ประวัติหลวงปู่ดูลย์ อตุโล สุรินทร์

Friday, May 28, 2010

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล  วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์
ประวัติพระราชวุูฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)


หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุริินทร์

ท่านและหลวงปู่สิงห์ขันตยาคโมเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตที่ไดถวายตัวเป็นศิษย์รับโอวาทคำสอนและปฏิบัติตาม ท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยเยือกเย็นสงบ พูดน้อย พูดเป็นธรรมะลึกซึ้ง ได้รับคำชมจากหลวงปู่มั่นว่า " ท่านดูลย์นี้ เป็นผู้ที่มีความสามารถเป็นอย่างยิ่ง สามารถมีสานุศิษย์ และผู้ติดตามมาประพฤติปฏิบัติธรรม เป็นจำนวนมาก"

อัฐิธาตุหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ของวัดสันติธรรม
 
พระธาตุหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ภาพจากหนังสือ อตุโล ไม่มีใดเทียม

 
ชาติกำเนิด
ณ บ้านปราสาท ตำบลเฉนียง ซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศใต้ของจังหวัดสุรินทร์ มีครอบครัว “ดีมาก” อาศัยทำมาหากินอยู่ และเป็นสถานที่เกิดของเด็กชายดูลย์ ต่อมาเป็นพระกัมมัฏฐานผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ นามว่า พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล



พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล มีบิดาชื่อนางแดง ดีมาก และมารดาชื่อนางเงิม ดีมาก ถือกำเนิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๑ ตรงกับแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีชวด ในรัชสมัยของพระบาทของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งขณะนั้นเสวยราชสมบัติย่างเข้าปีที่ ๓๐



พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล มีพี่น้องทั้งสิ้น ๕ คน ได้แก่



๑. นางกลิ้ง ๒. พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ๓. นายเคน ๔. นางรัตน์ และ ๕. นางทอง



ในบรรดาพี่น้องทั้ง ๕ คนนั้น พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ท่านมีอายุยืนยาวที่สุดคือ ๙๖ ปี ส่วนพี่น้องคนอื่นมีอายุอย่างมากที่สุดเพียง ๗๐ ปีก็ถึงแก่กรรม



ภายหลังท่านได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุล “เกษมสินธุ์” ด้วยเหตุที่นายพร้อม หลานชายของท่านให้ตั้งนามสกุลให้ ท่านจึงตั้งว่า “เกษมสินธุ์” แล้วท่านก็ได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุลนี้ด้วย



ถิ่นกำเนิดบรรพบุรุษ



สุรินทร์หรือเมืองประทายสมันต์ หรือไผทสมันต์ในอดีต อยู่ในพื้นที่ราบต่ำ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่านานาชนิด ชุมชนสุรินทร์ในอดีตไม่มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่ามีมาไม่ต่ำกว่าสองพันปี เคยผ่านความรุ่งเรืองมาสมัยหนึ่ง ในฐานะเป็นเมืองด่านจากผืนที่ราบโคราชลงสู่แคว้นเจนละของกัมพูชา หลักฐานของเมืองโบราณที่พบเห็นได้แก่ ปราสาทหินหลายแห่งกระจายอยู่ทั่วไปในแถบบริเวณนั้น เช่นปราสาทหินภูมิโปน ปราสาทระแงง ปราสาทตาเหมือน เป็นต้น รวมทั้งกำแพงเมือง ๒ ชั้นด้วย



ปัจจุบันจังหวัดสุรินทร์ เป็นจังหวัดหนึ่งที่อยู่ทางภาคอีสานของประเทศไทย มีวัฒนธรรมเป็นแบบฉบับของตนเอง ยากที่ใครจะเหมือนได้ สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนี้ก็คือช้าง จนมีคนเรียกขานจังหวัดสุรินทร์ว่าเป็น “เมืองช้าง”



พระอาจารย์ดูลย์เล่าถึงบรรพบุรุษของท่านว่า



ปู่ทวดของท่านอาศัยอยู่ที่บ้านสลักได ซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุรินทร์ ทางด้านตะวันออก ครั้นประมาณปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ตาของท่านชื่อแสร์ และญาติพี่น้องรวม ๕ ครอบครัว ตั้งใจจะพากันอพยพไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ประเทศกัมพูชา จึงพากันออกเดินทางด้วยช้าง มุ่งลงทางใต้ไปเรื่อย ๆ



เมื่อเดินทางไปได้ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร คณะของตาแสร์ก็ได้พบกับคณะของพระยาสุรินทร์ภักดีศรีปไผทสมันต์ (ม่วง) เจ้าเมืองสุรินทร์ กำลังออกสำรวจพื้นที่อยู่ ครั้นทราบว่าคณะของตาแสร์กำลังจะไปทำมาหากินที่เขมรจึงทัดทานไว้ โดยชี้แจงถึงความยากลำบากและอันตรายในการเดินทาง รวมทั้งสภาพบ้านเมืองของเขมรซึ่งในขณะนั้นไม่สงบ และท่านแนะนำให้ตั้งบ้านเรือนทำมาหากิน ณ สถานที่แห่งนั้น ซึ่งอุดมสมบูรณ์ ใครใคร่จะจับจองเอาที่ดินมากเท่าไรก็ได้



คณะของตาแสร์ปรึกษาหารือกัน ที่สุดก็คล้อยตามคำแนะนำนั้น จึงตกลงจะตั้งหลักแหล่งอยู่ ณ สถานที่นั้น ได้ช่วยกันหักร้างถางพง สร้างบ้านเรือนตั้งเป็นหมู่บ้านชื่อบ้านปราสาท และมอบหมายให้ตาแสร์เป็นนายบ้าน ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองดูแลหมู่บ้านปราสาทแห่งนั้น



ตาแสร์มีลูก ๖ คน คือ นายมาก นางเงิม (มารดาของพระอาจารย์ดูลย์) นายม่วง นางแก้ว นางเมอะ และนายอ่อน ต่อมาครอบครัวของตาแสร์ได้ขยายเพิ่มสมาชิกออกไป บางส่วนอาศัยอยู่ในบ้านปราสาท บางส่วนก็ไปอยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียง หรืออพยพย้ายไปอยู่ถิ่นอื่นตามวิถีชีวิตของแต่ละคน



บ้านเรือนที่อาศัยก็สร้างกันง่าย ๆ ใช้ต้นไม้ทั้งต้นทำเป็นเสา ส่วนที่เป็นพื้นกระดานก็นำต้นไม้มาถากเป็นแผ่น นำใบไม้หรือไม้ไผ่มาขัดแตะทำเป็นฝาบ้านแล้วมุงหลังคาด้วยหญ้าคา ประกอบอาชีพปลูกข้าว ฟักแฟงแตงกวา เลี้ยงเป็ด ไก่ วัว ควาย เก็บของป่า ล่าสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำการทอผ้า ปั่นฝ้าย และเลี้ยงไหม ไว้แลกเปลี่ยนแทนการใช้เงินตรา หรือมีไว้สำหรับแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านที่ขาดแคลน หรือให้กู้ยืมไปกินไปใช้ตามความจำเป็น



๒. ชีวิตฆราวาส



ในวัยเด็ก การศึกษาเล่าเรียนของพระอาจารย์ดูลย์อาศัยวัดเป็นสถานศึกษา โดยมีพระในวัดเป็นผู้อบรมสั่งสอน ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับการศึกษาในสมัยนั้น วิชาที่เล่าเรียนก็ประกอบไปด้วยการเรียนการสอนทางโลกที่พอให้อ่านออกเขียนได้ และศีลธรรมจรรยามารยาทอันควรประพฤติปฏิบัติ โดยจะมุ่งเน้นที่การฝึกอบรมจิตใจเป็นหลักพื้นฐาน เพื่อเป็นการพัฒนาทางด้านจิตใจของคน ส่วนในเรื่องของวิชาการนั้นจะมีน้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเอาเสียเลย เพราะในสมัยนั้นระบบการศึกษาของประเทศยังไม่ดีพอ เด็กชายดูลย์ก็ได้เจริญเติบโตและได้รับการศึกษาอบรมมาแบบนั้นเช่นกัน



พระอาจารย์ดูลย์ได้เล่าเรื่องราวในอดีตของท่านให้ฟังว่า ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๔ พระยาสุรินทร์ภักดี ฯ (ม่วง) ซึ่งเป็นผู้ที่ชักชวนให้คุณตาของท่านมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านปราสาทนั้น ได้ถึงแก่อนิจกรรม กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่ในขณะนั้น ได้แต่งตั้งให้พระพิไชยณรงค์ภักดี (บุญนาค) ผู้เป็นน้องชายขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองสุรินทร์ ลำดับที่ ๖ แทน



ขณะพระอาจารย์ดูลย์อายุประมาณ ๖ ปี ได้เกิดเหตุการณ์สู้รบกับต่างชาติ นั่นคือกรณีพิพาทเรื่องดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (เหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒) ชายฉกรรจ์ในจังหวัดสุรินทร์ประมาณ ๘๐๐ คน ได้ถูกเกณฑ์ให้เข้ารับการฝึกในกองกำลังรบและส่งไปตรึงแนวรบด้านจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับกองกำลังจากเมืองอื่น ๆ เพื่อต่อต้านการรุกรานจากฝรั่งเศส หลังจากการปะทะกันเล็กน้อย ก็ตกลงทำสัญญาสงบศึกกัน



ต่อมาอีกไม่นาน เมื่อพระพิไชยณรงค์ภักดี (บุญนาค) ถึงแก่กรรมลง และพระพิไชยนครบวรวุฒิ (จรัญ) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองสุรินทร์ ลำดับที่ ๘ เป็นที่พระยาสุรินทร์ภักดีไผทสมันต์ และเจ้าเมืองสุรินทร์ท่านนี้เองเป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กชายดูลย์ให้กลายเป็นนางเอกละคร



วัยหนุ่ม



เมื่อย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม นายดูลย์ได้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญของครอบครัว ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่บุตรคนหัวปี แต่ก็ถือว่าท่านเป็นลูกชายคนโตของบ้าน ในช่วงแรกท่านก็ช่วยพี่สาวทำงานบ้าน ต่อเมื่อโตขึ้นต้องแบกรับภาระมากมายทั้งในบ้านและนอกบ้าน ตั้งแต่หาบน้ำ ตำข้าว หุงข้าว เลี้ยงดูน้อง ๆ และช่วยบิดามารดาทำไร่ไถนา เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เป็นต้น ซึ่งท่านก็สามารถทำได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องแต่ประการใด



ในบรรดาคนหนุ่มรุ่นเดียวกันแห่งบ้านปราสาท นายดูลย์จัดว่าเป็นหนุ่มหน้าตาดี ได้เปรียบเพื่อน ๆ ทั้งด้านรูปสมบัติที่นอกจากจะมีร่างกายแข็งแรงและสุขภาพอนามัยดีแล้ว ยังเป็นผู้ที่มีผิวพรรณหมดจด รูปร่างโปร่ง ได้สัดส่วนสมทรง น่ารักน่าเอ็นดู และมีท่าทางคล่องแคล่ว ว่องไว นอกจากนี้แล้วยังเป็นผู้มีอุปนิสัยที่อ่อนโยนเยือกเย็น ความประพฤติเรียบร้อยซึ่งติดมาตั้งแต่วัยเยาว์ จึงได้รับคำยกย่องชมเชยจากบรรดาญาติพี่น้องและผู้ที่ได้พบเห็นโดยทั่วไป



นางเอกละคร



ด้วยเหตุที่ท่านมีรูปร่างดังกล่าวนั้นเอง พระยาสุรินทร์ภักดีศรีไผทสมันต์ เจ้าเมืองสุรินทร์ในสมัยนั้น จึงมีบัญชาให้นำตัวนายดูลย์มาร่วมแสดงละครนอกโดยให้เล่นเป็นตัวนางเอก



พระอาจารย์ดูลย์ได้เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งท่านเล่นเป็นนางเอกละครว่า ในสมัยนั้นผู้คนนิยมดูละครกันมาก ถ้าเป็นละครของเจ้าเมืองในหัวเมือง ผู้แสดงจะต้องเป็นชายทั้งหมดโดยสมมติให้เป็นพระเป็นนาง ส่วนละครหลวงหรือละครของพระเจ้าแผ่นดิน ผู้แสดงจะต้องเป็นหญิงล้วนโดยสมมติเอาเช่นกัน



พระอาจารย์ดูลย์เมื่อครั้งรับบทเป็นนางเอกละครนั้น เป็นที่ชื่นชอบของผู้ดูมาก ละครที่ท่านแสดงมีหลายเรื่อง อาทิ ไชยเชษฐ์ จันทรกุมาร ลักษณวงศ์ เป็นต้น ท่านเล่าว่า ครั้งหนึ่งเมื่อท่านขึ้นแสดงละครนั้นครั้นจบการแสดงแล้ว มีหญิงสาวคนหนึ่งพรวดพราดเข้ามาหาท่านในห้องแต่งตัว ขณะเดียวกับที่ท่านกำลังเปลี่ยนเสื้อผ้า เมื่อหญิงสาวผู้นั้นแลเห็นถึงกับตกตะลึงเมื่อทราบว่าท่านเป็นผู้ชาย จึงรีบวิ่งหนีออกไปอย่างรวดเร็ว ด้วยไม่คิดว่าผู้แสดงที่ตนชื่นชอบจะเป็นผู้ชาย จากเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า หนุ่มสาวในสมัยนั้นรู้จักระมัดระวังในเรื่องการคบหาระหว่างเพศเป็นสำคัญ ซึ่งแตกต่างจากสมัยนี้สิ้นเชิง



ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เมื่อพระอาจารย์ดูลย์อายุได้ ๑๘ ปี และขณะที่ยังคงแสดงละครอยู่นั้น ท่านได้เดินทางไปบางกอก ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศเป็นครั้งแรก เพื่อไปหาซื้อเครื่องแต่งตัวละคร ด้วยตัวนางเอกจะต้องลงมาลองเครื่องแต่งตัวให้เหมาะเจาะสวยงามสมตัว



การเดินทางในครั้งนั้น เมื่อออกจากเมืองสุรินทร์ใช้ช้างเป็นพาหนะ เป็นเวลา ๔ วัน ๔ คืน จนไปถึงเมืองโคราช แล้วขึ้นรถไฟสายกรุงเทพ ฯ – โคราช ใช้เวลาในการเดินทางอีก ๑ วัน จึงถึงเมืองบางกอก ซึ่งสมัยนั้นเมืองบางกอกยังไม่มีตึกรามบ้านช่องหรือผู้คนแออัดเหมือนสมัยนี้ ยังคงมีต้นไม้ป่าไม้ให้เห็นมากมาย น้ำในแม่น้ำลำคลองก็ใสสะอาด สามารถจะนำมาบริโภคใช้สอยได้เป็นอย่างดี



การเดินทางมาครั้งนี้ ท่านรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสไปเห็นด้วยสายตาตัวเอง เพราะเหตุว่าในสมัยนั้นน้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้ไปเห็นเมืองบางกอก ทำให้ท่านมีเรื่องที่จะเล่าให้ผู้อื่นฟังเสมอเมื่อกลับไปถึงสุรินทร์



นายดูลย์อยู่กับคณะละครถึง ๔ ปีเศษ แม้ว่าจะอยู่ในสภาพที่น่าลุ่มหลงและเพลิดเพลินเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านเป็นนักแสดงที่ชื่นชอบของผู้คนเป็นจำนวนมาก แต่ท่านมิได้หลงใหลไปกับสิ่งนั้น กลับมีอุปนิสัยโน้มเอียงเข้าหาพระศาสนา และชอบเข้าวัดฟังธรรม ซึ่งแตกต่างจากเด็กหนุ่มทั่ว ๆ ไป



๓. อ้อมอกพระศาสนา



เนื่องจากมีจิตใจฝักใฝ่โน้มเอียงไปในทางธรรม ทำให้นายดูลย์คิดจะออกบวชมาหลายครั้ง แต่ด้วยความที่เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว และบิดามารดาก็ไม่ยินยอมให้บวชเรียนอย่างง่ายดายนัก ในครั้งแรกเมื่อคิดจะบวชจึงถูกคัดค้านจากพ่อแดงด้วยเหตุผลว่า เมื่อท่านไปบวชแล้วครอบครัวอาจจะต้องลำบาก เพราะท่านเป็นบุตรชายคนโต เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว



นายดูลย์เฝ้าอ้อนวอนบิดามารดาอยู่หลายครั้ง แต่ก็ถูกคัดค้านเรื่อยมา แต่นายดูลย์ก็ยังมิได้ละความคิดในการบวชเรียนแต่ประการใด จนในที่สุดบิดามารดาก็ไม่อาจขัดขวางความตั้งใจจริงของท่านได้ จึงยินยอมอนุญาตให้บวชได้ตามความปรารถนา แต่มีข้อแม้ว่าเมื่อบวชแล้วต้องไม่สึก หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องอยู่จนได้เป็นเจ้าอาวาสเสียก่อน เหตุที่นายดูลย์มีอุปนิสัยโน้มไปทางธรรมนั้นน่าจะมีส่วนส่งเสริมมาจากที่ปู่ของท่านเคยบวช และได้เป็นเจ้าอาวาสมาแล้ว จึงทำให้นายดูลย์มีอุปนิสัยรักการบุญและเกรงกลัวบาป มิได้เพลิดเพลินคึกคะนองไปในวัยหนุ่มเหมือนคนทั่ว ๆ ไป



ครั้นเมื่อนายดูลย์ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาให้บวช ขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๒๒ ปี ตระกูลเจ้าเมืองที่เคยชุบเลี้ยงท่าน ได้เป็นผู้จัดแจงเรื่องการบวชให้ครบถ้วนทุกอย่าง



ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ นายดูลย์ก็เข้าพิธีอุปสมบทก่อนเข้าพรรษา ณ พัทธสีมาวัดจุมพลสุทธาวาส ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ในกำแพงเมืองรอบนอกของจังหวัดสุรินทร์ในสมัยนั้น



โดยมี พระครูวิมลสีลพรต (ทอง) เป็นพระอุปัชฌาย์



ท่านพระครูบึก เป็นพระกรรมวาจาจารย์



ท่านพระครูฤทธิ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์



ได้รับฉายาว่า “อตุโล” อันหมายถึง ผู้ไม่มีใครเทียบได้ นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา



เล่าเรียนกัมมัฏฐาน



เมื่อได้อุปสมบทแล้ว พระอาจารย์ดูลย์มีความปรารถนาแรงกล้าในการที่จะศึกษาธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้นจึงไปขอจำพรรษาเพื่อศึกษากัมมัฏฐานที่วัดคอโค ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ออกไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร โดยมีหลวงพ่อแอก เจ้าอาวาสวัดคอโค เป็นผู้ฝึกกัมมัฏฐานให้เป็นท่านแรก



การสอนกัมมัฏฐานในสมัยนั้น เป็นการสอนโดยถือตามความเห็นของครูบาอาจารย์เป็นหลัก วิธีการสอนของหลวงพ่อแอกนั้น ท่านให้เริ่มต้นด้วยการทำอย่างง่าย ๆ เพียงจุดเทียน ๕ เล่ม จากนั้นก็นั่งบริกรรมว่า “ขออัญเชิญปีติทั้ง ๕ จงมาหาเรา” บริกรรมไปเรื่อย ๆ จนกว่าเทียนจะไหม้หมด ซึ่งก็นับว่าดีเยี่ยมแล้วในสมัยนั้น



ปีติมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ปฏิบัติจนได้ฌาน มี ๕ ประการ คือ



๑. ขุททกาปีติ ปีติเล็ก ๆ น้อย ๆ พอขนชูชันน้ำตาไหล



๒. ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ รู้สึกแปลบ ๆ เป็นขณะ ๆ เหมือนฟ้าแลบ



๓. โอกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอก หรือเป็นพัก ๆ คือรู้สึกซ่าลงมาในกายเหมือนคลื่นซัดต้องฝั่ง



๔. อุพเพงคาปีติ ปีติโลดลอยเป็นอย่างแรง คือให้รู้สึกใจฟูขึ้น แสดงอาการบางอย่างโดยมิได้ตั้งใจ เช่นเปล่งอุทาน เป็นต้น



