู่ภวังค์แล้ว ให้หยุดคำบริกรรมเสีย และวางสัญญาภายนอกให้หมด ค่อยๆ ตั้งสติตามกำหนดจิตจน กว่าจิตนั้นจะหยุด และตั้งมั่นลงเป็นหนึ่งอยู่กับที่ เมื่อจิตประชุมเป็นหนึ่ง ก็อย่าเผลอสติ ให้พึงกำหนดอยู่อย่างนั้น จนกว่าจะนั่งเหนื่อย นี้แล เรียกว่าภาวนาอย่างละเอียดฯ



๕. วิธีออกจากสมาธิ



เมื่อจะออกจากที่นั่งสมาธิภาวนา ในเวลาที่รู้สึกเหนื่อยแล้วนั้น ให้พึงกำหนดจิต ไว้ให้ดี แล้วเพ่งเล็งพิจารณาเบื้องบนเบื้องปลาย ให้รู้แจ้งเสียก่อนว่า เบื้องต้นได้ตั้งสติ กำหนดจิตอย่างไร พิจารณาอย่างไร นึกคำบริกรรมอะไร น้ำใจจึงสงบมาตั้งอยู่อย่าง นี้ครั้นเมื่อใจสงบแล้ว ได้ตั้งสติอย่างไร กำหนดจิตอย่างไร ใจจึงไม่ถอนจากสมาธิ พึงทำ ในใจไว้ว่า ออกจากที่นั่งนี้แล้ว นอนลงก็จะกำหนดอยู่อย่างนี้ จนกว่าจะนอนหลับ แม้ตื่นขึ้นมา ก็จะกำหนดอย่างนี้ ตลอดวันและคืน ยืน เดิน นั่ง นอน เมื่อทำในใจเช่นนี้แล้ว จึงออกจากที่นั่งสมาธิ เช่นนั้นอีกก็ถึงทำพิธีอย่างที่ทำมาแล้วฯ



๖. มรรคสมังคี



มรรคมีองค์อวัยวะ ๘ ประการ ประชุมลงเป็นเอกมรรค คือ ๗ เป็นอาการ องค์ที่ ๘ เป็นหัวหน้า อธิบายว่า



สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ก็คือจิตเป็นผู้เห็น



สัมมาสังกับโป ความดำริชอบก็คือจิตเป็นผู้ดำริ



สัมมาวาจา กล่าววาจาชอบ ก็คือจิตเป็นผู้นึกแล้วกล่าว



สัมมากัมมันโต การงานชอบ ก็คือจิตเป็นผู้คิดทำการงาน



สัมมาอาชีโว เลี้ยง ชีวิตชอบก็คือจิตเป็นผู้คิดหาเลี้ยงชีวิต



สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ ก็คือจิตเป็น ผู้มีเพียรมีหมั่น



สัมมาสติ ความระลึกชอบ



ก็คือจิตเป็นผู้ระลึก ทั้ง ๗ นี้แหละเป็นอาการ ประชุมอาการทั้ง ๗ นี้ลงเป็นองค์สัมมาสมาธิ แปลว่าตั้งจิตไว้ชอบ ก็คือความประกอบการ กำหนดจิตให้เข้าสู่ภวังค์ได้แล้ว ตั้งสติกำหนดจิตนั้นไว้เป็นเอกัคคตา อยู่ในความเป็นหนึ่ง ไม่มีไป ไม่มีมา ไม่มีออก ไม่มีเข้า เรียกว่า มรรคสมังคี ประชุมมรรคทั้ง ๘ ลงเป็นหนึ่ง หรือเอกมรรคก็เรียก มรรคสมังคีนี้ประชุมถึง ๔ ครั้ง จึงเรียกว่า มรรค ๔ ดังแสดงมาฉะนี้ฯ



