ประวัติหลวงพ่อสิน ภทฺทาจาโร ระยอง

Friday, May 28, 2010

พระครูสุภัททาจารคุณ (หลวงพ่อสิน ภทฺทาจาโร) เจ้าอาวาสวัดละหารใหญ่ ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่เพ่ง สาสโน อดีตเจ้าอาวาสวัดละหารใหญ่ และหลวงพ่อรัตน์ วัดหนองกระบอก ผู้สืบทอดพุทธาคมจากหลวงพ่ออ่ำ วัดหนองกระบอก เจ้าตำรับแพะเมตตาอันลือลั่นแห่งเมืองระยอง


วัดละหารใหญ่ ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับวัดละหารไร่ ดังนั้น หลวงพ่อสินจึงมีโอกาสไปกราบนมัสการ และรับใช้หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ เจ้าตำรับพระขุนแผนพรายกุมาร อยู่เสมอในสมัยที่หลวงปู่ทิมยังมีชีวิตอยู่

หลวงพ่อสินเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสมถะ เรียบง่าย ไม่ยึดติดใน ลาภยศสรรเสริญใดๆ ท่านมักจะพร่ำสอนญาติโยมที่เข้ามากราบไหว้เสมอๆ ว่า

"คนเราจะมีความสุขสงบในสังคมได้ ต้องถือศีล ๕ เพราะทำให้สังคมสงบสุข ปิดกั้น ภัยเวรต่างๆ ได้ แต่ที่พวกเรารู้สึกว่าทำได้ยาก หรือขัดกับชีวิตประจำวัน เป็นเพราะตาใจ ของเรามันบอดแสง หรือเจ้ากรรมนายเวรมาบังจิตบังใจเรา"

พร้อมกันนี้ ท่านได้อนุญาต ให้สัมภาษณ์แบบ "คม ชัด ลึก" ดังนี้

* วัตถุมงคลมีความสำคัญต่อคนเราอย่างไร?

* สำคัญสิโยม สำคัญที่อาตมาว่ามันก็อยู่ที่ความเชื่อของแต่ละคนนั่นแหละ ใครที่เชื่อ ใครที่ศรัทธาในสิ่งของนั้นๆ ก็จะเกิดเป็นสิริมงคล ทำให้มีความเชื่อมั่น ทำอะไรก็จะประสบความสำเร็จได้ง่าย พอไปเจอปัญหาอุปสรรคใดๆ ก็จะไม่ย่อท้อ เมื่อมั่นใจว่าวัตถุมงคลเป็นสิ่งที่จะนำพาไปสู่ชัยชนะได้มันก็จะทำให้เขามีกำลังใจในการทำหน้าที่อย่างมุ่งมั่น สิ่งที่ว่าแพ้ก็จะกลับมาชนะได้อีกครั้งเหมือนกัน

* ความอยู่ยงคงกระพัน กับหนังเหนียวเกิดขึ้นได้อย่างไรครับ?

* เครื่องรางของขลังเหล่านี้ก็เป็นความเชื่อเหมือนกัน ใครเชื่อมั่นว่ามีเครื่องรางอันนี้แล้วทำให้จิตใจเกิดมาเพื่อเป็นนักสู้ก็เป็นดังพลังให้กับคนเหล่านั้น แต่เครื่องรางเหล่านี้เมื่อมีดี ก็ต้องมีเสีย หากคนเรานำไปใช้ในทางที่ผิด ด้วยการไปรังแกคนที่อ่อนแอกว่า แบบนี้อาตมาคิดว่าเป็นความเชื่อที่ผิด ไม่ก่อประโยชน์อันใดให้กับตัวเองเลย เรียกว่าเป็นการสร้างบาปมากกว่า

* จริงๆ คนเราจะรอดตายได้ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งวัตถุมงคลเพียงอย่างเดียว?