๕. ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน คือให้รู้สึกเย็นซ่านเอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ อันเป็นปีติที่ประกอบกับสมาธิกระทั่งนำไปสู่รวมจิต



พระอาจารย์ดูลย์เมื่อได้รับคำแนะนำ ท่านก็ได้พากเพียรปฏิบัติตามคำสั่งสอนของหลวงพ่อแอกผู้เป็นอาจารย์อย่างเคร่งครัดด้วยความอุตสาหะและความพยายามอย่างมิได้ลดละจนตลอดพรรษา แต่ก็ไม่บรรลุผลประการใดเลย และหลวงพ่อแอกก็สอนเพียงแค่นั้น จนทำให้ท่านเกิดความเบื่อหน่ายขึ้น เพราะได้เห็นแต่เทียน ๕ เล่ม โดยมิได้บังเกิดปีติ ๕ ตามปรารถนา



ในระหว่างพรรษานั้น นอกจากหลวงปู่ดูลย์จะพยายามทำตามคำสอนของหลวงพ่อแอกแล้ว ท่านยังทรมานตนด้วยการลดอาหารอีก จนกระทั่งร่างกายซูบผอม แต่ก็ยังไม่ได้ผลเหมือนเดิม ทำให้ท่านต้องกลับมาฉันอาหารตามเดิม



นอกจากกัมมัฏฐาน และฝึกทรมานร่างกายแล้ว ท่านก็ได้ท่องบ่นบทสวดมนต์เจ็ดตำนานบ้าง สิบสองตำนานบ้าง แต่ก็มิได้เรียนพระธรรมวินัย ซึ่งถือเป็นข้อวัตรปฏิบัติเพื่อฝึกฝนขัดเกลากาย วาจา ใจ อันเป็นรากฐานของการปฏิบัติสมาธิภาวนาแต่ประการใด ถึงแม้จะปฏิบัติไม่ได้ผลแต่ท่านก็ยังคงพำนักอยู่ที่วัดคอโค นานถึง ๖ ปี ซึ่งในระหว่างนั้นท่านยังถูกใช้ให้สร้างเกวียนและเลี้ยงโค ทั้งที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์ที่จะต้องทำ ท่านจึงเกิดความเบื่อหน่ายที่สุด



ศึกษาพระปริยัติธรรม



ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ขณะที่หลวงปู่ดูลย์ยังพำนักอยู่ที่วัดคอโค ท่านก็ได้ยินกิตติศัพท์เกี่ยวกับการสอนการเรียนพระปริยัติ ที่จังหวัดอุบลราชธานีตามแบบของมหามงกุฎราชวิทยาลัยแห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ด้วยการริเริ่มสร้างสรรค์ของท่านเจ้าประคุณ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) และด้วยการสานเสริมเติมต่อของพระเดชพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสสเถระ) ในช่วงทศวรรษที่ ๒๔๕๐ จนกล่าวได้ว่าจังหวัดอุบลราชธานี เป็นทิศาปาโมกข์ของผู้รักการศึกษาพระปริยัติโดยแท้ ท่านมีความปีติอย่างล้นพ้นเมื่อได้ทราบข่าวนี้ และมีความปรารถนาแรงกล้าที่จะได้เดินทางไปศึกษายังจังหวัดอุบลราชธานี



จึงได้ไปขออนุญาตต่อพระอุปัชฌาย์ (พระครูวิมลศีลพรต) แต่ปรากฏว่าถูกคัดค้าน เพราะการเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ไปจังหวัดอุบลราชธานีในขณะนั้นลำบากเป็นอย่างยิ่ง



แต่ด้วยความมานะพยายามและตั้งใจจริงของท่าน ทำให้พระอุปัชฌาย์เห็นความมุ่งมั่น จึงได้อนุญาตให้ท่านได้ออกเดินทางไปกับพระภิกษุอีก ๒ องค์ คือ พระคงและพระดิษฐ์



ครั้นเมื่อออกเดินทางมาถึงสถานที่เรียนปริยัติในจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว กลับเกิดปัญหายุ่งยากขึ้นอีก ด้วยเหตุที่พระอาจารย์ดูลย์บวชในมหานิกาย แต่วัดสุปัฏนาราม และวัดสุทัศนาราม ซึ่งเป็นสถานที่พระอาจารย์ดูลย์จะศึกษา พระปริยัติธรรมนั้นเป็นวัดธรรมยุติกนิกาย ทำให้หลวงปู่ดูลย์ต้องประสบกับปัญหาในเรื่องที่พัก



แต่ต่อมาภายหลังปัญหาดังกล่าวก็ได้ถูกคลี่คลายลง โดยการช่วยเหลือจากพระพนัสซึ่งเดินทางมาศึกษาที่จังหวัดอุบลราชธานีอยู่ก่อน ได้เป็นธุระในการติดต่อให้หลวงปู่ดูลย์พำนักอยู่ที่วัดสุทัศนาราม ในฐานะพระอาคันตุกะ ทำให้ความราบรื่นในทางการเรียนค่อยบังเกิดขึ้นเป็นลำดับ



เมื่อได้เข้าศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติสมความตั้งใจแล้ว หลวงปู่ดูลย์ก็พยายามมุมานะศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มสติกำลัง โดยเข้าศึกษาในหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี อันเป็นหลักสูตรพื้นฐานในการศึกษาพระพุทธศาสนา



วิชาที่ศึกษาก็มี นวโกวาท พุทธศาสนสุภาษิต พุทธประวัติ วินัยมุข และปฐมสมโพธิ จนท่านประสบความสำเร็จ และสามารถสอบไล่ได้ประกาศนียบัตร นักธรรมชั้นตรี นวกภูมิ นับเป็นรุ่นแรกของจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนั้นหลวงปู่ดูลย์ยังได้ศึกษาเล่าเรียนบาลีไวยากรณ์ (มูลกัจจายน์) จนท่านสามารถแปลธรรมบทได้ด้วย



การเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๕๐ กว่า ๆ นั้น เป็นไปอย่างเข้มงวด การไล่หรือสอบพระธรรมบทหรือวินัยมุขต่าง ๆ นั้น ผู้สอบจะถูกไล่เรียงซักถามเป็นรายตัวตามเนื้อหาที่เรียนมาเป็นบท ๆ จนจบ ผู้ที่สอบได้จึงถือว่าเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยความเพียรพยายามอย่างที่สุด



แม้จะนำความรู้ในระดับนักธรรมตรี ไปเทียบกับเปรียญธรรม ๙ ประโยค ซึ่งเป็นคุณวุฒิสูงสุดในทางปริยัติธรรม อาจถือได้ว่าห่างไกลกันเป็นอย่างยิ่งเหมือนกับนำความรู้ระดับชั้นประถมปีที่ ๑ ไปเทียบกับปริญญาเอกก็น่าจะได้ แต่สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือการศึกษาในทางปริยัติธรรมของหลวงปู่นั้น เกิดขึ้นในทศวรรษ ๒๔๕๐ เช่นเดียวกับการศึกษาในทางโลกเมื่อประมาณ ๘๐ ปีก่อน การได้เรียนถึงประถมปีที่ ๑ หรือ ๒ ก็นับว่ายอดเยี่ยมล้ำเลิศแห่งยุคสมัยแล้ว



ภายหลังต่อมา เมื่อท่านมีพรรษาแก่กล้า ผ่านประสบการณ์ด้านธรรมปฏิบัติมามาก และมาตั้งโรงเรียนสอนปริยัติธรรมที่วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์แล้ว คราวหนึ่งที่นักเรียนของท่าน มีพระภิกษุสอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้เป็นองค์แรก และในงานฉลองพัดประโยค ๙ ในครั้งนั้น หลวงปู่ได้ให้โอวาทในเชิงปรารภธรรมว่า ผู้ที่สามารถสอบเปรียญ ๙ ประโยคได้นั้น ต้องมีความเพียรอย่างมาก และมีความฉลาดเพียงพอ เพราะถือว่าเป็นการจบหลักสูตรฝ่ายปริยัติและต้องแตกฉานในพระไตรปิฎก การสนใจในทางปริยัติอย่างเดียวพ้นทุกข์ไม่ได้ ต้องสนใจปฏิบัติทางจิตต่อไปอีกด้วย โดยท่านให้คำอธิบายสั้น ๆ ว่า พระธรรมทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น ออกไปจากจิตของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างออกจากจิตใจ อยากรู้อะไรค้นได้ที่จิต



ขอญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย



หลังจากที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น ๒ นิกายใหญ่ ๆ คือ เถรวาทหรือหินยาน และมหายานหรืออาจารยวาท



นิกายเถรวาทได้แผ่ลงมาทางใต้จึงเรียกว่า นิกายฝ่ายใต้ (ทักษิณนิกาย) ปัจจุบันมีอยู่ในไทย ลังกา พม่า ลาว และกัมพูชา ส่วนนิกายมหายาน ได้แผ่ขึ้นไปทางเหนือในแถบประเทศจีน ธิเบต ญี่ปุ่น เกาหลี มองโกเลีย จึงเรียกว่า นิกายฝ่ายเหนือหรืออุตตรนิกาย



สำหรับในประเทศไทยเรา นิกายเถรวาทมีมากกว่ามหายาน แต่นิกายเถรวาทในประเทศไทยยังแยกย่อยออกไปอีก ๒ นิกาย คือ มหานิกาย และธรรมยุติกนิกาย ถ้าจะพูดให้ถูกต้องทั้งสองนิกายนี้เป็นเพียงนิกายสงฆ์ในประเทศไทยเท่านั้น หาใช่นิกายทางพระพุทธศาสนาไม่ เพราะทั้งสองนิกายนี้ต่างก็ขึ้นอยู่ในนิกายเถรวาท



แต่เดิมนิกายเถรวาทในประเทศไทยเรานั้น มีคณะสงฆ์เพียงคณะเดียวคือคณะสงฆ์ไทย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อครั้งทรงผนวชอยู่ได้ตั้งนิกายแยกออกมา และเรียกว่าธรรมยุติกนิกาย โดยปรารภความย่อหย่อนทางวินัยของคณะสงฆ์ในขณะนั้น สำหรับคณะสงฆ์เดิมที่ไม่ได้เข้ากับธรรมยุติกนิกายคงมีชื่อเรียกว่ามหานิกาย



หลวงปู่ดูลย์ อตุโล บวชเป็นพระในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย จึงมีปัญหาในด้านการเรียนกับวัดที่เป็นธรรมยุติกนิกาย ท่านจึงมีความคิดที่จะเปลี่ยนนิกายใหม่อันเป็นความคิดที่ค้างคาใจของท่านอยู่แต่เดิม



ขณะนั้น ทางจังหวัดสุรินทร์ยังไม่มีวัดที่เป็นธรรมยุติกนิกาย ทำให้การญัตติเปลี่ยนนิกายของท่านไม่ราบรื่น เพราะพระเถระผู้ใหญ่ คือ พระราชมุนี (อ้วน ติสฺโส) เจ้าคณะมณฑล (ธรรมยุติกนิกาย) ในขณะนั้น ต้องการให้ท่านเล่าเรียนไปก่อนไม่ต้องญัตติ เนื่องจากทางคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย มีนโยบายจะให้ท่านกลับไปพัฒนาการศึกษาพระปริยัติธรรมที่จังหวัดสุรินทร์ให้เจริญรุ่งเรือง เพราะหากญัตติแล้ว เมื่อกลับจังหวัดสุรินทร์ท่านจะต้องอยู่โดดเดี่ยว เนื่องจากยังไม่มีวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายที่จังหวัดสุรินทร์เลย



แม้พระเถระผู้ใหญ่จะทัดทานการญัตติของหลวงปู่ดูลย์อย่างใด แต่ท่านก็มิได้มีความประสงค์จะกลับไปสอนพระปริยัติธรรมที่จังหวัดสุรินทร์เลย ท่านต้องการเป็นพระนักปฏิบัติมากกว่า ดังนั้นถึงแม้ท่านจะได้รับการทัดทานและคำแนะนำที่เปี่ยมไปด้วยเจตนาดีจากพระเถระเพียงใดก็ตาม หลวงปู่ดูลย์ก็ยังคงพยายามที่จะญัตติเป็นพระธรรมยุติกนิกายอยู่เช่นเดิม



ต่อมาความพยายามในการญัตติของหลวงปู่ดูลย์ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อท่านได้พบกับพระอาจารย์สิงห์ทอง ขันตยาคโม ซึ่งรับราชการครู ทำหน้าที่สอนฆราวาส ทั้งที่ยังเป็นพระสงฆ์อยู่ที่วัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี ซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันแต่พระอาจารย์ดูลย์อ่อนพรรษกว่า พระอาจารย์สิงห์เป็นปฏิปทาในการศึกษาเล่าเรียนพร้อมทั้งการประพฤติปฏิบัติกิจของหลวงปู่ดูลย์ด้วยความตั้งใจจริง จึงเสนอตัวรับภาระเรื่องการขอญัตติจนกระทั่งประสบผลสำเร็จ



ขณะนั้นตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๖๑ และหลวงปู่ดูลย์มีอายุ ๓๐ ปี จึงได้ญัตติมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในธรรมยุติกนิกาย ณ พัทธสีมาวัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี สมดังเจตนารมย์ โดยมีพระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์พระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) เจ้าคณะมณฑลอุดร เป็นพระกรรมวาจาจารย์



พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม นับว่าเป็นกัลยาณมิตรของพระภิกษุดูลย์ผู้เป็นสมณะรุ่นน้องอย่างดียิ่ง ซึ่งนอกจากจะให้ความเมตตาช่วยเหลือในเรื่องของการขอญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย ยังให้กำลังใจแก่พระภิกษุดูลย์ในเรื่องต่าง ๆ เช่นได้นำพาพระภิกษุดูลย์ให้เข้ากราบนมัสการพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ผู้เป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาของพระป่าทั้งหลายอีกด้วย



กล่าวคือในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ขณะที่อาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นพระภิกษุสอนหนังสือให้กับฆราวาสอยู่ที่วัดสุทัศนารามนั้น พระอาจารย์มั่นเดินทางจากวัดบรมนิวาศ จังหวัดพระนคร ไปยังวัดบูรพาราม จังหวัดอุบลราชธานี พระอาจารย์สิงห์ได้ทราบข่าว จึงได้เข้าไปกราบนมัสการในวันหนึ่ง และในวันนั้นได้รับการชักชวนให้จากพระอาจารย์มั่นให้มาปฏิบัติธรรมกับท่าน โดยกล่าวกับพระอาจารย์สิงห์ว่าการบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ต้องปฏิบัติกัมมัฏฐาน คือพิจารณาตจปัญจกกัมมัฏฐานเป็นเบื้องแรก เพราะเป็นหนทางพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง



ภายหลังจากพระอาจารย์สิงห์เข้ากราบนมัสการพระอาจารย์มั่นแล้ว ภายในห้วงความนึกคิดของท่านก็เริ่มเปลี่ยนแปลง เพราะคำชักชวนดังกล่าวกึกก้องอยู่ตลอดเวลา จนกล่าวกันว่าจากการที่ท่านได้ฝึกปฏิบัติภาวนาตามคำแนะนำของพระอาจารย์มั่นอย่างเอาจริงเอาจัง ถึงกับทำให้มองเห็นศิษย์อันเป็นฆราวาสทั้งชายหญิงที่ท่านสอน กลายเป็นโครงกระดูกน้อยใหญ่ นั่งเรียนและเคลื่อนไหวได้อยู่ในชั้นเรียน เป็นเหตุให้ท่านออกธุดงค์บำเพ็ญเพียรตามป่าเขาเป็นต้นมา



จากนั้นพระอาจารย์สิงห์ก็กลายเป็นศิษย์ใกล้ชิดรูปหนึ่งของพระอาจารย์มั่น และได้รับสมญาว่าเป็นแม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรม กล่าวคือได้รับมอบหมายภาระจากพระอาจารย์มั่นให้นำพระภิกษุสงฆ์สายพระกัมมัฏฐาน ออกเผยแพร่ธรรมะในแนวทางปฏิบัติจนกระทั่งแพร่หลายมาทุกวันนี้ ซึ่งภายหลังพระอาจารย์สิงห์ได้มาสร้างวัดป่าสาลวัน ขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา และท่านได้พำนักอยู่ที่วัดแห่งนี้จนวาระสุดท้าย



พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม นับว่าเป็นกัลยาณมิตรที่ยอดเยี่ยมของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล เพรานอกจากที่ท่านจะรับภาระในเรื่องของการญัตติเปลี่ยนนิกายให้กับพระอาจารย์ดูลย์ให้ได้ญัตติอยู่ฝ่ายธรรมยุติกนิกายแล้ว เวลาต่อมาท่านยังได้นำหลวงปู่ดูลย์เข้ากราบนมัสการหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐานอีกด้วย จึงนับว่าเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงยิ่งในชีวิตของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล



๔. จาริกธุดงค์กับพระอาจารย์มั่น



ภายหลังจากที่หลวงปุ่ดูลย์ อตุโล ได้ญัตติเปลี่ยนนิกายเข้าเป็นสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายแล้ว ท่านก็มีสิทธ์อยู่ในวัดสุทัศนารามได้อย่างสมบูรณ์ มิใช่อยู่ในฐานะพระอาคันตุกะดังเช่นที่เคยเป็นมา



การศึกษาพระปริยัติธรรมของท่านก็ยังคงดำเนินไปเช่นเดิม แต่ทว่าข้อวัตรปฏิบัติมีความเคร่งครัดมากขึ้น อันเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านสนใจศึกษา โดยเน้นทางด้านการปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย



ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ขณะที่พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน เดินทางมาพำนักที่วัดบูรพาราม อุบลราชธานี เป็นเหตุให้บรรดาพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนในจังหวัดอุบลราชธานี และบริเวณใกล้เคียง พากันหลั่งไหลไปฟังพระธรรมเทศนาจากท่านเป็นอันมาก



เนื่องจากในสมัยนั้น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นผู้ที่ได้รับความเคารพนับถือและเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างสูงจากพุทธศาสนิกชนทั่วไป



ในคราวนั้นพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้ชักชวนพระอาจารย์ดูลย์ไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่นเพื่อฟังพระธรรมเทศนา และศึกษาธรรมะเช่นเดียวกับคนอื่น และได้ถวายตัวเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่นตลอดมา



พระอาจารย์สิงห์และพระอาจารย์ดูลย์ ได้ไปฟังเทศน์จากพระอาจารย์มั่นไม่เคยขาดเลยสักครั้งเดียว เพราะนอกจากจะได้ฟังธรรมะแปลก ๆ ที่สมบูรณ์ไปด้วยอรรถ พยัญชนะ มีความลึกซึ้ง รัดกุม กว้างขวาง เป็นที่น่าอัศจรรย์แล้ว ยังมีโอกาสได้เฝ้าสังเกตปฏิปทาของพระอาจารย์มั่น ที่มีความงดงามเพียบพร้อมและน่าเลื่อมใสในทุกอิริยาบถ การที่ได้ฟังธรรมเทศนาและมองเห็นปฏิปทาตลอดจนการปฏิบัติของพระอาจารย์มั่นแล้ว สร้างกำลังใจทำให้พระอาจารย์ดูลย์และพระอาจารย์สิงห์ใคร่ประพฤติปฏิบัติทางธุดงค์กัมมัฏฐานมากยิ่งขึ้นอีก



ในระหว่างพรรษานั้น การศึกษาทางพระปริยัติธรรมของพระอาจารย์ดูลย์ก็ดำเนินก้าวหน้าไปตามลำดับ ขณะเดียวกันท่านได้พิจารณาเห็นว่าการศึกษาในด้านพระปริยัติธรรมเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่อาจทำให้รู้รสพระธรรมซาบซึ้งได้ การปฏิบัติให้เกิดผลต่างหากที่จะทำให้รู้รสพระธรรมได้อย่างซาบซึ้ง เป็นเหตุให้ท่านยุติการศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรมไว้แต่เพียงเท่านั้น ตัดสินใจแน่วแน่ที่จะออกธุดงค์กัมมัฏฐาน และออกธุดงค์กัมมัฏฐาน และออกปฏิบัติปรารภความเพียรในความวิเวก อันเป็นความปรารถนาที่แท้จริงของท่าน ประกอบกับพระอาจารย์สิงห์ได้ชักชวนให้ท่านออกจาริกธุดงค์ไปตามป่าเขาแห่งภาคอีสานด้วย ท่านจึงตัดสินใจตกลงทันที