๗ นิมิตสมาธิ



ในเวลาจิตเข้าสู่ภวังค์ และตั้งลงเป็นองค์มรรคสมังคีแล้วนั้น ย่อมมีนิมิตต่างๆ มาปรากฏในขณะจิตอันนั้น ท่านผู้ฝึกหัดใหม่ทั้งหลาย พึงตั้งสติ กำหนดใจไว้ให้ดี อย่าตกประหม่ากระดาก และอย่างทำความกลัวจนเสียสต ิและอารมณ์ ทำใจ ให้ฟุ้งซ่านรั้งใจไม่อยู่ จะเสียสมาธิ นิมิตทั้งหลาย ไม่ใช่เป็นของเที่ยง เพียงสักว่า เป็นเงาๆ พอให้เห็นปรากฏ แล้วก็หายไปเท่านั้นเองฯ นิมิตที่ปรากฏนั้น คือ อุคคหนิมิต ๑ ปฏิภาคนิมิต ๑ นิมิตที่ปรากฏเห็น ดวงหทัยของตนใสสว่าง เหมือนกับดวงแก้ว แล้วยึดหน่วง เหนี่ยวรั้ง ให้ตั้งสติกำหนดจิตไว้ให้ดี เรียกว่า อุคคหนิมิต ไม่เป็นของน่ากลัวฯ นิมิตที่ปรากฏเห็นคนตาย สัตว์ตาย ผู้ไม่มีสติย่อมกลัว แต่ผู้มีสติแล้ว ย่อมไม่กลัว ยิ่งเป็นอุบายให้พิจารณาเห็นเป็นอสุภะ แยกส่วน แบ่งส่วนของกาย นั้นออกดูได้ดีทีเดียว และน้อมเข้ามาพิจารณาภายในกายของตน ให้เห็นแจ่มแจ้ง จนเกิดนิพพิทาญาณ เบื่อหน่ายสังเวชสลดใจ ยังน้ำใจให้ตั้งมั่นเป็นมาธิมีกำลัง ยิ่งขึ้น เรียกว่า ปฏิภาคนิมิตฯ



๘.วิธีเดินจงกรม



พึงตั้งกำหนดหนทางสั้นยาวแล้วแต่ต้องการ ยืนที่ต้นทาง ยกมือประนม ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แล้วตั้งความสัตย์ อธิษฐานว่า ข้าพเจ้าจะตั้งใจปฏิบัติ เพื่อเป็นปฏิบัติบูชา คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับทั้ง พระธรรมและพระอริยสงฆ์สาวก ขอให้น้ำใจของข้าพเจ้า สงบระงับตั้งมั่น เป็นสมาธิ มีปัญญาเฉลียวฉลาด รู้แจ้งแทงตลอด ในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการเทอญ แล้ววางมือลง เอามือขวาจับมือซ้ายไว้ข้างหนึ่ง เจริญพรหมวิหาร ๔ ทอดตาลงเบื้องต่ำ ตั้งสติกำหนดจิต นึกคำบริกรรม เดินกลับไปกลับมา จนกว่า จิตจะสงบรวมลงเป็นองค์สมาธิ ในขณะที่จิตกำลังรวมอยู่นั้น จะหยุดยืนกำหนด จิต ให้รวมสนิทเป็นสมาธิก่อน จึงเดินต่อไปอีกก็ได้ ในวิธีเดินจงกรมนี้ กำหนดจิตอย่างเดียวกันกับนั่งสมาธิ แปลกแต่ใช้อิริยาบถเดินเท่านั้นฯ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฝึกหัดใหม่ทั้งหลายพึงเข้าใจเถิดว่า การทำความเพียรคือ ฝึกหัดจิตในสมาธิวิธีนี้ มีวิธีที่จะต้องฝึกหัดในอิริยาบถทั้ง ๔ จึงต้องนั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง ยืนกำหนดจิตบ้าง นอนสีหไสยาสน์บ้าง เพื่อให้ชำนาญคล่องแคล่ว และเปลี่ยนอิริยาบถให้สม่ำเสมอฯ