* ใช่ซิ!...มีวัตถุมงคลไม่บูชา ไม่ศรัทธาแบบนี้ก็ไม่รอด โยมไม่เห็นเหรอ มีคนแขวนพระติดตัวกันเยอะแยะ พอถูกยิงเท่านั้น ก็ตายกันหมด บางคนแขวนพระเป็นสิบองค์ก็ยังตายเลย (หัวเราะ) และตามความเป็นจริง ถ้าถามว่า วัตถุมงคลมีประโยชน์ต่อชาวโลกไหม อาตมาก็คิดว่ามันมีอยู่ในตัวแล้ว แต่อยู่ที่ว่าคนเราไปยึดถือในความดี หรือไปยึดถือในทางที่ผิด เบียดเบียนคนอื่น แบบนี้ก็ใช้ไม่ได้

* หลวงพ่อไปร่วมพิธีพุทธาภิเษกบ่อยไหมครับ?

* อาตมาก็มีเวลาไปร่วมงานปลุกเสกอยู่บ่อยครั้ง ส่วนใหญ่ที่ไปก็จะพบกันเป็นประจำก็คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ หลวงปู่ทิม วัดพระขาว หลวงพ่อรวย วัดตะโก หลวงพ่อสาคร วัดหนองกรับ หลวงพ่อสวัสดิ์ วัดเม้าสุขา ตอนนี้ท่านก็มรณภาพไปแล้ว พระเทพคุณาธาร เจ้าคณะ จ.ระยอง หลวงพ่อจ้อย วัดหนองน้ำเขียว หลวงพ่อแจ่ม วัดเขาสำเภาทอง หลวงพ่อดำ วัดเขาพูลทอง หลวงพ่อเพิ่ม วัดป้อมแก้ว และก็ยังมีพระอีกหลายรูปที่มาร่วมพิธีปลุกเสกกันเป็นประจำ

* นอกจากนี้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีอยู่จริงไหมครับ ?

* มีจริง ดูจากคนที่ประสบอุบัติเหตุขึ้นมาแล้วไม่ตาย ไม่เป็นอะไรเลย แม้บางคนจะเถียงว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่มีตัวตน แต่ในความหมายของอาตมาคิดว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของการสร้างคุณงามความดี กรรมที่เป็นทั้งดีและไม่ดี สร้างบารมีให้กับตัวเอง จึงประกอบเข้าด้วยกันให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือปาฏิหาริย์ตามที่หลายคนเข้าใจ

* แสดงว่าปาฏิหาริย์มีจริงสิครับ?

* ก็มีจริงสิ ปาฏิหาริย์ที่อาตมาว่านั้นมันเกิดจากจิตที่นิ่งสงบไร้สิ่งปรุงแต่ง ซึ่งความสุขก็เกิดจากจิตสงบ อาจกล่าวได้ว่า เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของมนุษย์ จิตเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดของร่างกายและจิตใจ เป็นผู้นำ ส่วนร่างกายเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของจิต อุปมาดังม้ากับคนขี่ หากว่าผู้ขี่คุมบังเหียนบังคับม้าด้วยความชำนาญ ก็จะเดินทางไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทางได้อย่างราบรื่น

หากว่าผู้ขี่ม้าไม่ได้รับการฝึกอย่างชำนิชำนาญ หรือตั้งอยู่ในความประมาทเกินไปก็จะพลาดท่าตกม้า หรือเดินทางไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการได้ฉันใดก็ฉันนั้น ความสุขอันเกิดจากจิตสงบ เป็นความสุขที่ซื้อหามาได้ราคาถูกที่สุด แต่กลับมีคุณค่ามหาศาลยิ่งกว่าสมบัติพัสถานใดๆ ทั้งสิ้น ความสุขของจิตที่แท้จริงจะเกิดขึ้นกับบุคคลที่หมั่นฝึกฝนหรืออบรมจิตอยู่เสมอนั้น คือ เจริญสมาธิเป็นประจำ

* เมื่อครั้งหลวงพ่อออกบวชใหม่ๆ ได้ไปเดินธุดงค์บ้างไหมครับ?