ครั้นออกพรรษา เมื่อพระอาจารย์มั่นออกจาริกธุดงค์ พระอาจารย์สิงห์และพระอาจารย์ดูลย์ได้ออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไปด้วยทุกหนทุกแห่งตลอดกาลออกพรรษานั้น ในการร่วมออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่นในพรรษานี้ยังไม่มีอะไรมาก เพียงแต่เป็นการฝึกใช้ชีวิตแบบพระป่า และใช้หลักความรู้ในการฝึกปฏิบัติเบื้องต้น เพื่อสร้างฐานความรู้ให้มั่นคง พระอาจารย์ดูลย์ผู้มีความตั้งใจแน่วแน่และจริงจัง ก็มิได้ปล่อยเวลาในพรรษานั้นให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์ ท่านได้เร่งการฝึกปฏิบัติความเพียรอย่างเคร่งครัด โดยมีความเชื่อมั่นและศรัทธาที่จะเกิดขึ้นในตัวของท่านอย่างแน่นอน



อนึ่ง การที่ได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติในครั้งนั้น ก็ยิ่งทำให้พระอาจารย์ดูลย์มีความเลื่อมใสในทางธุดงค์กัมมัฏฐานมากขึ้น



สำหรับธรรมเนียมธุดงค์กัมมัฏฐานของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต นั้นท่านมีอยู่ว่า



เมื่อถึงกาลเข้าพรรษา ไม่ให้พระสงฆ์จำพรรษารวมกันมากเกินไป ให้แยกย้ายกันไปจำพรรษาตามสถานที่อันวิเวก ไม่ว่าจะเป็นวัด เป็นป่า เป็นเขา โคนไม้ ลอมฟาง เรือนว่าง หรืออะไรตามอัธยาศัยของแต่ละบุคคลแต่ละคณะ ขณะเดียวกัน เมื่อออกพรรษาแล้วก็จะถึงวาระแห่งการประชุมกัน หากทราบว่าพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งเป็นพระอาจารย์ใหญ่อยู่ ณ สถานที่ใด ก็จะได้พากันไปจากทุกทิศทุกทาง มุ่งตรงไปยังสถานที่แห่งนั้น เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระกัมมัฏฐาน และแจ้งถึงผลการปฏิบัติของตน ๆ ที่ผ่านมา เมื่อมีสิ่งใดผิดพระอาจารย์มั่นก็จะได้ช่วยแนะนำแก้ไข สิ่งใดที่ปฏิบัติถูกต้องดีแล้ว พระอาจารย์มั่นก็จะให้แนะนำข้อกัมมัฏฐานให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก



ปรารภความเพียร ณ ป่าท่าคันโท



ครั้นถึงกาลจวนเข้าพรรษา ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ พระอาจารย์ดูลย์และสหธรรมิกอีก ๕ รูป คือ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม , พระอาจารย์บุญ , พระอาจารย์สีเทา และพระอาจารย์หนู จึงได้แยกออกจากคณะของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เดินธุดงค์แสวงหาที่สงบวิเวกเพื่อบำเพ็ญเพียรในกาลเข้าพรรษานั้น นับว่าเป็นโอกาสอันดียิ่งของพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ในทางธรรมของการออกธุดงค์ครั้งแรกที่ได้ร่วมเส้นทางไปกับพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม



คณะของพระอาจารย์ดูลย์ ซึ่งนำโดยพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เดินธุดงค์เลียบเทือกเขาภูพานมาจนกระทั่งถึงป่าท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ มีความเห็นตรงกันว่าสภาพป่าแถบนี้มีความเหมาะสมที่จะอยู่จำพรรษาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้สมมติเอาบริเวณป่านั้นเป็นวัดป่า แล้วก็อธิษฐานอยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น จากนั้นทุกองค์ก็ตั้งสัจจะปรารภความเพียรอย่างแน่วแน่ ดำเนินข้อวัตรปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนของพระอาจารย์ใหญ่มั่นอย่างอุกฤษฏ์



เผชิญมรณภัย



บริเวณป่าท่าคันโทแถบเทือกเขาภูพาน ที่หลวงปู่ดูลย์และสหายธรรมได้อธิษฐานจำพรรษาอยู่นั้น เป็นป่ารกชัฏ ชุกชุมไปด้วยสัตว์ร้ายและยุงก้นป่องอันเป็นพาหะของไข้มาลาเรีย และในระหว่างพรรษานั้นคณะของหลวงปู่ดูลย์ ยกเว้นพระอารย์หนูรูปเดียว ต่างก็เป็นไข้มาลาเรีย ได้รับความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ยาที่จะรักษาก็ไม่มี จนกระทั่งพระรูปหนึ่งมรณภาพไปต่อหน้าต่อตา ยังความสลดสังเวชให้กับผู้ที่ยังคงอยู่เป็นอย่างยิ่ง



แต่ความตายก็มิอาจทำให้พระทั้ง ๔ รูป ที่เหลืออยู่เกิดความหวั่นไหวรวนเร หลวงปู่ดูลย์เมื่อประสบชะตากรรมเช่นนี้ ท่านได้อาศัยความสำเหนียกรู้เผชิญกับความตายอย่างเยือกเย็น และเกิดความคิดในใจว่า สิ่งที่จะพึ่งได้ในยามนี้มีแต่อำนาจพุทธคุณเท่านั้น แม้ท่านจะได้รับพิษไข้อย่างแสนสาหัส ท่านได้รำลึกถึงพระพุทธคุณ และตั้งสัจจะว่า “ถึงอย่างไร ตัวเราคงไม่พ้นเงื้อมมือแห่งความตายในพรรษานี้แน่แล้ว แม้เราจักตาย ก็จงตายในสมาธิภาวนาเถิด”



จากนั้นท่านก็รีบเร่งทำความเพียร ตั้งสติให้สมบูรณ์เฉพาะหน้า ดำรงจิตให้มั่นอยู่ในสมาธิ และพร้อมทั้งพิจารณาความตายโดยมีมรณสติกัมมัฏฐานเป็นอารมณ์ โดยมิได้พรั่งพรึ่งต่อมรณภัยที่กำลังจะมาถึงตัว นับเป็นบททดสอบอันสำคัญยิ่งที่ต้องเผชิญกับชะตากรรมเช่นนี้ของหลวงปู่ดูลย์



การปฏิบัติธรรม ณ ป่าท่าคันโท ของหลวงปู่ดูลย์ในพรรษานั้น แม้จะเผชิญกับมรณภัยสักเพียงไร แต่ด้วยความเพียรและความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ไม่ลดละ ทำให้ผลแห่งการปฏิบัติของท่านในพรรษานั้นเป็นที่น่าพอใจยิ่งนัก



กล่าวคือขณะที่หลวงปู่ดูลย์นั่งภาวนา ซึ่งเริ่มตั้งแต่หัวค่ำไปจนดึกสงัด จิตของท่านค่อย ๆ หยั่งลงสู่ความสงบ เกิดความปีติชุ่มชื่น จากนั้นได้เกิดนิมิตที่ชัดเจนมาก คือท่านได้เห็นองค์พระพุทธรูปปรากฏขึ้นในตัวของท่าน เมื่อท่านพิจารณาดูนิมิตนั้นต่อไปก็จะเห็นอยู่อย่างนั้น แม้กระทั่งท่านออกจากสมาธิแล้วนิมิตนั้นก็ยังติดตาท่านอยู่ จนในเวลาเช้าที่ท่านออกบิณฑบาตนิมิตก็ยังปรากฏอยู่เช่นนั้น ท่านจึงสังเกตไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้บอกผู้ใด



ขณะที่เดินทางกลับจากบิณฑบาตวันต่อมาก่อนที่นิมิตจะหายไป ท่านได้พิจารณาดูตนเอง ก็ได้ปรากฏเห็นชัดเจนว่าเป็นโครงกระดูกทุกส่วนสัด จึงมีความรู้สึกไม่อยากฉันอาหาร ได้อาศัยความเอิบอิ่มของสมาธิจิตทำความเพียรต่อไป และเมื่อพิจารณาต่อไปก็เห็นว่า ประกอบด้วยธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม นั่นเอง ท่านจึงทำความเพียรต่อไป แต่ปรากฏว่านิมิตนั้นได้หายไปแล้ว ครั้นเมื่อท่านออกจากสมาธิแล้ว อาการของโรคไข้มาลาเรียที่เป็นอยู่ก็หายไปหมดสิ้น



มหัศจรรย์แห่งธรรม



หลังจากนั้นหลวงปู่ดูลย์รีบเร่งทำความเพียรต่อไปอีก โดยเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง สลับกันไปตลอดวันตลอดคืนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและหิวโหย ด้วยอาศัยความอิ่มเอิบแห่งจิตที่เป็นสมาธินั่นเอง



เมื่อท่านกระทำความเพียรจนจิตสงบได้เป็นสมาธิแล้ว ก็บังเกิดแสงแห่งพระธรรมปรากฏแก่จิตของท่านอย่างแจ่มแจ้ง จนกระทั่งท่านสามารถที่จะแยกจิตกับกิเลสออกจากกันได้ รู้ชัดว่าอะไรคือจิต อะไรคือกิเลส จิตปรุงกิเลส หรือกิเลสปรุงจิต และเข้าใจสภาพของจิตที่แท้จริงได้ ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังรู้อย่างแจ่มแจ้งด้วยว่ากิเลสส่วนไหนละได้แล้ว และส่วนไหนยังละไม่ได้บ้าง และเมื่อท่านเล่าให้พระอาจารย์สิงห์ฟัง พระอาจารย์สิงห์กล่าวว่าหลวงปู่ดูลย์ได้ปฏิบัติมาถูกทางแล้ว และอนุโมทนาสาธุด้วย



เมื่อปรากฏความแจ่มแจ้งในตนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หลวงปู่ดูลย์จึงอยากจะให้ออกพรรษาโดยเร็วเพื่อจะได้ไปพบพระอาจารย์มั่น แล้วจะได้กราบเรียนถึงผลการปฏิบัติ ทั้งขอรับคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติในขั้นต่อไป



ผลแห่งการปฏิบัติ



หลังออกพรรษา ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ แล้ว คณะของหลวงปู่ดูลย์ที่จำพรรษาอยู่ที่ป่าคันโท กาฬสินธุ์ ต่างก็แยกย้ายกันเดินธุดงค์ต่อไป เพื่อค้นหาพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ดูลย์ได้ร่วมเดินทางไปกับพระอาจารย์สิงห์ แต่ภายหลังได้แยกทางกัน ต่างมุ่งหน้าตามหาพระอาจารย์มั่นตามประสงค์



หลังจากแยกจากพระอาจารย์สิงห์แล้ว หลวงปู่ดูลย์ท่านได้จาริกตามลำพังมาจนถึงหนองหาร จ.สกลนคร และเข้าพำนักที่เกาะเกต ซึ่งกล่าวขานกันในหมู่พระธุดงค์ว่าเป็นดินแดนแห่งความขลังและมีอาถรรพ์แรง จนทำให้ชาวบ้านในบริเวณนั้นไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ และต่างก็ขอร้องไม่ให้พระอาจารย์ดูลย์เข้าไปด้วยเกรงว่าท่านจะได้รับอันตราย แต่พระอาจารย์ดูลย์เห็นว่าที่แห่งนั้นเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนา และตรวจสอบถึงความแข็งแกร่งของจิตเป็นอย่างมากเพราะสงบสงัดยิ่งนัก จึงได้ตกลงใจที่จะพำนักอยู่ ณ ที่นั้น ก่อนที่จะออกจาริกค้นหาพระอาจารย์มั่นต่อไป โดยมิฟังคำทัดทานของชาวบ้าน



ครั้นเมื่อได้พำนักอยู่ที่เกาะเกตเป็นเวลาหลายวันแล้ว จึงออกเดินทางต่อไปจนถึงบ้านตาลเนิ้ง อำเภอสว่างดินแดน จ.สกลนคร และสอบถามชาวบ้านที่นั่นได้ความว่า มีพระธุดงค์เป็นจำนวนมากมาชุมนุมกันอยู่ในป่าใกล้ ๆ หมู่บ้าน ท่านรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ด้วยมั่นใจว่าต้องเป็นพระอาจารย์มั่นอย่างแน่นอน จึงรีบเดินทางไปยังป่าแห่งนั้นทันที และเมื่อไปถึงก็เป็นความจริงดังที่ท่านมั่นใจ



ขณะนั้น พระอาจารย์สิงห์และพระรูปอื่น ๆ นั่งแวดล้อมพระอาจารย์มั่นอยู่ด้วยอาการสงบ และเมื่อท่านเดินเข้าไปใกล้ พระอาจารย์มั่นได้กล่าวแก่พระที่นั่งแวดล้อมอยู่ว่า โน่น ๆ ท่านดูลย์มาแล้ว



ครั้นเมื่อได้เห็นพระอาจารย์มั่นท่านก็เกิดความปีติขึ้นในใจทันที จนถึงกับรำพึงว่า ด้วยอำนาจพระพุทธคุณ ประสงค์อย่างไรก็สำเร็จอย่างนั้น แล้วก็ตรงเข้าไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่นด้วยความเคารพอย่างสุดซึ้ง หลังจากที่ทำอภิวาทแล้ว ได้สนทนาธรรมกันนานพอสมควร พระอาจารย์มั่นได้สอบถามถึงผลการปฏิบัติ พระอาจารย์ดูลย์ได้กราบเรียนถึงการปฏิบัติให้ท่านทราบทุกประการ พระอาจารย์มั่นเมื่อได้ฟังแล้วได้กล่าวว่า เก่งมาก ฉลาดมาก ที่สามารถรู้จักกิเลสของตนเอง การปฏิบัติที่ผ่านมาที่เล่าบอกนั้นก็เป็นการถูกต้องแล้ว



หลังจากสนทนาธรรมกันพอสมควร พระอาจารย์มั่นได้มอบหัวข้อธรรมเป็นการบ้านให้พระอาจารย์ดูลย์ไปพิจารณาถึงความเป็นอนิจจังของสังขาร และภาวะแห่งการแปรเปลี่ยน โดยเริ่มจากกายและสังขารของตน เมื่อได้รับการบ้านจากท่านอาจารย์ใหญ่มั่นแล้ว หลวงปู่ดูลย์จึงกราบนมัสการลา แล้วแยกออกไปบำเพ็ญภาวนาตามลำพัง



หลวงปู่ดูลย์ได้นั่งบำเพ็ญสมาธิอยู่ไม่นาน จิตของท่านก็สงบ ท่านได้นำหัวข้อธรรมะที่พระอาจารย์มั่นมอบให้ยกขึ้นพิจารณา สักครู่ก็เกิดความสว่างแจ้งคือเห็นความเป็นมาของสังขารทั้งหลายว่า เกิดจากความคิดปรุงแต่งของวิญญาณที่ได้รู้จักอายตนะของตนนั่นเอง เมื่อละสังขารเหล่านี้ได้ความทุกข์ทั้งหลายก็ดับหมดไป กล่าวอีกนัยหนึ่งเห็นปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง



ผลจากการปฏิบัติในครั้งนี้ หลวงปู่ดูลย์ได้กล่าวไว้ในหนังสือหลวงปู่ฝากไว้ ว่า



คนสมัยนี้เขาเป็นทุกข์เพราะความคิด ที่ใจเป็นทุกข์เพราะเกิดความยึดมั่นแล้วมีการปรุงแต่งในความคิดขึ้น และอุบายที่จะละความทุกข์ก็คือหยุดการปรุงแต่ง แล้วปล่อยวางให้เป็น ซึ่งจะทำได้ต้องอาศัยการภาวนา ทำจิตใจสงบจึงจะเกิดพลัง มีสติปัญญามองเห็นเหตุเห็นผล แล้วจิตก็จะปล่อยวางได้ เมื่อละความยึดมั่นได้ ความทุกข์ในสิ่งนั้นก็หมดไป



ในพรรษานั้น พระอาจารย์ดูลย์ท่านอยู่จำพรรษาที่บ้านตาลเนิ้ง อ.สว่างดินแดน จ.สกลนคร กับพระอาจารย์มั่นตลอดพรรษา ท่านได้สนทนาธรรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพระอาจารย์ใหญ่มั่นสองต่อสอง นับว่าเป็นประสบการณ์อันล้ำค่าอย่างยิ่งของหลวงปู่ดูลย์ทีเดียว



ครั้นเมื่อหลวงปู่ดูลย์อยู่รับการอบรมสั่งสอน และปฏิบัติอาจาริยวัตรแด่พระอาจารย์มั่นนานพอสมควร ท่านจึงได้กราบลาพระอาจารย์มั่นจาริกจากบ้านตาลเนิ้ง อ.สว่างดินแดน จ.สกลนคร พร้อมกับสามเณรรูปหนึ่งแสวงหาความวิเวกต่อไป



เห็นแจ้งเรื่องความตาย



ครั้นหลวงปู่ดูลย์พร้อมสามเณรติดตาม ได้จาริกบ้านตาลเนิ้ง อ.สว่างดินแดน จ.สกลนครแล้ว ท่านได้จาริกไปทางจังหวัดสุรินทร์ระยะหนึ่ง แล้วจึงธุดงค์กลับมายัง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร



ท่านและสามเณรติดตามได้อธิษฐานจำพรรษาอยู่ ณ ชายป่าแห่งหนึ่ง ใกล้ ๆ บ้านกุดก้อม ทั้งสองรูปจำพรรษาอยู่ได้ไม่นาน สามเณรที่ติดตามก็เกิดอาพาธเป็นไข้หนาวอย่างรุนแรง ในที่สุดก็ถึงแก่กาลกิริยาไปต่อหน้าต่อตา ท่านเล่าภายหลังว่า สงสารเณรมาก อายุก็ยังน้อย หากมียารักษาก็คงไม่ตาย และนับเป็นครั้งที่สองแล้วที่หลวงปู่ดูลย์ได้อยู่ใกล้ชิดกับความตาย



การถึงแก่กาลกิริยาของสามเณรรูปนี้ ทำให้พระอาจารย์ดูลย์ได้พิจารณาอาการตายของมนุษย์ว่าเป็นอย่างไร จิตหรือวิญญาณออกไปทางไหน หรืออย่างไร ซึ่งก็ทำให้ท่านเห็นแจ้งโดยตลอด



เรื่องเกี่ยวกับความตาย พระครูนันทปัญญาภรณ์ ศิษย์ผู้ใกล้ชิดของท่านได้บันทึกเอาไว้ว่า



เมื่อมีผู้ถามถึงการตายการเกิดใหม่ หรือถามถึงชาติหน้าชาติหลัง หลวงปู่ไม่เคยสนใจที่จะตอบ หรือเมื่อมีผู้กล่าวค้านว่าเชื่อหรือไม่เชื่อว่า นรกสวรรค์มีจริงหรือไม่ประการใด หลวงปู่ไม่เคยค้นคว้าหาเหตุผลเพื่อจะเอาค้านใคร หรือไม่เคยหาหลักฐานเพื่อยืนยันให้ใครยอมจำนนแต่ประการใด



ท่านกลับแนะนำว่า



ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงนั้น ไม่ต้องคำนึงถึงชาติหน้า ชาติหลัง หรือนรกสวรรค์อะไรก็ได้ ให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรงศีล สมาธิ ปัญญา อย่างแน่วแน่ก็พอ



ถ้าสวรรค์มีจริงถึง ๑๖ ชั้นตามตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้วก็ย่อมได้เลื่อนฐานะของตนเองโดยลำดับ หรือถ้าสวรรค์นิพพานไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีแล้วในขณะนี้ก็ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุข เป็นมนุษย์ชั้นเลิศ