๙.วิธีแก้นิมิต



มีวิธีที่จะแก้นิมิตได้เป็น ๓ อย่างคือ



วิธีที่ ๑ ทำความนิ่งเฉย



คือ พึงตั้งสติกำหนดจิตนั้นไว้ให้มั่นคง ทำความสงบนิ่งแน่วเฉยอยู่ในสมาธิ แม้มีนิมิตอะไรๆ มาปรากฏ หรือรู้เห็นเป็นจริงในจิตอย่างไร ไม่ต้องหวั่นไหวไป ตาม คือ ไม่ต้องส่งจิตคิดไป จะเป็นความคิดผิด ที่เรียกว่า จิตวิปลาส แปลว่า ความคิดเคลื่อนคลาด แปลกประหลาดจากความจริง นิ่งอยู่ในสมาธิไม่ได้ ให้ บังเกิดเป็นสัญญา ความสำคัญผิดที่เรียกว่า สัญญาวิปลาส แปลว่า หมายมั่น ไปตามนิมิต เคลื่อนคลาดจากจิตผู้เป็นจริง ทั้งนั้น จนบังเกิดถือทิฎฐิมานะขึ้นที่เรียก ว่า ทิฎฐิวิปลาส แปลว่า ความเห็นเคลื่อนคลาดจากความเป็นจริง คือเห็นไปหน้าเดียว ไม่แลเหลียวดูให้รู้เท่า ส่วนในส่วนนอก ชื่อว่าไม่รอบคอบ เป็นจิตลำเอียง ไม่เที่ยงตรง



เมื่อรู้เช่นนี้จึงไม่ควรส่งจิตไปตาม เมื่อไม่ส่งจิตไปตามนิมิตเช่นนั้นแล้ว ก็ให้คอยระวัง ไม่ให้จิตเป็นตัณหาเกิดขึ้น คือไม่ให้จิตดิ้นรนยินดี อยากเห็นนิมิตนั้น แจ่มแจ้งยิ่งขึ้นก็ดี หรือยินร้ายอยากให้นิมิตนั้นหายไปก็ดี หรือแม้ไม่อยากพบ ไม่อยากเห็น ซึ่งนิมิตที่น่ากลัวก็ดี ทั้ง ๓ อย่างนี้ เรียกว่า ตัณหา ถ้าเกิดมีในจิต แต่อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็ให้รีบระงับดับเสีย คือถอนความอยาก และความไม่อยากนั้นออกเสีย เมื่อ นิมิตมีมา ก็อย่ายินดี เมื่อนิมิตหายไป ก็อย่ายินร้าย หรือเมื่อนิมิตที่น่ากลัวมีมา ก็อย่าทำความกลัว และอย่าทำความคดโกง อยากให้หายไปก็ไม่ว่า ไม่อยากให้หายไปก็ไม่ว่า อยากเห็นก็ไม่ว่า ไม่อยากเห็นก็ไม่ว่า ให้เป็น สันทิฏฐิโก คือเห็นเอง อยากรู้ก็ไม่ว่า ไม่อยากรู้ก็ไม่ว่า ให้เป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะกับจิต ตั้งจิตไว้เป็นกลางๆ แล้วพึงทำความรู้เท่าอยู่ว่า อันนี้เป็นส่วนจิต อันนั้นเป็นส่วนนิมิต แยกส่วนแบ่งส่วน ตั้งไว้เป็นคนละอัน รักษาเอาแต่จิต กำหนดให้ตั้งอยู่ เป็นฐีติธรรมเที่ยงแน่ว ทำความรู้เท่าจิตและนิมิตทั้งสองเงื่อน รักษาไม่ให้ สติเคลื่อนคลาดจากจิต ทั้งไม่ให้เผลอสติได้เป็นดี สติมา ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ ถอนอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้แล้ว ก็เป็นผู้ตั้งอยู่ในวินัย เมื่อ ประกอบข้อปฏิบัติอันนี้อยู่อย่างนี้ สติก็ตั้งมั่น จิตก็ตั้งมั่นประชุมกันเป็นสมาธิดังนี้ เรียกว่า ญาตปริญญา แปลว่า รู้เท่าอารมณ์ฯ