* อาตมาก็ออกเดินธุดงค์ไปทั่วเหมือนกัน ในป่าก็ไป ที่ไหนเขาว่าดีก็ไปทั้งนั้น การไปในคราวธุดงค์ ไม่ได้ไปเพื่อค้นหาอะไร เพียงต้องการความสงบความวิเวก ที่ไม่มีอะไรวุ่นวาย การเดินจึงเดินไปเรื่อยๆ ไม่มีเป้าหมายชัดเจน แต่การเดินธุดงค์ ก็ไม่ได้ไปนานเท่าไร ก็ต้องกลับมายังวัด แล้วก็ได้มาเรียน วิชาต่างๆ จากพระอธิการเพ่ง สาสโน อดีตเจ้าอาวาสวัดละหารใหญ่ เพราะท่านก็ได้เรียน วิชามาจากหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่เช่นกัน

* ระหว่างเดินธุดงค์เคยเจอผีไหมครับ?

อาตมายังไม่เคยเจอผีเลย (หัวเราะ)

* อ้าว! แล้วจริงๆ ผีมีจริงหรือเปล่าครับ?

จะว่าไปแล้วมันก็คือวิญญาณที่อยู่ในตัวเรานั่นแหละ จังหวะที่อาตมานั่งปฏิบัติธรรมกรรมฐานพวกวิญญาณเหล่านี้ก็จะมารบกวนอยู่เป็นประจำ พวกนี้ก็จะวนเวียนไปเรื่อยๆ คนเราเมื่อตายกันแล้วถ้าทำบุญมาน้อย ประกอบกับมีกรรมไม่ดีเยอะ สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้วิญญาณเร่ร่อนอยู่บริเวณนั้น เหมือนกับไม่มีที่ไปนั่นแหละ

* แสดงว่าการทำบุญให้กับคนตายโหงก็เป็นการปลดปล่อยดวงวิญญาณได้ใช่ไหมครับ?

อาตมาคิดว่านั่นก็เป็นความเชื่อกันว่า การถอนศพ มันก็คือการถอนดวงวิญญาณของผู้ตายให้ออกจากจุดนั้นๆ โดยเขาเชื่อกันว่า เมื่อคนเราตายจากอุบัติเหตุ หรือไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ ณ ที่ใด วิญญาณของผู้ตายก็จะติดอยู่ตรงนั้น ไม่ไปไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการตายโหง ก็จำเป็นต้องทำพิธีถอนเสียก่อน วิญญาณของผู้ตายจึงจะไปจากที่นั้น ดังนั้นเมื่อจะนำศพออกไปฝังหรือเผาจึงต้องถอนให้วิญญาณไปกับศพด้วย จะได้ไปผุดไปเกิด ไม่หลอกหลอนอยู่ที่บริเวณนั้น ปัจจุบันพิธีถอนวิญญาณของคนตายยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไป เมื่อมีคนตายจากอุบัติเหตุรถชนบนท้องถนน ญาติจะนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีสวดถอน และนำธงกระดาษมาปักในสะตวง ๔ อันวางไว้ตรงจุดที่เกิดอุบัติเหตุนั้น

* วิญญาณกับหลักธรรมเกี่ยวข้องกันอย่างไรครับ?

ปัญหานี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีทัศนะเกี่ยวกับกายและจิตเป็นพุทธดำรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ จะพึงเบื่อหน่าย คล้ายยินดีหรือหลุดพ้นในร่างกายอันประกอบด้วยมหาภูตทั้ง ๔ นี้ (ย่อมเป็นไปได้) นั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า ความเจริญ ความเสื่อม การเกิด หรือการตายของร่างกายอันประกอบด้วยมหาภูต ๔ นี้ ย่อมปรากฏ (ฉะนั้น) ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ จึงเบื่อหน่าย คลายความยินดีหรือหลุดพ้นในร่างกายนั้นได้" "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติใดที่เรียกกันว่าจิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง การที่ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ จะพึงเบื่อหน่าย คลายความยินดีหรือหลุดพ้นในธรรมชาตินั้น (ย่อมเป็นไปไม่ได้) นั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าธรรมชาตินั้น ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้รวบรัดถือไว้ด้วยตัณหา ยึดถือด้วยทิฐิว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ดังนี้ มาตลอดกาลช้านาน ฉะนั้นปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ จึงไม่อาจจะเบื่อหน่าย คลายความยินดี หลุดพ้นในธรรมชาตินั้นได้เลย

* แล้ววิญญาณคืออะไรกันแน่?