และในตอนท้าย ท่านกล่าวว่า



การฟังจากคนอื่น การค้นคว้าจากตำรานั้น ไม่อาจแก้ข้อบกพร่อง ข้อสงสัยได้ ต้องเพียรปฏิบัติทำวิปัสสนาญาณให้เห็นแจ้ง ความสงสัยก็หมดไปเองโดยสิ้นเชิง



ครั้นเมื่อสามเณรติดตามมรณภาพไปแล้ว หลวงปู่ดูลย์จึงได้จำพรรษาอยู่แต่เพียงลำพังองค์เดียว เมื่อชาวบ้านกุดก้อมเห็นดังนั้น จึงได้พากันกราบอาราธนาให้ท่านไปพำนักจำพรรษา ณ วัดม่วงไข่ บ้านกุดก้อม ซึ่งพอจะเป็นสถานที่เหมาะแก่การปฏิบัติ พระอาจารย์ดูลย์ตกลงรับอาราธนา



วัดม่วงไข่ บ้านกุดก้อม



ณ วัดม่วงไข่ บ้านกุดก้อม แห่งนี้ มีพระเณรจำพรรษาอยู่หลายรูป โดยมีท่านครูบาญาคูดี เป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นพระที่มีอัธยาศัยน้ำใจดี ได้แสดงความเอื้อเฟื้อ และให้การต้อนรับพระอาจารย์ดูลย์ในฐานะพระอาคันตุกะเป็นอย่างดี



การจำพรรษาอยู่ที่วัดม่วงไข่นี้ พระอาจารย์ดูลย์ได้พำนักอยู่ในโบสถ์แต่เพียงลำพังรูปเดียว และได้ใช้แบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติของพระอาจารย์มั่นอย่างเคร่งครัดและครบถ้วนทุกประการ



อาทิเช่น เดินบิณฑบาตเป็นวัตร ฉันแต่ในบาตรวันละมื้อ หมั่นปัดกวาดบริเวณที่อยู่อาศัย และเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาอย่างต่อเนื่อง มีความสำรวมระวังเป็นอย่างดี



วัตรปฏิบัติของหลวงปู่ดูลย์ที่วัดม่วงไข่นี้ สร้างความสนใจให้เกิดขึ้นกับท่านครูบาญาคูดี ผู้เป็นเจ้าอาวาส และบรรดาภิกษุสามเณรในวัดม่วงไข่ เป็นยิ่งนัก ด้วยไม่เคยเห็นวัตรปฏิบัติเช่นนี้มาก่อน ด้วยความสงสัยจึงได้พากันเข้ามาไต่ถามถึงวัตรปฏิบัติของท่าน



ฝ่ายพระอาจารย์ดูลย์ เมื่อพระภิกษุสามเณรมาไต่ถาม ท่านก็ได้ตอบข้อซักถามและอธิบายให้ฟังอย่างแจ่มแจ้ง โดยเน้นถึงภารกิจหลักของพระภิกษุสามเณรว่ามีหน้าที่โดยตรงอย่างไรบ้าง ด้วยถ้อยคำและเนื้อหาที่ครบถ้วนบริบูรณ์และมีความหมายลึกซึ้งกินใจภิกษุสามเณรผู้สงสัยเป็นยิ่งนัก



ท่านครูบาญาคูดี เจ้าอาวาสวัดม่วงไข่ พร้อมทั้งภิกษุสามเณรทั้งหลาย เมื่อได้ฟังธรรมที่สมบูรณ์ทั้งอรรถพยัญชนะที่มีความหมายลึกซึ้ง ซ้ำแปลกใหม่จากที่เคยได้ยินได้ฟังมา จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา และได้พากันปฏิญาณตนขอเป็นศิษย์พระอาจารย์ดูลย์ พร้อมใจกันดำเนินจามปฏิปทาของพระธุดงค์กัมมัฏฐานตามแบบของท่านทุกรูป



หลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ดูลย์ก็จาริกธุดงค์ออกจากวัดม่วงไข่ บ้านกุดก้อมแห่งนั้น และในครั้งนี้มีภิกษุสามเณรแห่งวัดม่วงไข่ที่ปฏิญาณตนขอเป็นศิษย์ออกจาริกธุดงค์ตามท่านไปด้วย ทุกรูปยอมสละละทิ้งวัดม่วงไข่ให้ร้างไปโดยไม่มีใครยอมอยู่ดูแล ภิกษุสามเณรทุกรูปต่างก็มุ่งค้นหาความดับทุกข์แห่งตน โดยมิได้อาลัยอาวรณ์แต่ประการใดเลย เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีชาวบ้านคนใดจะคาดคิดได้ และก่อให้เกิดเสียงร่ำลือออกไปอย่างกว้างขวาง การพำนักจำพรรษาที่วัดม่วงไข่ของพระอาจารย์ดูลย์ในครั้งนี้นั้น นับได้ว่าเป็นการพลิกแผ่นดินวัดม่วงไข่ และถือได้ว่าเป็นก่อให้เกิดประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างมหาศาลทีเดียว



พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น



การมาพักจำพรรษาที่วัดม่วงไข่ของพระอาจารย์ดูลย์ในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงในหลาย ๆ ด้าน ด้านหนึ่งก็คือ ทำให้เกิดพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่มีชื่อเสียงขึ้นมาอีก ๒ รูป คือ



๑. พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ สำนักวัดป่านิโครธาราม อ.หนองวัวซอ จ.หนองบัวลำภู ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสามเณรอยู่ เมื่อได้ฟังคำสั่งสอนของท่านก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาและปฏิบัติตามแนวที่ท่านสอน เป็นผู้มีวิริยะอุตสาหะอย่างแรงกล้าในธรรมปฏิบัติ ได้เจริญรุ่งเรืองในพระศาสนา จนต่อมากลายเป็นพระเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระผู้มีชื่อเสียง เป็นที่เคารพนับถือและศรัทธาอย่างยิ่งของพุทธศาสนิกชนอย่างกว้างขวาง



๒. พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร แห่งสำนักวัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ซึ่งขณะนั้นท่านได้พำนักอยู่วัดใกล้ ๆ กับวัดม่วงไข่ เมื่อได้ทราบถึงวัตรปฏิบัติอันงดงามของพระอาจารย์ดูลย์จึงเกิดความสนใจเป็นยิ่งนัก เดินทางเข้ามอบตัวเป็นศิษย์ ฟังพระธรรมเทศนา และฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานกับพระอาจารย์ดูลย์ตลอดพรรษา จนกระทั่งท่านได้จาริกจากวัดม่วงไข่ พร้อมภิกษุสามเณรวัดม่วงไข่ทั้งวัด พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ก็ได้ติดตามไปด้วยเช่นกันต่อมาภายหลัง พระอาจารย์ฝั้นได้กลายเป็นศิษย์คนสำคัญของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อีกรูปหนึ่ง คุณงามความดีของท่านได้แผ่ออกไปอย่างกว้างขวาง เป็นที่เคารพนับถือและศรัทธาอย่างยิ่งของพุทธศาสนิกชนทั่วไป



เมื่อกล่าวถึงพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์ดูลย์ได้กล่าวยกย่องว่า



“ท่านอาจารย์ฝั้นนั้นทำกัมมัฏฐานได้ผลดีมาก เป็นนักปฏิบัติที่เอาจริงเอาจัง มีน้ำใจเป็นนักสู้ที่สู้เสมอตาย ไม่มีการลดละท้อถอย เข้าถึงผลการปฏิบัติได้โดยเร็ว นอกจากนั้นยังมีรูปสมบัติและคุณสมบัติพร้อม”



พระอาจารย์ดูลย์นึกอยู่ในใจว่า ในอนาคตพระอาจารย์ฝั้นจะมีความสำคัญใหญ่หลวง จะเป็นกำลังสำคัญของพระศาสนาอย่างแน่นอน ซึ่งต่อมาความคิดของท่านก็กลายเป็นความจริง ในช่วงที่ออกธุดงค์จากวัดม่วงไข่นั้น ท่านก็คิดเสมอว่า จะต้องพาพระอาจารย์ฝั้นไปพบและมอบถวายให้เป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่นให้จงได้ ด้วยเหตุที่ท่านชอบอัธยาศัยของพระอาจารย์ฝั้นเป็นอย่างมากนั่นเอง



ทั้งสองท่านเป็นสหายธรรมที่มั่นคงต่อกันตลอดมา แม้ว่าพระอาจารย์ดูลย์จะกลับมาพำนักเป็นการถาวรที่วัดบูรพารามแล้วก็ตาม พระอาจารย์ฝั้นก็ได้ขอคำแนะนำในการปฏิบัติกับพระอาจารย์ดูลย์อยู่เป็นประจำมิได้ขาด



สถานที่มาปักกลดระหว่างที่มาพำนักที่ จ.สุรินทร์ของพระอาจารย์ฝั้น ปัจจุบันคือวัดป่าโยธาประสิทธิ์ อยู่ภายในอาณาเขตของวิทยาลัยเกษตรสุรินทร์



ผู้นำทางการปฏิบัติ



ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ภายหลังจากที่พระอาจารย์ดูลย์จาริกออกจากวัดม่วงไข่ บ้านกุดก้อม จ.สกลนครแล้ว พระอาจารย์ดูลย์ได้พาภิกษุสามเณรวัดม่วงไข่รวมทั้งพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพรเพื่อติดตามค้นหาพระอาจารย์มั่น



การเดินทางครั้งนั้นไม่มีกำหนดการที่แน่นอน บางแห่งก็หยุดพัก ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ตามความเหมาะสมในการปรารภความเพียรของแต่ละสถานที่



การจาริกธุดงค์ครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งสำคัญอย่างยิ่งของพระอาจารย์ดูลย์ เนื่องจากท่านได้เป็นผู้นำทางการปฏิบัติของพระเณรที่ติดตามมาจากวัดม่วงไข่ โดยทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ที่ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง และคอยแนะนำพระเณรทั้งหลายให้บำเพ็ญไปในแนวทางของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งพระเณรทุกรูปต่างก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของพระอาจารย์ดูลย์อย่างเคร่งครัด และด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น ทำให้ต่างก็ได้รับผลแห่งการปฏิบัติโดยทั่วกัน



ค้นพบความจริงอันประเสริฐ



เมื่อจำพรรษาตามสถานที่ที่ผ่านมาในเวลาอันเหมาะสมแล้ว พระอาจารย์ดูลย์ได้นำพระภิกษุสามเณรจาริกมุ่งหน้าไปยัง จ.นครพนม จนถึงถ้ำพระเวสสันดรซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน ใน อ.นาแก จ.นครพนม และได้พำนักบำเพ็ญภาวนาอยู่ ณ ถ้ำพระเวสสันดร ตลอดฤดูแล้งนั้น



ขณะพำนักอยู่ที่ถ้ำพระเวสสันดรนั้น ท่านและคณะติดตามได้บำเพ็ญเพียรอย่างจริงจัง โดยเฉพาะตัวท่านเองได้ทบทวนถึงคำสอนของพระอาจารย์อยู่เป็นประจำ จนในที่สุดก็ค้นพบอริยสัจ อันเป็นธรรมะหมวดแรกที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ ซึ่งเป็นหัวข้อธรรมอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา และสามารถอธิบายได้อย่างแจ่มแจ้งอีกด้วย



ภายหลังท่านได้กล่าวถึงการบำเพ็ญเพียรในครั้งนั้นว่า ท่านได้ตริตรองพิจารณาตามหัวข้อของกัมมัฏฐานที่ได้รับจากพระอาจารย์มั่นที่บอกว่า สพฺเพ สงฺขารา สพฺพสญฺญา ก็บังเกิดความสว่างไสวรู้แจ้งตลอดว่า



เมื่อสังขารดับไปแล้ว ความเป็นตัวตนจักมีไม่ได้ เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง ครั้นเมื่อความปรุงแต่งขาดไป และสภาพแห่งความเป็นตัวตนไม่มีความทุกข์จะเกิดขึ้นแก่ใครได้อย่างไร และยังค้นพบธรรมะที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ตลอดจนรู้ซึ้งถึงแก่นแท้ของหลักธรรมทั้งหลาย จนจับใจความอริยสัจแห่งจิต ดังถ้อยคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า



จิตส่งออกนอก เพื่อรับสนองอารมณ์ทั้งสิ้น เป็นสมุทัย



ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอกแล้วหวั่นไหว เป็นทุกข์



จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค



ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ



จากนั้นท่านก็ได้พิจารณาถึงปฏิจจสมุปบาท จนสามารถแก้ไขได้อย่างไม่มีข้อสงสัย ซึ่งท่านกล่าวว่า เมื่อได้พิจารณาตามหลักอริยสัจ ๔ โดยเห็นแจ้งดังนี้แล้ว ก็ย่อมหมายถึงการผ่านเลยแห่งความรู้ในปฏิจจสมุปบาทไปแล้ว เนื่องเพราะความรู้ในเหตุแห่งทุกข์ การดำรงอยู่แห่งทุกข์ และวิธีดับทุกข์นั้น คือแก่นกลางแท้จริงของปฏิจจสมุปบาท



ความรู้ความเข้าใจเรื่องจิตอย่างลึกซึ้งในครั้งนี้เอง เป็นผลทำให้ท่านได้รับการยอมรับในหมู่พระภิกษุและฆราวาสผู้ปฏิบัติ ว่าเป็นผู้ที่มีความลึกซึ้งในเรื่องของจิต จนได้รับสมญานามว่าเป็นบิดาแห่งการภาวนาจิต อันเป็นสมญานามที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากคำสอนและความสนใจของท่าน ซึ่งอยู่แต่ในเรื่องของจิตเพียงอย่างเดียว และได้ประกาศหลักธรรมโดยใช้คำว่า จิต คือพุทธะ ส่วนเรื่องอื่นที่นอกเหนือจากจิตแล้ว หาได้อยู่ในความสนใจของท่านไม่



ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่อพำนักที่ถ้ำพระเวสสันดรเป็นเวลาอันสมควรแล้ว และเข้าใจแจ่มแจ้งในอริยสัจแล้ว พระอาจารย์ดูลย์ได้พาคณะพระภิกษุสามเณรที่ติดตาม จาริกออกจากถ้ำพระเวสสันดรด้วยจิตใจที่อิ่มเอิบ ตามหาพระอาจารย์มั่น เพื่อจะได้กราบเรียนถึงผลการบำเพ็ญภาวนาของท่านให้ได้รับทราบ



คณะพระธุดงค์ที่นำโดยพระอาจารย์ดูลย์ได้พบพระอาจาย์มั่น ภูริทัตโต ที่วัดโนนสูง จ.นครพนม (ปัจจุบันเป็น จ.มุกดาหาร)



ณ ที่นั้น พระอาจารย์ดูลย์ได้กราบเรียนถึงผลการปฏิบัติ และเรียนถามถึงการปฏิบัติของท่านต่อพระอาจารย์มั่นว่าเป็นอย่างไร เมื่อพระอาจารย์มั่นได้ทบทวนถึงผลการปฏิบัติแล้ว ได้ยกย่องต่อศิษย์ทั้งหลายว่า การปฏิบัติดำเนินมาอย่างถูกต้อง สามารถเอาตัวรอดได้ ไม่ถอยหลังอีกต่อไปแล้ว และให้ท่านดำเนินตามปฏิปทาที่ปฏิบัติมานี้ต่อไป



ครั้งนั้นพระอาจารย์ดูลย์ได้นำพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร และภิกษุสามเณรเข้าถวายตัวต่อพระอาจารย์มั่น ซึ่งพระอาจารย์มั่นได้กล่าวยกย่องและชื่นชมท่านว่าเป็นคนมีความสามารถมากที่มีสานุศิษย์และผู้ติดตามมากมาย



และในครั้งนี้เอง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้ถวายผ้าไตรซึ่งเย็บด้วยมือของท่านเอง มอบให้แก่พระอาจารย์ดูลย์ ๑ ไตร ซึ่งนับว่าเป็นรางวัลชีวิตที่มีค่ายิ่งนักของพระอาจารย์ดูลย์



อาถรรพ์ที่ถ้ำผาบิ้ง



พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ได้อยู่ปรนนิบัติพระอาจารย์มั่นที่วัดโนนสูง จนจวนจะถึงกาลเข้าพรรษาแล้ว จึงได้กราบลาพระอาจารย์มั่นออกจาริกธุดงค์แสวงหาสถานที่สงบสงัดเพื่อบำเพ็ญเพียรให้ยิ่ง ๆ ขึ้น โดยมีสามเณรอ่อน (ต่อมา คือ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ) ติดตามไปในครั้งนี้ด้วย



ในพรรษานั้น พระอาจารย์ดูลย์พร้อมสามเณรอ่อน พำนักจำพรรษาอยู่ที่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ระหว่างพรรษานั้นมีภิกษุสามเณรและอุบาสก อุบาสิกาที่อยู่ใน อ.ท่าบ่อและบริเวณใกล้เคียง พากันมาฟังพระธรรมเทศนาและร่วมบำเพ็ญภาวนากับท่านเป็นจำนวนมาก ซึ่งท่านได้กล่าวภายหลังว่ามากมายจนแทบไม่มีที่นั่ง และแทบทุกคนก็ได้ประจักษ์ผลแห่งการปฏิบัติตามสมควร



ภายหลังจากออกพรรษา หลวงปู่ดูลย์ได้จาริกออกจากที่นั่น พร้อมสามเณรติดตามรูปหนึ่ง โดยท่านตั้งใจว่าจะเดินทางไปโปรดญาติโยมที่ จ.สุรินทร์ อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านต่อไป



พระอาจารย์ดูลย์เดินธุดงค์ต่อไปจนถึงถ้ำผาบิ้ง บ้านนาแก อ.สะพุง จ.เลย ท่านมีความเห็นว่าเป็นสถานที่สงบสงัดเหมาะที่จะบำเพ็ญเพียรยิ่งนัก จึงตกลงใจที่จะพำนักอยู่ที่นั่น



ณ ถ้ำผาบิ้งนี้ ซึ่งเป็นที่ร่ำลือของชาวบ้านในเรื่องของความอาถรรพ์ และมากไปด้วยตำนานมหัศจรรย์ที่เล่าขานกันมาเป็นเวลานานว่า เมื่อถึงเวลาโพล้เพล้ใกล้ค่ำจะมีเสียงพิณพาทย์บรรเลงดังกระหึ่มไปทั่ว และมีตัวประหลาดซึ่งมองคล้ายควันดำ ๆ เหาะลอยฉวัดเฉวียนไปในอากาศและหายวับไป ทำให้เป็นที่สะพรึงกลัวแก่ผู้คนยิ่งนัก ชาวบ้านบริเวณนั้นเมื่อทราบความประสงค์ของท่านต่างก็มีความเป็นห่วงจึงได้พากันห้ามไว้ ถึงแม้ได้ฟังคำทัดทานจากชาวบ้านเพียงไรท่านก็ไม่หวั่นไหว ยังตั้งใจแน่วแน่ที่จะพำนักอยู่ที่นั่นเพื่อพิสูจน์หาความจริงของอาถรรพ์ดังกล่าว จึงพร้อมด้วยสามเณรเดินทางไปพำนัก ณ ถ้ำผาบิ้ง ทันที



เมื่อท่านเข้าพักบำเพ็ญภาวนาอยู่นั้น ก็ได้พิจารณาถึงสิ่งที่ชาวบ้านเล่าลือ ในที่สุดก็พบความจริงว่า อาถรรพ์ที่ชาวบ้านหวาดกลัวกันนั้น เกิดจากค้างคาวจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในถ้ำพากันออกหากิน ทำให้เสียงกระพือปีกกระทบกันผสมกับเสียงสะท้อนจากผนังถ้ำ จึงเกิดเป็นเสียงต่าง ๆ ดังก้องสลับกันเป็นจังหวะราวกับเสียงของวงพิณพาทย์ดังที่ชาวบ้านได้ยิน และที่เห็นควันพวยพุ่งนั้นก็เป็นฝูงค้างคาวนั่นเอง และเมื่อท่านได้นำความจริงที่ได้พบเห็นมาบอกให้แก่ชาวบ้านบริเวณนั้นฟัง เสียงเล่าลือในเรื่องอาถรรพ์ที่เล่าลือกันมานานก็หายไป