วิธีที่ ๒ ตรวจค้นปฏิภาคนิมิต



คือ เมื่อเห็นว่าจิตมีกำลังประชุมกันอยู่เป็นปึกแผ่นแน่นหนาดีแล้ว พึงฝึกหัดปฏิภาค นิมิตให้ชำนาญ คือ เมื่อเห็นรูปนิมิตมาปรากฏในตา ในจิต เห็นเป็นรูปคน เด็กเล็ก หญิงชาย หนุ่มน้อย บ่าวสาว หรือแก่เฒ่าชรา ประการใดประการหนึ่งก็ตาม แสดง อาการแลบลิ้นปลิ้นตา หน้าบิดตาเบือน อาการใดอาการหนึ่งก็ตาม ให้รีบพลิกจิตเข้ามา กลับตั้งสติ ผูกปัญหาหรือทำในใจก็ได้ว่า รูปนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง จะแก่เฒ่าชราต่อ ไปหรือไม่ เมื่อนึกในใจกระนี้แล้วถึงหยุด และวางคำที่นึกนั้นเสีย กำหนดจิตพิจารณา นิ่งเฉยอยู่ จนกว่าจะตกลง และแลเห็นในใจว่า เฒ่าแก่ชราได้เป็นแท้ จึงรีบพิจารณา ให้เห็นแก่เฒ่าชราหลังขดหลังโข สั่นทดๆ ไปในขณะปัจจุบันทันใจนั้น แล้วผูกปัญหา ถามดูทีว่า "ตายเป็นไหมเล่า" หยุดนิ่งพิจารณาอยู่อีก จนกว่าจะตกลงเห็นในใจได้ว่า ตายแน่ตายแท้ไม่แปรผัน จึงรีบพิจารณาให้เห็นตายลงไปอีกเล่า ในขณะปัจจุบันทันใจนั้น "เมื่อตายแล้วจะเปื่อยเน่าตายทำลายไปหรือไม่" หยุดนิ่งพิจารณาเฉยอยู่อีก "จนกว่าจิตของเราจะตกลงเห็นว่า เปื่อยเน่าแตกทำลายไปหรือไม่" หยุดนิ่งพิจารณา เฉยอยู่อีก จนกว่าจิตของเราจะตกลงเห็นว่า เปื่อยเน่าแตกทำลายไปได้แท้แน่ในใจ ฉะนี้แล้ว ก็ให้รีบพิจารณาให้เห็น เปื่อยเน่า แตกทำลาย จนละลายหายสูญลงไป เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ไปตามธรรมดา ธรรมธาตุ ธรรมฐีติ ธรรมนิยามะ



แล้วพลิกเอาจิต ของเรา กลับทวนเข้ามาพิจารณา กายในกายของเราเอง ให้เห็นลงไปได้อย่างเดียวกัน จนกว่าจะตกลง และตัดสินใจได้ว่า ร่างกายของเรานี้ ก็แก่เฒ่าชรา ทุพพลภาพแตกตาย ทำลาย เปื่อยเน่าไปเป็นเหมือนกัน แล้วรีบตั้งสติพิจารณา เห็นเป็นแก่เฒ่าชราดูทันที และ พิจารณาให้เห็น ตายลงไปในขณะปัจจุบัน แยกส่วนแบ่งส่วนออกดูให้เห็นแจ้งว่า หนังเป็น อย่างไร เนื้อเป็นอย่างไรกระดูกเป็นอย่างไร ตับไตไส้พุงเครื่องในเป็นอย่างไร เป็นของงาม หรือไม่งาม ตรวจดูให้ดี พิจารณาให้ละเอียด จนกว่าจะถอนความยินดียินร้ายเสียได้ แล้ว พิจารณาให้เห็นเปื่อยเน่าผุพังลงถมแผ่นดินไป ภายหลังกลับพิจารณาให้เห็นเป็นคืนมาอีก แล้วฝึกหัดทำอยู่อย่างนี้จนกว่าจะชำนาญ หรือยิ่งเป็นผู้มีสติได้พิจารณาให้เนื้อ หนัง เส้น เอ็น และเครื่องในทั้งหลาย มีตับ ไต ไส้ พุง เป็นต้น เปื่อยเน่าผุพังลงไปหมดแล้ว ยังเหลือ แต่ร่างกระดูกเปล่า จึงกำหนดเอาร่างกระดูกนั้นเป็นอารมณ์ ทำไว้ในใจ ใคร่ครวญให้เห็น แจ้งอยู่เป็นนิจ จนกว่าจะนับได้ทุกกระดูกก็ยิ่งดี เพียงเท่านี้ ก็เป็นอันแก้นิมิตได้ดีทีเดียวฯ