อาตมาก็อยากจะอธิบายให้ฟังว่า วิญญาณจริงๆ มันก็คือ "ธาตุรู้" วิญญาณในเบญจขันธ์หมายถึง วิญญาณรู้จากของ ๒ อย่างกระทบกัน เช่น ตากับรูปกระทบกัน เกิดภูมิรู้ขึ้น เรียกว่า จักขุวิญญาณ เสียงกับหูกระทบกัน เกิดภูมิรู้ขึ้น เรียกว่า โสตวิญญาณ กลิ่นกับจมูกกระทบกัน เกิดภูมิรู้ เรียกว่า ฆานวิญญาณ

ลิ้นกับรสกระทบกัน เกิดภูมิรู้ เรียกว่า ชิวหาวิญญาณ กายกับสิ่งสัมผัสกระทบกัน เกิดภูมิรู้ขึ้นเรียกว่า กายวิญญาณ จิตนึกคิดอารมณ์เกิดภูมิรู้ขึ้น เรียกว่า มโนวิญญาณ อันเป็นวิญญาณในขันธ์ ๕ ทีนี้วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท หมายถึง ปฏิสมาธิวิญญาณ คือ วิญญาณรู้ผุด รู้เกิด และวิญญาณคนเราจะไปสู่ยังภพภูมิที่ดีได้ก็จะต้องทำบุญกันไว้มากๆ

* แล้วภพภูมิที่ว่าจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับอะไรครับ?

อาตมาจะยกตัวอย่างให้เห็นกันก็คือ ภพภูมิ ของ สัตว์เดรัจฉาน ภพนี้คือ โลกของเดรัจฉานทั้งหลาย หรือ เรียกว่า "เดรัจฉานภูมิ" ปริศนาธรรม ของภพนี้ ก็คือ โมหะ คือ โง่ หลง งมงาย มีสติปัญญา ต่ำต้อย เยี่ยงสัตว์เลื้อยคลาน หรือ สัตว์ตระกูลต่ำ ทั้งหลายความหมายในภาษาธรรม ของเดรัจฉานนี้ เท่ากับ ความโง่ของคน ไม่ศึกษา ไม่ฝึกฝน ปล่อยให้ชีวิต ขาดสติปัญญา อยู่ไปวันๆ อย่างที่กล่าวเป็น ภาษาชาวบ้าน ว่า กิน ขี้ นอน สืบพันธุ์ หรือ เสพเมถุน

อย่างสัญชาตญาณ ของสัตว์ทั่วไป มีความกลัวภัยอยู่เสมอ เพราะไม่มีสติปัญญา ที่จะรู้ได้ว่าอะไรควรจะกลัว หรือ ไม่ควรกลัว พระพุทธเจ้า เสด็จลงมาโปรดเดรัจฉานภูมิ เหมือนกัน แต่แม้ว่าพระองค์จะมีพระเมตตาแสดงธรรม ล้ำลึกเพียงใด จิตของเดรัจฉาน พอใจ หรือ จมดิ่ง อยู่กับความเป็นเดรัจฉาน อย่างไม่เปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับสติ และปัญญาด้วย

* คนทั่วๆ ไปจะรู้ได้อย่างไรว่า ชาติหน้าจะเกิดเป็นอะไรครับ?

เรื่องนี้อาตมาบอกไม่ได้ แต่ให้รู้เพียงว่าทำบุญเอาไว้มากๆ ก็จะได้เกิดมาเป็นคน ส่วนคนที่ทำบุญบ้างทำบาปบ้างคนพวกนี้ก็จะเกิดมาเป็นคนได้อีกต้องไปชดใช้กรรมเก่าที่ไม่ดีให้หมดก่อน ถึงจะเกิดมาเป็นคนได้อีก คนที่จนในชาตินี้ก็เป็นเพราะบุญเก่าที่ทำมันน้อย แต่คนที่รวยในชาตินี้เป็นเพราะว่าชาติที่แล้วเขาทำบุญ  มาเยอะ ดังนั้น ใครอยากรวยอย่าหวังแต่เล่นหวย จงเร่งทำกรรมดีสร้างกุศลเพื่อให้เป็นกุศลไปถึงภพหน้านั่นแหละโยม


* ส่วนตัวหลวงพ่อเองคิดเอาไว้หรือยังว่าจะเกิดไปเป็นอะไร?