ท่านพำนักปฏิบัติธรรมอยู่ ณ ถ้ำผาบิ้งได้ประมาณ ๑ เดือน ก็ออกจาริกธุดงค์ต่อไปยัง จ.อุบลราชธานี และ จ.สกลนคร ตามลำดับ


พระมหาปิ่น




เมื่อจาริกธุดงค์ไปถึง อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร พระอาจารย์ดูลย์ได้มีโอกาสพบและกราบนมัสการพระอาจารย์มั่นอีกครั้งหนึ่ง การพบในครั้งนี้ท่านมิได้กราบเรียนถึงผลการปฏิบัติของท่าน และก็ไม่ได้รับการแนะแนวทางการปฏิบัติจากพระอาจารย์มั่นแต่ประการใด เป็นแต่เพียงการสนทนาธรรมกันในเรื่องของจิตอย่างเดียวเท่านั้น จากนั้นก็กราบนมัสการพระอาจารย์มั่นเดินทางต่อไป



ระหว่างทางได้แวะเยี่ยมและพำนักอยู่กับอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ที่ จ.กาฬสินธุ์ และได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นกล่าวคือทั้งสองท่านได้ร่วมมือกันโน้มน้าวใจพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ผู้เป็นน้องชายของพระอาจารย์สิงห์ ซึ่งเป็นครูสอนปริยัติธรรมอยู่ที่วัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี ภายหลังจากที่ศึกษาเปรียญธรรมจากสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร และมีความรู้ด้านพระปริยัติธรรมอย่างแตกฉาน ที่สนใจแต่ทางปริยัติอย่างเดียว ไม่นำพาต่อการบำเพ็ญภาวนาและฝึกฝนจิตและธุดงค์กัมมัฏฐาน ให้มาอยู่กับฝ่ายปฏิบัติได้ในที่สุด



โดยทั้งสองท่านได้เดินทางมาพักจำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศนาราม และได้ปลูกกุฏิหลังเล็ก ๆ อยู่ต่างหาก ต่างปฏิบัติกัมมัฏฐานอย่างเคร่งครัด พร้อมกับค่อย ๆ โน้มน้าวจิตใจพระมหาปิ่นให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในทางปฏิบัติ ด้วยการชี้แจงถึงผลที่จะได้รับจากการปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริงให้พระมหาปิ่นเข้าใจ ด้วยเหตุที่พระมหาปิ่นเป็นผู้มีสติปัญญา ได้พิจารณาและได้เห็นข้อวัตรปฏิบัติของทั้งสองท่าน จึงเกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่งและคล้อยตาม



ครั้นถึงกาลออกพรรษาครั้งนั้น ท่านก็ได้เตรียมบริขารแล้วออกจาริกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์สิงห์ไปทุกหนทุกแห่ง ทนต่อสู้กับอุปสรรคนานาชนิดอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร มุ่งหาความเจริญในทางธรรม จนท่านสามารถรอบรู้ได้ในที่สุด



การที่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เปลี่ยนใจมาปฏิบัติตามที่พระอาจารย์สิงห์ ผู้เป็นพระพี่ชายและพระอาจารย์ดูลย์แนะนำ อันเป็นเหตุให้ท่านตัดสินใจออกธุดงค์ในครั้งนั้น ทำให้พุทธศาสนิกชนในภาคอีสานกล่าวขานกันอย่างแตกตื่นด้วยเหตุที่ว่า ท่านเป็นพระมหาเปรียญหนุ่มจากเมืองบางกอก ซึ่งมีความรู้ปริยัติอย่างแตกฉาน อีกทั้งยังเป็นอาจารย์สอนปริยัติธรรมด้วย ได้ตัดบ่วง ไม่ห่วงอาลัยในยศฐาบรรดาศักดิ์ต่าง ๆ เปลี่ยนมาดำเนินชีวิตเยี่ยงพระธุดงค์ ฝึกฝนจิตอบรมกัมมัฏฐาน และฝึกสมาธิภาวนาเป็นองค์แรกในสมัยนั้น



ต่อมาพระมหาปิ่นก็ได้กลายเป็นที่เคารพนับถือเลื่อมใสศรัทธาจากผู้คนจำนวนมาก ในฐานะผู้นำกองทัพธรรมออกเผยแพร่คำสอนในสายพระกัมมัฏฐานคู่กับพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ผู้เป็นพระพี่ชาย



๖. เปิดกรุแห่งพระธรรม



นับตั้งแต่พระอาจารย์ดูลย์เดินทางออกจาก จ.สุรินทร์ เพื่อไปศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ท่านจึงได้เดินทางกลับไปยัง จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน เพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาแก่ผู้ที่สนใจ



การเดินทางกลับมายังบ้านเกิดครั้งนี้ เป็นการมาแบบพระธุดงค์อย่างสมบูรณ์ด้วยภูมิปัญญาที่แก่กล้าและจริยาวัตรที่งดงาม ได้เข้าพำนักอยู่ ณ วัดนาสาม ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางทิศใต้ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร การมาครั้งถือได้ว่ากรุแห่งพระธรรมได้เปิดขึ้นแก่ชาวสุรินทร์แล้ว ได้สร้างความปีติให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ใน ต.นาบัว และ ต.เฉนียง ที่พากันแตกตื่นพระธุดงค์ ต่างก็ชักชวนกันไปฟังท่านแสดงพระธรรมเทศนา และร่วมปฏิบัติธรรมกับท่านกันอย่างล้นหลาม



ครั้นเมื่อกาลจวนจะเข้าพรรษาอีกครั้ง พระอาจารย์ดูลย์เห็นว่า วัดนาสามไม่เหมาะที่จะวิเวกและปรารภธรรมตามแบบอย่างของพระธุดงค์ จึงเดินทางออกจากวัดนาสามมุ่งหน้าไปยังป่าหนองเสม็ด ต.เฉนียง จ.สุรินทร์ อันเป็นที่ซึ่งท่านเห็นว่าเหมาะสมต่อการบำเพ็ญเพียรมากกว่า และเมื่อมาถึงที่แห่งนั้นท่านก็ได้สมมติขึ้นเป็นสำนักป่า แล้วอธิษฐานจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่นั้น



การมาตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่ป่าหนองเสม็ดนั้น ญาติโยมที่ได้เคยร่วมปฏิบัติธรรมกับท่านและได้รับผลจากการปฏิบัติจากวัดนาสาม ได้เดินทางติดตามท่านมาด้วย แม้จะลำบากเพราะต้องเดินด้วยเท้าเป็นระยะทางเกือบ ๑๐ กิโลเมตรก็ตาม ต่างก็ไม่ได้ย่อท้อ มีจิตใจที่แน่วแน่และมุ่งมั่นที่จะเจริญสมาธิภาวนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และจะได้ฟังพระธรรมเทศนาที่ลึกซึ้งจากพระอาจารย์ดูลย์



ณ ป่าหนองเสม็ดแห่งนี้ ผู้ที่ชื่นชอบและยกย่องสรรเสริญท่านว่าเป็นผู้ประกาศธรรมด้วยการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ต่างก็ร่วมกันทำนุบำรุงส่งเสริมและเข้ากราบเป็นลูกศิษย์ ร่วมฝึกปฏิบัติบำเพ็ญสมาธิภาวนากับท่าน ส่วนผู้ที่ไม่ต้องการแสวงหาสัจธรรม ก็มีปฏิกิริยาในทางต่อต้านท่านด้านการปฏิบัติด้วยการด่าว่าให้เสียหาย และวางอุบายทำลายจนถึงขั้นลงมือทำร้ายเลยก็มี แต่ท่านก็ไม่ได้รับอันตรายแต่ประการใดเลย แม้จะมีคำพูดเสียดสี และปฏิกิริยาในทางต่อต้านจากผู้ที่ไม่ชอบเพียงใดก็ตาม ก็ไม่อาจทำให้พระอาจารย์ดูลย์หวั่นไหว ท่านยังคงตั้งหน้าตั้งตาเผยแพร่พระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาด้วยความมั่นคง และเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาต่อญาติโยมที่สนใจ ทำให้มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสในตัวท่านเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก



เมื่อครั้งที่พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล พำนักจำพรรษาอยู่ ณ ป่าหนองเสม็ดนั้น อุบาสิกาคนหนึ่งชื่อว่า นางเหรียญ เป็นชาวบ้านกระทม ต.นาบัว จ.สุรินทร์ มีความสนใจในการปฏิบัติธรรมและเลื่อมใสศรัทธาในวัตรปฏิบัติของท่านเป็นอย่างมาก ได้ติดตามท่านมาปฏิบัติธรรมที่สำนักป่าหนองเสม็ดนั้นด้วย



ทุกครั้งที่นางเหรียญมาปฏิบัติธรรม ก็จะพาเด็กชายโชติ เมืองไทย ผู้เป็นบุตรชาย ซึ่งในขณะนั้นมีอายุได้ ๑๒ ปี มาปฏิบัติธรรมด้วยเป็นประจำ และด้วยเหตุที่เด็กชายโชติเป็นเด็กที่มีอุปนิสัยรักความสงบ และมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เมื่อได้มาฝึกปฏิบัติธรรมและเรียนรู้พระธรรมวินัยจากพระอาจารย์ดูลย์ก็เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จนไม่อยากกลับบ้าน นางเหรียญผู้เป็นมารดา จึงถวายเด็กชายโชติให้อยู่คอยรับใช้พระอาจารย์ดูลย์



เมื่อเด็กชายโชติ เมืองไทย อยู่กับพระอาจารย์ดูลย์ได้ระยะหนึ่ง ท่านจึงได้จัดการบรรพชาให้เป็นสามเณร นับเป็นสามเณรรูปแรกที่ท่านบวชให้



ครั้นเมื่อเด็กชายโชติได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ก็ได้ติดตามพระอาจารย์ดูลย์จาริกธุดงค์อย่างใกล้ชิด พร้อมกันนั้นได้ยึดถือวัตรปฏิบัติแห่งพระอาจารย์ดูลย์เป็นแนวทางอย่างเคร่งครัด



สามเณรโชติ เมืองไทย นี้ ต่อมาเป็นที่รู้จักกันในนามของหลวงปู่โชติ ท่านเป็นพระเถระที่มีพุทธศาสนิกชนเคารพนับถือเป็นจำนวนมาก ต่อมาภายหลังท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระเทพสุธาจารย์ (โชติ คุณสมฺปนฺโน) เจ้าอาวาสวัดวชิราลงกรณ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา (มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘)



ถ้ำน้ำจันทร์



ออกพรรษาคราวหนึ่ง พระอาจารย์ดูลย์ได้นำศิษย์ซึ่งเป็นสามเณร ๒ รูป คือ สามเณรโชติ และสามเณรทอน ออกจากสำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ด เดินธุดงค์ไปตามเทือกเขาดงเร็กซึ่งเป็นป่ารกชัฏ ลักษณะเป็นป่าดงดิบและมีสัตว์ป่ามากมาย ทำให้การเดินทางเต็มไปด้วยความยากลำบากและอันตรายยิ่งนัก



วันหนึ่ง ขณะที่พระอาจารย์ดูลย์และศิษย์เดินธุดงค์ โดยพระอาจารย์ดูลย์เป็นผู้เดินนำหน้า และมีสามเณรทั้งสองรูปเดินตามอยู่ห่าง ๆ



ขณะนั้นเองมีควายป่าตัวหนึ่ง วิ่งมาทางข้างหลังของสามเณรทั้งสองอย่างรวดเร็ว สามเณรทั้งสองแลเห็นเสียก่อนจึงหลบเข้าข้างทางและพากันปีนต้นไม้หลบควายป่าตัวนั้น แต่พระอาจารย์ดูลย์หลบทัน ควายป่านั้นวิ่งเข้าถึงตัวท่านแล้วขวิดเต็มแรงจนท่านกระเด็นล้มลงไป มันขวิดท่านซ้ำอีกหลายทีจนพอใจ แล้วจึงวิ่งเข้าป่าไป



สามเณรทั้งสองรูปแลเห็นดังนั้นจึงตกใจเป็นยิ่งนัก และเมื่อได้สติได้พากันลงมาจากต้นไม้ เข้ามาหาพระอาจารย์ดูลย์ แต่เมื่อเห็นพระอาจารย์ดูลย์ของตนปลอดภัยก็พากันโล่งใจ เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจแก่ศิษย์ทั้งสองเป็นยิ่งนัก เพราะแม้ท่านถูกควายป่าขวิดจนจีวรขาดรุ่งริ่ง แต่ก็ไม่ถูกอวัยวะสำคัญ เพียงแต่เป็นรอยขีดข่วนตามซอกแขนและขาของท่านเท่านั้น



เมื่อกลับจากจาริกธุดงค์ในคราวนั้นแล้ว พระอาจารย์ดูลย์พร้อมกับศิษย์ทั้งสอง ได้กลับมาพำนักที่สำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ดเช่นเดิม แต่ก็มีบางคราวที่ไปพำนักอยู่ที่วัดปราสาท เพื่อโปรดญาติโยมบ้าง



ครั้นจวนจะเข้าพรรษาคราวหนึ่ง ท่านได้ดำริที่จะเรียนพระปริยัติธรรมเพิ่มเติม จึงพาสามเณรโชติไปฝากที่วัดสุทธจินดา จ.นครราชสีมา เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม จากนั้นตัวท่านจึงเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ และได้เข้าพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดสัมพันธวงศาวาส (วัดเกาะ) เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมเพิ่มเติมตามที่ประสงค์ แต่ศึกษาอยู่ได้ไม่นานนักท่านก็เลิก เพราะจิตใจของท่านเอนเอียงไปทางด้านธุดงค์กัมมัฏฐานมากกว่าเสียแล้ว จึงเพียงแต่อยู่ปฏิบัติธรรมและโปรดญาติโยมที่วัดสัมพันธวงศาวาสเท่านั้น เมื่อเป็นดังนั้นภายหลังจากที่ออกพรรษาแล้ว ท่านจึงเดินทางกลับ



เมื่อเดินทางถึง จ.ลพบุรี ท่านได้พำนักอยู่กับอาจารย์อ่ำ (พระเทพวรคุณ เจ้าอาวาสวัดมณีชลขันธ์) เป็นเวลาประมาณ ๓ เดือน ระหว่างนั้นทั้งสองท่านได้แลกเปลี่ยนความรู้ในทางปฏิบัติขั้นสูงต่อกัน และจากนั้นพระอาจารย์อ่ำได้พาพระอาจารย์ดูลย์ไปพำนักที่ถ้ำอรหันต์ หรือถ้ำน้ำจันทร์ ด้วยทราบว่าพระอาจารย์ดูลย์มุ่งหาสถานที่ซึ่งมีความวิเวกยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก



ถ้ำน้ำจันทร์นี้ ภายในถ้ำมีแอ่งน้ำเล็ก ๆ เต็มไปด้วยน้ำที่ใสสะอาดมีกลิ่นหอมอบอวล ชาวบ้านจึงเรียกว่าถ้ำน้ำ



พระอาจารย์ดูลย์ชอบถ้ำนี้มาก เพราะเป็นสถานที่ที่เงียบสงบ ท่านตั้งใจที่จะอยู่ที่นี่ไปเรื่อย ๆ แต่แล้วความตั้งใจของท่านก็เป็นอันต้องถูกล้มเลิกจนได้ เพราะวันหนึ่ง ขณะที่ท่านกำลังสรงน้ำอยู่นั้น พระมหาพลอย อุปสโม (จุฑาจันทร์) พระวัดสัมพันธวงศาวาส กรุงเทพฯ ได้ติดตามมาหาท่านจนพบ และได้กราบอาราธนาให้ท่านกลับไป จ.สุรินทร์ โดยได้กราบเรียนถึงจุดมุ่งหมายในครั้งนั้นว่า บรรดาญาติโยมอุบาสกอุบาสิกาทาง จ.สุรินทร์ ผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรม และพอจะเห็นผลของการปฏิบัติบ้าง ต่างก็มีความปรารถนาที่จะพบและร่วมปฏิบัติธรรมกับท่าน



เมื่อทราบความมุ่งหมายเช่นนั้น ท่านจึงเดินทางกลับ จ.สุรินทร์ ตามคำอาราธนาของพระมหาพลอย และเข้าพำนักอยู่ที่สำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ดยังความปลาบปลื้มแก่บรรดาญาติโยมชาว จ.สุรินทร์เป็นยิ่งนัก



หลวงปู่สาม อกิญฺจโน



การกลับมาพำนักที่สำนักสงฆ์หนองเสม็ดของพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ในครั้งนี้ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๖๘



ในระหว่างนั้นเอง พระอาจารย์ดูลย์ได้พบกับพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งมีนามว่า “สาม” ซึ่งได้เข้ามากราบถวายตัวเป็นศิษย์ของท่าน เพื่อศึกษาพระกัมมัฏฐานซึ่งมีความชอบใจในวัตรปฏิปทาและแนวทางในการปฏิบัติของพระอาจารย์ดูลย์ที่ถูกกับจริตของท่าน และต่อมาได้ติดตามท่านออกธุดงค์ไปในสถานที่ต่าง ๆ ละแวกใกล้กับ จ.สุรินทร์



ครั้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ขณะที่พระอาจารย์ดูลย์เห็นว่าพระสามรูปนี้ได้รับผลจากการปฏิบัติมาพอสมควรแล้ว และเป็นผู้มีศรัทธามั่นคงดีแล้ว จึงได้แนะนำให้พระสามเดินทางไปกราบนมัสการและศึกษาธรรมกับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งขณะนั้นพระอาจารย์มั่นพำนักจำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านสบบง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม



พระสามกับพระภิกษุอีกรูปหนึ่งคือพระบุญธรรม จึงได้ออกเดินทางไป จ.นครพนม และได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์มั่นเป็นเวลา ๓ เดือนตามคำแนะนำของพระอาจารย์ดูลย์



จากนั้นต่อมา พระอาจารย์ดูลย์ได้แนะนำให้ภิกษุทั้งสองรูปเดินธุดงค์ไปปฏิบัติธรรมที่ จ.สกลนคร ด้วยเหตุว่า จ.สกลนครนั้น มีสถานที่ที่เหมาะแก่การเจริญสมณธรรมตรงตามพุทธบัญญัติ นอกจากนี้ยังมากไปด้วยพระนักปฏิบัติที่จะคอยเป็นกัลยาณมิตร และให้คำแนะนำในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี คือ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ซึ่งเป็นสหายสนิทของท่านอีกด้วย



พระภิกษุทั้งสองได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพระอาจารย์ดูลย์ ได้ออกเดินธุดงค์ไปยัง จ.สกลนคร และปฏิบัติธรรมอยู่ที่นั่น แต่ในเวลาไม่กี่ปีพระบุญธรรมซึ่งเป็นสหายธรรมของพระสามได้มรณภาพลง พระสามจึงได้เดินธุดงค์ไปในทั่วทุกภาคของประเทศไทยเพียงรูปเดียวเป็นเวลานานนับสิบปี ท่านพำนักจำพรรษามาหลายแห่ง นับได้ว่าพระสามรูปนี้เป็นพระที่เจริญด้วยธุดงควัตร เที่ยวธุดงค์อยู่เป็นเวลานาน



จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ขณะที่ท่านมีอายุได้ ๖๘ ปี ท่านได้มาพำนักอยู่ที่วัดป่าไตรวิเวก อ.เมือง จ.สุรินทร์ อันเป็นที่รู้จักกันในนามของหลวงปู่สาม อกิญฺจโน



พระอาจารย์สาม อกิญฺจโน มรณภาพหลังพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ๘ ปี คือในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ขณะมีอายุได้ ๙๑ พรรษา



ตอบแทนคุณพระอุปัชฌาย์



พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล คงพำนักที่สำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ด เพื่อโปรดญาติโยมอีกระยะหนึ่ง แต่ด้วยจิตใจที่โน้มเอียงในการปฏิบัติมากกว่า ท่านจึงดำริที่จะออกธุดงค์กัมมัฏฐานเพื่อบำเพ็ญเพียรอีกครั้ง