คราวนี้ถึงทำพิธีพิจารณาเป็น อนุโลม ถอยขึ้นถอยลง คือตั้งสติกำหนดจิตไว้ให้ดีแล้ว



เพ่งพิจารณาให้เห็นผมอยู่บนศีรษะมีสีดำ สัณฐานยาว ก็จะหงอกขาวลงถม แผ่นดินทั้งนั้น และพิจารณาให้เห็นขน ซึ่งเกิดตามชุมชนตลอดทั่วทั้งกาย นอกจากฝ่ามือ ฝ่าเท้า ก็จะลงถมแผ่นดินเหมือนกัน



พิจารณาเล็บที่อยู่ปลายนิ้วเท้า นิ้วมือ ให้เห็นเป็นของ ที่จะต้องลงถมแผ่นดินด้วยกันทั้งนั้น



พิจารณาฟันซึ่งอยู่ในปากข้างบน ข้างล่าง ให้เห็นแจ้งว่า ได้ใช้เคี้ยวอาหารการกิน อยู่เป็นนิจ แต่ก็จะต้องลงถมแผ่นดิน เหมือนกัน



คราวนี้พิจารณาหนังเบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา มีหลังหุ้ม อยู่เป็นที่สุดรอบ ยังชีวิตนี้ให้ตั้งอยู่ได้แล้วเป็นไป ถ้าถลกหนังนี้ออกหมดแล้วก็ต้องตาย ตายแล้ว ต้องถมแผ่นดิน พิจารณาเห็นความจริงฉะนี้



แล้วเลิกหนังออกวางลงไว้ที่พื้นดิน พิจารณาเส้นเอ็นให้เห็นแจ้งว่า เส้นเอ็นทั้งหลาย รัดรึงกระดูกไว้ให้ติดกันอยู่ เมื่อเลิกเส้นเอ็นนี้ออกหมดแล้ว กระดูกก็จะหลุดจากกัน ผุพังลงถมแผ่นดินทั้งสิ้น



แล้วกำหนดเลิกเส้นเอ็นนี้ออกเสีย กองไว้ที่พื้นดิน พิจารณาร่างกระดูกให้เห็นแจ้งว่า กระดูกในร่างกายนี้มีเป็นท่อนๆ เบื้องต้นแต่กระดูกกะโหลกศีรษะลงไป เบื้องบนแต่ กระดูกพื้นเท้าขึ้นมา เห็นได้กระจายสมควร



แล้วเพ่งเล็งพิจารณาดูเครื่องในทั้งหลาย ให้เห็นว่า ปอดอยู่ที่ไหน ม้ามอยู่ที่ไหน ดวงหฤทัยอยู่ที่ไหน ใหญ่น้อยเท่าไร เห็นตับไต ไส้พุง อาหารใหม่ อาหารเก่า เป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน มีรูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร มีสีสันวรรณะเป็นไฉน เครื่องในทั้งปวงนี้ เป็นที่ประชุมแห่งชีวิตก็จริง แต่ก็จะต้องถม แผ่นดิน เมื่อพิจารณาเห็นฉะนี้แล้วจึงกำหนดให้ขาดตกลงไปกองไว้ที่พื้นดิน ยังเหลือ แต่ร่างกระดูก



จึงพิจารณาดูกระดูกกะโหลกศีรษะเป็นลำดับลงมา กระดูกคอ กระดูก แขน กระดูกหัวไหล่ กระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง กระดูกเอว กระดูกตะโพก กระดูก ต้นขากระดูกแข้ง กระดูกพื้นเท้า พิจารณาอย่างนี้เรียกว่าอนุโลมฯ