อาตมายังไม่ได้คิดเลย เรื่องแบบนี้มันก็ขึ้นอยู่กับเวรกรรมของอาตมาด้วย จะบอกให้รู้กันเลยก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถตอบได้ เพราะอาตมาก็ไม่รู้ว่าคุณงามความดีที่ทำเอาไว้มันดีมากพอหรือยัง

* ตอนนี้อายุก็มากขึ้น จะอยู่ถึง ๑๐๐ ปีไหมครับ?

อาตมาว่าแล้วแต่เวรกรรม ร่างกายของเรามันไม่เที่ยง เราต้องมีชีวิตอยู่กันแบบปลงๆ จะไปบอกว่า ต้องตายหรือมีอายุเป็นร้อยปีคงไม่ได้ ตอนนี้อยู่แน่ๆ แต่ตอนนั้นไม่รู้จะอยู่หรือเปล่า (หัวเราะ)

* หลักธรรมอะไรที่หลวงพ่อให้กับญาติโยมที่มาทำบุญในวัดละหารใหญ่ครับ?

อาตมาก็ย้ำเตือนให้กับพวกเขาอย่าไปยึดติดกับเงินทอง แต่ขอให้ยึดอยู่ในศีล ๕ แม้ว่าจะถือศีลได้ไม่ทั้งหมด หากได้เพียงบางส่วนก็ถือว่าเป็นคนที่อยู่ในศีลในธรรมเหมือนกัน ศีล ๕ เป็นศีลที่ทำให้สังคมสงบสุข ปิดกั้นภัยเวรแก่ผู้รักษาศีล ที่พวกเรารู้สึกว่ารักษายากขัดกับชีวิตประจำวัน นั่นเป็นเพราะตาใจของเรามันบอดแสง หรือเจ้ากรรมนายเวรมาบังจิตบังใจเรา ไม่ยอมให้ลุถึงซึ่งความดี

หลายคนกว่าจะถึงดีมีสุข เจ้ากรรมนายเวรเคยดลจิตให้คิดผิด พูดผิด ทำก็ผิด ต้องตกระกำลำบากมามาก เหตุเพราะเราทำเขาไว้นี่ เขาจองเวรเราก็ลำบาก จะรักษาศีล ๕ให้ถึงความดี ก็ทำไม่ได้สักที กาย วาจา ใจ ก็เป็นเรื่องสำคัญถ้าคิดไม่ดีก็จะเป็นทุกข์ ดังนั้น การทำความดีให้อยู่ในศีล ๕ ชาตินี้ชีวิตก็จะมีแต่ความสุข

0 ชาติภูมิหลวงพ่อสิน 0

หลวงพ่อสิน ภทฺทาจาโร อายุ ๗๖ ปี พรรษา ๕๓ ชื่อเดิม นายสิน สุขมาก เกิดวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๑ ปีมะโรง ณ ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง บิดา นายเซี้ย สุขมาก มารดา นางจัน สุขมาก อาชีพ ทำนา อายุ ๒๐ ปี ได้เข้าราชการทหารเกณฑ์เป็นระยะเวลา ๒ ปี

อายุ ๒๔ ปี ได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๙๔ เวลา ๑๕.๓๐ น. ณ วัดละหารไร่ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง โดยมี พระครูวิจิตรธรรมานุวัต (หลวงพ่อรัตน์) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการเพ่ง สาสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูเกลี้ยง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ สังกัดมหานิกาย ได้รับฉายา "ภทฺทาจาโร"

ศิษยานุศิษย์และประชาชนทั่วไปสอบถามเส้นทางไปวัดละหารใหญ่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ได้ที่โทรศัพท์ ๐-๓๘๙๖-๑๔๓๐
ขออนุญาตบริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)เพื่อนำประวัติลพ.สินมาเผยแพร่ด้วยครับ

ขอบขอบพระคุณบริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)ด้วยครับครับที่นำประวัติของลพ.สินมาเผยแพร่

0 comments:

Post a Comment