เมื่อตัดสินใจดังนั้นแล้ว จึงได้ลาญาติโยมออกจาริกธุดงค์ โดยตั้งใจว่าจะเดินทางไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อเดินทางไปถึงวัดสุทัศนาราม อันเป็นวัดที่ท่านเคยมาพำนักเมื่อครั้งมาศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และเป็นวัดที่ท่านญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย ก็ได้พบกับพระอุปัชฌาย์ของท่านขอร้องให้ช่วยกันสร้างโบสถ์วัดสุทัศนารามให้เสร็จเสียก่อนแล้วค่อยเดินธุดงค์ต่อ ด้วยในขณะนั้นทางวัดมีทุนทรัพย์ที่จะใช้ในการก่อสร้างเพียง ๓๐๐ บาทเท่านั้น เมื่อได้รับการขอร้องเช่นนั้น พระอาจารย์ดูลย์ก็ไม่อาจขัดพระอุปัชฌาย์ได้ ท่านจึงตกลงใจพำนักอยู่ที่วัดสุทัศนาราม เพื่อคุมการสร้างโบสถ์ให้เสร็จก่อน ซึ่งต้องใช้เวลา ๖ ปี นับว่าเป็นโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดของ จ.อุบลราชธานี



ระหว่างที่พำนักอยู่ที่วัดสุทัศนารามนั้น นอกเหนือจากการควบคุมดูแลการก่อสร้างโบสถ์แล้ว พระอาจารย์ดูลย์ยังได้รับมอบหมายจากพระอุปัชฌาย์ให้ท่านรับผิดชอบงานอย่างอื่นควบคู่กันไปอีกด้วย กล่าวคือปกครองพระภิกษุสามเณรในวัดสุทัศนาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เป็นต้น



ในระหว่างนี้เอง ท่านก็ได้ศิษย์เพิ่มขึ้นมาอีกผู้หนึ่ง ซึ่งภายหลังมีตำแหน่งเป็นถึงระดับอธิบดี ท่านผู้นั้นคือ พันเอกปิ่น มุทุกันต์ ซึ่งในขณะนั้นได้บวชเป็นสามเณรอยู่



ศิษย์ของพระอาจารย์ดูลย์คนนี้ เป็นผู้มีความเฉลียวฉลาดยิ่งนัก สนใจใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ และต้องการไปศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ ครั้นเมื่อพระอาจารย์ดูลย์ทราบเรื่อง จึงได้นำสามเณรปิ่นไปฝากไว้กับพระมหาเฉย (พระเทพกวี) ที่วัดสัมพันธวงศาวาส กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาเล่าเรียนตามที่ต้องการ จนสามเณรปิ่นสอบได้เปรียญ ๙ ประโยค และลาสิกขาเพื่อออกไปรับราชการเป็นอนุสาสนาจารย์ในกองทัพบก จนได้เป็นอธิบดีกรมการศาสนา ท่านเป็นนักปาฐกฝีปากกล้า ซึ่งท่านให้ความเคารพนับถือพระอาจารย์ดูลย์เป็นอาจารย์ตลอดมา ท่านได้กล่าวถึงพระอาจารย์ดูลย์ว่า เป็นอาจารย์กัมมัฏฐานที่พูดน้อย แต่ทำงานมากกว่า



หลังจากอยู่ที่วัดสุทัศนาราม ๖ ปี การก่อสร้างโบสถ์ก็แล้วเสร็จตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากพระอุปัชฌาย์แล้ว พระอาจารย์ดูลย์จึงเตรียมกายที่จะออกจากริกธุดงค์แสวงหาความวิเวกเพื่อบำเพ็ญเพียรตามที่ท่านตั้งใจไว้แต่แรกที่ท่านออกจาริกธุดงค์จากสำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ด จ.สุรินทร์ ทันที



รับบัญชาคณะสงฆ์



แต่ในที่สุดความหวังที่จะเดินธุดงค์ก็หาได้สมปรารถนาไม่ มีอันต้องเกิดอุปสรรคขึ้นอีก ทำให้ท่านต้องล้มเลิกความตั้งใจไปอีกคราวหนึ่ง



ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ พระธรรมปาโมกข์ (อ้วน ติสฺโส) ต่อมาเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา ร่วมกับคณะสงฆ์ ดำริที่จะสถาปนาวัดบูรพารามขึ้นเป็นวัดธรรมยุติกนิกายแห่งแรก ของ จ.สุรินทร์ ได้มีบัญชาให้พระมหาพลอย จากวัดสัมพันธวงศาวาส กรุงเทพฯ เดินทางมาจัดการฟื้นฟูด้านการศึกษา ขณะเดียวกันก็มีบัญชามาถึงหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ให้เดินทางกลับไป จ.สุรินทร์ เพื่อช่วยทางด้านวิปัสสนาธุระ บูรณะปฏิสังขรณ์วัดบูรพารามให้กลับคืนสู่สภาพที่ดี และเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายปริยัติและปฏิบัติ ซึ่งขณะนั้นกำลังทรุดโทรมอย่างหนักเพราะก่อสร้างมาเกือบ ๒๐๐ ปีแล้ว ทำให้ท่านต้องกลับ จ.สุรินทร์ ตามคำบัญชาของคณะสงฆ์ดังกล่าว



๗. วัดบูรพาราม



ด้วยความเป็นผู้เจริญด้วยคุณธรรม จึงไม่อาจขัดต่อบัญชาของคณะสงฆ์ พระอาจารย์ดูลย์จึงออกเดินทางมายังวัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๗



วัดบูรพาราม ตั้งอยู่ใจกลางเมืองสุรินทร์ เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยธนบุรี หรือต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พร้อม ๆ กันกับกลางสร้างเมืองสุรินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในกำแพงชั้นในตามความประสงค์ของจางวางเมืองในสมัยนั้น คือพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) ที่ต้องการพัฒนาเมืองในด้านวัตถุให้เจริญควบคู่ไปกับความเจริญทางด้านจิตใจ



วัดนี้มีปูชนียวัตถุสำคัญเป็นที่เคารพนับถือของชาว จ.สุรินทร์ ว่าเป็นของคู่บ้านคู่เมืองคือหลวงพ่อพระชีว์ เป็นพระพุทธรูปปางมารศรีวิชัย องค์ใหญ่หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ประดิษฐานในมณฑปจตุรมุขก่ออิฐถือปูน ด้านตะวันตกของพระอุโบสถ สันนิษฐานว่าสร้างมาพร้อมกับการสร้างเมืองสุรินทร์



ฟื้นฟูการศึกษาพระศาสนา



การบูรณะฟื้นฟูวัดบูรพารามนี้ งานด้านพระศาสนานับเป็นงานที่หนักมาก ด้วยในขณะนั้นยังล้าหลังในทุก ๆ อย่าง เมื่อพระอาจารย์ดูลย์มาพำนักอยู่ที่วัดนี้ ท่านต้องริเริ่มใหม่ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาด้านปริยัติ การปฏิบัติ การบูรณะปฏิสังขรณ์วัด และการเผยแผ่พระศาสนา ซึ่งต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน



พระอาจารย์ดูลย์ได้ปฏิบัติภารกิจนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาด้านพระปริยัติธรรม ด้วยการศึกษาในสมัยก่อนเป็นเพียงการทำสืบต่อกันมา จ.สุรินทร์ซึ่งมีพื้นที่อยู่ใกล้กับประเทศกัมพูชานั้น มักจะมีภาษาพื้นเมืองหรือตัวอักขระ และพยัญชนะที่ใช้ในการเรียน การเทศน์ การสวด หรือพิธีกรรมต่าง ๆ ตลอดจนคัมภีร์ก็โน้มเอียงไปทางเขมรอยู่มาก



ดังนั้นเมื่อพระอาจารย์ดูลย์เริ่มพัฒนาในด้านพระปริยัติ ท่านก็เริ่มใช้อักษรไทยและภาษาไทยมากขึ้น ซึ่งนับเป็นภารกิจที่หนักมากทีเดียว จึงกล่าวได้ว่าเป็นยุคเริ่มแรกของการศึกษาด้านพระปริยัติธรรมแผนใหม่ หากมีพระภิกษุสามเณรองค์ใดสนใจในการศึกษาปริยัติ หลังจากศึกษาเบื้องต้นที่วัดแล้ว ท่านก็ส่งไปศึกษาในระดับสูงต่อที่กรุงเทพฯ



สำหรับการปฏิบัตินั้นท่านยึดแนวทางที่ท่านเคยศึกษามาในทางกัมมัฏฐานเป็นหลักสำคัญ ในส่วนของท่านเองท่านก็ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันก็แบ่งเวลาสอนพระภิกษุสามเณรและญาติโยมที่สนใจในการปฏิบัติเป็นประจำเสมอมา พระภิกษุสามเณรองค์ใดที่สนใจในการธุดงค์กัมมัฏฐานอย่างจริงจัง หลังจากที่ได้รับการฝึกอบรมจากท่านแล้ว ท่านก็จะส่งไปอยู่กับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโรบ้าง พระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโนบ้าง เป็นต้น



การพัฒนาด้านปริยัติและปฏิบัติของพระอาจารย์ดูลย์ นับเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงของการศึกษาพระศาสนาทั้งสองด้านมาจนตราบเท่าทุกวันนี้



นอกจากภารกิจดังกล่าวแล้ว ในสมัยนั้น จ.สุรินทร์ยังไม่มีแบบแผนในเรื่องของพิธีการปฏิบัติในวันสำคัญต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนาเลย เช่น วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันออกพรรษา เป็นต้น คณะสงฆ์ในสมัยนั้นได้ริเริ่มจัดให้มีขึ้น และกำหนดแบบอย่างในการปฏิบัติในวันสำคัญต่าง ๆ ขึ้น เช่น พิธีเวียนเทียนในวันสำคัญ การตักบาตรเทโวในวันออกพรรษา ตลอดจนศาสนพิธีก็ได้มีการฟื้นฟูขึ้นในสมัยที่พระอาจารย์ดูลย์พำนักอยู่ที่วัดบูรพารามนี่เอง



การปฏิบัติภารกิจทั้งหลายของหลวงปู่ดูลย์ในสมัยนั้น นับเป็นมรดกอันล้ำค่าอย่างยิ่ง ที่ท่านได้มอบให้แก่ จ.สุรินทร์ ถือได้ว่าท่านเป็นผู้เปิดกรุแห่งการศึกษาทั้งทางปริยัติและปฏิบัติ ตลอดจนแบบอย่างให้แก่ จ.สุรินทร์จนสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้



บูรณะปฏิสังขรณ์วัดบูรพาราม



ครั้นปี พ.ศ. ๒๔๗๙ หลังจากที่พำนักอยู่วัดบูรพาราม ได้ระยะหนึ่งท่านก็เริ่มการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดบูรพารามทันที โดยเริ่มจากการสร้างโบสถ์แบบคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นเป็นแห่งแรก และเป็นโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดของ จ.สุรินทร์ โดยมุ่งที่จะใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด แต่ใช้งบประมาณให้น้อยที่สุด แรงงานส่วนใหญ่ได้จากชาวบ้าน และพระภิกษุสามเณรในวัด โดยมีท่านเป็นผู้เขียนแบบเอง แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ใช้เวลาก่อสร้าง ๑๔ ปี



เหตุที่ต้องใช้เวลาก่อสร้างนานถึง ๑๔ ปีนั้น มีลูกศิษย์ใกล้ชิดของท่านเล่าว่า สมัยก่อนการบอกบุญเรี่ยไรเป็นการยากลำบาก บางทีพระเดินบอกบุญเรี่ยไรเงิน สองหมู่บ้านแล้วยังได้เพียง ๒ สตางค์เท่านั้น ทำให้ต้องเดินบอกบุญหลายวันจึงจะได้เป็นปัจจัย ๑ บาท จึงขอให้ชาวบ้านบริจาคเป็นข้าวเปลือกแทน เพราะแต่ละบ้านจะมีข้าวเปลือกด้วยกันทั้งนั้น จากนั้นนำข้าวเปลือกที่ได้รับมาขาย สมัยนั้นข้าวเปลือกราคากระเฌอละสิบสามสิบสี่สตางค์ แล้วนำเงินที่ได้ไปซื้อปูนซีเมนต์ก่อสร้าง ในราคาถุงละ ๘๐ สตางค์ ถึง ๑ บาทกว่า เป็นปูนซีเมนต์ซึ่งไม่มีคุณภาพเท่าไรนัก สำหรับอิฐนั้นไม่ต้องซื้อ พระภิกษุสามเณรและชาวบ้านเสียสละแรงกายแรงใจช่วยกันทำขึ้นเอง



ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เมื่อการก่อสร้างโบสถ์วัดบูรพารามใกล้สำเร็จแล้ว หลวงปู่ดูลย์ได้จัดงานหล่อพระพุทธรูปเพื่อประดิษฐานในพระอุโบสถ ถือเป็นการจัดงานเช่นนี้ครั้งแรกใน จ.สุรินทร์ ซึ่งนำโดยพระคุณคุณสมฺปนฺโน (โชติ คุณสมฺปนฺโน) และพระครูนวกิจโกศล (เปลี่ยน โอภาโส) พร้อมด้วยคณะสงฆ์ และประชาชนใน จ.สุรินทร์ ร่วมกันบริจาคทองเหลืองทองแดงเป็นจำนวนมาก ได้รับเงินบริจาคเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๘๐,๐๐๐ บาท



พระประธานในอุโบสถวัดบูรพารามเป็นพระพุทธชินราชจำลอง หล่อด้วยโลหะทองเหลือง เป็นการหล่อแบบสมัยใหม่ ด้วยการเชิญช่างหล่อมาทำการหล่อที่ จ.สุรินทร์ โดยใช้งบประมาณจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ และได้ยกพระพุทธชินราชจำลองที่หล่อแล้วประดิษฐานบนรัตนบัลลังก์ในพระอุโบสถวัดบูรพาราม เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๐



การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดบูรพาราม นอกจากจะอาศัยบารมีของพระอาจารย์ดูลย์เองแล้ว ยังมีพระภิกษุหลายรูปที่เป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลืองานของท่าน ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ พระมหาโชติ (พระเทพสุทธาจารย์) , พระอาจารย์สาม อกิญจโน , พระมหาเปลี่ยน โอภาโส (พระโอภาสธรรมญาณ) และพระมหาพลอย อุปสโม เป็นต้น



ในเรื่องการบริหารงานภายในวัดนั้น หลวงปู่ดูลย์ท่านได้มอบหมายให้พระมหาเปลี่ยน โอภาโส เป็นผู้อบรมสั่งสอนประชาชน และมอบหมายให้พระมหาพลอย อุปสโม เป็นผู้ดูแลในด้านการศึกษาและการปกครอง



การมาพำนักอยู่ที่วัดนี้ของท่าน ด้วยความเสียสละทุ่มเทต่อพระศาสนาและสังคม ได้สร้างความเจริญให้เกิดขึ้นแก่วัดบูรพารามเป็นอันมาก



จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ วัดบูรพาราม ได้รับการยกย่องจากกรมศาสนาให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง



ในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดบูรพารามขึ้นเป็นพระอารามหลวง



นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วัดบูรพาราม ก็กลายเป็นที่รู้จักของสาธุชนทั่วไป มีประชาชนเข้ามาศึกษาธรรมะ ด้วยความเลื่อมใสในคำสอนและวัตรปฏิบัติของพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล เป็นจำนวนมาก



พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ท่านเป็นปูชนียบุคคลที่หาได้ยากอย่างยิ่ง ท่านได้อุทิศชีวิตรับใช้พระศาสนา ด้วยแรงกายแรงใจอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยที่มิได้หวังในลาภสักการะและยศฐาบรรดาศักดิ์แต่ประการใด แต่ด้วยคุณงามความดีของท่าน ทำให้ท่านได้รับสมณศักด์เป็นลำดับดังนี้



พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าคณะแขวงรัตนบุรี ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย



๑ มีนาคม ๒๔๗๙ ได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะแขวงรัตนบุรี



๒๔ พฤษภาคม ๒๔๘๐ ได้รับแต่งตั้งเป็น พระอุปัชฌาย์สามัญ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย



๑ พฤษภาคม ๒๕๐๑ ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย



พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้รับแต่งตั้งเป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ (เจ้าคุณ) ที่ พระรัตนากรวิสุทธิ์ วินยานุยุตธรรมิกคณิสสร (พระรัตนากรวิสุทธิ์)



๒ ธันวาคม ๒๕๒๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวุฒาจารย์ ศาสนาภารธุรกิจยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี (พระราชวุฒาจารย์) อันเป็นสมณศักดิ์สุดท้ายของท่าน



ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นต้นมา พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล พำนักอยู่ที่วัดบูรพารามเพียงแห่งเดียวเท่านั้น จนกระทั่งมรณภาพลงในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ รวมเวลาที่ท่านพำนักอยู่ที่วัดบูรพารามแห่งนี้ได้ทั้งสิ้น ๕๐ ปีเศษ



แม้ปัจจุบันพระอาจารย์ดูลย์ อตุโลจะละสังขารไปแล้วก็ตาม แต่ยังมีผู้เคารพบูชาและเลื่อมใสศรัทธาในแนวทางคำสอนและวัตรปฏิปทา ต่างพากันเดินทางไปวัดบูรพารามอยู่เช่นเดิม



๘. ปฏิปทาในการเผยแพร่



พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศิษย์มากมายที่เคารพเลื่อมใสและศรัทธาในวัตรปฏิปทาของท่าน ทั้งที่เป็นบรรพชิตและเป็นฆราวาส



ปฏิปทาในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในด้านของการส่งเสริมศิษย์ของท่านนั้น พระอาจารย์ดูลย์ให้ความเห็นว่า ศิษย์ที่เป็นภิกษุสามเณรและปรารถนาจะเจริญงอกงามอยู่ในบวรพุทธศาสนา ควรทำการศึกษาทั้งสองด้าน คือทั้งทางปริยัติและปฏิบัติ กล่าวคือผู้ที่อายุยังน้อยมีความสามารถในการศึกษาเล่าเรียน ท่านก็สนับสนุนให้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมไปก่อน ครั้นพอมีเวลาว่างจากการศึกษาก็ให้ฝึกฝนในการปฏิบัติสมาธิภาวนาไปด้วย และถ้าผู้ใดสามารถที่จะศึกษาเล่าเรียนในชั้นสูงต่อได้ ก็จะจัดส่งไปเรียนต่อในสำนักต่าง ๆ ที่กรุงเทพฯ หรือที่ซึ่งเจริญด้วยการศึกษาพระปริยัติธรรม ทำให้ท่านมีศิษย์ที่จบการศึกษาพระปริยัติธรรมชั้นสูง หรือปริญญาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ จนกระทั่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เช่น อินเดีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เป็นจำนวนมาก



สำหรับผู้ที่มีอายุมาก หรือผู้ที่สนใจในธุดงค์กัมมัฏฐานก็ดี ท่านก็แนะนำให้ศึกษาพระธรรมวินัยให้พอเข้าใจให้พอคุ้มครองรักษาตัวเอง แล้วจึงมุ่งปฏิบัติกัมมัฏฐานต่อไปให้จริงจัง โดยได้แนะแนวทางให้สองวิธี กล่าวคือผู้สนใจในทางธุดงค์กัมมัฏฐานต่อไปให้จริงจัง โดยได้แนวทางให้สองวิธี กล่าวคือผู้ที่สนใจในทางธุดงค์กัมมัฏฐานตามแบบของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ก็จะแนะนำและส่งให้ไปอยู่รับการศึกษาตามสำนักต่าง ๆ กับครูบาอาจารย์ในแถบจังหวัดสกลนคร , อุดรธานี และหนองคาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำนักวัดป่าอุดมสมพร และสำนักถ้ำขามของท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ได้ฝากฝังไปอยู่มากที่สุด