คราวนี้พึงพิจารณาเป็นปฏิโลม คือพิจารณาถอยกลับขึ้นเบื้องบนตั้งแต่กระดูกพื้นเท้าขึ้นไป ตลอดถึงกระดูกกะโหลกศีรษะ พิจารณาทบทวนกลับจากศีรษะ ถอยลงมาตรงหน้าอก นั้นให้มั่นคงทำในใจว่า ร่างกายทั้งหมดนี้มีจิตเป็นใหญ่ ประชุมอยู่ที่จิต จึงกำหนดรวมจิตเข้าให้สงบ แลตั้งอยู่เป็นเอกัคคตา วิธีที่ ๒ นี้ เรียกว่า ตีรปริญญา แปลว่า ใคร่ครวญอารมณ์ฯ



ขอเตือนสติไว้ว่า ในระหว่างนี้กำลังพิจารณาอยู่นั้น ห้ามไม่ให้จิตเคลื่อนจากที่คิด ระวังไม่ให้ส่งจิตไปตามอาการ จิตจะถอนจากสมาธิ ถ้าจิตถอนจากสมาธิ เป็นใช้ไม่ได้ ข้อสำคัญให้เอาจิตเป็นหลัก ไม่ให้ปล่อยจิต ให้มีสติเพ่งเล็งให้รอบจิต พิจารณาให้รอบกาย รักษาใจไม่ให้ฟุ้ง จึงไม่ยุ่งในการพิจารณาฯ



วิธีที่ 3 เจริญวิปัสสนา



คือ เมื่อผู้ปฏิบัติทั้งหลายได้ฝึกหัดจิตมาถึงขั้นนี้ มีกำลังพอพิจารณาปฏิภาค นิมิตได้ชำนาญคล่องแคล่วเป็นประจักขสิทธิ ดังที่อธิบายมาแล้ว และกำหนด จิตรวมเข้าไว้ในขณะจิตอันเดียว ณ ที่หน้าอก ตั้งสติพิจารณาดูให้รู้รอบจิต เพ่งพินิจให้สว่างแลเห็นร่างกระดูกทั่งทั้งกาย ยกคำบริกรรมวิปัสสนา วิโมกขปริวัตรขึ้นบริกรรมจำเพาะจิตว่า



สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สพฺเพ ธมฺมา อนิจฺจา สพฺเพ ธมฺมา ทุกฺขา



ให้เห็นร่างกระดูกทั้งหมดเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรถือเอา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ กำหนดให้เห็นกระดูกทั้งหลายหลุดจากกันหมด ตกลงไปกองไว้ ที่พื้นดิน



คราวนี้ตั้งสติให้ดีรักษาไว้ซึ่งจิต อย่าให้เผลอ ยกคำบริกรรม วิปัสสนานั้นอีก เพ่งพิจารณาจำเพาะจิต ให้เห็นเครื่องอวัยวะที่กระจัด กระจายกองไว้ที่พื้นดินนั้น ละลายกลายเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ถมแผ่นดินไปหมด



กำหนดจำเพาะจิตผู้รู้ เพ่งพินิจพิจารณาให้เห็นพื้นแผ่นดิน กว้างใหญ่เท่าไร เป็นที่อาศัยของสัตว์ทั้งโลก ก็ยังต้องฉิบหายด้วยน้ำ ด้วยลม ด้วยไฟ ยกวิปัสสนาละลายแผ่นดินนี้เสียให้เห็น เป็นสภาวธรรม เพียงสักว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้น รวบรวมเอาแต่จิต คือผู้รู้ ตั้งไว้ให้เป็นเอกจิต เอกธรรม สงบนิ่งแน่วอยู่ และวางลงเป็นอุเบกขา เฉยอยู่กับที่ คราวนี้จะแลเห็นจิตนั้นแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นทีเดียว ก้างล่วงจากนิมิต ได้ดี มีกำลังให้แลเห็น อำนาจอานิสงส์ของจิต ที่ได้ฝึกหัดสมาธิมาเพียงชั้นนี้ ก็พอมีศรัทธาเชื่อในใจของตน ในการที่จะกระทำความเพียรยิ่ง ๆ ขึ้นไป วิธีนี้ 3 นี้ เรียกว่า ปหานปริญญา แปลว่า ละวางอารมณ์เสียได้แล้ว

0 comments:

Post a Comment