ส่วนผู้สนใจจะปฏิบัติทางด้านสมาธิวิปัสสนาอย่างเดียว ท่านจะให้อยู่ในสถานที่ที่ตนเองยินดี โดยให้เหตุผลว่า การปฏิบัติธรรมอย่างนี้ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ไหน ในเมื่อกายยาว ๑ วา หนา ๑ คืบนี้แลเป็นตัวธรรม เป็นตัวโลก เป็นที่เกิดแห่งธรรม เป็นที่ดับแห่งธรรม เป็นที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้อาศัยบัญญัติไว้ซึ่งธรรมทั้งปวง แม้ใครใคร่จะปฏิบัติธรรมก็ต้องปฏิบัติธรรมที่กายและใจเรานี้ หาได้ไปปฏิบัติที่อื่นไม่ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องหอบสังขารนี้ไปที่ไหน ถ้าตั้งใจจริงแล้ว นั่งอยู่ที่ไหนธรรมก็เกิดที่ตรงนั้น ยิ่งผู้ใดสามารถปฏิบัติภาวนาในท่ามกลางความวุ่นวาย ความอึกทึกครึกโครมรอบ ๆ ตัว จนกำหนดจิตตั้งสมาธิได้ สมาธินั้นเป็นสมาธิที่เข้มแข็งและมั่นคงกว่าธรรมดา ด้วยเหตุที่สามารถต่อสู้เอาชนะสภาวะที่ไม่เป็นสัปปายะได้ คือไม่อำนวยนั่นเอง



ท่านยังกล่าวอีกว่า การเดินจงกรมจนกระทั่งจิตหยั่งลงสู่ความสงบนั้น จะเกิดสมาธิที่แข็งแกร่งกว่าสมาธิที่สำเร็จจากการนั่งหรือนอน หรือแม้แต่การเข้าป่าเป็นยิ่งนัก



แนวทางการสอน



พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ได้ชื่อว่าเป็นพระผู้ใหญ่ที่เป็นที่พึ่งของลูกศิษย์ทั้งที่เป็นฆราวาสและพระหนุ่มเณรน้อยทั่วไปได้เป็นอย่างดี



ท่านได้กล่าวเอาไว้ตอนหนึ่งว่า



“ความหนักอกหนักใจที่สำคัญอย่างหนึ่งของนักปฏิบัติ คือการขาดกัลยาณมิตรที่มีความสามารถแนะนำทางและวิธีแก้ไขการปฏิบัติให้ได้ตลอดสาย และบางทีแม้มีกัลยาณมิตรคือครูบาอาจารย์ที่สามารถ แต่ท่านก็บังเอิญอยู่ไกลบ้าง โอกาสไม่อำนวยบ้างทำให้ไม่อาจแก้ไขแนวทางปฏิบัติได้ทันท่วงที ทำให้เกิดการเนิ่นช้าไปโดยใช่เหตุ



ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ บางครั้งทำให้หลงวกวนไปไกลจนกระทั่งหลงผิดไปก็มี บางกรณีถ้ามีผู้ชี้แนะให้ทันการก็จะเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ทั้งแก่เพื่อนนักปฏิบัติและทั้งแก่พระศาสนาเอง



ผู้ใดมีปัญหาหรือข้อสงสัยแม้เล็กน้อยในทางปฏิบัติ ขออย่าได้รีรอลังเลหรือว่าเกรงอกเกรงใจอะไร ขอให้ไปพบเพื่อไต่ถามได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง แม้ว่าเมื่อไปแล้วพบว่าท่านเข้าที่ไปเสียแล้ว ก็ขอให้เรียกได้ทันที อย่าได้ต้องพลาดโอกาสสูญเสียประโยชน์ใหญ่เพราะเหตุความเกรงใจเพียงเล็กน้อย ตัวท่านนั้นเป็นเพียงนักปฏิบัติชราที่ผ่านประสบการณ์มานานปี พอจะสามารถเป็นกัลยาณมิตรได้บ้าง”



ท่านมักย้ำอยู่เสมอว่า ท่านไม่ต้องการใช้คำว่าครูและศิษย์ ท่านต้องการให้คิดว่า ท่านเป็นเพื่อนร่วมศึกษาแนวทางรอด แนวทางการสอนของท่านเป็นไปในแนวทางการบอกถึงประสบการณ์ และให้ผู้ศึกษาลองพิจารณาหรือปฏิบัติแล้วนำไปเปรียบเทียบดู เพราะท่านบอกว่าธรรมของใครก็ของมัน แม้จะมีเป้าหมายเดียวกันคือความพ้นทุกข์ แต่แนวทางการปฏิบัติจะไม่เหมือนกัน ท่านจะไม่เรียกใครว่าเป็นศิษย์ของท่านเลย จะใช้คำอื่นแทน เช่น ศิษย์ที่ติดตามท่านเดินธุดงค์ จะเรียกว่าคนเคยเดินธุดงค์ร่วมกัน เคยปฏิบัติธรรมร่วมกันเป็นต้น



ถ้าพูดเรื่องอื่น ๆ การสนทนากับพระอาจารย์ดูลย์มักจะไม่ยืดยาว แต่ถ้าพูดเรื่องการปฏิบัติ การสนทนาจะยืดยาวทีละหลายชั่วโมง บางครั้งพูดยันสว่างก็เคยมีมาแล้ว



ถ้าพูดเรื่องอื่น ๆ การสนทนากับพระอาจารย์ดูลย์มักจะไม่ยืดยาว แต่ถ้าพูดเรื่องการปฏิบัติ การสนทนาจะยืดยาวทีละหลายชั่วโมง บางครั้งพูดยันสว่างก็เคยมีมาแล้ว



แต่ที่พิเศษยิ่งกว่านั้นก็คือ ท่านสามารถพูดหรือสนทนาทางจิตกับผู้อื่นได้ ซึ่งนับเป็นความอัศจรรย์ยิ่งนัก เมื่อถูกถามว่า ไม่คุยกันแล้วจะรู้เรื่องได้อย่างไร พระอาจารย์ดูลย์ท่านตอบว่า “การพูดไม่สามารถตอบปัญหาได้ทุกอย่างหรอก”



เรื่องของหลวงตาพวง



พระอาจารย์ดูลย์ เป็นพระที่มีพรสวรรค์ในการอธิบายธรรมให้แจ่มแจ้ง ท่านสามารถอธิบายธรรมที่มีผู้ไม่เข้าใจ ให้เข้าใจได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ท่านยังเป็นอาจารย์แก้อารมณ์ให้แก่ผู้ปฏิบัติธรรมให้ปฏิบัติไปอย่างถูกต้อง ยากที่จะหาผู้ใดมาเทียบได้ ทั้งนี้มีตัวอย่างของหลวงตาพวง ซึ่งศิษย์ของท่านได้บันทึกเอาไว้ว่า



ศิษย์ของหลวงปู่ชื่อหลวงตาพวง ได้มาบวชตอนวัยชรา นับเป็นผู้บุกเบิกสำนักปฏิบัติธรรมบนเขาพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ หลวงตาพวงได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้แก่การประพฤติปฏิบัติ เพราะท่านสำนึกตนว่าขอบวชเมื่อแก่ มีเวลาแห่งชีวิตเหลือน้อย จึงเร่งความเพียรตลอดวันตลอดคืน



พอเริ่มได้ผลเกิดความสงบ ก็เผชิญกับวิปัสสนูปกิเลสอย่างร้ายแรง เกิดความสำคัญผิด เชื่อมั่นอย่างสนิทว่าตนเองได้บรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง เป็นผู้สำเร็จผู้เปี่ยมไปด้วยบุญญาธิการ ได้เล็งญาณ (คิดเอง) ไปจนทั่วสากลโลก เห็นว่าไม่มีใครรู้หรือเข้าถึงธรรมเสมอด้วยตน บังเกิดจิตคิดเอ็นดูสรรพสัตว์ทั้งหลาย ใคร่จะไปโปรดให้พ้นจากทุกข์โทษ ความโง่เขลา เล็งเห็นพระสงฆ์ทั้งหมด ตลอดจนครูบาอาจารย์ล้วนแต่ยังไม่รู้ จึงตั้งใจจะไปโปรดหลวงปู่ดูลย์ผู้เป็นพระอาจารย์เสียก่อน



ดังนั้นหลวงตาพวงจึงได้เดินทางด้วยเท้าเปล่าจากเขาพนมรุ้ง เดินทางข้ามจังหวัดมาไม่ต่ำกว่า ๘๐ กิโลเมตร มาจนถึงวัดบูรพาราม หวังจะแสดงธรรมให้หลวงปู่ฟัง



หลวงตาพวงมาถึงวัดบูรพาราม เวลา ๖ ทุ่มกว่า กุฏิทุกหลังปิดประตูหน้าต่างหมด พระเณรจำวัดกันหมด หลวงปู่ก็เข้าห้องไปแล้ว ท่านร้องเรียกหลวงปู่ด้วยเสียงอันดัง ตอนนั้นท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนียังเป็นสามเณรอยู่ ได้ยินเสียงเรียกอันดังลั่นว่า “หลวงพ่อ หลวงพ่อ หลวงพ่อดูลย์” ก็จำได้ว่าเป็นเสียงของหลวงตาพวงจึงลุกไปเปิดประตูรับ สังเกตดูกิริยาก็ไม่เห็นมีอะไรผิดแปลก เพียงแต่รู้สึกแปลกใจว่า ตามธรรมดาท่านหลวงตาพวงมีความเคารพอ่อนน้อมต่อหลวงปู่ พูดเสียงเบา ไม่บังอาจระบุชื่อของท่าน แต่คืนนี้ค่อนข้างจะพูดเสียงดังและระบุชื่อด้วยว่า “หลวงตาดูลย์ ออกมาเดี๋ยวนี้ พระอรหันต์มาแล้ว”



ครั้นเมื่อหลวงปู่ออกมาแล้ว ตามธรรมดาหลวงตาพวงจะต้องกราบหลวงปู่ แต่คราวนี้ไม่กราบ แถมยังต่อว่าเสียอีกว่า “อ้าว ไม่เห็นกราบ ท่านผู้สำเร็จมาแล้ว ไม่เห็นกราบ” เข้าใจว่าหลวงปู่ท่านคงทราบโดยตลอดว่าอะไรเป็นอะไร ท่านจึงนั่งเฉย ไม่พูดอะไรแม้แต่คำเดียว ปล่อยให้หลวงตาพวงพูดไปเรื่อย ๆ



หลวงตาพวงสำทับว่า “รู้ไหมว่าเดี๋ยวนี้ผู้สำเร็จอุบัติขึ้นแล้ว ที่มานี่ด้วยเมตตา ต้องการจะมาโปรด ต้องการจะมาชี้แจงแสดงธรรมปฏิบัติให้เข้าใจ”



หลวงปู่ยังคงวางเฉย ปล่อยให้ท่านพูดไปเป็นชั่วโมงทีเดียว สำหรับพวกเราพระเณรที่ไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจ ก็พากันตกอกตกใจกันใหญ่ ด้วยไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรกันแน่ ครั้นปล่อยให้หลวงตาพวงพูดนานพอสมควรแล้ว หลวงปู่ก็ซักถามเป็นเชิงคล้อยตามเอาใจว่า “ที่ว่าอย่างนั้น ๆ เป็นอย่างไร และหมายความว่าอย่างไร” หลวงตาพวงก็ตอบตะกุกตะกัก ผิด ๆ ถูก ๆ แต่ก็อุตส่าห์ตอบ เมื่อหลวงปู่เห็นว่าอาการรุนแรงมากเช่นนั้น จึงสั่งว่า “เออ เณรพาหลวงตาไปพักผ่อนที่โบสถ์ ไปโน่นที่พระอุโบสถ” เณร (เจ้าคุณพระโพธินันทมุนี) ก็พาหลวงตาไปที่โบสถ์จัดที่จัดทางถวาย หลวงตาวางสัมภาระแล้วก็กลับออกจากโบสถ์ไปเรียกพระองค์นั้นองค์นี้ที่ท่านรู้จักให้ลุกขึ้นฟังเทศน์ฟังธรรม รบกวนพระเณรตลอดทั้งคืน



หลวงปู่พยายามแก้ไขหลวงตาพวงด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ หลอกล่อให้นั่งสมาธิ ให้นั่งสงบแล้วย้อนจิตมาดูที่ต้นตอ มิให้จิตแล่นไปข้างหน้า จนกระทั่งสองวันก็แล้ว สามวันก็แล้ว ไม่สำเร็จ หลวงปู่จึงใช้อีกวิธีหนึ่งซึ่งคงเป็นวิธีของท่านเอง ด้วยการพูดแรงให้โกรธหลายครั้งก็ไม่ได้ผล ผ่านมาอีกหลายวันก็ยังสงบลงไม่ได้ หลวงปู่เลยพูดให้โกรธด้วยการด่าว่า “เออ สัตว์นรก ๆ ไปเดี๋ยวนี้ ออกจากกุฏิเดี๋ยวนี้” ทำให้หลวงตาพวงโกรธอย่างรุนแรง ลุกพรวดพราดขึ้นไปหยิบเอาบาตร จีวรและกลดของท่านลงจากกุฏิ มุ่งหน้าไปวัดป่าโยธาประสิทธิ์ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดบูรพารามไปทางใต้ ประมาณ ๓-๔ กิโลเมตร ซึ่งขณะนั้นท่านเจ้าคุณพระราชสุทธาจารย์ (โชติ คุณสมฺปนฺโน) ยังพำนักอยู่ที่นั่น



ที่เข้าใจว่าหลวงตาพวงโกรธนั้นเพราะเห็นท่านมือไม้สั่น หยิบของผิด ๆ ถูก ๆ คว้าเอาไต้ (สำหรับจุดไฟ) ดุ้นหนึ่ง นึกว่าเป็นกลด และยังเปล่งวาจาออกมาอย่างน่าขำว่า “เออ กูจะไปเดี๋ยวนี้ หลวงตาดูลย์ไม่ใช่แม่กู” เสร็จแล้วก็คว้าเอาบาตร จีวร และหยิบเอาไต้ดุ้นยาวขึ้นแบกไว้บนบ่า คงนึกว่าเป็นคันกลดของท่าน แถมคว้าเอาไม้กวาดไปด้ามหนึ่งด้วย ไม่รู้เอาไปทำไม



ครั้นพอไปถึงวัดป่า ทันทีที่ย่างเท้าเข้าสู่บริเวณวัดป่าที่นั่นเอง อาการของจิตที่น้อมไปติดมั่นอยู่กับอารมณ์ภายนอก โดยปราศจากการควบคู่ของสติที่ได้สัดส่วนกันก็แตกทำลายลง เพราะถูกกระแทกด้วยอานุภาพแห่งความโกรธอันเป็นอารมณ์ที่รุนแรงกว่า ยังสติสัมปชัญญะให้บังเกิดขึ้น ระลึกย้อนกลับได้ว่าตนเองได้ทำอะไรลงไปบ้าง ผิดถูกอย่างไร สำคัญตนผิดอย่างไร และได้พูดวาจาไม่สมควรอย่างไรออกมาบ้าง เมื่อหลวงตาพวงได้สติสำนึกแล้ว ก็ได้เข้าพบท่านเจ้าคุณพระราชสุทธาจารย์ และเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ท่านทราบ ท่านก็ได้ช่วยแนะนำและเตือนสติเพิ่มเติมอีก ทำให้หลวงตาพวงได้สติคืนมาอย่างสมบูรณ์และบังเกิดความละอายใจเป็นอย่างยิ่ง



หลังจากได้พักผ่อนเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ก็ย้อนกลับมากราบขอขมาหลวงปู่ กราบเรียนว่าท่านจำคำพูดและการกระทำทุกอย่างได้หมด และรู้สึกละอายใจมากที่ตนทำอย่างนั้น



หลวงปู่ได้แนะทางปฏิบัติให้ และบอกว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ว่าถึงประโยชน์ก็มีประโยชน์อยู่เหมือนกัน มีส่วนดีอยู่เหมือนกัน คือจะได้เป็นบรรทัดฐาน เป็นเครื่องนำสติมิให้ตกอยู่สภาวะนี้อีก เป็นแนวทางตรงที่จะได้นำมาประกอบการปฏิบัติให้ดำเนินไปอย่างมั่นคงในแนวทางตรงต่อไป”



กุศโลบายสอนนักเลง



ตามปกติคนทั่วไปมักจะมองพระธุดงค์ว่าเป็นผู้ที่มีวิชาอาคม หรือว่ามีของดีเอาไว้ป้องกันตัว จึงทำให้สามารถท่องเที่ยวไปตามป่าเขาลำเนาไพร หรือป่าลึกที่มีแต่อันตรายได้โดยปลอดภัย



ครั้งหนึ่ง เมื่อหลวงปู่ดูลย์เดินทางกลับจาก จ.อุบลราชธานี มา จ.สุรินทร์ เพื่อโปรดญาติโยม และพำนักอยู่ที่สำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ดนั้น มีนักเลงอันธพาลผู้หนึ่ง มีความโหดร้ายระดับเสือเป็นที่กลัวเกรงแก่ประชาชนในละแวกนั้น กลุ่มของชายผู้นี้ท่องเที่ยวหากินแถบชายแดนไทยและกัมพูชา เมื่อทราบข่าวว่ามีพระธุดงค์เดินทางมาพำนักที่นี่ ด้วยความมั่นใจว่าพระองค์นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีวิชาด้านคาถาอาคมล้ำเลิศอย่างแน่นอน จึงออกเดินทางพร้อมลูกน้อง ๔ คน พร้อมอาวุธครบมือ มุ่งหน้ามายังสถานที่ซึ่งหลวงปู่ดูลย์พักอยู่ ด้วยต้องการเครื่องรางของขลังไว้ป้องกันตัว ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม นักเลงกลุ่มนั้นได้เข้ามาหาท่าน และแจ้งวัตถุประสงค์ให้ทราบ



ดังที่ทราบแล้วว่า พระอาจารย์ดูลย์ท่านเป็นเลิศในการหาอุบายสอนคน เมื่อท่านทราบว่าวัตถุประสงค์แล้ว จึงกล่าวกับนักเลงเหล่านั้นว่า ถ้าอยากได้อาคม ต้องมีพื้นฐานให้แน่นก่อน มิฉะนั้นแล้วอาคมอาจจะย้อนเป็นอันตรายแก่ผู้เรียน



พื้นฐานที่ท่านสอนนักเลงเหล่านั้นหาใช่ใดอื่น คือสมาธินั่นเอง โดยท่านได้ให้เหตุผลแก่พวกนักเลงไว้อย่างน่าสนใจว่า คาถาทุกคาถา หรือวิชาอาคมที่ประสงค์จะเรียนนั้น จะต้องอาศัยพื้นฐานคือพลังจิต จิตเล่าจะมีพลังได้ก็ต้องมีสมาธิ สมาธินั้นจะเกิดขึ้นได้ก็แต่การนั่งภาวนา ทำใจให้สงบ วิชาที่ร่ำเรียนไปจึงจะบังเกิดผลศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีพิบัติภัยตามมา



ฝ่ายนักเลงเหล่านั้น เมื่อแลเห็นอากัปกิริยาอันสงบเย็น มั่นคง มิได้รู้สึกสะทกสะท้านต่อพวกเขา ประกอบกับปฏิปทาอันงดงามของท่าน ก็เกิดความเลื่อมใสนับถือ จึงยินดีปฏิบัติตามที่พระอาจารย์ดูลย์แนะนำ



นักเลงเหล่านั้นพากันนั่งสมาธิด้วยความตั้งใจ เพียงชั่วระยะเวลาไม่กี่นาที จิตใจของเขาก็เข้าสูสมาธิ และบังเกิดปีติอย่างแรงกล้า ท่านได้คอยแนะนำจนนักเลงพวกนั้นนั่งสมาธิไปถูกทาง และนั่งอยู่กับท่านตลอดคืน อานุภาพแห่งศีลและสมาธิที่ได้รับการแนะนำจากท่าน ยังให้เกิดปัญญาแก่นักเลงกลุ่มนั้น ทำให้จิตใจของเขารู้สึกอิ่มเอิบ เปี่ยมไปด้วยศรัทธา จึงเปลี่ยนใจไปจากการอยากได้วิชาอาคม เพราะซาบซึ้งในรสแห่งการปฏิบัตินั้น



ครั้นรุ่งเช้า ต่างก็พากันปฏิญาณตนว่าจะกลับตัวเป็นคนดี เลิกประพฤติในสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น แล้วกราบลาพระอาจารย์ดูลย์กลับบ้านเรือนของตนไป



อุบายสอนศิษย์



พระธุดงค์กับสัตว์ป่า มักจะหนีกันไม่พ้น พระธุดงค์มักจะต้องเผชิญกับสัตว์ป่าเสมอ ๆ บางครั้งก็พบสัตว์ที่ไม่เป็นอันตราย แต่บางครั้งก็แทบเอาชีวิตไม่รอด ในชีวิตการเดินธุดงค์ของพระอาจารย์ดูลย์ ท่านได้เผชิญกับสิงสาราสัตว์มาหลายครั้ง แต่ท่านก็สามารถรอดพ้นจากการถูกสัตว์ป่าทำร้ายมาได้



พระอาจารย์ดูลย์ท่านได้ให้เหตุผลว่า ตามธรรมชาติของสัตว์ป่าแล้ว มักจะไม่ทำอันตรายผู้ที่ไม่ทำอันตรายแก่มัน และมันจะเป็นฝ่ายวิ่งหนีเสมอ เพราะสัตว์เดรัจฉานนั้นย่อมมีความกลัวมนุษย์ มันจะตกใจแล้วรีบหลบหนีไปเมื่อได้พบเห็นมนุษย์ แต่เมื่อเห็นทีท่าว่ามันจะมาทำอันตราย เราก็พยายามหลีกหนี ถ้าจำเป็นก็ขึ้นต้นไม้ใหญ่ ๆ สัตว์เหล่านั้นก็จะผ่านพ้นไปตามทางของมัน



แต่ถ้าเราไม่เห็นมัน และมันกำลังตกมันหรือเป็นบ้า มันก็จะเอาความบ้ามาทำอันตรายเราได้ ถ้าสัตว์นั่นเป็นปกติธรรมดาแล้ว มันก็ย่อมกลัวเราเช่นกัน ย่อมจะไปตามเรื่องของมัน จะไม่มีการเบียดเบียนกันเลย



หลังจากท่านพระอาจารย์ดูลย์เดินธุดงค์ไปทางกัมพูชามาครั้งหนึ่งแล้วกับสามเณรโชติและสามเณรทอน ท่านประสบเหตุร้ายถูกควายป่าขวิด แต่ก็ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใดในคราวนั้น



อีกคราวหนึ่ง ขณะที่พระอาจารย์ดูลย์พำนักอยู่ที่สำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ด พอออกพรรษาแล้วท่านก็เดินธุดงค์ไปกัมพูชาอีกครั้ง โดยครั้งนี้มีเด็กชายซอม ผู้มีกิตติศัพท์ว่ามีความดื้อดึงผิดปกติกว่าเด็กทั่วไปเป็นผู้ติดตาม



ขณะที่เดินทางผ่านป่าโปร่งแห่งหนึ่ง ก็ต้องชะงักฝีเท้าลง เพราะปรากฏภาพที่น่าตื่นตระหนกสะท้านขวัญขึ้นที่ต้นไม้ใหญ่เบื้องหน้า บนต้นไม้มีเสือตัวหนึ่งหมอบนิ่งอยู่บนกิ่งไม้ ต่ำลงมาที่คาคบไม้ไม่ห่างกันนักมีหมาป่าตัวหนึ่งอยู่สงบนิ่งนัยน์ตาจ้องเขม็งไปที่เสือ ครู่หนึ่งพระอาจารย์ดูลย์ก็ปลอบโยนเด็กชายซอมให้คลายจากความตื่นตกใจกลัว เพราะเมื่อสังเกตพิจารณาดูโดยละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ไม่น่ากลัวแต่อย่างใด ด้วยความสงสัยว่าเหตุใดสองสัตว์ร้ายนี้จึงมาอยู่ในที่เปลี่ยวด้วยกัน และมีอาการนิ่งเงียบไม่ไหวติง แทนที่เจ้าสุนัขป่าจะวิ่งหนีและเจ้าเสือวิ่งไล่ตะครุบเพื่อเป็นภักษาหาร



ท่านจึงพาเด็กชายซอมเคลื่อนที่เข้าไปใกล้ แล้วชี้ให้เด็กชายซอมที่มีท่าทางดื้อดึงผิดปกติดูว่า เสือที่หมอบนิ่งบนกิ่งไม้นั้น มีท่าทางอกสั่นขวัญหาย มีขนยุ่งเหยิง หางหลุบซุกอยู่ที่ก้น แสดงว่ามันขวัญหนีดีฝ่อหมดแล้ว ไม่คิดจะทำอะไรใครอีกแล้ว



ส่วนเจ้าหมาป่าที่อยู่คาคบข้างล่างนั้น สงบนิ่งอยู่ในท่ากระโจน ตาจ้องเป๋งอยู่ที่เสือตัวนั้นอย่างไม่กระพริบ ส่วนคอของมันขัดอยู่กับง่ามกิ่งไม้ที่อยู่ถัดขึ้นไป ลักษณะของมันบอกให้รู้ว่าตายสนิท



เมื่อพิจารณาดูพื้นดินโดยรอบแล้วก็สันนิษฐานได้ว่า



เมื่อคืนนี้ ขณะที่เจ้าเสือ ออกท่องเที่ยวหาอาหารอยู่ ก็ประจันหน้าเข้ากับฝูงสุนัขทันที ฝูงสุนัขป่าที่ดุร้ายก็วิ่งไล่ล้อมขย้ำกัดอย่างชุลมุนวุ่นวาย เจ้าเสือก็คงจะสู้สุดฤทธิ์ ระหว่างที่สู้พลางหนีพลางก็มาถึงต้นไม้พอดี เสือก็กระโจนขึ้นไปหอบลิ้นห้อยอยู่บนนั้น



ส่วนฝูงสุนัขป่าคงห้อมล้อมกันอยู่ใต้ต้นไม้ เห่ากรรโชกใส่ บางตัวก็กระโจนขึ้นบ้าง เจ้าตัวที่ตายอยู่บนคาคบไม้นั้น อาจจะเป็นจ่าฝูงก็ได้ เพราะดูท่าจะกระโจนได้สูงกว่าเพื่อน แต่เคราะห์ร้ายที่มันกระโจนพรวดเข้าไปในง่ามกิ่งไม้พอดีในจังหวะที่มันร่วงลงมา ส่วนศีรษะจึงถูกง่ามกิ่งขัดเอาไว้ กระชากระดูกก้านคอให้หลุดจากกัน ทำให้ถึงแก่ความตายทันที โดยที่ตาทั้งคู่ที่ฉายแววดุร้ายกระหายเลือด ยังจ้องเป๋งอยู่ที่เสือตัวนั้นอย่างชนิดมุ่งร้ายหมายขวัญ ทำให้เจ้าเสือที่เข็ดเขี้ยวมาตั้งแต่เมื่อคืน ไม่กล้าขยับเขยื้อนหลบหนีไปจากต้นไม้นั้นเพราะเกิดอาการขวัญกระเจิง



เด็กชายซอมฟังอรรถาธิบายจากอาจารย์แล้วก็เข้าใจดี กลายเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย และหัวเราะออกมาได้เมื่อเห็นท่าทางอันน่าขันของเสือ



หลวงปู่ดูลย์ให้เด็กชายซอมหากิ่งไม้มาแหย่ดันให้หมาป่าหลุดจากง่ามกิ่งไม้ตกลงมายังพื้น แล้วช่วยกันตะเพิดไล่เจ้าเสือให้หลบหนีไป เมื่อเสือเห็นเจ้าหมาป่าหล่นไปกองอยู่ที่พื้นดิน ไม่มาจ้องขมึงทึงจะกินเลือดกินเนื้ออยู่อีก มันก็รีบกระโจนพรวดหลบลงไปอีกด้านหนึ่ง แล้วเผ่นหนีไปอย่างรวดเร็ว



ปริยัติกับปฏิบัติ



มักจะมีข้อโต้แย้งกันเสมอ ระหว่างการศึกษาจากตำรา (ปริยัติ) ฝ่ายหนึ่งกับการปฏิบัติแต่ไม่เน้นการศึกษาจากตำรา อีกฝ่ายหนึ่ง ว่าแนวทางใดจะให้ผลดีกว่ากัน หรือตรงกว่ากัน พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ท่านเสนอแนะให้ดำเนินสายกลาง นั่นคือถ้าเน้นเพียงด้านใดด้านหนึ่ง และละเลยอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นการสุดโต่งไป



ท่านแนะนำแก่ผู้ที่มุ่งปฏิบัติธรรมว่า ให้ศึกษาพระวินัยให้เข้าใจ เพื่อที่จะปฏิบัติไม่ผิด แต่ในส่วนของพระธรรมนั้นให้ตั้งใจปฏิบัติเอา



ศิษย์ของท่านคนหนึ่งคือหลวงตาแนน มาบวชเมื่อมีอายุมากแล้ว ท่านเป็นพระที่มีความตั้งใจดี ปฏิบัติกิจวัตรไม่ขาดตกบกพร่อง มีความต้องการที่จะจาริกธุดงค์ พระอาจารย์ดูลย์ก็อนุญาตให้ไปตามประสงค์



หลวงตาแนนเมื่อได้รับอนุญาตก็วิตกว่า ตนไม่รู้หนังสือ ไม่รู้ภาษาพูดจะปฏิบัติกับเขาได้อย่างไร



หลวงปู่จึงแนะนำด้วยเมตตาว่า



“การปฏิบัติไม่ได้เกี่ยวกับอักขระ พยัญชนะ หรือคำพูดอะไรหรอก ที่รู้ว่าตนไม่รู้ก็ดีแล้ว สำหรับวิธีปฏิบัตินั้น ในส่วนวินัยให้พยายามดูแบบเขา ดูแบบอย่างครูบาอาจารย์ผู้นำ อย่าทำให้ผิดแผกจากท่าน ในส่วนธรรมะนั้นให้ดูที่จิตของตัวเอง ปฏิบัติที่จิต เมื่อเข้าใจจิตแล้ว อย่างอื่นก็เข้าใจได้เอง”



ท่านให้ข้อสังเกตในการปฏิบัติธรรมไว้ว่า



“ผู้ที่ยังไม่รู้หัวข้อธรรมอะไรเลย เมื่อปฏิบัติอย่างจริงจัง มักจะได้ผลเร็ว เมื่อเขาปฏิบัติจนเข้าใจจิต หมดสงสัยเรื่องจิตแล้ว หันมาศึกษาตริตรองข้อธรรมในภายหลัง จึงจะรู้แจ้งแทงตลอด แตกฉานน่าอัศจรรย์



ส่วนผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาก่อน แล้วจึงหันมาปฏิบัติต่อภายหลัง จิตจะสงบเป็นสมาธิยากกว่า เพราะชอบใช้วิตกวิจารมาก เมื่อวิตกวิจารมาก วิจิกิจฉาก็มาก จึงยากที่จะประสบผลสำเร็จ”



ท่านให้ข้อแนะนำต่อไปอีกว่า ผู้ที่ศึกษาทางปริยัติจนแตกฉานมาก่อนแล้ว เมื่อหันมามุ่งปฏิบัติอย่างจริงจัง จนถึงขั้นอธิจิต อธิปัญญาแล้ว ผลสำเร็จก็จะยิ่งวิเศษขึ้นไปอีก เพราะเป็นการเดินตามแนวทางปริยัติ ปฏิบัติ ย่อมแตกฉานทั้งอรรถะและพยัญชนะ ฉลาดในการชี้แจงแสดงธรรม”



ท่านให้ความสำคัญทั้งการศึกษาด้านปริยัติและปฏิบัติ ว่าเป็นสิ่งจำเป็นและต้องไปด้วยกัน และกล่าวย้ำอีกว่า



“ผู้ใดหลงใหลในตำราและอาจารย์ ผู้นั้นไม่อาจพ้นทุกข์ได้ แต่ผู้จะพ้นทุกข์ได้ ต้องอาศัยตำราและอาจารย์เหมือนกัน”



๙. พระธุดงค์



ที่สัปปายะสำหรับพระธุดงค์ คือป่าเขาลำเนาไพรตลอดรวมไปถึงถ้ำต่างๆ ด้วย พระธุดงค์จะไม่ยึดติดที่อยู่ ค่ำไหนก็นอนนั่น แต่ต้องกำหนดระยะทางเพื่อความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ เอาไว้ด้วย



พระครูนันทปัญญาภรณ์ ศิษย์ใกล้ชิดของพระอาจารย์ดูลย์ ได้กล่าวถึงการเดินธุดงค์เอาไว้อย่างน่าฟังว่า



ตามธรรมเนียมถือปฏิบัติในการเดินธุดงค์กัมมัฏฐานนั้น เมื่อเดินไปเรื่อย ๆ จนถึงหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งในระยะเวลาบ่ายมากแล้ว ถ้าขืนเดินทางต่อไปจะต้องค่ำมืดกลางทางแน่ พระธุดงค์ก็จะกำหนดเอาหมู่บ้านที่มาถึงเป็นที่เที่ยวภิกขาจารหาอาหารในเช้าวันรุ่งขึ้น



ครั้นในระยะห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๕๐๐ ช่วงคันธนู หรือ ประมาณ ๑ กิโลเมตร ตามที่พระวินัยกำหนดแล้ว ก็จะแสวงหาร่มไม้หรือสถานที่สมควรปักกลดกำหนดเป็นที่พำนักภาวนาในคืนนั้น



พอรุ่งเช้าก็จะย้อนเข้าในหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต ชาวบ้านที่รู้ข่าวตั้งแต่เมื่อวานก็นำอาหารมาใส่บาตรตามกำลังศรัทธาและกำลังความสามารถ ครั้นกลับถึงที่พักก็ทำการพิจารณาฉันภัตตาหาร เสร็จแล้วจึงเดินทางต่อไป ยกเว้นแต่จะกำหนดสถานที่นั้นพักภาวนามากกว่า ๑ คืน ก็จะอยู่บำเพ็ญภาวนา ณ สถานที่แห่งนั้นต่อไป ชาวบ้านที่สนใจก็อาจจะติดตามมาฟังพระธรรมเทศนาและแนวทางปฏิบัติในตอนค่ำบ้าง ในตอนเช้าหลังการบิณฑบาตบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้พระธุดงค์ก็จะถามชาวบ้านถึงเส้นทางที่จะเดินทางต่อไป เพื่อจะได้สามารถกำหนดเส้นทางและกำหนดหมู่บ้านอันเป็นที่สมควรแก่การเที่ยวภิกขาจารในวันต่อ ๆ ไปได้



นี้เป็นการเดินธุดงค์ไปตามเส้นทางธรรมดาของพระธุดงค์แท้พระธุดงค์จริงตามแบบอย่างที่พระอาจารย์มั่น และสานุศิษย์ได้ถือปฏิบัติมา



สำหรับการปักกลดนั้น ในทางปฏิบัติก็ต้องเอามุ้งกลดแขวนไว้กับเส้นเชือกที่ผูกตรึงกับต้นไม้ ไม่ใช่ปักไว้กับพื้นดิน เพราะการขุดดินหรือทำให้ดินเสียปกติสภาพของมันไป เป็นการอาบัติโทษอย่างหนึ่ง และจะไปเที่ยวปักกลดในหมู่บ้านใกล้ในสถานที่ราชการ ใกล้เส้นทางคมนาคม เช่น ริมถนน ริมทางรถไฟหรือที่มีคนพลุกพล่านผ่านไปมาอย่างนั้นไม่ได้ เพราะผิดพระวินัย ผิดพระพุทธบัญญัติ ยกเว้นแต่ว่าถือวินัยอื่นบัญญัติอื่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง



ยังมีการเดินธุดงค์อีกแบบหนึ่งของธุดงค์กัมมัฏฐานแผนโบราณ เรียกได้ว่าเป็นการเดินธุดงค์ขั้นอุกฤษฏ์ของพระธุดงค์ที่ผ่านการฝึกฝนอบรมแล้ว การเดินธุดงค์แบบนี้คือ การเดินไปในป่าดงดิบในเส้นทางที่ไม่มีผู้คนไป หรือมีก็มีแต่น้อย และไม่ใช่เส้นทางสัญจรตามปกติ



ประสบการณ์เดินธุดงค์



พระธุดงค์ได้ชื่อว่าเป็นเลิศในการสังเกต ท่านจะรู้ว่า สถานที่ที่ท่านอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร ไกลหรือใกล้หมู่บ้าน หรืออยู่ในป่าลึก เป็นต้น ทั้งนี้อาศัยประสบการณ์ของพระแต่ละรูปเป็นสำคัญ



สำหรับหลวงปู่ดูลย์ถือได้ว่า ท่านเป็นผู้มีประสบการณ์ในการเดินธุดงค์และยอดเยี่ยมในเรื่องการสังเกตอีกท่านหนึ่ง



ตามปกติหลังออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์ดูลย์มักจะพาบรรดาคณะศิษย์ของท่านออกเดินธุดงค์ไปทางแถบชายแดนไทย กัมพูชา บริเวณ จ.สุรินทร์นั่นเอง เพราะเป็นสถานที่อันเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมเป็นยิ่งนัก



แต่บริเวณนี้ลำบากในเรื่องอาหารการขบฉัน อันเนื่องมาจากมีบ้านเรือนราษฎรอยู่น้อย บางครั้งต้องอดอาหารเป็นเวลาหลายวันกว่าจะหาหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาตได้ แต่หามีใครปริปากบ่นไม่



ครั้งหนึ่ง พระอาจารย์ดูลย์พาศิษย์ของท่านออกเดินธุดงค์ ซึ่งการจาริกธุดงค์ในครั้งนั้นมีเด็กชายซอมติดตามไปด้วย เผอิญครั้งนี้เกิดหลงป่า ทำให้อดอาหารไปตาม ๆ กัน เหล่าศิษย์ทั้งหิวทั้งกลัว ส่วนพระอาจารย์ดูลย์ท่านเฉย ๆ มีเพียงท่าทางที่อิดโรยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น



ไร้ร่องรอยบ้านเรือน ซ้ำสิ่งที่จะแทนอาหารได้ก็หาไม่พบเลย เด็กชายซอมแทบสิ้นหวัง แต่เหมือนกับสวรรค์โปรด เมื่อได้ยินพระอาจารย์ดูลย์พูดขึ้นว่า



“ไม่ต้องกลัวแล้ว ได้กินข้าวแน่วันนี้”



ว่าแล้วพระอาจารย์ดูลย์ท่านก็เดินลิ่ว พาศิษย์บุกป่าฝ่าดงไปอย่างรวดเร็ว แต่เดินไปเท่าไหร่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะพบบ้านเรือนผู้คน มีแต่ป่าและป่าเหมือนเดิม



เด็กชายซอมแทบหมดแรงเมื่อคิดว่าพระอาจารย์ดูลย์พูดให้กำลังใจเท่านั้น แต่ก็ทนฝืนเดินตามท่านต่อไป



จากนั้นไม่นานนักเมื่อเดินพ้นดงไม้แล้ว ภาพที่ปรากฏให้เห็นอยู่เบื้องหน้าคือกระท่อมมุงหลังคาด้วยหญ้าเก่า ๆ หลังหนึ่ง



ความรู้สึกในเวลานั้น เด็กชายซอมมองเห็นว่ากระท่อมหลังนั้นงดงามกว่าปราสาทพระราชวังใด ๆ ที่เคยเห็นมา



“หลวงปู่ดูลย์รู้ได้อย่างไรว่ามีบ้านอยู่ตรงนี้ ท่านจึงได้มั่นใจว่าวันนี้มีข้าวกินแน่ และนำลิ่วมาถูกทางเสียด้วย” เด็กชายซอมถามขึ้นด้วยความสงสัย หลังจากที่พากันอิ่มหนำสำราญแล้ว



คำตอบที่ได้คือ ท่านเดินป่ามามาก ก็มีประสบการณ์รู้จักสังเกตสังกา และอนุมานเอาได้ ขอให้พยายามฝึกฝนต่อไป บ่มนิสัยให้รู้จักสังเกตให้มากขึ้น ๆ แล้วก็จะรู้เรื่อง

0 comments:

Post a Comment